เป็นนายกฯ เหมาะที่สุด


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอนเช้าๆ บางวันที่คอฟฟี่ชอปคัพปูชิโนในโรงแรมเพรสซิเดนท์ แถวถนนเกษร จะมีชายไทยรูปร่างค่อนข้างสูงใส่เสื้อแขนสั้นสีขาว ผูกเนกไท อายุใกล้ 60 เดินเข้ามานั่งแล้วสั่งมะละกอ ตามด้วยโจ๊กหมูใส่ไข่รับประทานไปพร้อมทั้งอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าไปด้วยอย่างเอาจริงเอาจังกับข่าวสารบนหน้ากระดาษนั้น

ชาวต่างชาติต่างๆ ที่นั่งรับประทานอยู่ทั่วไปก็คงจะไม่มีใครสนใจชายไทยที่ใส่แว่นตาคนนั้น

แต่ถ้าพวกเขารู้ว่าบุรุษที่แต่งตัวค่อนข้างจะสมถะนั้น คือคนที่รับผิดชอบองค์การ องค์การหนึ่ง ซึ่งเมื่อปี 2527 มีทรัพย์สินรวมถึง 70,000 กว่าล้านและมีกำไร 3 พันกว่าล้านบาทแล้ว พวกเขาก็คงจะทึ่งเป็นอย่างมาก

และเขาก็คงทึ่งต่อไปอีก ถ้าเขาเกิดรู้ว่าคนคนนั้นยังเป็นประธานธนาคารสยาม เป็นประธานโรงกลั่นน้ำมันไทย เป็นประธานโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ฯลฯ ซึ่งถ้ารวมสินทรัพย์ทั้งหมดแล้วก็เกือบแสนล้านบาท สำหรับคน คนหนึ่งที่เข้ามาบริหาร

คนคนนั้นราศีมีน ลักษณะคนราศีมีนว่ากันไว้ดังนี้ "มักจะอยู่อย่างสมถะ ไม่ค่อยชอบยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น แต่ถ้าได้รับการร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ก็ตาม ชาวราศีมีนจะเข้าไปช่วยอย่างเต็มอกเต็มใจและด้วยความสุจริตใจทันที"

เขาจะไม่มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรูเพราะจะมองคนทุกคนในฐานะมนุษย์ที่มีจิตใจเท่าเทียมกันหมด เพราะฉะนั้นถ้าหากใครเป็นศัตรูของเขา เขาจะพยายามหาทางให้ศัตรูสงบลงหรือยุติการเป็นศัตรูด้วย

คุณธรรมหรือด้วยการเอาความดีเข้าสู้

เกษม จาติกวณิช คือคนคนนั้น !

เขาเกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2467 ในกรุงเทพฯ บิดาชื่อนายซอเทียหลุย ชื่อไทย

หลุย จาติกวณิช ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นพระอธิการณ์ประกาศ กินตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ

เมื่อเด็ก ๆ เกษมเรียนหนังสือที่อัสสัมชัญบางรัก และ St. STEPHENS COLLEGE ที่ฮ่องกง

เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่จุฬา เมื่อ พ.ศ.2489 และปริญญาโทด้านวิศวไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ในปี 2493

ชีวิตของเกษมเป็นชีวิตของการอุทิศตนเป็น TECHNOCRAT รับราชการมาตลอด โดยเริ่มเป็นวิศวกรประจำกระทรวงอุตสาหกรรมในปี พ.ศ.2495 - 2496 หลังจากนั้นก็มาอยู่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ในปี 2496 - 2502 กับ ม.ล.ชูชาติ กำภู

แต่อาจจะเป็นเพราะเกษมไม่เคยชินกับระบบค่อนข้างเผด็จการของ ม.ล.ชูชาติ กำภู ก็เลยออกมาทำงานบริษัทล็อกซ์เล่ย์อยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ไปเป็นรองผู้จัดการทั่วไปของการไฟฟ้ายันฮี ประมาณ 2-3 ปี แล้วขึ้นมาเป็นผู้ว่าการการไฟฟ้ายันฮี ในปี พ.ศ.2504 จนถึงปี 2515 ที่มีการรวมการไฟฟ้ายันฮีเข้ากับการไฟฟ้าลิกไนต์และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงหนือ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดยมี เกษม จาติกวนิช เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตั้งแต่ปี 2515 ถึงปัจจุบัน

23 ปีที่เกษม จาติกวณิช บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้เจริญเติบโตจากทรัพย์สินรวมในปี 2515 จำนวน 5,871 ล้านบาท มาเป็น 70,000 กว่าล้านบาท ในปี 2527

ถ้าจะถามว่าความสำเร็จของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นอยู่ที่ไหน?

ก็เห็นจะต้องตอบว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญมากอยู่ที่ตัวเกษม จาติกวณิช คนนี้

"งานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั้นไม่ใช่แค่งานของการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้คนไทยใช้เท่านั้น แต่มองให้ลึกไปแล้วมันเป็นงานของการวางแผนเพื่ออนาคตโดยแท้จริง เพราะไฟฟ้าที่มีใช้โดยไม่ขาดมาตลอดนั้นเป็นผลพวงจากการวางแผนทีเดียว 10 ปี และการลงทุนที่ปีละหลายพันล้านบาท" นักบริหารระดับ CORPORATE PLANNING ให้ความเห็นเมื่อถูกขอให้ REVIEW การทำงานของเกษม จาติกวณิช

และเมื่อพูดถึงการลงทุนก็ต้องยอมรับว่าในระดับองค์กรด้วยกันแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กู้เงินมากที่สุดและก็กู้เก่งที่สุด

"การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นลูกค้าของธนาคารโลก และธนาคารโลกก็เชื่อมือคุณเกษมมาก เพราะกู้ไปทีไรเวลาใช้คืนไม่เคยผิดนัดเลยแม้แต่วันเดียว นอกจากนั้นแล้วการทำงานก็บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เกือบ 100%" เจ้าหน้าที่ WORLD BANK ในประเทศไทยเล่าให้ “ผู้จัดการฟัง”

สำหรับกำไร 3 พันกว่าล้านบาทต่อยอดทรัพย์สิน 2 หมื่นกว่าล้านบาทก็ตกประมาณ 5%

"สำหรับ PUBLIC UTILITY แล้วดีมาก" เจ้าหน้าที่ WORLD BANK คนเก่าพูดต่อ

ความไว้เนื้อเชื่อใจที่สถาบันการเงินต่างประเทศที่มีต่อเกษมนั้น ไม่ได้เชื่อเพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่เชื่อเพราะ งานชิ้นนั้นคนชื่อเกษม จาติกวณิช เป็นคนจับอยู่

"มาพิสูจน์กันจริงๆ ก็ตอนธนาคารสยาม (เอเชียทรัสต์) พอคุณเกษมเข้ามาปั๊บ เทเล็กซ์ทวงเงินจากเมืองนอกค่อยๆ ลดน้อยลงจนไม่มี และพอโรงกลั่นบางจากต้องการทำโครงการ ก็เอาคุณเกษมมาเป็นประธาน เพราะรู้ว่ากู้เงินเป็นหลายพันล้านนี้ต้องใช้ชื่อเกษม มาเป็นประธาน ไทยออยล์ก็เหมือนกัน การที่เอาคุณเกษมเข้ามาก็เพราะต้องการให้ต่างชาติเชื่อมือ" CORPORATE PLANNER คนเก่าเล่าต่อ

"คุณเกษมเป็นประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า ALL ROUNPER แกเหมาะที่จะทำงานอะไรก็ตามที่มีลักษณะการต้องมองอนาคต และในลักษณะพิเศษ เช่น CRISIS MANAGEMENT นั้นแกเหมาะที่สุด" คนที่เคยทำงานกับเกษม จาติกวณิช พูดให้ฟัง

ก็น่าจะเป็นเช่นนี้เพราะงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เท่าที่เจริญเติบโตขึ้นมาตลอด 23 ปีนั้น ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ นานา ที่จะต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีตลอด

"ความจริงแล้วการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นี่ก็กึ่งๆ CRISIS MANAGEMENT อยู่แล้ว ลองคิดดูซิว่าคุณมีหน้าที่จะต้องผลิตกระแสไฟฟ้าในราคาที่ต่ำที่สุด แต่ต้องมีกำไรจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะเอาผลกำไรไปลงทุนต่อไปเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และในขั้นตอนของการทำ

เช่นนั้นได้ คุณต้องเผชิญสื่อมวลชน ต้องเผชิญกับนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่หวงแหนต้นไม้ทุกต้นที่จะต้องถูกน้ำท่วมเมื่อทำเขื่อน ต้องเผชิญกับชาวบ้านซึ่งไม่ต้องการจะโยกย้ายออกไปจากถิ่นฐานเดิม ต้องเผชิญกับ

นักการเมืองที่ต้องการหาเสียงกับประชาชน ต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง กองรัฐวิสาหกิจ

นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มๆ เป็นผู้พิจารณาโครงการเป็นหมื่นล้าน ฯลฯ" คนในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ พูดให้ฟัง

แต่ทั้งหมดนี้เกษม จาติกวณิช ก็ใช้ความสามารถบริหารจนผ่านมาได้ตลอด "คุณเกษม แกมีบุคลิกหนึ่งซึ่งดีมาก คือแกไม่ไปกระโดดโลดเต้นไปตามเพลงที่ฝ่ายต่อต้านบรรเลงให้ฟัง ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อน เขื่อนหนึ่งก่อนสร้างนั้นการไฟฟ้าฯ ก็ได้มีการว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้ตรวจสอบดูความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ ถ้าไม่เสียหายถึงระดับร้ายแรงก็จะทำ การโยกย้ายชาวบ้านออกไปหาที่ทำกินใหม่นั้น การไฟฟ้าฯ ก็ได้จัดที่จัดทางใหม่ให้เป็นอย่างดี ทีนี้พอมีการต่อต้านอะไรที่เรารู้ว่ามันไม่จริงหรือสื่อมวลชนโจมตีมา อย่างมากคุณเกษมแกก็หัวเราะเฉยแล้วก็ปล่อยผ่านไป" คนการไฟฟ้าฯ พูดเสริมต่อ

โครงการเขื่อนน้ำโจนเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

การสร้างเขื่อนน้ำโจนนั้นมันหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ของคนหลายฝ่าย เช่น เส้นทางของเถื่อนจากพม่าผ่านมาทางกาญจนบุรีที่โดนเรียกค่าผ่านทางคันรถละหลายหมื่นก็ต้องถูกน้ำท่วมไป หรือการขุดแร่ที่ต้องรอเวลาอีกหลายปีค่อยขุดถึงจะได้กำไรดีก็หมดโอกาสไปเช่นกัน ผลประโยชน์เหล่านี้แอบแฝงมากับการต่อด้านเรื่องเขื่อนน้ำโจน

และในที่สุดก็ต้านไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้อนุมัติหลังจากตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาหลายต่อหลายคณะแล้ว

แต่ "เราคงไม่สร้างเพราะไม่คุ้ม" แหล่งข่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ พูดให้ฟัง

เกษม จาติกวณิชเป็นคนเก่งมานานแล้วแต่ไม่ค่อยมีใครสังเกต!

อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศเรามีแต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองมาตลอด

เพิ่งจะมีใน 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้เองที่เราเริ่มประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราหันไปมองกิจการรอบตัวเราแล้วพบว่า ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนทั้งหลายที่เกิดขึ้นรอบตัวพบว่า รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่ทุกคนในนั้นมีความสุขและเจริญก้าวหน้ามาตลอดระยะเวลา 23 ปี ที่ตั้งขึ้นมา

ผลผลิตและผลงานของรัฐวิสาหกิจนั้นก็ได้ตอบสนองความต้องการและเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในสังคมมาอย่างคงเส้นคงวาตลอดมา โดยไม่เคยทำความผิดหวังให้กับเราซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมที่เสียภาษีให้แก่รัฐ และรัฐวิสาหกิจนั้นคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

และคนที่เราเพิ่งจะมองเห็นว่ามีคุณภาพสูงทั้งๆ ที่ต่างประเทศรู้ซึ้งในคุณภาพของคน คนนี้มานานแล้วก็คือ เกษม จาติกาวณิช

ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคร้ายในเรื่องผู้นำประเทศ

อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีความสับสนเกินไปจนไม่รู้ว่าพื้นฐานและวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ของสังคมเรานั้นควรจะมีการปกครองแบบใด?

ฉะนั้นผู้นำที่เราได้มาแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เป็นผลพวงของการได้มาจากการแสวงหาแท้ๆ

แม้กระทั่งทุกวันนี้เราก็ยังคงแสวงหากันอยู่ และการแสวงหาของเรานั้นมักจะแสวงหาตัวบุคคลที่

สามารถเข้ากับเงื่อนไขทางการเมืองมาตลอด และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้นำเรามีความอ่อนไหวทางการเมือง

แต่อ่อนแอทางการบริหาร

ในอดีตนั้นเรามักจะเอาการเมืองมานำหน้าการเศรษฐกิจ!

แต่เหตุการณ์ใน 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราต้องยอมรับกันเสียทีว่า การบริหารเศรษฐกิจให้ดีกลับจะเป็นตัวชี้นำถึงลักษณะการเมืองที่เราต้องการ

ถ้าเราจะเปรียบประเทศเป็นองค์กรหนึ่ง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดการใหญ่และบรรดารัฐมนตรี

เป็นผู้จัดการแผนกต่างๆ แล้ว

เราจะเห็นได้ชัดว่าใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทประเทศไทยจำกัดบริหารงานล้มเหลวมาตลอด

ถ้าเราจะวัดการส่งออกคือยอดการขายของบริษัทแล้วจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2523 จนถึง 2527 นั้น เราขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมโดยเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 6% ดี

ในขณะที่ดุลการค้า คือยอดกำไรขาดทุนของเรานั้นขาดทุนมาตลอดและขาดทุนเพิ่มเฉลี่ยปีละ 38% จากยอดขาดทุนเดิม

นายกรัฐมนตรี คือ กรรมการผู้จัดการที่จะต้องเซ็นงบดุลประจำปี!

และงบดุลในลักษณะนี้น่าจะเป็นงบดุลที่สะท้อนให้เห็นความไม่มีประสิทธิภาพและไร้ความสามารถของคณะจัดการชุดนี้

นี่ขนาดยังไม่ได้รวมเอาสิ่งที่วัดกันด้วยตัวเลขไม่ได้เช่นคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลง ความปลอดภัยในชีวิตที่ลดน้อยลง

ภาวการณ์ของประเทศขณะนี้คือภาวการณ์วิกฤตที่ต้องใช้การบริหารในภาวะวิกฤตที่ฝรั่งเรียกว่า CRISIS MANAGEMENT

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2527 เป็นต้นมา นับจากวันลดค่าเงินบาท คำพูดที่บรรดาผู้มีเกียรติทั้งหลาย เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี หรือบรรดาเกจิอาจารย์ของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ที่บอกว่าหลังลดค่าเงินบาทแล้วเราจะดีขึ้น

นี่ก็จะขึ้นเดือนที่ 5 แล้วหลังจากการลดค่าเงิน ของก็ขายไม่มากขึ้น เงินบาทก็ตกไปเกิน 28 บาท

(ทั้งๆ ที่ทุกคนที่เป็นเกจิอาจารย์ของธนาคารชาติว่าจะตกไม่เกิน 28 บาทแน่ๆ )

สิ่งต่างๆ เหล่านี้พอจะบอกให้เราเห็นอนาคตของประเทศได้รางๆ ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น

ในภาวการณ์แบบนี้การใช้การเมืองนำหน้าเศรษฐกิจอยู่นั้นเป็นเหตุผลที่เลวร้ายมาก

เพราะในภาวการณ์แบบนี้เราต้องการผู้จัดการประเทศที่มืออาชีพไม่ใช่นักการเมือง

ไม่ใช่อดีตผู้บัญชาการทหารบก ไม่ใช่พ่อค้า แต่เป็นผู้ที่พิสูจน์มาแล้วว่า เขามี TRACK RECORD ที่ดี และที่สำคัญที่สุด เขามีคุณสมบัติของผู้นำองค์กรที่จะพานาวาไปได้ตลอดรอดฝั่ง

และเราขอเสนอ "เกษม จาติกวณิช" เป็นนายกรัฐมนตรี

ทำไมเกษมจึงเหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดในขณะนั้น?

เราขอตอบคำถามข้างต้นนั้นด้วยคำถามที่ว่า ทุกวันนี้ผู้นำประเทศเราขาดคุณสมบัติอะไรบ้าง?

ผู้นำเราทุกวันนี้ขาด:-

1. ความรอบรู้
2.
ความรอบรู้ในที่นี้ก็มีความหมายในตัวของมันอยู่แล้ว เกษม จาติกวณิช เป็นนักวิศวฯ ที่มีความรู้

ด้านเศรษฐกิจที่ดีมาก ประกอบกับการต้องติดต่อทำโครงการใหญ่ๆ ทำให้เขาเข้าใจถึงความสำคัญของการเงินการคลังไปจนกระทั่งการที่เขาผลิตงานที่ประชาชนต้องใช้ เช่น ไฟฟ้า ทำให้เขาสามารถเข้าถึงความต้องการของประชาชนระดับล่างได้ดี

3. การตัดสินใจฉับไวที่สนองทันเหตุการณ์
4.
ปัญหาของชาติด้านเศรษฐกิจต้องเป็นปัญหาที่ผู้นำจะวางเฉยไว้นานไม่ได้หรือจะทำตนอยู่เหนือ

ความขัดแย้งไม่ได้เด็ดขาด เพราะเมื่อร่วมทีมงานกันแล้วผู้นำจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของลูกน้องทุกประการ !

เกษมเป็นผู้ฟังที่ดี และสามารถจะจับประเด็นได้เร็ว จากการทำงานในอดีตเกษมจะเก็บความเห็น

ของคนทุกคน และสามารถหาบทสรุปพร้อมทั้งความคิดเห็นของตัวเองที่เป็นแนวตัดสินใจออกมาได้ในเวลาไม่นาน

การตัดสินใจของเกษมจะฉับไว ก็มีผิดบ้าง แต่ถูกส่วนใหญ่ การตัดสินใจช้าไม่ใช่ว่าจะไม่มีผิด ถึงจะถูกแต่ความล่าช้าก็ได้ก่อความเสียหาย จนกระทั่งถึงตัดสินใจถูกก็จะไม่มีความหมาย

5. การเลือกใช้คนที่เหมาะกับงานและไม่เล่นพวกเล่นพ้อง
6.
ในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติขณะที่คับขัน ไม่ใช่เวลาของการมาเลือกคนบ้านเราหรือเกรงใจ

พรรคใดพรรคหนึ่งหรือเพียงเพราะเคยเรียนมัธยมมาด้วยกัน

เกษม จาติกวณิชเป็นคนไม่มีเพื่อน ไม่มีญาติมิตร เมื่อพูดถึงการเลือกคนหรือใช้คน สำหรับเกษมแล้วไม่มีคำว่า "ลูกรัก" หรือ "หลายรัก" หรือ "เพื่อนรัก" ประวัติการรับคนทำงานและเลื่อนคนของเกษมในการในการไฟฟ้าฯ เป็นหลักฐานพิสูจน์ได้เสมอมา

7. การยอมรับการเปลี่ยนแปลง
8.
ผู้นำที่ดีนั้นต้องเป็นคนไม่ยึดถือหลักการใดเป็นสรณะ

อะไรที่สามารถทำได้ดีกว่าเก่าจะต้องถูกนำมาใช้ทันที

เกษมเป็นคนที่เชื่อในเทคโนโลยีใหม่ๆ มาก และคนประเภทนี้ก็พร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง

นำวิธีการใหม่ๆ เข้ามาเสมอ

9. การวางแผนระยะยาวและการตัดสินใจระยะสั้นเพื่อผลระยะยาว

เกษมในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในยุคสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ หลัง 14 ตุลา เป็นคน

ตัดสินใจให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นลูกค้าซื้อก๊าซธรรมชาติของยูเนี่ยนออยล์ เพราะเกษมรู้ว่า ถ้ายูเนี่ยนฯ ไม่มีลูกค้าเช่นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไว้ก่อนแล้ว โครงการขุดก๊าซธรรมชาติก็จะเริ่มไม่ได้ และผู้สูญเสียจริงๆ คือ

ประเทศชาติ

การตัดสินใจครั้งนั้นของเกษมเป็นการกล้าตัดสินใจโดยฉับไว โดยหวังผลระยะยาวเอาไว้

และกาลเวลาก็พิสูจน์ว่า เกษมทำถูก !

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจจะให้คำตอบได้ว่า ทำไม เกษม จาติกวณิช จึงเหมาะที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของเราในยามหน้าสิ่วหน้าขวานนี้

จริงอยู่ ความคิดนี้อาจจะเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อเมื่อเราเอาสภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมลภาวะของสังคม เช่น ผลประโยชน์ทางการเมือง อำนาจทางการทหาร และสถาบันราชการที่ไม่เอาไหน เข้ามาพิจารณาร่วมกัน

หลายคนก็อาจจะคิดว่า "บ้าที่สุด มันเป็นไปได้หรอก"

แต่ก็นั่นแหละ เรามักจะมองประเด็นว่า "มันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้" เสมอ

เราน่าจะถามตัวเองว่า "ถ้าเรามี เกษม จาติกวณิช เป็นนายรัฐมนตรีแล้วเราจะมีอนาคตดีกว่านี้หรือเปล่า ประเทศเราจะพัฒนาและเจริญก้าวหน้าไปในทางที่เป็นแสงสว่างของการอยู่ดีกินดีในข้างหน้าหรือเปล่า ? "

สรุปแล้วก็คือว่า "ถ้าเรามีนายกรัฐมนตรี ชื่อ เกษม จาติกวณิช แล้วสถานภาพเราก็คงจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้แน่ ๆ

และในเมื่อเรารู้ว่ามันน่าจะดีกว่าเก่าแน่นอน ทำไมเราไม่ช่วยกันคิดหาทางเล่า ?

หรือจะนั่งน้ำตานองหน้า ฟังผู้นำเราร้องเพลงอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ?

อย่าลืมว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะเป็นไปไม่ได้

อย่างน้อยที่สุด ในปี 2527 ที่ผ่านมา เราก็มีเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แต่กลับเป็นไปได้มาทุกเรื่อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.