กะแช่ หรือ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ หรือ สีเสียด ทั้งสามชื่อนี้เคยเก่าคร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่สมัยที่หนังสือพิมพ์คือกระดาษเปื้อนหมึก
กะแช่เริ่มทำงานใหญ่กับกำพล วัชรพล โดยเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้วแยกตัวออกมาทำหนังสือชื่อ
"สยาม" ซึ่งสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์เป็นเจ้าของ และนายทุนใหญ่ ตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งกับไทยรัฐโดยเฉพาะ
ว่ากันว่าในครั้งนั้นมีการยกทีมออกจากไทยรัฐเป็นชุดเลย
"ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ หรือกะแช่ หรือสีเสียด เคยขึ้นศาลคดีหมิ่นประมาทมามากแล้ว
เคยโดนโทษรอลงอาญามา แต่พอประสานซึ่งเคยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ดาวสยามเขียนด่าว่า
ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล อย่างสาดเสียสาดเท ในปี 2524 คราวลดค่าเงินบาทประสานและสหายก็เลยต้องเจอกฎแห่งกรรมเข้าเมื่อศาลต้นและอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกประสานและสหายคนละ
5 เดือน แต่ประสานกลัวคุกมากกว่ากลัวการเสียศักดิ์ศรี ก็เลยต้องเกิดเสียคนเมื่อตอนแก่ขึ้นมา"
การแข่งขันกันระหว่างสยามกับไทยรัฐเข้มข้นมาก มีการส่งภาษาดอกไม้ให้กันและกันในข่าวสังคมหน้า
4 กันอย่างเข้มข้น
ในที่สุด สุรัตน์ก็ถอนตัวเพราะสู้กับการขาดทุนไม่ไหว แต่บางกระแสข่าวยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของการที่ได้มีการใช้อิทธิพลมืดซึ่งกันและกัน
ทางสุรัตน์เลยถูกครอบครัวขอให้ถอนตัว
กะแช่ก็เลยต้องคว้างเหมือนถูกปล่อยเกาะ
แต่เมื่อขึ้นหลังเสือแล้วก็ต้องหาทางขี่ต่อไป ถ้าลงมาก็ต้องถูกกัดตายแน่
ๆ
กะแช่ หรือ ประสาน มีเฟื่องศาสตร์ ก็เลยต้องเพิ่มบทบาทจากคอลัมนิสต์หน้าสี่
มาเป็นเจ้าของหนังสือสยาม ซึ่งกะแช่เปลี่ยนชื่อเป็น "ดาวสยาม"
"ดาวสยาม" ถือกำเนิดมาก็ด้วยประการเช่นนี้ !
ข้อเขียนของกะแช่ในข่าวสังคมหน้าสี่และคอลัมน์ "สีแสด" ตอบสารพันปัญหาเป็นข้อเขียนที่คมยิ่งกว่ามีดสั้นของลี้คิมฮวงเสียอีก
แต่เผอิญมันคมเกินไปก็เลยไปบาดเอาคนหลายคนเข้าก็เลยเกิดการฟ้องร้องกันมาตลอด
พอจะเรียกได้ว่ากะแช่และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม มีเรื่องถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทอย่างชนิดไม่ได้มีวันพักผ่อนหายใจ
กะแช่และหนังสือพิมพ์ดาวสยามนั้นพอจะพูดได้ว่ามีบทบาทสูงในการทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในยุค
6 ตุลาคม 2519 เพราะหนังสือพิมพ์ดาวสยามประสานงานกับวิทยุเสียงยานเกราะในการกระตุ้นให้ลูกเสือชาวบ้าน
ตลอดจนกลุ่มกระทิงแดงเข้าไปมีบทบาทผลักดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตะลุยการชุมชนประท้วงการเข้ามาของจอมพลถนอมและประภาสอย่างนองเลือด
นักศึกษาลูกหลานประชาชนที่ถูกจับแก้ผ้าถอด
เสื้อนอนคว่ำ รวมทั้งที่ถูกกลุ่มบ้าคลั่งประชาทัณฑ์จนตายยิ่งกว่าสัตว์ที่ถูกฆ่า
ศพที่สิ้นลมหายใจไปแล้วถูกนำมาแขวนไว้บนต้นไม้แล้วประชาทัณฑ์ด้วยไม้ เหล็ก
เท้า มีด
ถูกนำมาตีพิมพ์บนดาวสยาม
ในยุคนั้น กะแช่ยืดอกประกาศว่าตนและหนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ทำหน้าที่ปกป้องชาติ
ศาสนา และพระมหากษัตริย์ด้วยวีรกรรมที่นักประวัติศาสตร์ในอนาคตคงจะถือว่าเป็นยุคมืดของชาติไทยยุคหนึ่ง
หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ผ่านไปแล้วความสามัคคีสมานฉันท์ ระหว่างกะแช่กับกลุ่มกระทิงแดงของพลตรีสุดสาย
หัสดินทร์ (ประธานองค์การ ร.ส.พ. ในปัจจุบัน) กับสมัคร สุนทรเวช ก็เริ่มแตกแยกกัน
ด้วยความคิดเห็นไม่ตรงกัน
หนังสือพิมพ์ดาวสยามก็ดำเนินต่อไป
แต่สังคมไทยยุคหลังมันเริ่มรู้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแล้ว ประชาชนคนอ่านเริ่มรู้ข้อเท็จจริงทนไม่ได้กับความหยาบคายของภาพที่นักหนังสือพิมพ์ใช้ด่าคนที่ตัวเองไม่ชอบ
หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ตกไปจากความนิยมมาก
จนกระทั่งพิมพ์ดาวสยามได้ตกไปจากความนิยมมาก
จนกระทั่งมีการลดค่าเงินบาทขึ้นเมื่อปี 2524 ในยุคเปรม 2
ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีช่วยคลัง นักวิชาการ ถูกกะแช่ถล่มเสียยับเยินในเรื่องการลดค่าเงินบาท
(รายละเอียดอ่าน ผู้จัดการ ฉบับที่ 15 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2527 หน้า
22-26)
แต่ ดร.ไพจิตรฯ เผอิญไม่ใช่หมูที่กะแช่จะด่าฟรีๆ ก็เลยฟ้องกลับในปี 2524
เป็นธรรมดาสามัญของการถูกหมิ่นประมาทแล้วฟ้องกับมักจะประนีประนอมขอขมาลาโทษกันเงียบๆ
แล้วเรื่องก็จะจบสิ้นไป
แต่กรณีของ ดร.ไพจิตรฯ นับตั้งแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กะแช่ผิด แล้วให้จำคุก
5 เดือน แล้วกะแช่อุทธรณ์ ระหว่างนั้นกะแช่ก็วิ่งเต้นสุดฤทธิ์หาผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเจรจากับ
ดร.ไพจิตรฯ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
อำนวย วีรวรรณ ถูกบุญชูวานให้ไปอย่างไม่เต็มใจในการเจรจากับ ดร.ไพจิตรฯ
กะแช่คงจะเห็นอนาคตตัวเองแล้วว่าถ้ามีเรื่องมีราวแบบนี้ต่อไปก็คงจะทำงานหนังสือพิมพ์ไม่สนุกแน่
ก็เลยขายหนังสือพิมพ์ดาวสยามให้กับเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งไป แล้วก็มาวิ่งเต้นหาทางยอมความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกเหมือนเดิม
เมื่อศาลฎีกาพร้อมจะอ่านคำพิพากษา กะแช่และสหายก็เลื่อนคดีมาตลอด จนกระทั่งในที่สุดคู่เขยของกะแช่ต้องบินไปสหรัฐฯ เพื่อขอเจรจากับ
ดร.ไพจิตร
และผลก็ตกลงออกมาว่า กะแช่หรือประสาน มีเฟื่องศาสตร์ ต้องนำเงิน 600,000
บาท ไปมอบให้มูลนิธิสายใจไทยและมูลนิธิดวงประทีปแห่งละ 3 แสนบาท พร้อมทั้งลงโฆษณาขอขมาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เดลินิวส์ มติชน บ้านเมือง และดาวสยาม ในหน้าหลังสุดเป็นเวลา 7 วัน
สำหรับ ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล แล้วมีหลายคนยังเสียดายที่ไหนๆ ก็สู้มาถึงศาลฎีกาและรอมาตั้งแต่ปี
2524 แล้วก็ไม่น่าจะต้องมายอมความเลย
สำหรับกะแช่นั้น ก็มีคนเสียดายว่าเกิดเป็นลูกผู้ชาย เมื่อกล้าที่จะทำก็ต้องกล้าที่จะรับ
ถ้าหมิ่นเขาก็ยอมติดคุกไปเถอะ ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหาย มิหนำซ้ำกลับจะมีคนนับถือที่ใจนักเลง
"คุณลองอ่านดูคำขอขมาดูซิว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน มีชีวิตอยู่แบบนี้มิสู้ตายไปยังจะดีกว่า"
ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งพูดขึ้นมา
นั่นนะซีคนเราตายได้ 2 แบบ
ตายแบบแรกคือตายหนักอย่างขุนเขา
หรือจะตายเบาแบบขนนก
สำหรับกะแช่ก็คงจะออกจากวงการหนังสือพิมพ์ไปตลอดแล้ว
ถ้าเด็กรุ่นหลังจะถามถึงวีรกรรมทางประวัติศาสตร์ของนักหนังสือพิมพ์ไทยที่สร้างสรรค์สังคม
เราเสียดายที่กะแช่คงจะไม่ได้มีส่วนในด้านนี้เลย