"สมคิด" คาดกองทุนพันธบัตรเอเชีย กอง 2 คลอด ธ.ค.นี้อีกพันล้านดอลลาร์เท่ากองแรก
เน้นลงทุนพันธบัตรสกุลเงินเอเชีย พร้อมดันพันธบัตรนี้เป็นหัวข้อหลักในเอเปก "ทักษิณ"
มั่นใจพันธบัตรเอเชียจะเข้มแข็งภายใน 1 ปี ด้านหม่อมอุ๋ย แนะตั้งกอง 3 รองรับอินเดีย
ขณะที่กองแรกลงทุนแล้ว 800 ล้านดอลลาร์ ส่วนผู้ว่าฯแบงก์ชาติฮ่องกงประสานเสียง
แนะกองทุนฯ ควรเน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาลย่านนี้ก่อน เพื่อเป็นตัวอ้างอิง (Benchmark)ดอกเบี้ยให้พันธบัตรเอกชน
พร้อมลดหย่อนภาษี จูงใจผู้ซื้อ ขณะที่ไทยเตรียมออกพันธบัตรสกุลเงินบาทขายต่างชาติ
ไม่เสียภาษี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดสัมมนา "การพัฒนาตลาดเอเชียบอนด์"
(Developing Asian Bond Markets) ซึ่งจัดโดยธนาคาร แห่งประเทศไทย และนิตยสาร ยูโรมันนี่
(Euromoney) วานนี้ (16 ต.ค.) ว่าการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก
(เอเปก) ที่จะมีขึ้น 20-21 ต.ค.นี้ รัฐบาลไทยจะขอความร่วมมือผู้นำกลุ่มเขตเศรษฐกิจ
เหล่านี้ สนับสนุนการพัฒนาพันธ-บัตรเอเชีย (เอเชียบอนด์) ที่ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งคาดว่าพันธบัตรเอเชียจะประสบความสำเร็จระยะยาว
ตั้งเอเชียบอนด์ฟันด์กอง 2 ปลายปี
เนื่องจากขณะที่ประเทศเอเชียมีศักยภาพขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูงและต่อเนื่อง เขาเชื่อว่าจะได้รับความสนใจเกี่ยวกับการ
ตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund) คาดว่าภายในปลาย ปีนี้ จะตั้งกองทุนฯ
กองที่ 2 ด้วยขนาดใกล้เคียงกองแรกที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท)
เนื่องจากประเทศสมาชิก เอเปกกำลังอยู่ในขั้นตอนผลักดัน ตั้งตลาดพันธบัตรฯ ดังกล่าว
โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมหารือกับ 11 ประเทศสมาชิก เกี่ยวกับการตั้งกองทุนฯ
ขณะที่อินเดีย แจ้งความจำนงร่วมลงทุน รายละเอียดการตั้งกองทุนฯ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณา
โดยนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง ในฐานะประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจการคลัง
สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังหารือร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น
วัตถุประสงค์การลงทุนแตกต่างจากกองทุนพันธบัตรเอเชีย 1 โดยกองทุนฯ ใหม่ จะลงทุนพันธบัตรเงินสกุลท้องถิ่นเอเชียเท่านั้น
ซึ่งคาดว่าจะได้ ข้อสรุปปลายปีนี้ นายสมคิดกล่าวต่อว่า การพัฒนาตลาดตราสารแถบเอเชีย
ต้องดำเนินการ 3 ด้าน
คือ 1.ปลดปล่อยศักยภาพของประเทศแถบเอเชียที่ถูกจำกัดอยู่ 2.ทำให้แต่ละประเทศได้รับประโยชน์จากศักยภาพของตัวเองมากที่สุด
และ 3.ความร่วมมือระหว่างประเทศภูมิภาคนี้ ที่สำคัญ การพัฒนาพันธบัตร จะพิจารณาความต้องการ
และขนาดพันธบัตรที่จะออก ซึ่งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลอยู่
ประเทศในเอเชีย ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ
48 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าครึ่งของเงินทุนสำรองทั้งหมดของโลก
ทักษิณคาด 1 ปีพันธบัตรเอเชียแข็งแรง
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าววานนี้ว่า เวทีการประชุมผู้นำเอเปกที่กรุงเทพฯ จะนำเรื่องพันธบัตรเอเชียรายงานที่ประชุม
ให้รับทราบถึงพัฒนาการพันธบัตรเอเชีย ที่ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มประเทศเอเชียควรมีพันธบัตรสกุลเงินของตนเอง
ซึ่งคาดว่าภายใน 1 ปี ตลาดพันธบัตรเอเชียจะแข็งแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน เขามั่นใจว่าจะได้รับความมั่นใจจากนานาประเทศ
และต้องการร่วมตั้งกองทุนฯ เป็นจำนวนมาก
ส่วนการประชุมเอเปก พ.ต.ท.ทักษิณมั่นใจว่า ในฐานะประธานการประชุม จะสามารถดูแลการประชุมไม่ให้อยู่ในภาวะกดดันได้
โดยเฉพาะกรณีสหรัฐฯจะกดดันเรื่องการเงินของตนเองกับจีน
ผู้ว่าแบงก์ชาติฮ่องกงหนุน
ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง นายโจเซฟ แยม กล่าวว่าพันธบัตรเอเชีย ซึ่งริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางของผู้ออม และผู้ระดมทุน
หรือเป็นทางเลือกระดมเงินทุนมากกว่าที่จะใช้สินเชื่อ จากสถาบันการเงิน
ปัจจุบัน เขากล่าวว่าตลาดหุ้นย่านนี้พัฒนามากแล้ว ยังเหลือแต่ตลาดตราสารหนี้
ที่เป็นช่องทางหนึ่งในการออมและระดมทุน พันธบัตรเอเชีย ด้านอุปสงค์ (ความต้องการ)
ช่วงแรกอาศัยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเปิดกว้างให้ภาคเอกชนด้านการลงทุน
หรือระดมทุนจากกองทุนพันธบัตรเอเชียได้ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้เฉพาะธนาคารกลาง ซึ่งจะพัฒนาตลาดให้กว้าง
มีผู้ลงทุนหรือผู้เล่นหลากหลาย
โดยต้องกำหนดกรอบกว้างๆ ในการลงทุนรวม ทั้งพันธบัตรต้องมีอายุหลากหลาย ทั้งระยะสั้นและยาว
รวมทั้งต้องมีปริมาณเพียงพอต่อการซื้อขาย ช่วงแรก ควรเป็นพันธบัตรรัฐบาลก่อน เพื่อนำร่อง
หรือใช้เป็นตัวอ้างอิง (Benchmark) อัตราดอกเบี้ย ที่ภาคเอกชนจะออกพันธบัตรระดมเงินทุน
นอกจากนี้ ควรจะมีมาตรการภาษี เป็นแรงจูงใจผู้ซื้อพันธบัตร ที่ขณะนี้ หลายๆ ประเทศยังมีอุปสรรคด้านภาษีหัก
ณ ที่จ่าย ที่ควรลดหย่อนได้บ้าง ที่สำคัญ ควรต้องมีระบบชำระเงิน หรือระบบต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้ระบบเดียวกันเป็นมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ ยังต้องมีตลาดรอง รองรับความเสี่ยง เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ เช่น ตราสารอนุพันธ์
หรืออัตราดอกเบี้ย ที่ต้องป้องกันความเสี่ยงได้ ที่สำคัญ ต้องมีความร่วมมือจากภาคเอกชน
เพราะภาครัฐดำเนินการฝ่ายเดียว การพัฒนาเป็นไปได้ช้า เพราะตลาดฯ จะไม่กว้าง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่าการตั้งกองทุนพันธบัตร
เอเชียกองที่ 2 ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระดมความ คิดเห็น เพื่อหาข้อสรุป คาดจะได้ข้อสรุป
ธ.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่า กองทุนฯ แรกที่ตั้งขึ้น มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ น้อยเกินกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชีย
กองทุนที่ 2 จะมูลค่าใกล้เคียงกองทุนแรก หรือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์
แนะตั้งกอง 3 รองรับอินเดีย
ส่วนประเด็นที่ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกอื่น ๆ เช่น อินเดีย ต้องการจะร่วมตั้งกองทุนพันธบัตร
เอเชีย เขาแนะว่าน่าจะตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียกองที่ 3 เพื่อตอบสนองความต้องการรวมทั้งเป็นการพัฒนาตลาดฯ
ให้กว้างยิ่งขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน
ผู้ว่าการธปท.กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่จะพัฒนา ตลาดตราสารพันธบัตรในเอเชียคือการพัฒนาหลายๆ
ด้าน โดยประเทศที่ร่วมตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชีย ต้องพัฒนาตลาดฯ รองรับ เช่น ออกพันธบัตรให้เพียง
พอต่อความต้องการ โดยภาครัฐต้องออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้เอกชน
ที่จะออกพันธบัตรเอกชนตามมา
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องแก้ไขกฎต่างๆ เช่น ยกเลิกภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับซื้อขายพันธบัตร
สร้างระบบชำระเงินที่สะดวก แก้ไขกฎการไหล เข้า-ออกของเงิน ส่วนอินเดีย เขากล่าวว่าขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่า
จะร่วมกองทุนพันธบัตรเอเชีย กองที่ 2 หรือไม่
แนะเอเชียพัฒนาตลาดตราสารหนี้
ที่ประชุมวานนี้ แสดงความคิดเห็นทิศทางเดียวกันว่า การพัฒนาตลาดทุนของประเทศในเอเชีย
ควรเน้นพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อจะดึงเงินออมสู่ตลาดการลงทุนมากขึ้น การตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชีย
จะเป็นก้าวแรกพัฒนาตลาดตราสารได้
สำหรับกองทุนพันธบัตรเอเชียกองที่ 2 จะลงทุน ตราสารเงินสกุลท้องถิ่น จะเปิดให้ผู้ลงทุนเอกชนลงทุนตราสารดังกล่าวให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ต้องแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เช่น ปัญหาภาษี ความพร้อม ตลาดตราสารหนี้แต่ละประเทศ
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าการอกพันธบัตรเอเชียครั้งที่
2 ซึ่งจะเปิดโอกาสภาคเอกชนสามารถซื้อและลงทุนได้ จะเป็นทางเลือกระดมทุนของสถาบันการเงินมากขึ้น
และส่งผลประเทศเอเชียมีความร่วมมือกันใกล้ชิดมากขึ้น ด้านธนาคารพาณิชย์ สนใจจะลงทุนพันธบัตรดังกล่าวอยู่แล้ว
โดยขณะนี้ สถาบันการเงินมีสภาพคล่องการเงินล้นระบบมาก ต้องการจะมีช่องทางลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดี
และความเสี่ยงน้อย ซึ่งพันธบัตรภูมิภาค เชื่อว่าจะได้รับความสนใจเหมือนพันธบัตรยุโรปและอเมริกา
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะมีกองทุนพันธบัตรเอเชีย
2 เนื่องจากขณะนี้ กองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund) กองแรก วงเงินเริ่มต้น
1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนพันธบัตรสกุลดอลลาร์แล้วประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ จำนวนเงินที่ยังเหลือ
อาจไม่เพียงพอสำหรับจะลงทุนพันธบัตรสกุลอื่นๆ
ด้านนางจุฬารัตน์ สุรีธร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ
กล่าวเพิ่มเติมว่าการตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชีย 1 ออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยต้องการให้ประเทศเอเชียอื่นๆ
ส่งเสริมการออกพันธบัตรเอเชียสกุลเงินท้องถิ่นตามมาหลังจากกองทุนแรกดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
ไทยเตรียมออกบาทบอนด์ขายต่างชาติ
การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปกที่ผ่านมา ไทยส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรในเอเชีย
และพิจารณาว่า จะออกพันธบัตรสกุลเงินบาท เพื่อขายในประเทศให้นักลงทุนต่างประเทศ
โดยจะยกเว้นภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% เพื่อเพิ่มดีมานด์ (ความต้องการ) ในตลาดให้มากขึ้น
รวมทั้งกำลังพิจารณาว่า จะมีมาตรการภาษี อื่นๆ สร้างแรงจูงใจนักลงทุนสถาบัน ทั้งในและ
ต่างประเทศหรือไม่ นางจุฬารัตน์กล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปก ที่ภูเก็ตเมื่อเร็วๆ
นี้ ทุกประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างมาก
คาดว่าการประชุมผู้นำเอเปกผู้นำจากหลายเขต เศรษฐกิจ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะตอกย้ำการสนับสนุนเรื่องนี้อีกครั้ง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า วันที่ 22 ต.ค.นี้ จะประเมินผลมาตรการการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท
ซึ่งเขาคิดค่าเงินบาทระดับที่เหมาะสมไว้ในใจแล้ว หาก 7 วันผ่านไป ยังตรวจพบว่ายังเก็งกำไรค่า
เงินบาทจากช่องทางอื่น ธปท.ก็เตรียมแผนเพิ่มเติม แก้ปัญหาเก็งกำไรไว้แล้ว