มิติใหม่ในระบบการเงินการธนาคาร

โดย อำนวย วีรวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

มิติเก่าของระบบการเงินการธนาคารในบ้านเราได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิรูประบบเงินตราของประเทศเสียใหม่ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัว หลังจากที่ได้ทรงทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับนานาประเทศ ในปี พ.ศ. 2398

การพัฒนาระบบการเงินการธนาคารได้แสดงผลอย่างเด่นชัดในรัชกาลต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษจัดตั้ง

ธนาคารพาณิชย์สาขาต่างประเทศแห่งแรกขึ้นในประเทศไทย ใน พ.ศ. 2431 ซึ่งนับถึงบัดนี้ก็เป็นเวลาถึง 96 ปี แล้ว เหลืออีกเพียง 4 ปี สถาบันธุรกิจนี้ก็จะมีอายุครบรอบหนึ่งศตวรรษพอดี

หลังจากมีธนาคารสาขาของชาวอังกฤษแล้ว ชาติอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งธนาคาร

พาณิชย์สาขานี้ดุจเดียวกัน รวมทั้งคนไทยเองก็ได้ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของคนไทย ขึ้นด้วยในอีก 18 ปีต่อมา แต่ผู้บริหารในระยะแรกก็ยังเป็นชาวต่างชาติอยู่

สงครามโลกครั้งสองได้เปิดโอกาสให้พ่อค้า นักธุรกิจในประเทศ ได้เข้าไปมีบทบาทแทนที่ธนาคารของชาวต่างชาติที่ต้องปิดกิจการไป และนับตั้งแต่นั้นมาการประกอบธุรกิจนี้ก็เปลี่ยนมาอยู่ในกำมือของคนไทยมาโดยตลอดตราบเท่าทุกวันนี้

อาจกล่าวได้ว่าธนาคารพาณิชย์ได้ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในระยะแรกโดยปราศจากปัญหาและอุปสรรค ทั้งยังปราศจากคู่แข่งขันที่ทัดเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับแรกขึ้นใน พ.ศ. 2505 ก็ยิ่งเท่ากับการวางรากฐานในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยให้ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงยิ่งขึ้น จนทำให้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากสาธารณชนมาตลอด

นับแต่นั้น

ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารพาณิชย์ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในด้านการสนับสนุนให้มีการลงทุนในธุรกิจ

ประเทศต่างๆ ที่เป็นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม ทั้งนี้โดยอาศัยการระดมเงินออมจากประชาชนทั้งประเทศ

ทุกวันนี้ธนาคารพาณิชย์จึงนับได้ว่าเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขนาดของการครองทรัพย์สิน การระดมเงินออม หรือการให้สินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ระดมเงินทุนโดยการรับฝากเงินประเภทต่างๆ จากประชาชน ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์บริการอำนวยความสะดวก พร้อมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พาณิชยกรรม เกษตรกรรม และธุรกิจอุตสาหกรรม ตลอดจนสวัสดิการสังคม และบริการต่างๆ อย่างเต็มที่ ระบบธนาคารพาณิชย์จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในภาคการเงิน โดยมีสัดส่วนในสินทรัพย์ถึงร้อยละ 70 ของการเงินทั้งระบบในปัจจุบัน เมื่อสิ้นปี 2526

ธนาคารพณิชย์ไทยมีจำนวนโดยมีสัดส่วนในสินทรัพย์ถึงร้อยละ 70 ของการเงินทั้งระบบในปัจจุบัน เมื่อสิ้นปี 2526 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีจำนวน 16 แห่ง มีสาขาในประเทศทั้งสิ้น 1,677 สาขา สาขาต่างประเทศ 26 สาขา และมีพนักงานรวมกันถึง 65,843 คน

มิติต่างๆ ในระบบการเงินการธนาคารตามที่ได้พรรณนามานั้น กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน มิติใหม่กำลังจะก้าวเข้ามาแทนที่ หรือได้ก้าวเข้ามาแล้ว

มิติเหล่านั้นคืออะไรมีความต่อผู้ประกอบการในสถาบันการเงินการธนาคารแค่ไหน และจะมีผลกระทบต่อนโยบายการเงินของรัฐบาลอย่างไรหรือไม่?

ปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่สังคมยุคใหม่เป็นโลกที่ john naisbitt นักคิดนักเขียนชาวอเมริกันเรียกว่า เป็นสังคมแห่งข่าวสารข้อมูล หรือ information Society และเป็นช่วงเวลา ที่ Alvin Tolller นักวิเคราะห์อนาคตชาวอเมริกัน กำหนดให้เป็นสังคมของคลื่นลูกที่สาม หรือสังคมที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นแรงผลักดัน

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่อาจกล่าวว่าได้ก้าวเข้าสู่สังคมข่าวสารข้อมูลอย่างแท้จริงแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าข่าวสารข้อมูลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ส่วนในกรณีของสังคมคลื่นลูกที่สาม คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรกว่าคลื่นลูกนี้จะม้วนต้วนเข้าสู่ฝั่งทะเลไทย แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมาไม่ถึง

สังคมทั้ง 2 แบบนี้จะต้องปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่เรายังคงยึดถือนโยบายเปิดประตูบ้าน ต้อนรับอิทธิพลจากโลกภายนอกอยู่

แน่นอนที่สุด เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับโลกใหม่ ทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องรับให้คอยดูลู่ทาง และพยายามฉวยโอกาสให้มิติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นบังเกิดประโยชน์แก่การดำเนินธุรกิจของเราให้มากที่สุด

มิติใหม่ที่เราควรจะให้ความสนใจเป็นพิเศษในระบบการเงินการธนาคารได้แก่

มิติแรก คือการเปลี่ยนแปลงในรูปลักษณะและความรุนแรงของการแข่งขัน

สมัยก่อนนั้นประชาชนมักคิดว่า การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทย เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวของบุคคลร่ำรวยเพียงไม่กี่ตระกูล ผู้ประกอบการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการในรูปสมาคมรัฐบาลก็ให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้มีการแข่งขันกัน เพื่อรักษาความปลอดภัย การแข่งขันในรูปดอกเบี้ยหรือราคา กล่าวได้ว่า ไม่มีหรือน้อยมาก และก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยเห็นว่า สมาคมธนาคารเป็นองค์กรของการผูกขาดและฮั้วกันอยู่

แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นแหล่งสร้างงานขนาดใหญ่ จำนวนพนักงานเกือบ 7 หมื่นคน ย่อมชี้ชัดว่าธุรกิจนี้มิใช้ธุรกิจของครอบครัวต่อไปแล้ว และนั่นหมายถึงการแข่งขันกลายเป็นกลยุทธ์ในการบริหารงานธนาคารที่สำคัญยิ่ง และมีการแข่งขันในทุกรูปแบบ ทั้งในด้านราคา หรืออัตราดอกเบี้ย ในด้านการบริการ ซึ่งรวมถึงคุณภาพ ลักษณะ และปริมาณ ในด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำหรือความ

โดดเด่นเป็นเลิศ ซึ่งจะปรากฏผลในรูปบริการที่รวดเร็วและทันสมัย ในด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในหมู่มวลชน และในด้านการรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อหันเหความนิยมมาสู่กิจการของตน

นอกจากการแข่งขันในหมู่สถาบันการเงินไทยแลัว ยังมีการแข่ง

ขันที่รุนแรงมากจากสถาบันการเงินต่างประเทศ ทั้งในระดับสาขาธนาคาร สำนักงานตัวแทนธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ต่างประเทศถือหุ้น เพราะ

กิจการเหล่านี้เป็นแขนขาอิเล็กทรอนิกส์จากสถาบันการเงินในต่างประเทศ ซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารได้ภายในพริบตา ซึ่งการแข่งขันจากต่างประเทศจะเน้นหนักไปสู่ลูกค้ารายใหญ่ที่มีฐานะการเงินมั่นคง แม้ธนาคารหรือบริษัทการเงินต่างประเทศจะระดมเงินฝากไม่ได้มากนัก เพราะข้อจำกัดห้ามขยายสาขา แต่ก็มีทุนทรัพย์ก้อนมหึมาหนุนหลังอยู่ ทำให้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่น้อย

ในด้านของธนาคารไทยก็เริ่มเห็นความจำเป็นต้องขยายตัวไปสู่ตลาดโลก เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า โดยวิธีเปิดสาขาธนาคารขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งมีผลเป็นการขยายขอบเขตออกไปในต่างประเทศ

มิติที่สองคือการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของตลาดลูกค้า

ก่อนที่เราจะเริ่มตื่นตัวทางอุตสาหกรรมกันนั้น ลูกค้าของธนาคารมักเป็นกิจการค้าประเภทนำเข้าและส่งออก เป็นค้าขายส่งและขายปลีก มีกิจการเล็ก แต่ในปัจจุบันจะมีลูกค้ารายใหญ่ประกอบอุตสาหกรรมในลักษณะต่างๆ มากขึ้น อาจจะกล่าวได้ว่า โดยทั่วๆ ไปแล้วสถาบันการเงินทุกแห่งจะมีธุรกิจประมาณ ร้อยละ 40 ของธุรกิจทั้งสิ้นกับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้จะมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น

ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินควรจะโอ๋เอาใจเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ ตรงกันข้าม ลูกค้ารายใหญ่อาจเป็นฐานธุรกิจใหญ่โตก็จริง แต่หากกำไรจากลูกค้ารายใหญ่ อาจจะกระทำได้ยาก เพราะมีการแข่งกันมาก โดยเฉพาะจากธนาคารต่างประเทศกำไรของธนาคารจะหาได้ดีกว่า จากลูกค้ารายเล็กและลูกค้าปานกลางที่มีคุณภาพ

เนื่องจากขนาดของกิจการของลูกค้าที่ขยายตัวออกไป และเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จะเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่จะติดต่อและมีบัญชีกับธนาคารหลายแห่ง ยิ่งใหญ่ยิ่งใช้ธนาคารและบริษัทเงินทุนมากแห่ง รวมทั้งธนาคารต่างประเทศ ฉะนั้นการใช้บริการของธนาคารหรือสถาบันการเงินจึงอยู่ที่คุณภาพของการแข่งขันมากขึ้น

วิธีการมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปแทนที่จะใช้ความเชื่อถือหรือทุนทรัพย์ที่นำมา

ใช้เป็นประกันในการพิจารณาแต่อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการลงทุน หรือโครงการธุรกิจกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเติบโตอย่างเต็มที่ในด้านธุรกิจของเขา

ในขณะเดียวกันการบริหารงานของลูกค้าในแนวนี้

ก็มีลักษณะเป็นมืออาชีพกันมากขึ้น ผู้ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยในระยะ20-30 ปีก่อน กำลังพ้นวัยทำงานไป รุ่นลูกของผู้ริเริ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยในระยะ20-30 ปีก่อน กำลังพ้นวัยทำงานไป รุ่นลูกของผู้ริเริ่มกำลังจะเข้ามารับช่วงแทน ผู้บริหารงานธุรกิจรุ่นใหม่นี้จะมีคุณวุฒิสูง ส่วนใหญ่ก็ในระดับปริญญามหาวิทยาลัย และมีอยู่เป็นจำนวนมากที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกจากต่างประเทศในสาขาวิชาการต่างๆ

ในขณะเดียวกันก็มีวิสาหกร หรือ entrepreneurs รุ่นหนุ่ม ซึ่งสามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเฉียบแหลมส่วนตัว ฉกฉวยโอกาสจากสังคมข่าวสารข้อมูล วิสาหกรรุ่นใหม่นี้จะมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

ผู้บริหารและวิสาหกรรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านที่ทันสมัย นับวันจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันการเงินการธนาคารจึงจำเป็นต้องปรับตัวเอง

เพื่อให้เข้ากับลูกค้ารุ่นใหม่นี้ให้ได้ ทั้งในด้านความรู้ ทัศนคติ สังคม และบริการธุรกิจ

มิติใหม่ที่สาม คือการขยายตัวในด้านความต้องการของลูกค้า และการสนองตอบของสถาบันการเงิน

ธุรกิจอุตสาหกรรมยิ่งมีความสลับซับซ้อน (complex) มากขึ้นเพียงใด การแข่งขันกับโลกภายนอกย่อมมีมากขึ้นเพียงนั้น กิจการธุรกิจในประเทศไทยย่อมจะต้องใช้บริการการเงินในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อให้มีฐานการเงินรองรับในรูปแบบที่เหมาะสม การขยายบริการทางการเงินของธนาคารนั้น ในปัจจุบันทำได้ยากมาก เพราะมีกฎหมายเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์บัญญัติขอบเขตของกิจการธนาคาร ไว้อย่างแคบมาก การขยายบริการของธนาคารเพื่อให้ครบวงจร จึงมักเป็นในรูปของการจัดตั้งบริษัทการเงิน เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บรษัทประกันภัย บริษัทบริการเช่ากึ่งซื้อ ( LEASING) ขึ้นมาในเครือข่ายของตน เพื่ออำนวยบริการทางการเงินในด้านอื่นๆ ให้ด้วย

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในโลก กำลังดำเนินนโยบายปลดปล่อยให้ (deregulation) ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่ารัฐควรจะให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในด้านขอบเขตของกิจ

การมากขึ้นหรือไม่ ในการสนองบริการให้แก่ลูกค้า

แทนที่จะปล่อยให้ทำกันในรูปแบบนี้ ซึ่งยากแก่การควบคุมดูแล และในบางกรณีก็อาจกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ออก หรือแก้ยากเช่นทุกวันนี้

มิติที่สี่ คือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีใหม่ในกิจการเงินและการธนาคาร

ธนาคารและสถาบันการเงินเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีเพื่อสนองตอบความต้องการธนาคารและสถาบันการเงินซึ่ง

ก้าวหน้าและรวดเร็ว บริษัทใหญ่ๆ เช่น IBM ถึงกับมีหน่วยงานด้านค้นคว้าวิจัยและการพัฒนาเพื่อกิจการธนาคารโดยเฉพาะ

ในขณะที่โลกกำลังหมุนตามเกลียวคลื่นลูกที่สามเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี เราก็จะคาดหวังได้ว่า สถาบันการเงินจะเป็นผู้บุกเบิกกรุยทางในด้านนี้ ซึ่งติดตามมาด้วยสถาบันธุรกิจ และองค์กรอื่นๆ การฝาก การถอน โอนเงิน และการหักบัญชีในประเทศและข้ามประเทศด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการติดต่อธุรกิจขายปลีก (retailing) ด้วยระบบ ATM เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี ก้าวต่อไปที่จะติดตามมาก็คือการเสนอบริการการเงินนอกสถานที่ทำการไปสู่สำนักงาน หรือบ้านของลูกค้า ด้วยระบบโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจการธนาคารทั้งในด้านโอนเงิน จ่ายชำระหนี้ และค่าบริการ สอบถามข้อมูล เปิด L/C และขอสินเชื่อได้โดยตรงจากสถานที่ทำการหรือจากบ้าน โดยใช้ไมโครหรือมินิคอมพิวเตอร์ของตน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีในด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการจัดการของหน่วยงานธุรกิจทุกแขนงสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการวางแผนการบัญชี การป้อนข้อมูล ให้ฝ่ายจัดการ (MIS) และการควบคุมติดตามผลงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ ถ้าคิดจะค้าขายแข่งกับผู้อื่นในตลาดโลก

มิติใหม่ที่ห้า คือความจำเป็นในด้านการบริหารด้วยมืออาชีพ

โลกของเราได้เจริญก้าวหน้าเข้าสู่ยุคการเงินมากขึ้น เรียกกันว่าเป็นการเงินระดับสูง หรือ High Finance การค้า

และระบบการเงินโลกได้ขยายตัวไปอย่างที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน มีตลาดการเงินของโลกกำลังดำเนินการอยู่ ทุกชั่วเวลานาที ตลอด 24 ชั่วโมง จากฮ่องกง สิงคโปร์ ไปสู่ลอนดอน นิวยอร์ก และซานฟรานซิสโก มีเงินสกุลสำคัญๆ ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยเสรีในตลาดโลก ในขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่นกำลังจะมีความสำคัญในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาอีกสกุลหนึ่ง

เมื่อกิจการธนาคารและสถาบันการเงินมีบทบาทและความสำคัญกับชีวิตประจำวันของบุคคลและธุรกิจมากขึ้นเช่นนี้ ศรัทธาและความเชื่มมั่นไว้วางใจย่อมจะเป็นปัจจัย

สำคัญที่สุดในการบริหารงานของธนาคารและผู้บริหารสถาบันการเงินจึงมีลักษณะเป็น

คนของประชาชนมาก การวางตัวในสังคมธุรกิจและในสัวคมทั่วไปจึงเป็นจุดเด่นที่อยู่ในสายตาคนทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ

ซึ่งพยายามสรรหาผู้บริหารงานมืออาชีพเข้ามาในองค์กรอย่างจริงจังมากขึ้นพยายาม

เลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงดีเด่นในสังคมเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการและพยายามฝึกอบรมเจ้า

หน้าที่พนักงานของตนให้มีลักษณะมืออาชีพ เป็นที่ยกย่องในสังคมในอนาคต

แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี การกระจายหุ้น หรือความเป็นเจ้าของ

ธนาคารในรูปครอบครัวด้วยมาตรการทางกฎหมายก็มีส่วนผลักดันในด้านการบริหารมืออาชีพด้วยอีกทางหนึ่ง โครงสร้างของตลาดลูกค้า และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปก็บีบบังคับให้ธนาคารต้องใช้มืออาชีพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การใช้ผู้บริหารมืออาชีพมากขึ้น ย่อมหมายความว่าผู้บริหารจะต้องมีความรับผิดชอบสูงต่อผู้ถือหุ้นและมวลชนในการสร้างศรัทธาและ

ความเชื่อมั่นจะต้องสามารถแสดงประสิทธิภาพและคุณภาพของผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะจะอาศัยความเป็นเจ้าของหรือลูกของเจ้าของมาเป็นเกาะกำบังไม่ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรุนแรงในด้านการแข่งขันและความก้าวหน้าทางวิทยาการการบริการ และเทคโนโลยี ทำให้สถาบันการเงินการธนาคารของโลกให้ความสำคัญนักบริหาร วัยหนุ่มมากขึ้น ธนาคารแห่งอเมริกา และซิตี้แบงก์ ซึ่งเป็นสองธนาคารที่มีลำดับใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2526 ก็ได้แต่งตั้งเป็นประธานหรือ chief executive officers ด้วยวัยเพียง 42 ปี ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีกิจการที่ใหญ่ที่สุดในภาคนี้ก็เกษียณอายุประธานหรือกรรมการผู้จัดการของเขาด้วยวัยเพียง 55 ปี

สำหรับวงการธุรกิจการเงินการธนาคารในประเทศไทยนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะใช้ผู้บริหารงานวัยหนุ่มที่ปรีชาสามารถมากขึ้นเช่นกัน เช่นกรณีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในวัยเพียง 39 ปี นอกจากนี้ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารต่างๆ ในปัจจุบัน ประมาณครึ่งหนึ่งก็ได้เข้ารับตำแหน่งนี้เป็นครั้งแรกในวัย 30 เศษๆ หรือ 40 เศษ เช่นกัน

มิติใหม่ที่หกคือการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม

ธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นขุมทรัพย์ทางการเงินของประเทศ ซึ่งจะต้องถูกแพ่งเล็งจากสถาบันทางการเมือง รัฐบาล และสังคมอยู่เสมอ ธนาคารจะมุ่งหวังกำไร เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหารและพนักงานของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่จะต้องประกอบการและแสดงบทบาทในฐานะผู้นำฝ่ายเอกชน ในสังคมการเสียสละ แบ่งปัน และสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของสังคมมากขึ้น สมกับที่มีผู้เปรียบว่าทรัพย์สินที่ได้จากสังคมต้องบริจาคกลับคืนไปทำประโยชน์แก่

สังคมนั้น ความมั่นคงของกิจการจึงจะเพิ่มพูนได้มากขึ้น

ในทางเดียวกันรัฐบาลก็หวังที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก

ธนาคารในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากการซื้อพันธบัตรรัฐบาล และการอำนวยสินเชื่อการเกษตรธนาคาร และสถาบันการเงินจะได้รับการเรียกร้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านการเงินของประเทศ อาทิ โครงการพยุงราคาข้าว โครงการพยุงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โครงการแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเรียกร้องให้ธนาคารต่างๆ เข้าร่วมลงทุนหรือสนับสนุนด้านการเงินในโครงการพัฒนาหรือโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โครงการอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ (Phoenix Pulp) โครงการอุตสาหกรรมแร่สังกะสี (ผาแดง) โครงการก๊าซเหลว (LNG) และโครงการปุ๋ยเคมี (NFC) เป็นต้น แต่ละโครงการการใช้เงินทุนเรือนหุ้น และเงินลงทุนรายละหลายพันล้านบาท เป็นที่คาดหวังไว้ว่า ยังมีโครงการลงทุนรายอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ ติดตามมาอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้จะเป็นภาระอันหนักอึ้งของธนาคารพาณิชย์ เพราะเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล และใช้ระยะเวลานานกว่าจะฟื้นทุน แต่ธนาคารพาณิชย์ก็จำเป็นต้องเข้าไปแบกรับภาระด้วยการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลในการวิเคราะห์อย่างเหมาะสมตามสภาพความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี การเข้าโครงการต่างๆ ดังกล่าว ผู้บริการธนาคารจำเป็นต้องพิจารณาพินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงแก่นเพราะแต่ละโครงการ

ต้องการทุนทรัพย์มหาศาล ใช้เทคโนโลยีสูง ในยามที่ประเทศชาติขาดแคลนเงินทุนเช่น

ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์ก็ดี รัฐบาลก็ดี ไม่อยู่ในฐานะที่จะเสี่ยงต่อความผิดพลาด อันจะส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจสั่นคลอนได้

มิติเก่าและมิติใหม่ในระบบการเงินการธนาคารที่กล่าวมาทั้งหมด สำหรับท่านที่อยู่ในวงการนี้ไม่ว่าในฐานะผู้ประกอบการ ผู้บริหาร หรือผุ้สังเกตการณ์ ย่อมมีโอกาสสัมผัสและรู้ถึงกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้นำในวงการมีความตื่นตัว พร้อมทั้งมุ่งแสวงหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และความสามารถแปรโอกาสให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

สิ่งที่วิเคราะห์ต่อไปอีกก็คือ มิติใหม่ในวงการเงินการธนาคารควรจะมีผลสะท้อนต่อแนวนโยบาย ของรัฐอย่างไร

ประการแรก ในด้านนโยบายการเงินของประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่รัฐมุ่งใช้นโยบายการเงินแนวหน้าในการบริหารงานเศรษฐกิจ

แต่ขณะเดียวกัน นโยบายการคลังของประเทศ ก็กำลังสูญพลังไป เพราะมีปัญหาขาดทุนเรื้อรังทำให้ไม่อยู่ในสภาพที่จะนำมาใช้เป็นตัวพยุงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้

เมื่อภาระการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาตกมาอยู่ในนโยบายการเงิน ก็ย่อมเป็นของธรรมดาที่กลไกทางการเงินของชาติ จะต้องเปลี่ยนตามให้สอดคล้องกันไปจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยตายตัว มาเป็นนโยบายอัตราดอกเบี้ยยืดหยุ่น และสนับสนุนการแข่งขันด้านราคาและดอกเบี้ย จากนโยบายสินเชื่อเป็นส่วนรวมมาเป็นนโยบายบริหารสินเชื่อแบบคัดเลือก (selective credit policy) ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างเป็นสิ่งจูงใจให้มีการปล่อยสินเชื่อด้านใดด้านหนึ่งมากขึ้น หรือเป็นสิ่งที่ฉุดดึงให้มีการปล่อยสินเชื่อบางประเภทน้อยลง

นโยบายดังกล่าวนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน และควรยอมรับกันได้ว่า

เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้มาตรการดอกเบี้ยหรือราคา หรือมาตรการเพิ่มลดปริมาณเงินในตลาดเป็นกลไกในการจำกัดหรือขยายสินเชื่อเป็น

ส่วนรวม หรือขยายสินเชื่อแบบคัดเลือกโดยใช้พลังตลาด (market foeces) เป็นตัวกำกับการใช้มาตรการควบคุมปริมาณสินเชื่ออีกทางหนึ่ง เช่นการกำหนดวงเงินสินเชื่อไม่ให้ขยายตัวเกินร้อยละ 18 ซึ่งกลายเป็นจุดวิพากษ์วิจารณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นมานั้น เป็นปัญหาด้านความจำเป็นต้องมีการทบทวนความเหมาะสมตลอดเวลา

ข้อควรคิดทางราชการคือ ถึงแม้ว่าไม่มีการจำกัดวงเงินสินเชื่อไว้ 18 เปอร์เซ็นต์ การผลักดันให้มีอัตราดอกเบี้ยสูง การจำกัดการขยายตัวด้านปริมาณเงินในประเทศ และการใช้มาตรการอื่นๆ ด้านการเงินการคลัง จะทำให้สินเชื่อขยายตัวไปในอัตราสูง ได้อยู่แล้วหรือไม่ และการใช้นโยบายขยายสินเชื่อแบบคัดเลือก ควรใช้ราคาหรือ อัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งจูงใจมากขึ้นได้หรือไม่ โดยไม่จำกัดปริมาณสินเชื่อที่พึงได้รับการส่งเสริม

ประการที่สอง การระดมเงินออมในประเทศนั้น ถึงแม้ขณะนี้การระดมกันในระบบผ่อน ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ แต่ก็ยังมีอยู่ไม่น้อยที่จะระดมอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การตั้งวงแชร์ ซึ่งค่อนข้างแพร่หลาย ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้อาศัยสินเชื่อจากธนาคารเป็นทุนดำเนินงานมักอาศัยเงินนอกระบบนี้

ในขณะที่ตลาดเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สามารถระดมเงินเข้ามาได้ เป็นจำนวนประมาณ 500,000 ล้านบาท ก็มีผู้ประมาณว่า

ตลาดเงินนอกระบบคงมียอดเงินหมุนเวียนอยู่นับเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนล้านบาทเช่นกัน ซึ่งในยามที่เศรษฐกิจของบ้านเมืองฝืดเคืองเงินหมุนเวียนได้ไม่คล่องเช่นนี้ เงินนอกระบบอาจจะก่อปัญหาและสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะไม่มีกลไกทางราชการที่จะมาช่วยควบคุมรักษาผลประโยชน์ของผู้ฝากเงิน ดังที่เกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ สนับสนุนอย่างยิ่ง เพื่อดึงดูดให้เงินนอกระบบเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ การพัฒนาตลาดเงินทุน (capital market) ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

เป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะโครงสร้างทางธุรกิจอุตสาหกรรมเราในปัจจุบันมักใช้เงินทุนน้อยสินเชื่อมาก ในยามรุ่งเรืองผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ตอบแทนสูง จากวิธีดังกล่าว แต่ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ลงทุนจะประสบปัญหาภาระดอกเบี้ยและขาดทุนในอัตราสูง และหมุนตัวไม่ทันความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนหรือลดอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินลงทุนจึงมีมาก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า ในยามยากนี้การพัฒนาตลาดเงินทุนในประเทศกลับมีความสำคัญยิ่งยวดมากขึ้น

ประการที่สาม นโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นั้น ควรจะต้องดำเนินแบบสายกลาง การใช้เทคโนโลยีของ ATM หรือรูปอื่นใดนั้น ควรจะเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าของโลก ซึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือหนีไม่พ้น

การลงทุนใดๆ นั้น จะต้องได้ผลประโยชน์คุ้มกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และผู้ลงทุนจะต้องมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอแต่ไม่ควรจะไประงับการลงทุนเพราะ

เกรงว่าจะทำให้การค้าขาดดุล เพราะถ้าจะห้ามหรือลดการนำเข้ากันจริงๆ แล้ว ยังมีสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยอื่นๆ อีกมากที่ควรได้รับการพิจารณาห้ามนำเข้าก่อน ไม่ควรเพ่งเล็งที่สินค้าประเภททุน โดยเฉพาะที่เทคโนโลยีขั้นสูง

ความจริงในเรื่องการใชเทคโนโลยีใหม่ในระบบการเงินการธนาคารอาจกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมาได้ และให้มีการกระทำในลักษณะค่อยทำค่อยไป(gradual)

การเปิดบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเครื่อง ATM นี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกธนาคารคุ้มที่จะทำหรือคุ้มที่จะทำทุกสาขา ฉะนั้นในเรื่องนี้ ผู้บริหารงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายธนาคารควรจะร่วมกันพิจารณาวินิจฉัยได้

ประการที่สี่ ในด้านความร่วมมือทางการเงินและการลงทุนในโครงการรัฐบาลหรือโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนนั้น เป็นเรื่องที่พึงระมัดระวัง และใช้ความรอบคอบมากขึ้น ปัจจุบันผู้บริหารทางการเมือง มักจะเห็นว่าโครงการนี้ไม่เหมาะที่จะทำในรูปรัฐวิสาหกิจ หรือรูปส่วนราชการ เพราะไม่คล่องตัวเพียงพอหรือเพราะไม่สามารถจัดหาผู้บริหารงานมืออาชีพที่เหมาะสม

ได้ ควรจะทำในรูปกิจการของเอกชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายนี้ยังจะต้องผ่านขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก่อน คือ การเลือกโครงการลงทุนที่เหมาะสม ถ้าโครงการไม่ดีแล้ว ผู้บริหารงานไม่ว่าเก่งกาจเพียงใด ก็คงจะป้องกันความล้มเหลวไม่ให้เกิดขึ้นมิได้

การร่วมลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลสนับสนุน จึงต้องอาศัยและฟังความคิดเห็นของผู้ลงทุนในประเทศ

โดยเฉพาะสถาบันการเงินและการธนาคารซึ่งมีประสบการณ์ในด้านนี้มากกว่าผู้บริหาร

ของทางราชการ ไม่ควรฟังแต่เฉพาะโปรโมเตอร์หรือบริษัทผู้ขายเครื่องจักรซึ่งมีผล

ประโยชน์ที่จะให้รัฐบาลจัดทำโครงการเหล่านี้ขึ้นมา

รัฐบาลควรยึดถือนโยบายสำคัญที่จะไม่ใช้วิธีบังคับให้ธนาคารหรือสถาบันการ

เงินร่วมลงทุนในโครงการที่สถาบันเหล่านั้นเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะเงินที่จะนำไป

ลงทุนนั้นเป็นเงินฝากของประชาชน ไม่มีเหตุผลสมควรที่ธนาคารจะถูกบังคับให้นำเงินเหล่านั้นไปเสี่ยงกับความเสียหาย

แนวทางการปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือเมื่อร่วมลงทุนกันแล้ว ในยามที่เศรษฐกิจและตลาดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ต้องร่วมหัวจมท้ายกัน ไม่ปล่อยปละละเลยเสียกลางคัน เพราะถ้าผู้ริเริ่มและผู้ร่วมทุนหรือรัฐบาล ทำตนเช่นนั้นแล้ว ปัญหาเล็กจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องง่ายจะกลายเป็นเรื่องยาก และก็คงทำให้สถาบันการเงินนต่างๆ ขยายที่จะเข้าไปร่วมมือลงทุนในโครงการอื่นๆ ของรัฐบาลอีก

ภาพมิติใหม่ในระบบการเงินการธนาคารตามที่กล่าวมาที่จริงแล้วยังมีมิติใหม่

อีกหลายอย่างที่ยังมิได้นำมากล่าวในที่นี้

แต่ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินการธนาคาร การพัฒนาศเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องก้าวรุดหน้าต่อไป โดยมีระบบการเงินการธนาคารที่ได้พัฒนามาเกือบหนึ่งศตวรรษเป็นตัว “ชูโรง” ตลอดกาล

ขณะนี้ปัญหาสำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ธนาคารพาณิชย์ ได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

เพื่อส่วนรวมได้มากขึ้น และทำอย่างไรผลของการพัฒนาดังกล่าวจะกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริงยิ่งกว่าที่แล้วมาในอดีต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คำตอบนี้ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารงานธนาคารคนหนึ่ง ก็ใคร่ขอกล่าวว่า ธนาคาพาณิชย์ไทย เป็นส่วนรวมนั้น ได้ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ และพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นผู้เริ่ม หรือมีส่วนร่วมในกิจการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะช่วยอำนวยผลประโยชน์ตอบแทนสังคม

การประกอบธุรกิจธนาคารจะมุ่งหวังเพียงแค่ผลกำไร

อย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีความรับผิดชอบและพร้อมเข้าทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเพื่อ

ประโยชน์สุขของมหาชนควบคู่กันไปด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.