อพาร์ตเมนต์สไตล์อาร์ตเดคโค “หนึ่งเดียว”


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ณ อพาร์ตเมนต์ยุคทศวรรษ 1930 บริเวณชานเมืองทิศตะวันออกของซิดนีย์ ที่นี่หลอมรวมความทันสมัยสไตล์ แมนฮัตตันกับความแจ่มใสสไตล์ซิดนีย์เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว บริเวณด้านล่างของระเบียงมีเสียงคลื่นซัดสาดเหมือนเพลงบรรเลงขับกล่อมจากท้องทะเล ทำให้ผู้อยู่ไม่ลืมว่ากำลังอยู่ในบรรยากาศของเมืองท่าเรือที่มีสายลมพัดเฉื่อยฉิวแสนสบายตลอดเวลา แต่บรรยากาศภายในตกแต่งด้วยสไตล์คลาสสิกแบบอาร์ตเดคโคสวยงาม

เจ้าของซึ่งเป็นครอบครัวเล็กๆ สามคนพ่อ-แม่-ลูกเล่าว่า พวกเขาพบอพาร์ตเมนต์นี้ในเน็ต “มันตรงใจของเราที่ตั้งอยู่ริมน้ำ อพาร์ตเมนต์นี้ไม่มีคนอยู่มานานถึง 10 ปีแล้ว สภาพจึงแย่มาก แต่ทำเลเยี่ยมจริงๆ มีสามห้องนอน ห้องครัว และห้องรับประทาน อาหารแยกกันต่างหาก”

พวกเขาไม่ต้องการบ้านที่เปิดโล่ง เพราะอยากมีห้องนั่งเล่น ของผู้ใหญ่กับเด็กแยกจากกันเป็นสัดส่วน

แต่โดยภาพรวมแล้ว อพาร์ตเมนต์ยังทิ้งร่องรอยความสวยงามไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะงานไม้ตรงส่วนของกรอบประตูและ หน้าต่างเป็นฝีมือของ Paul Kafka ช่างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังยุคทศวรรษ 30 ที่น่าเสียดายคือ แสงแดดทำลายผลงานเหล่านี้จนอยู่ในสภาพซ่อมแซมไม่ได้

Scott Weston สถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการบูรณะเล่าว่า

“มันเป็นซากอพาร์ตเมนต์ที่เคยงดงามมากในอดีต พูดได้เลยว่าเจ้าของยุคนั้นมีสไตล์และรสนิยมสูงมาก”

Deborah Thomas ผู้เป็นเจ้าของคนปัจจุบันเชื่อมั่นในฝีมือ สถาปนิกมาก “Scott เต็มไปด้วยสไตล์ และช่างสรรหาสิ่งดีที่สุดจากแหล่งและยุคสมัยต่างๆ ดิฉันชอบสไตล์การใช้สีของเขา รวมทั้งชอบความแปลก ซึ่งเขาก็ทำได้ดี”

โจทย์ที่ Deborah ตั้งให้สถาปนิกมือดีก็คือ “ถ่ายทอดยุคสมัยของทศวรรษ 1930 ในแนวทางสมัยใหม่และรูปแบบใหม่ที่ให้ทั้งความสะดวกสบายและใช้ประโยชน์ได้จริง”

เพราะสองสามีภรรยาไม่ต้องการบ้านที่เปิดโล่ง จึงไม่มีการรื้อผนังแต่อย่างใด โครงสร้างทุกอย่างยังเหมือนเดิม Scott ปรับปรุงในส่วนของครัวและห้องน้ำ พร้อมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าของอพาร์ตเมนต์ใหม่ รวมทั้งเทพื้น แล้วปูพรม และตัดขอบด้วยไม้โอ๊กเนื้อแข็งสีเข้มสไตล์เดคโค

จุดเด่นของงานบูรณะอยู่ที่เครื่องเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเน้นไม้อัด เข้าชุดกับพื้นปูปาร์เกต์ “ทุกห้องตกแต่งอย่างสวยงามด้วยงานไม้”

Scott บอกว่าตัวเขาช่ำชองการเล่นสีเป็นพิเศษ แต่กับโครงการนี้ต้องระมัดระวังมากกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา เขาจึงออกแบบให้หัวเตียงในห้องนอนใหญ่บุด้วยผ้ากำมะหยี่ ด้านหลังติดวอลล์เปเปอร์ลายสวยสีเขียวตุ่นสะท้อนความเป็นอาร์ตเดคโคทั้งในด้านการให้สีและเนื้อสัมผัส

ห้องครัวเน้นความเรียบง่ายแบบคลาสสิกด้วยสีขาวดำ ส่วนพื้นปูพรมน้ำมัน “มันทำให้เราได้ย้อนกลับไปสู่อดีตและคอยยั่วเย้าให้เราคิดว่า นี่เป็นของใหม่หรือของเก่ากันแน่นะ”

นอกเหนือจากการนำของแต่งบ้านจากแหล่งต่างๆ มาจัดวางเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และทำให้ผู้ได้พบเห็นอดประหลาด ใจไม่ได้แล้ว คู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านยังมีของสะสมมากมายให้ได้ชื่นชม เช่น กระจกสีเข้มยุคทศวรรษ 1970 ของออสเตรเลีย ผลงานภาพวาด และตู้ Fornasetti ซึ่ง Deborah พูดถึงรายละเอียดว่า

“ตู้ Fornasetti มีความเป็นมาและตามเราไปทุกหนแห่ง ซื้อในงานประมูลเมื่อสิบปีก่อน ทีแรกเราซื้อได้ตู้ใบเล็กก่อน และคิดว่าคงไม่มีวัน ได้ตู้ใบใหญ่เป็นแน่ แต่เราก็หาซื้อมาครอบครองจนได้”

ขณะที่ทั่วทั้งอพาร์ตเมนต์เน้นสีอ่อนเป็นหลัก ห้องน้ำกลับเป็นข้อยกเว้น ห้องน้ำห้องหนึ่ง ปูกระเบื้องสีชมพูอมส้ม ขณะที่อีกห้องหนึ่งปูกระเบื้องสีเหลืองสดใสสไตล์ซิดนีย์ตัดกับกระเบื้อง สีดำแบบไม่เกรงใจใคร ซึ่งเป็นการเล่นสีสไตล์อาร์ตเดคโคที่เด่นชัดอีกจุดหนึ่ง เพราะสถาปนิกผู้ออกแบบยังสนุกกับคำถามทำนองว่า นี่เป็นห้องน้ำเก่าหรือใหม่กันแน่นะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.