|
ไหว้พระที่จันทบุรี
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ระยะทางที่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก จันทบุรีถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งพุทธและคริสต์ ซึ่งศาสนิกชนควรหาโอกาสเดินทางไปสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต
ความเป็นหนุ่มสาวที่มีน้อยลงทำให้มีผู้ชักชวนเข้าวัด ในวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธา ความดื่มด่ำใน รสพระธรรมแห่งองค์พระศาสดา สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงบุญ ที่จะต้องไปให้ได้สักครั้งในชีวิตคือ เขา คิชฌกูฏ ณ ประเทศอินเดีย ไม่ต้องแล้ว เมื่อองค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ (ขสมก.) เขาจัดให้นำบุญมาฝากกันถึงบ้าน
โอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.เพิ่มเส้นทางโครงการ “ครอบครัวสุขสันต์กับบริการ ขสมก.” ในฤดูท่องเที่ยว “สักการะรอยพระพุทธบาท” ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2554 ด้วยรถโดยสาร ปรับอากาศยูโรทู ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการพักผ่อนกับครอบครัว เพื่อนฝูง ไปไหว้พระ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งมีให้บริการตลอดปีในหลากหลายเส้นทาง
สำหรับเส้นทางไปจังหวัดจันทบุรี นอกจากจะได้สักการะหลวงพ่อเขียนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาคิชฌกูฏแล้ว ยังได้เยี่ยมชมวัดเขากระทิง สังเวชนียสถาน สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน วัดหลวงพระบาท วัดเขาสุกิม สักการะสังขารหลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย
การที่มีผู้นิยมศรัทธาเดินทางขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏนี้มีความเชื่อกันว่า ถ้าใครได้ขึ้นไปกราบสักการะ แล้วจะสามารถขอพรได้หนึ่งข้อ ส่วนมากแล้วจะสำเร็จสมประสงค์ ทั้งสิ้น อย่างที่ได้พูดคุยกับผู้ที่ร่วมเดินทางไปกับผู้เขียน เธอเล่าว่า มาครั้งแรกเมื่อกลับไปมีโชคถึงกับได้รับรางวัลที่ 1 ในการจับสลาก งานการกุศลแห่งหนึ่งคือ รถยนต์ป้ายแดง
เมื่อผู้เขียนกลับจากการไปสักการะแล้ว รู้สึกได้ทั้งความ สุขกาย สุขใจ ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด แม้จะต้องปีนป่ายเดินเท้าขึ้นไปด้วยระยะทางเป็นกิโลเมตร จึงมีศรัทธาชักชวนผู้คนให้ไปกราบไหว้ และยังความมีมานะ ความอดทนอีกด้วย
มีโอกาสพบพนักงานขายแผนกเสื้อผ้าห้างใหญ่แห่งหนึ่งพูดคุยชักชวนให้ไปบ้าง หนุ่มพนักงานขายบอกว่า “ผมจะไปทุกปี ครับ” ไปเองกับเพื่อน จอดรถไว้ที่ลานวัดพลวง
จากนั้นจะมีรถที่นั่นพาขึ้นไป และต้องไปต่อรถที่ลานเจดีย์ อีกครั้ง เพื่อไปยังลานสิวลี แล้วเดินเท้าต่อจนถึงยอดเขา เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทหลวงถึงยอดเขา “ผ้าแดง” ที่ทุกคน ใฝ่ฝันไปให้ถึง
“ผมตั้งใจไว้ต้องไปทุกปี เพราะไปปีแรกกลับมาถูกลอตเตอรี่ ถึง 6 ใบทีเดียว” ผู้เขียนจึงกระเซ้าว่า “คุณคงไปขอให้ถูกรางวัลสิท่า” เขาตอบว่า “ครับผม”
การขึ้นเขานี้บางคนนิยมเดินขึ้นกันอยู่บ้าง ระยะทางประมาณ 8 กม. ด้วยความสูงชัน ผู้ขับขี่จึง ต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมากและรถยนต์ ต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งานเต็มร้อย
การที่ผู้เขียนบอกว่า การเดินทางขึ้นไปยอด เขาคิชฌกูฏในครั้งนี้ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ด้วยเหตุที่ว่าคณะสักการะของ ขสมก.กลุ่มนี้ ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากหลวงพ่อวัดกระทิงให้ขึ้นรถที่วัดนี้รวดเดียวไปถึงลานสิวลีเลย ไม่ต้องต่อรถให้เสียเวลา นั่นเอง
จึงมีกำลัง วังชาในการปีนป่ายถึงยอดเขาด้วยความ สุขจริงๆ สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาจะขึ้นไปให้ถึงยอดเขาแต่ไม่สะดวกเดิน จะมีคนในพื้นที่ช่วยกันหามเสลี่ยง 4 มุมพาขึ้นและลงในราคา 1,000 บาท/ครั้ง
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏ อำเภอมะขาม ประกอบด้วยทิวเขาที่มีทิวทัศน์เป็นยอดเขาสูงเรียงชิดติดกันสลับซับซ้อนเป็นธรรมชาติที่มีความสวยงาม มียอดเขาพระบาทเป็นยอดสูงสุด มีน้ำตกกระทิง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ธรณีวิทยา ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาทหลวง หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินรูปคล้ายเต่า รูปช้าง ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรีอีกด้วย
ทางทิศตะวันตกนั้นจะเป็นที่ราบ แต่มีพื้นที่เล็กน้อยเท่านั้น บริเวณเทือกเขาเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าไม้ผลัดใบ อากาศเย็น สบาย มีพืชสมุนไพร กล้วยไม้ป่านานาชนิด ไม้กฤษณา ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่หายากยิ่ง
เนื่องจากเป็นป่าที่อยู่ในเขตเทือกเขาสูงชัน จึงมีสัตว์ป่าชุกชุม กระทิง เสือ หมี กวาง เก้ง เลียงผา ตลอดจนนกชนิดต่างๆ มากมาย
ปลาพลวง ปลากั้ง ปลาหนวด ปลาดุกรำพัน จะอาศัยอยู่ตามลำห้วยมีเป็นจำนวนมากเช่นกัน
สำหรับบริเวณยอดเขาพระบาทนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองได้ชัดเจน เขาพระบาทนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 16 กม.
รอยพระพุทธบาทหลวง เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร บนยอดเขาในระดับความสูง 700 เมตร
พุทธศาสนิกชนนิยมมานมัสการรอยพระพุทธบาทหลวงเพื่อเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะช่วงเวลาตรุษจีนถึงวันมาฆบูชา คือวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทหลวงนี้เป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดมายาวนาน มีทั้งกลางวันและกลางคืน
เชื่อว่าการได้ไปกราบสักการะ จะได้บุญสูง ทั้งยังเป็นการฝึกความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ให้ย่อท้อต่ออุปสรรค ความยากลำบากอีกด้วย
น้ำตกกระทิง มีกำเนิดจากเทือกเขาคิชฌกูฏ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 13 ชั้น ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 3 ชั่วโมง เล่นน้ำได้ แต่ละชั้นห่างกัน 20 เมตร ชั้นที่ 8-9 เป็นชั้นที่สวยงามที่สุด ระหว่างทางจะเป็นป่าไผ่และพันธุ์ไม้หลากชนิด บางชั้น มีพืชจำพวกมอส เฟิน ขึ้นปกคลุมเต็มสองข้างทาง ลำธารดูเขียว ชอุ่ม เมื่อต้นไม้ผลัดใบ ใบไม้สีเหลืองแกมแดง จะโรยใบปูทางเดิน สวยงาม
วัดเขาสุกิม ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาบายศรี อ.ท่าใหม่ ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 20 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี 2519
ด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นที่บำเพ็ญภาวนาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีบริเวณกว้างอยู่สูงขึ้นไปบนเนินเขา มีพื้นที่ ประมาณ 3,280 ไร่ ภายในวัดมีศาสนสมบัติ ศาสนวัตถุ และวัตถุโบราณอันล้ำค่ามากมาย
ภายในวัดมีองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ติดผนังสูง
การเดินทางในครั้งนี้ ริมสองฟากฝั่งที่ผ่านจะเห็นทั้งแปลงปลูกพริกไทย แก้วมังกร หรือแม้แต่สวนยางพารา พริกไทยเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งที่มีพื้นที่ปลูกและผลผลิตมากที่สุดของประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกถึงร้อยละ 90 สามารถสร้าง รายได้ให้กับประเทศไทยในการส่งออกปีละหลายสิบล้านบาท
ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืชที่ถูกใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้มีราคา ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
ปัจจุบันจึงมีการย้ายไปปลูกในพื้นที่ อ.นายายอาม อ.ขลุง หรือข้ามไปยังจังหวัดตราด
กลุ่มเกษตรกรที่ อ.ท่าใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกพริกไทย มากที่สุดของจังหวัดจันทบุรี มีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพดินและปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกเป็นแบบเกษตรอินทรีย์
เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่มีความเด่นชัด เป็นการ กลับคืนสู่วิธีการเพาะปลูกแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับคนยุคนี้ที่ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพ ทั้งยังมีความสำคัญ ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับตลาดซื้อขายพริกไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ พริกไทยเมล็ดใหญ่ เนื้อในกลวง รสชาติเผ็ด แต่กลิ่นไม่หอม บางส่วนมาจากแหล่งผลิตอื่น หรือมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม
พริกไทยจันทบุรีมีชื่อเสียงในเรื่องรสชาติและกลิ่น ไม่มีการผสมปลายข้าวและลูกเดือย
พริกไทยผสม พริกไทยเมล็ดใหญ่และเล็ก รวมทั้งยังนำเข้าจากต่างประเทศ มาผสมรวมกับพริกไทยจันทบุรี
ปัจจุบันราคาพริกไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การบริโภคพริกไทย ผู้บริโภคคำนึงถึงสุขภาพอนามัยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ เช่น การฟอกเมล็ดพริกไทยให้ขาวด้วยคลอรีนในปริมาณสูงเกินกำหนด ทำให้มีการบริโภคพริกไทยเปลี่ยนไปจากเดิม คือหันไปใช้พริกไทยดำแทนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นต้น
พริกไทย นอกจากจะให้กลิ่นรสและถนอมอาหารแล้ว ยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย โดยมีสรรพคุณบำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และกระตุ้นประสาท
นอกจากพริกไทยจันทบุรีที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและต้อง รักษาไว้แล้ว สิ่งที่มีชื่อคู่กับชาวจันทบุรีและคงต้องอนุรักษ์ไว้ เห็นจะได้แก่เสื่อจันทบูรนั่นเอง
ตั้งแต่วัยเด็กจะคุ้นชินมาก โดยเฉพาะในวงสนทนาของปู่ย่า ตายายกับคำว่า เสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นการผลิตเสื่อจากต้นกกจันทบูร “กกกลม” หรือ “กกเสื่อ”
กกมีลักษณะลำต้นกลม ลำต้นเรียวคล้ายต้นคล้า ผิวสีเขียว แก่ ข้างในลำต้นมีเนื้ออ่อน สีขาว เป็นกกที่มีการปลูกกันมานานแล้วในจังหวัดภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีมากที่สุด และปลูกที่จังหวัดตราด ระยอง อีกด้วย
ทั้งนี้ หากเป็นกกที่ปลูกในแหล่งน้ำจืด เส้นใยกกจะไม่เหนียว หากปลูกในแหล่งน้ำกร่อย จะได้เส้นใยที่เหนียว
ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านการทอเสื่อหมู่บ้านเสม็ดงาม ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง โดยชาวบ้านจะใช้เวลาหลังจากการ ทำนาและเก็บเกี่ยวมาทอเสื่อ
มีการแสดงขั้นตอนการทอเสื่อกกและลวดลายเสื่อโบราณหลายยุค
หมู่บ้านทอเสื่อบางสระแก้ว อำเภอแหลมสิงห์ แสดงวิธีการ ตั้งแต่เริ่มจนจบขั้นตอน ประดิษฐ์จนสำเร็จเป็นเครื่องใช้ต่างๆ
เสื่อมีด้วยกันหลายอย่าง
เสื่อกก เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นกก เป็นพืชล้มลุกมีหัวคล้ายข่า ปลายลำต้นมีดอก แพร่พันธุ์ด้วยหัว เป็นพืชเส้นใย เสื่อกระจูด จากกกกระจูด เป็นพืชน้ำจำพวกกก มีมากแถบภาคใต้
เสื่อปาหนัน ทำจากใบลำเจียกหรือปาหนัน เป็นต้นไม้จำพวกเตย นำมาทำเป็นเสื่อ กระสอบ มีทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่
เสื่อคล้า ผลิตจากต้นคล้า ใบเรียงคล้ายใบข่าแต่สั้นกว่า ผิวเหนียวทนทาน เสื่อคล้านี้ทำใช้ในครัวเรือนทางภาคตะวันออก
เสื่อลำแพน เป็นเสื่อที่ผลิตจากผิวของต้นไผ่ โดยได้จากการจักตอกให้แบนใหญ่ แล้วนำมาสานด้วยลายสอง ลายสาม นิยม สานเป็นแผ่นใหญ่ นำมาทำเป็นฝาบ้าน เป็นต้น
เสื่อเชียงราย ผลิตจากกกยูนนาน มาพร้อมกับการอพยพของชาวจีนฮ่อทางตอนใต้ของจีน มณฑลยูนนาน ปลูกมากที่อำเภอ แม่จัน จังหวัดเชียงราย
เสื่อหวาย ผลิตจากหวาย เหนียว แข็งแรง ทนทาน
สำหรับเสื่อจันทบูร เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกจันทบูร มีลักษณะ ลำต้นกลม เรียว ผิวสีเขียวแก่ ปลูกมากแถวจันทบุรี ระยองและตราด
การทอเสื่อจันทบูรเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาตั้งแต่ อดีตของชาวจันทบุรี
เสื่อจันทบูรริเริ่มขึ้นโดยชาวญวนที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่จันทบุรี บริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิก ต.จันทนิมิต อ.เมือง จากหลักฐานมีปรากฏในปี พ.ศ.2254 สมัยอยุธยาตอนปลายพบว่ามีชาวญวนอาศัยอยู่กว่า 150 คนก่อนแล้ว
ชาวญวนมีความเชี่ยวชาญชำนาญการทำเสื่อลวดลายดอก ดวง หรือภาพสัตว์ต่างๆ ได้สวยงาม และยังประดิษฐ์เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ
การผลิตเสื่อในสมัยเริ่มแรก ชาวญวนต้องไปหาต้นกกจาก หมู่บ้านเสม็ดงาม อ.เมือง จากหมู่บ้านบางสระแก้ว อ.แหลมสิงห์ ทั้งสองหมู่บ้านเป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำขัง มีต้นกกขึ้นอยู่ทั่วไป ทำให้มีอาชีพทอเสื่อขยายเข้ามาในสองหมู่บ้านนี้ในเวลาต่อมา
โดยการเหมาจากชาวบ้าน ตัดเก็บ ขนแบกเอง นำมาคัดขนาด จัดแต่ง ตากแดด ย้อมสี จนทอเป็นผืนเสื่อ เย็บริม สีเสื่อ จันทบูรดั้งเดิมนั้นทำเพียงสีดำและแดง
สีดำได้จากนำไปคลุกโคลน
สีแดงได้จากเปลือกไม้ฝาก ซึ่งหาได้จากป่าเมืองจันทบุรีนั่นเอง
ปัจจุบันบริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิก จากทำอาชีพทอเสื่อ กันทุกหลังคาเรือน หันไปค้าขายพลอยที่นำมาทำรายได้ดีกว่า แต่ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง เช่นกิจการการทอเสื่อของร้านจำเนียร หัตถกรรม
ลวดลายของเสื่อเกิดจากจินตนาการความคิดของผู้ทอสีสลับ ผสมผสานลาย กลายเป็น “ตา” บนผืนเสื่อ
เสื่อชั้นเดียว คือเสื่อลายขัด
เสื่อสองชั้น จะใช้กกเส้นหยาบ ลายตาหมากรุก ลายตาหมากสมุก ลายตาเกล็ดกระ ลายเกล็ดเต่า หรือลายตาผ้าเช็ดหน้า
ปัจจุบันการทอเสื่อสองชั้นต้องสั่งทอเป็นพิเศษ
ช่วงเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ ณ วังสวนบ้านแก้ว จันทบุรี
นอกจากทรงพัฒนาฟื้นฟูที่ดินบริเวณวังในด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์ พระองค์ยังทรงศึกษาชีวิตของชาวบ้านทั่วไปในจังหวัดจันทบุรี โดยทรงจับงานด้านเสื่อ สร้างโรงทอเสื่อ โรงย้อม ขึ้นในวัง ทรงคิดแบบและทดลอง โดยนำไปถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง และได้รับการเผยแพร่ออกสู่ชาวบ้านและสืบทอดจนปัจจุบัน
อุตสาหกรรมการทอเสื่อของพระองค์เป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยมีตราเฉพาะเพื่อประกันคุณภาพ “ตราคนหาบกระบุง” และอักษรย่อ “สบก” หมายถึงวังสวนบ้านแก้ว แม้ว่าวังสวนบ้านแก้วในปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี แต่ผลิตภัณฑ์เสื่อ ยังคงเหลือผลงานไว้ให้ชื่นชม ณ ตำหนักแดงและตำหนักเทา
เสื่อจันทบูรได้สืบทอดจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวจันทบุรี เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญและนำมาประยุกต์พัฒนาให้ได้ประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
วังสวนบ้านแก้วเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493-2511 พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา) เป็นบ้านชั้นครึ่ง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงใช้เป็นที่ประทับ รับรองพระราชอาคันตุกะ
ปัจจุบันเป็นที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ที่แสดงถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย
พระตำหนักแดง อาคารทรงยุโรป 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาด้วยสีแดงคล้ำ
ศาสนวิหารพระนางมาริอาปฏิสนธินิรมล ถนนสันติสุข ต.จันทนิมิต เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกือบ 240 ปี
ครั้งแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2254 บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ จันทบุรี มีการย้ายวัดมาสร้างบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี สถานที่ตั้งในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2337
โดยได้สร้างวัดหลังปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2446 มีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ภายในแต่งด้วยกระจกสีที่เรียกว่า สเตนกลาส เป็นภาพนักบุญต่างๆ ซึ่งมีความงดงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก นับได้ว่าเป็นวัดคาทอลิกที่เก่าแก่ และมีขนาดใหญ่ และมีความงดงามที่สุดในประเทศไทย
วัดไผ่ล้อม อยู่บนถนนศรีรัตน์ สถาปัตยกรรมมีกำแพงแก้ว ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีช่องทางเข้า ฉนวนด้านหลังมีเสารองรับ 3 ต้น ไม่มีบัวหัวเสา ฐานอาคารเป็นเส้นตรง มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กอยู่ภายในกำแพงแก้ว
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพต้นไม้ประเภทบอนไซและดอกไม้แบบจีน ทศชาติ พุทธประวัติ ลักษณะการเขียนน่าจะเป็น จิตรกรรมที่เขียนขึ้นหลังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื่องจากมีภาพชาวต่างประเทศปรากฏในภาพวาดเป็นจำนวนมาก
ถนนอัญมณี เป็นคำเรียกขานบริเวณถนนศรีจันทน์และตรอกกระจ่าง ย่านการค้าพลอย มีร้านรวงเจียระไนพลอยที่ถือได้ว่าใหญ่ที่สุดของประเทศ จะเห็นบรรยากาศการซื้อขายพลอยจากพ่อค้าทั่วทุกสารทิศ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองจันทบุรีทีเดียว
พลอย คือหินแร่รัตนชาติ มีทั้งคุณค่า ราคา และความหมาย
พลอยเป็นหินธรรมดาชนิดหนึ่ง แต่พิเศษที่สีสันสวยงาม แปลกตากว่า พลอยของประเทศไทยมีชื่อระดับโลก
จันทบุรีเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของไทย
ขั้นตอนการทำพลอย เริ่มจากเหมืองพลอย ขุด ร่อนแยกได้พลอยดิบ
บริเวณที่พบอยู่ตามภูเขาในจังหวัดจันทบุรีนี้ เหลือเหมืองพลอยที่บางกะจะ บนเขาพลอยแหวน โดยจะเป็นบุษราคัม หรือมรกต จากพลอยดิบสู่พลอยน้ำงาม โดยนำพลอยดิบมาคัดคุณภาพ คัดเกรด โดยการส่องกับไฟ ดูสีสัน ความวาวและใส ถ้าเนื้อด้านหรือตันเกินไปเป็นอันใช้ไม่ได้ พลอยที่ใช้ได้เรียก “มีไฟ” นำพลอย ไปเผาให้เข้มขึ้น ใสขึ้น ในอุณหภูมิพันองศาเซลเซียสขึ้นไป 1-2 วัน
นำไปออกแบบรูปร่างตามโครงสร้างที่เรียกกว่า “การโกลน พลอย” นำมาแต่งอีก โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ไม้ทอน” หลังจากนั้นนำมาวัดขนาดที่เรียกว่า “วัดมิล”
การเจียระไนเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งขาย
ราคาของพลอยจะขึ้นอยู่กับคุณภาพเนื้อพลอย กะรัต ฯลฯ เพชรและพลอยอีก 8 ชนิด ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย ไพทูรย์ เรียกรวมกันว่า “นพรัตน์”
ตามความเชื่อโบราณเป็นสัญลักษณ์ของดาวนพเคราะห์ ถือเป็นของสูง เป็นสิริมงคลต่อผู้ที่เป็นเจ้าของ ใครมีไว้ในครอบครองจะเลิศด้วยความดีงามทั้งปวง มีความเจริญรุ่งเรือง โดยทั่วไปคนไทยนิยมเลื่อมใส ถือว่าเป็นของสูง สิริมงคล ใช้ในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ ใช้ประดับเครื่องทรง ที่ประทับ เครื่องประดับแสดงถึงตำแหน่งและเกียรติยศ เครื่องราชูปโภคในพิธีสำคัญทางศาสนา ทำเป็นพระพุทธรูปต่างๆ ประชาชนทั่วไปมีได้ตามกำลังฐานะ เพื่อความสวยงาม และความเป็นสิริมงคล
คนในสมัยก่อนนิยมนำพลอยมาทำแหวน “นพเก้า” ทำกันมานานนับร้อยปี
อัญมณีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในทางมงคล ป้องกันภัยอันตราย ขจัดความอัปมงคลให้สิ้นไป มีทั้งความงามและคุณค่าในตัวเอง
ความหมายแห่งสิริมงคล
เพชร คือผู้ที่ยิ่งใหญ่ ร่ำรวย มีชัยชนะต่อศัตรู
ทับทิม ทำให้อายุยืน เพิ่มพูนผล คือลาภ ยศ ความสำเร็จ
มรกต กันภัยมั่น ความศรัทธา กล้าหาญ
บุษราคัม ฉายเสน่ห์ ไม่เสแสร้ง คือเป็นที่รัก
โกเมน แคล้วคลาดภัย สุขภาพดี อายุยืนยาว
ไพลิน นิลกาฬ ความร่ำรวย รัก เมตตา กรุณา
มุกดาหาร ความเสน่หา ชนะศัตรู ร่มเย็น บริสุทธิ์
เพทาย การชนะคดีความ ช่วยกันโทษ ความมั่งคั่งร่ำรวย
ไพทูรย์ การป้องกันฟืนไฟทั้งปวง
เส้นจันทน์ เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม รสชาติดี เป็นสินค้าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองจันทบุรีที่ขึ้นชื่อมาก
ชาวจีนนำก๋วยเตี๋ยวเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ช่วงที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมาก มาย คนไทยคุ้นเคยและเป็นอาหารยอดนิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการส่งเสริมให้ชาวไทยหันมารับประทานก๋วยเตี๋ยว
โดยมีคนจีนเริ่มทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเองในเมืองไทย โดยการนำแป้งข้าวเจ้ามาทำ ต่อมากลายมาเป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก อบแห้ง อย่างก๋วยเตี๋ยวเส้นจันทน์
มาถึงเมืองจันทน์ทั้งที ต้องพูดถึงหรือหาทานอาหารพื้นเมือง มิฉะนั้นจะผิดวิสัยคนที่ชอบซอกแซกหาที่กินไปปลี้ๆ เปล่าๆ อาหารพื้นเมืองของคนเมืองจันทน์และถิ่นอื่นนิยมชมชอบ น่าจะได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง เนื้อเลียง
คำว่าเลียง หมายถึงอาหารที่เกิดจากการโขลกในครกนั่นเอง
โดยการนำเครื่องปรุงต่างๆ ที่เป็นสูตรของก๋วยเตี๋ยวหมู เนื้อเลียงมาตำในครกนั่นเอง แต่พระเอกของงานนี้คือรากแร่ว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อโขลกได้ที่แล้วจึงนำมาปรุงเป็นน้ำก๋วยเตี๋ยว
น้ำพริกไข่ปู อร่อยเพราะเป็นอาหารที่มีรสจัดจ้าน ปูทะเลต้มสุกปรุงกับกระเทียมและพริกขี้หนู มะนาว รับประทานกับผักสด เช่นขมิ้นขาว
ก๋วยเตี๋ยวผัดปู (หมี่ปู) ซึ่งคล้ายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยภาคกลาง นั่นเอง แยกผัดเส้นจันทน์ และปูกะเตาะด้วยส่วนผสมพริกตำป่น เคี่ยวน้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก เกลือ รสชาติออกเปรี้ยว หวานปะแล่ม เผ็ดและเค็มเล็กน้อย
หรือน้ำพริกเกลือ โดยใช้พริกขี้หนูสวน กระเทียม รากผักชี มะนาว น้ำปลา มะอึก กุ้งแห้งป่น รับประทานกับมะเขือยาวเผา
ไก่ผัดกระวาน กระวานสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการขับถ่าย ลมในกระเพาะอาหาร
หมูชะมวง ใช้หมูสามชั้นต้มเคี่ยวจนเข้าเนื้อ โดยมีเครื่องปรุงหลักๆ ประกอบด้วย
หอมเผา ข่าเผา พริกแห้งโขลกละเอียด ปรุงรสออกเค็มและหวาน ส่วนความเปรี้ยวจะได้จากใบชะมวงนั่นเอง
ปลากระบอกต้มส้ม ใส่ระกำ รสชาติเช่นเดียวกับต้มส้มของคนภาคกลางนั่นเอง เพียงแต่นำระกำที่มีในท้องถิ่นมาใช้แทน น้ำมะขามหรือมะนาวเท่านั้น เพื่อความเป็นเอกลักษณ์อาหารจันทบุรีนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า อาหารไทยไม่ว่าจะเป็นของภาคเหนือ ใต้ อีสาน ออก ตก หรือภาคกลาง ยังคงมีเอกลักษณ์อร่อยถูกปาก มีคุณค่าในตัวเองเสมอ อาหารไทยจึงเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วโลก ที่เรียกกันว่า “เสน่ห์ปลายจวัก” นั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|