|
เมื่อโนเกียจูบปากไมโครซอฟท์
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกขึ้นมาทันทีสำหรับการจับคู่กันอย่างเป็นทางการของคนอกหักสองคนอย่างโนเกียและไมโครซอฟท์
โนเกียและไมโครซอฟท์จับมือกันประกาศว่า โนเกียจะใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ของไมโครซอฟท์มาเป็น ยุทธศาสตร์หลักของสมาร์ทโฟนของโนเกีย นับจากนี้ไป ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการแข่งขันกับไอโฟนของแอปเปิลและแอน ดรอยด์ของกูเกิ้ล
ซึ่งไมโครซอฟท์เริ่มทำงานร่วมกับโนเกียสำหรับการนำเอาระบบปฏิบัติการ Windows Phone มาใช้กับสมาร์ทโฟนของโนเกียแล้ว รวมถึงการที่ทั้งคู่เริ่มพูดคุย กับผู้ผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อให้สามารถทำงานกับระบบปฏิบัติการ Windows Phone ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโนเกียที่ใช้ระบบ ปฏิบัติการ Windows Phone จะออกวางตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อใด
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเป็นพันธมิตรกัน สำหรับโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือด้วย โดย โนเกียจะใช้ adCenter ของไมโครซอฟท์บนโทรศัพท์มือถือของโนเกียและ Nokia Maps จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Bing ซึ่ง เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นของไมโครซอฟท์ นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นและเนื้อหาต่างๆ ของโนเกียที่อยู่บนสโตร์ (store) ของโนเกียจะรวมเข้ากับ Marketplace ของไมโครซอฟท์ด้วยเช่นกัน
ยุทธศาสตร์การรวมกับไมโครซอฟท์ ครั้งนี้ของโนเกียเกิดจากการประกาศของ Stephen Elop ซีอีโอของโนเกียที่ประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่โนเกียจะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับ ecosystem ของโทรศัพท์ มือถือโนเกียเพื่อให้พวกเขายังมีที่ยืนอยู่ในตลาดมือถือในอนาคตได้ โดยพวกเขาจะต้องเลือกว่าจะสร้างมันขึ้นมาหรือจะไปร่วม กับ ecosystem ที่มีอยู่แล้ว และในที่สุดโนเกียก็เลือกที่จะร่วมมือกับไมโครซอฟท์และเข้าร่วมกับ ecosystem ของ Windows Phone 7
โดยในการเป็นพันธมิตรนี้ โนเกียจะปรับเปลี่ยนดีไซน์ของตัวโทรศัพท์และภาษาที่ใช้สนับสนุนเพื่อให้สนับสนุนการทำงานของระบบปฏิบัติการ Windows Phone ให้มากที่สุด รวมถึงจะช่วยให้ระบบ ปฏิบัติการนี้สามารถนำไปใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย, รวมถึงหลายกลุ่ม ตลาด และหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดี โนเกียก็ยังไม่ได้ทิ้งแพลทฟอร์มของพวกเขาเองอย่าง Symbian และ MeeGo โดยโนเกีย วางแผนจะออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ MeeGo ภายในปีนี้และตั้งเป้าที่จะขายโทรศัพท์ที่ใช้ Symbian ให้ได้มากถึง 150 ล้านเครื่องในปีหน้า โดยไตรมาสสี่ของปีกลายที่ผ่านมา โนเกียขายเครื่อง Symbian ได้ 28.3 ล้านเครื่อง โดยโนเกียยังต้องการให้เครื่องที่ใช้ Symbian เป็นแพลทฟอร์มหลักของพวกเขาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่ Windows Phone 7 จะเริ่มมาแทนที่อย่างเป็นทาง การ จะมีการอัพเกรด Symbian ประมาณ 4-5 ครั้งในช่วงระยะ 12-15 เดือนต่อไปนี้ และจะสร้าง user interface แบบใหม่ และหน้าโฮมที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
โนเกียหวังว่า การร่วมมือกับไมโคร ซอฟท์ในครั้งนี้จะทำให้พวกเขาสามารถหยุดยั้งความตกต่ำของยอดขายของพวกเขาที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2007 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีแรกที่ไอโฟนเวอร์ชั่นแรกของแอปเปิลเริ่มวางตลาด เช่นเดียวกับ ที่กูเกิ้ลเปิดตัวแอนดรอยด์ ในเวลานั้น
โนเกียมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนเกือบครึ่งหนึ่ง ในขณะที่แอปเปิลมีเพียง 2.7% ในขณะที่โทรศัพท์ที่ใช้แอนดรอยด์ยังไม่ได้วางตลาดเลย
แต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2010 ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของโนเกียได้ลดลงเหลือเพียง 30.8% ในขณะที่แอนดรอยด์เริ่มมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นๆ และแอปเปิลได้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 16%
การร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะทำให้ โนเกียมีระบบปฏิบัติการที่สามารถแข่งขันกับไอโฟนและแอนดรอยด์ได้สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น โดยเป็นสิ่งที่ทางโนเกียไม่เคยทำได้มาก่อน แต่คำถามสำคัญก็คือ โนเกียจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาแตกต่างจาก สมาร์ทโฟนที่ใช้ Windows Phone 7 ตัวอื่นๆ ได้อย่างไร
ด้านหนึ่งที่พวกเขาสามารถทำได้คือ การสร้าง บริการต่างๆ ที่โทรศัพท์มีให้ โดยการร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะทำให้โนเกีย สามารถให้บริการต่างๆ ได้ มากกว่าที่ทุกคนคาดหมายไว้ ซึ่งจะทำให้โนเกียมีอำนาจต่อรองมากกว่าโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ที่จะใช้ Windows Phone 7 เหมือนกัน โดยเฉพาะ Windows Phone 7 น่าจะ สามารถทำตลาดได้ดีกว่าระบบปฏิบัติการเก่าของไมโครซอฟท์ที่ชื่อว่า Windows Mobile ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3.4% เท่านั้นในไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การจับมือกันครั้งนี้ของโนเกียและไมโครซอฟท์จะกลายเป็นการกระทำที่เข้าทางแอปเปิล โดยเฉพาะสำหรับโนเกียถือว่า เป็นการตัดสินใจแทงหวยข้างไมโครซอฟท์โดยมีอนาคตของโนเกียเองเป็นเดิมพัน ทั้งๆ ที่โนเกียเองยังมองไม่เห็นว่าอนาคตของแพลทฟอร์มบนมือถือใหม่ของไมโครซอฟท์นี้จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ถ้ามองกันแบบหยาบๆ นี่ถือว่าเป็นการหาพันธมิตร ที่สามารถสร้างความร่วมมือกันได้ในหลาก หลายลักษณะ ซึ่งในระยะยาวแล้ว ไมโครซอฟท์ก็ต้องการยุทธศาสตร์ด้านฮาร์ดแวร์ที่เข้มแข็งขึ้นที่จะสามารถใช้ในการแข่งขันกับแอปเปิลและ RIM ที่เป็นผู้ผลิตแบล็กเบอร์รี่ รวมถึงเพื่อต่อต้านการเติบโตของแอนดรอยด์ด้วย
บางคนมองว่า นี่คือทฤษฎีสมคบคิดของคนไมโครซอฟท์เพื่อไมโครซอฟท์ โดยเราต้องไม่ลืมว่า Stephen Elop เป็นอดีตผู้บริหารของไมโครซอฟท์ซึ่งมารับตำแหน่งใหญ่ในโนเกีย หลังรับตำแหน่งไม่นาน โนเกีย ก็เตรียมจะสละทิ้ง Symbian แล้วมาฝากอนาคตกับ Windows Phone 7 พูดเล่นๆ ว่า นี่อาจจะเป็นการเทกโอเวอร์โนเกียของไมโครซอฟท์โดยไม่ต้องใช้เงินสักแดงเดียว
สำหรับประเด็นที่ว่าการเป็นพันธมิตร ของโนเกียและไมโครซอฟท์กลายเป็นข่าวดี ของแอปเปิลก็เพราะว่าการร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่จุดสิ้นสุดสงครามความขัดแย้ง ด้านกฎหมายที่เริ่มร้อนแรงขึ้นระหว่างแอปเปิลและโนเกียเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิบัตร โดยประเด็นความขัดแย้งนี้ เริ่มต้นเมือเดือนตุลาคมปีกลาย ในครั้งนั้น โนเกียยื่นฟ้องแอปเปิลที่ศาลของประเทศสหราชอาณาจักร, เยอรมนี และเนเธอร์ แลนด์ โดยมุ่งเป้าไปที่สินค้าของแอปเปิลไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad และ iPod Touch เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรหน้าจอระบบสัมผัส, แอพสโตร์ (application stores), เสาอากาศ เป็นต้น
ซึ่งประเด็นความขัดแย้งในแวดวงบริษัทมือถือนั้นไม่เพียงแค่คู่ขัดแย้งระหว่างโนเกียกับแอปเปิล ยังมีการฟ้องกันในกลุ่มบริษัทในตลาดโทรศัพท์มือถือยุ่งอีนุงตุงนังไปหมด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างแอป เปิลกับ HTC และโมโตโรล่า, คู่โมโตโรล่ากับไมโครซอฟท์ รวมไปถึงออราเคิลกับกูเกิ้ล
การเป็นพันธมิตรของโนเกียกับไมโครซอฟท์ถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบด้านกฎหมายให้กับโนเกีย ถ้า Elop ตัดสินใจฝากอนาคตกับแอนดรอยด์ก็จะเป็นการเปิดช่องว่างให้โนเกียต้องมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นและแน่นอนว่า แอปเปิลก็จะต้องฟ้องข้อหาเพิ่ม เติมกับโนเกียด้วย แต่เมื่อเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์ โนเกียมีแนวโน้มจะยุติความขัดแย้งด้านกฎหมายกับแอปเปิล ซึ่งนำไปสู่การปิดคดีมากขึ้น โดยเมื่อโนเกียใช้แพลท ฟอร์มของไมโครซอฟท์ ซึ่งคดีความระหว่าง ไมโครซอฟท์และแอปเปิลได้ยุติลงไปแล้วนั้น แอปเปิลก็ไม่น่าจะต้องมายื่นฟ้องอะไร ไมโครซอฟท์รวมถึงโนเกียอีกแล้ว
ส่วนความขัดแย้งของแอปเปิลที่ยื่นฟ้องโนเกียก็เป็นเรื่องระบบหน้าจอสัมผัสซึ่งเมื่อโนเกียใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ก็สามารถใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าโนเกียอาจจะจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรบางอย่างของแอปเปิลอยู่ แต่ถ้ามันใช้ไม่ได้ จริงๆ โนเกียก็ยังสามารถอาศัยจาก Windows Phone 7 แม้แต่โทรศัพท์ มือถือรุ่นราคาถูก ซึ่งจะทำให้โนเกีย สามารถแก้ปัญหาเรื่องสิทธิบัตรไปได้ โดยฟังก์ชันบนสมาร์ทโฟนในวันนี้ก็จะกลายเป็นฟังก์ชันธรรมดาๆ บนเครื่องโทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไปต่อไปใน อนาคต ดังนั้น แอปเปิลอาจจะยอมให้ โนเกียใช้สิทธิบัตรของพวกเขาภายใต้ข้อตกลงการใช้สิทธิบัตรร่วมกัน (cross-licensing) ที่สำคัญที่สุด ทั้งแอปเปิลและโนเกียก็คงไม่อยากจะทุ่มเททรัพยากร ไปกับการต่อสู้ขึ้นโรงขึ้นศาลไปมากมาย แต่พวกเขาควรจะให้ความสำคัญกับการสกัดการเติบโตของแอนดรอยด์และพันธมิตรมากกว่า
เมื่อมองถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น กับการเป็นพันธมิตรระหว่างโนเกียและไมโครซอฟท์ล้วนๆ แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า มี 4 เรื่องสำคัญๆ ได้แก่
หนึ่ง เป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารที่เมื่อก่อนมีแต่แบล็กเบอร์รี่เท่านั้น
สอง การที่ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำด้าน unified communications ซึ่งเป็น การรวมระหว่างบริการที่เป็นแบบเรียลไทม์ (เช่น ระบบแชท, telephony, วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เป็นต้น) กับระบบสื่อสารแบบไม่เรียลไทม์ (เช่น วอยซ์เมล, อีเมล, SMS และแฟกซ์) เท่ากับเป็นการทำให้โทรศัพท์มือถือของโนเกียติดปีกเลยทีเดียว โดยเฉพาะทำให้โทรศัพท์มือถือของโนเกียสามารถทำงานร่วมกับระบบ office communicator mobile ซึ่งเพิ่มศักยภาพ ในการทำงานได้อีกมากมาย
สาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดซอฟต์แวร์ ด้านการจัดการเอกสาร, สเปรดชีท, พรีเซนเตชั่นของไมโครซอฟท์จะทำให้โทรศัพท์มือถือของโนเกียกลายเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่หอบหิ้วไปไหนมาไหนได้สะดวกมากๆ อย่างแท้จริง
สี่ การรวมมือถือเข้าสู่ SharePoint ของไมโครซอฟท์จะทำให้คนใช้งานสามารถ แบ่งปันไฟล์และทำงานร่วมกันในไฟล์ต่างๆ ผ่านมือถือได้อย่างง่ายๆ
คงยังบอกยากในเวลานี้ว่า ดีลความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับโนเกียจะเป็นดีลในฝันที่จบลงอย่างสวยงาม หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอื่นๆ ในอนาคต และยังมีประเด็นต่างๆ อีกมากมาย ที่จะตามมาจากการจับมือกันครั้งนี้
ซึ่งเราต้องจับตากันดูต่อไป
อ่านเพิ่มเติม:
1. Clark, N. (2011), ‘Nokia bets farm on Microsoft merger,’ 12 February 2011, http://www.independent.co.uk/news/business/analysis-and-features/nokia-bets-farm-on-microsoft-merger-2212543.html
2. Rigby, B. (2011), ‘Analysis: Microsoft’s Nokia deal leaves investors cold,’ 14 February 2011, http://www.itnews.com.au/News/247971,analysis-microsofts-nokia-deal-leaves-investors-cold.aspx
3. Rooney, B. (2011), ‘Analysis: Nokia and Microsoft Embrace in Smartphone Alliance,’ 11 February 2011, http://blogs.wsj.com/tech-europe/2011/02/11/nokia-and-microsoft/
4. Bradley, T. (2011), ‘Analysis: Nokia - Microsoft alliance is a win for Apple,’ 12 February 2011, http://www.macworld.com/article/157844/2011/02/nokia_microsoft_apple.html
5. Ricknas, M. (2011), ‘Nokia partners with Microsoft, adopts Windows Phone 7,’ 11 February 2011, http://www.macworld.com/article/157837/2011/02/nokia_windowsphone7.html
6. http://www.sramanamitra.com/2010/04/08/smartphone-ecosystem-market-share-part-1/
7. Bradley, T. (2010), ‘Can Elop Make Nokia a Smartphone Contender?,’ 10 September 2010, http://www.pcworld.com/businesscenter/article/205243/can_elop_make_nokia_a_smartphone_contender.html
8. Mueller, F. (2011), ‘Implications of Nokia’s new strategy for the smartphone patent wars,’ http://fosspatents.blogspot.com/2011/02/implications-of-nokias-new-strategy-for.html
9. Rickenas, M. (2010), ‘Nokia expands patent lawsuit against Apple,’ 17 December 2010, http://www.macworld.com/article/156453/2010/12/nokia_lawsuits.html
10. Bradley, T. (2009), ‘Five Benefits of the Microsoft-Nokia Partnership,’ 13 August 2009, http://www.pcworld.com/businesscenter/article/170132/five_benefits_of_the_microsoftnokia_partnership.html
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|