|
ประเทศไทยต้องเปลี่ยน
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
คำพยากรณ์ของโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงอนาคตของประเทศไทยในงานสัมมนาการลงทุนเรื่อง “พยากรณ์เศรษฐกิจ และแนวโน้มการลงทุนปีกระต่าย” ของธนาคารกรุงเทพที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้สะท้อนคำเตือนในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาค
ก่อนที่โฆสิตจะพูดถึงอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาได้กล่าวถึงภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะมุ่งเน้นให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเอเชียว่า นับจากนี้ไปจะเป็นทศวรรษแห่งเอเชีย โดย มีจีนเป็นตัวขับเคลื่อน และประเทศไทยก็ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้
โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทย ปี 2553 ใน 11 เดือน ส่งออกไปอาเซียน 40,638.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปจีน 1 ใน 3 ของอาเซียน
การเจริญเติบโตของจีนที่โตถึง 9.6% โตเป็นอันดับที่สองของโลก แซงประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่อินเดียโต 8.4%
ดังนั้นภาพรวมของปีเสือเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างดี เป็นโอกาสของเอเชีย โดยเฉพาะราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่อง จากวิกฤติภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุหิมะ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีกับประเทศ ไทย เพราะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ราคาอาหารจะสูงขึ้น 25% เหตุการณ์ราคา อาหารแพงเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2551 และกำลังจะไต่ไปสู่จุดเดิม
ปีกระต่าย แนวโน้มการเจริญเติบโต ของประเทศทั่วโลก จะถูกแบ่งออกเป็น 2 สปีด กลุ่มแรกประเทศโตเร็ว และกลุ่มประเทศโตไม่เร็ว
กลุ่มประเทศโตเร็วจะอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น จีน อินเดีย และไทยอยู่ในกลุ่มนี้ กลุ่มนี้จะ เติบโตด้านเศรษฐกิจในระดับ 8-9% ขณะที่กลุ่มประเทศโตช้าจะโต 2-3% ในขณะที่ทั้งโลกจะโตราว 4.4%
โฆษิตมองว่าในปี 2554 ประเทศไทยธุรกิจส่งออกน่าจะเป็นบวก เพราะส่งออกไปสู่เอเชียมากขึ้น ส่วนรายได้ภายในประเทศที่เกิดจากสินค้าเกษตรกรรม เช่น อ้อย ยาง ปาล์ม ข้าว ปรับราคาสูงขึ้น
การใช้จ่ายภายในประเทศเป็นบวก โดยมีปัจจัยจากค่าจ้างแรงงานภาครัฐและเอกชน ปรับสูงขึ้น
ในส่วนภาคเอกชนเริ่มเคลื่อนไหว โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 อัตราการลงทุนเพิ่มขึ้น 9-10% และการส่งออกจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย แต่จะมีการลงทุนครบทั้งหมด 4 ส่วน คือ ส่งออก นำเข้า ภาครัฐ และเอกชน แต่การเติบโตยังอยู่ 4-5%
แม้ว่าโอกาสเติบโตจะมีก็ตาม แต่ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองมี 2 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย
“ใครๆ ก็พูดว่าเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น เรามีความจำเป็นนำอัตราดอกเบี้ยจากระดับที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่ระดับปกติ ตอนนี้เราอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ อัตราดอกเบี้ยวิ่งไปหาปกติ ดอกเบี้ยระดับ 2.5-2.75 ถือเป็นการกระตุ้นดอกเบี้ยปกติ” ประธาน กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพกล่าว
ภาพรวมของดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย สอดคล้องไปกับดอกเบี้ยในเอเชีย อยู่ในระดับประมาณ 3% ดังนั้นดอกเบี้ยจะอยู่ในขาขึ้น แต่ไม่โลดโผนโจนทะยานสาหัส แต่ไม่ลง และไม่นิ่ง
ส่วนเงินเฟ้ออยู่ในช่วงของการฟักตัว
อัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับเปลี่ยนขึ้นลง เพราะโลกมีเงินมาก ทำให้เงินวิ่งไป-มา สำหรับประเทศที่ไม่ต้องการให้เงินแข็งก็จะซื้อ ส่งผลทำให้เงินสำรองประเทศเพิ่มมากขึ้นและขึ้นทั้งโลกในปัจจุบัน
โดยเฉพาะประเทศจีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีของสหรัฐฯ มี 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินสำรองของจีนคิดเป็นประมาณ 20% ของจีดีพีสหรัฐอเมริกา หรือสามารถซื้อสหรัฐฯ ได้ร้อยละ 20
อัตราค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุน บัญชีเดินสะพัดหรือดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้เป็น ปัจจัยทำให้เกิดความผันผวน แต่จุดสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังของค่าเงินคือ ความเชื่อมั่น
ดังนั้น ปี 2554 ประเทศไทยน่าจะผ่านไปได้ แต่อนาคตหลังจากนั้นประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่าไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศโตเร็ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล บริษัทเอกชน และตัวเรา
สิ่งที่โฆษิตกำลังชี้ให้เห็นและน่าติด ตามคือ ภาวะกดดันด้านการผลิต เพราะประเทศไทยในวันนี้ไม่สามารถใช้ทรัพยากร น้ำมัน ยาง ได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ และไม่สามารถใช้แรงงานราคาถูก
ประเทศไทยต้องเปลี่ยนให้ได้ คือ ต้องเปลี่ยนเป็นประเทศไม่พึ่งแรงงานราคา ถูก และไม่พึ่งอุตสาหกรรมต่างประเทศที่ใช้แรงงานมาก เพราะปัจจุบันตัวเลขจากทีดีอาร์ไอ รายงานว่าไทยใช้แรงงานต่างชาติ 2.5 ล้านคน
โฆสิตมองว่านอกจากไม่พึ่งพิงแรงงานราคาถูกแล้ว ประเทศไทยต้องจ่าย ค่าแรงให้สูงขึ้นเหมือนกับประเทศมาเลเซีย ที่จ่าย 4.90 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ในขณะที่ประเทศไทยจ่าย 1.80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง
และสิ่งที่ห่วงก็คือแรงงานจะเติบโตน้อยลง จากในปัจจุบันมีแรงงานประมาณ 38.7 ล้านคน แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าไทยจะมีแรงงานเพิ่มเพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้น แตกต่างจากในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 8.5 ล้านคน
เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งที่ต้องมีการ เปลี่ยนแปลงจากการใช้แรงงาน หันไปใช้ความรู้ และประเทศเกาหลีเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะสามารถแซงไต้หวันไปแล้ว
สิ่งที่โฆสิตกำลังสะท้อนให้เห็นและจำเป็นต้องลงมือทำ ก็คือ ประเทศต้องลงทุนให้มากขึ้น เพราะหลังจากประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ประเทศไทยลงทุนน้อยมาก แต่การลงทุนจะต้องลงทุนด้วยตนเอง จาก เงินออมหรือเงินกู้ เพราะสิ่งที่ต้องระมัด ระวังหากประเทศที่ลงทุนไม่มีเงินออมในประเทศ จะกลายเป็นการสร้างหนี้
ตัวเลขจากสภาพัฒน์ฯ ได้แสดงให้เห็นการออมในประเทศไทยลดลง จากปี 2538 คนไทยมีเงินออมร้อยละ 24.4 ของจีดีพี ในขณะที่ปี 2552 เงินออมลดลงเหลือ ร้อยละ 5 และจุดอ่อนของประเทศลดน้อย ลงเนื่องมาจากภาครัฐโดยตรง
โฆสิตได้ย้ำความอยู่รอดของประเทศไทยนับจากนี้ไป มี 2 เรื่องหลักคือ การใช้ความรู้ของภาคเอกชน และการมีบทบาทด้านการออมจากภาครัฐ
การเปลี่ยนครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|