|
ฟรีไดวิ่ง: แค่คนกับทะเล
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ปกตินักดำน้ำ นอกจากจะต้องเปลืองน้ำมันล่องเรือไปยังจุดดำน้ำ ก่อนลงสู่ใต้ผืนน้ำก็ต้องพ่วงเอาอุปกรณ์ต่างๆ เป็นเครื่องช่วยลงไปใต้ทะเลด้วย ดูแล้วมีพันธนาการมากกว่าจะได้ลงเป็นอิสระใต้ทะเล สิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ย่อมก่อผลกระทบต่อธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผลกระทบที่ว่านั้นอาจจะดูเล็กน้อย แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง การที่มนุษย์เข้าไปกล้ำกรายที่อยู่ของพืชและสัตว์น้ำที่ธรรมชาติไม่เลือกให้มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งด้วยแบบนี้ มนุษย์ควรจะยอมรับเส้นแบ่งจากศักยภาพในตัวเองที่ธรรมชาติกำหนดมาหรือไม่
ความท้าทายและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่เคยสิ้นสุด ดังนั้นจากกิจกรรมดำน้ำที่ต้อง อาศัยแท่งตะกั่วถ่วงตัว ถังออกซิเจนและอุปกรณ์ต่างๆ จึงพัฒนาไปสู่กิจกรรมที่เปิด โอกาสให้คนแสดงศักยภาพเท่าที่มีอย่างอิสระในท้องทะเลในรูปแบบที่เรียกว่า ฟรีไดวิ่ง (Freediving) ขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะถือเป็นการยอมรับความท้าทายของธรรมชาติด้วยก็ได้
อีกด้านหนึ่งหลายคนเชื่อว่า ในอดีต กาลนานมาแล้ว มนุษย์เคยมีความสามารถ ในการอยู่ใต้น้ำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความคุ้นเคยกับการอยู่อาศัยบนแผ่นดินทำให้เราสูญเสียความสามารถบางอย่างไป เพราะไม่ได้ถูกใช้งานหรือฝึกฝน
ฟรีไดวิ่ง หรือการดำน้ำตัวเปล่า ดำผิวน้ำ กลั้นหายใจดำน้ำ คือความหมาย เดียวกัน
คนส่วนใหญ่คงจินตนาการว่าแล้วจะดำได้นานสักเท่าไรเชียว เพราะถึงแม้ใครๆ จะสามารถกลั้นหายใจได้ก็ตาม แต่ ส่วนใหญ่ก็ทำได้ในระยะเวลาที่สั้นมาก
แต่กลุ่มรักการดำน้ำตัวเปล่าเชื่อว่า จริงๆ แล้วคนเรามีศักยภาพที่จะกลั้นหายใจ ได้นานกว่าที่เราคิด ยิ่งเป็นนักดำน้ำตัวเปล่า ที่ผ่านการฝึกซ้อมเป็นประจำด้วยแล้ว บาง คนกลั้นหายใจได้ครั้งละหลายนาทีทีเดียว
ฟรีไดวิ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นกีฬา ประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันกันในปัจจุบัน แม้แต่ในประเทศไทยก็เริ่มมีการจัดแข่งฟรีไดวิ่งกันบ่อยขึ้น หลังจากเริ่มมีกลุ่มผู้นิยมดำน้ำตัวเปล่ารวมกลุ่มกันเป็นชมรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีของกลุ่มบีเคเคโลมา (BkkLoma) ซึ่งเป็นกลุ่มฟรีไดเวอร์ที่รวมตัว กันในกรุงเทพฯ อย่างไม่เป็นทางการ และเปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมอย่างเสรี เพื่อฝึกซ้อมที่สระว่ายน้ำในกรุงเทพฯ รวมถึงการฝึกซ้อมเพื่อความสนุกสนาน
กลุ่มคนที่รวมตัวกัน มีทั้งที่อยากรู้อยากลอง บางคนจริงจังถึงขั้นร่วมแข่งขัน บางคนอยากรู้ศักยภาพของร่างกายตนเองในการท้าทายกับโลกใต้น้ำ บางคนคิดไปถึง ขั้นที่ว่านี่เป็นการดำน้ำแบบไม่เอาเปรียบ หรือรบกวนธรรมชาติ
ถ้าไม่มองว่าฟรีไดวิ่งเป็นกีฬา มนุษย์ บนโลกนี้หลายอาชีพก็มีลักษณะเป็นฟรีไดเวอร์โดยธรรมชาติมานาน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยและหากินอยู่กับทะเล เช่น คนดำน้ำเก็บหอยมุกหรือสัตว์ทะเลต่างๆ พวก ยิงปลา กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่ใช้ทักษะความสามารถล้วนๆ ในการดำรงชีพ ขณะที่ฟรีไดเวอร์สมัครเล่นจะมารวมกลุ่มด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันไป
จากความรู้สึกของสมาชิกในกลุ่มบีเคเคโลมาพบว่า สาเหตุที่เข้ามาฝึกเป็นฟรีไดเวอร์เพราะรู้สึกเป็นอิสระ โดยเฉพาะเวลาอยู่ใต้น้ำโดยปราศจากเครื่องช่วยหายใจ เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระทุกองศาที่ต้องการ ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้คือแรงกระตุ้นที่ทำให้พวกเขาฝึกเพื่อกลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น
แต่ถ้าพูดถึงฟรีไดวิ่งในฐานะกีฬา จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ หนึ่ง-สแตติค (Static: STA) คือการกลั้นหายใจอยู่นิ่งๆ ให้ได้นานที่สุด สอง-ไดนามิค คือ การดำน้ำในแนวราบให้ได้ระยะทางไกลที่สุด และสาม-ความลึก คือการพยายามดำน้ำให้ได้ลึกที่สุด และที่สำคัญต้องกลับขึ้นมาสู่ผิวน้ำ
แต่ละประเภทก็มีข้อกำหนด กติกา และการใช้ร่างกายแตกต่างกันมาก รวมทั้ง วิธีการฝึกซ้อมก็หลากหลาย
แบบสแตติค โดยปกติจะปฏิบัติโดยการอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว เพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและลดปริมาณการเผา ผลาญออกซิเจน
ส่วนแบบไดนามิคสามารถทำได้โดย ใช้ฟินหรือไม่ใช้ฟินก็ได้ ในปัจจุบันอุปกรณ์ ที่มีประสิทธิภาพที่สุดและดีที่สุดในการช่วย ขับเคลื่อนตัวเองก็คือ โมโนฟิน (monofin) ซึ่งสำหรับไดนามิคไม่ใช่แค่การกลั้นหายใจ แต่รวมถึงการว่ายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และความทนทานต่อความเหนื่อยล้าด้วย
สำหรับการทำความลึกได้แก่ คอนสแตนท์เวท (Constant weight: CWT) นักกีฬาจะดำลงไปและดำขึ้นมาโดยใช้ฟินหรือโมโนฟิน แต่ถ้าเป็นแบบฟรีอิมเมอร์ชั่น (Free Immersion: FIM) จะไม่มีการใช้ฟิน ในประเภทนี้ แต่นักกีฬาสามารถดึงหรือสาวเชือกด้วยแขนตามแนวได้ ส่วนแบบไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย (Constant weight with no fins: CNF) นักกีฬาไม่สามารถใช้ฟินและไม่สามารถแตะแนวเชือกได้
สำหรับประเภททำความลึกนี้ นอก เหนือจากคุณสมบัติอย่างเดียวกับประเภทไดนามิคแล้ว ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือความ สามารถในการปรับความดันใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับระดับความดันในเยื่อแก้วหูและหูชั้นใน
ถ้าจะให้เห็นภาพก็คือ ระดับเริ่มต้น อาจทำเวลาสแตติคได้ประมาณ 3 นาที ทำไดนามิคได้ 50 เมตร และดำได้ลึก 15 เมตรแบบคอนสแตนท์เวท ฟรีไดเวอร์ที่ดีสามารถทำสแตติคได้นาน 5 นาที ไดนามิค ได้ 100 เมตร และดำคอนสแตนท์เวทได้ลึก 40 เมตร แต่ถ้าในระดับโลก นักกีฬาเหล่านี้ สามารถทำได้ดีกว่าที่กล่าวมามาก โดยจะมี AIDA และ CMAS ซึ่งเป็นสมาพันธุ์นักกีฬา ฟรีไดวิ่งหลักของโลก ซึ่งทั้งสองแห่งมีกฎที่แตกต่างกันเล็กน้อย
สถิติโลกของ AIDA ที่มีบันทึกไว้ ถือว่ายังห่างจากระดับที่กล่าวมาแล้วมาก โดยมีสถิติที่บันทึกไว้ล่าสุดดังนี้
ประเภท Constant Weight without Fins ดำได้ลึก 101 เมตร โดยนักกีฬาชายและหญิงที่ 62 เมตร แบบไดนามิคไม่ใช้ฟิน สถิติชาย 218 เมตร และหญิง 160 เมตร ขณะที่สถิติโลก การดำน้ำแบบสแตติค ฝ่ายชายทำเวลาได้ถึง 11.35 นาที และฝ่ายหญิง 8.23 นาที ผู้สนใจสถิติอื่นๆ สามารถดูข้อมูลสถิติโลก เหล่านี้และประเภทอื่นๆ ได้ที่ www.aidainternational.org
จำนวนนักกีฬาฟรีไดเวอร์ของไทย ปัจจุบันนับจำนวนได้น้อยมาก แม้กระทั่งกลุ่มผู้สนใจฝึกเล่นโดยไม่แข่งขันก็ยังนับได้หลักสิบเท่านั้น เช่นเดียวกับสถานที่เรียนในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันก็มีเพียงแค่ 3 แห่งเท่านั้น
แต่ละแห่งเปิดสอนตามหลักสูตรของ AIDA เป็นหลัก และตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว สำคัญของไทย ได้แก่ Blue Planet ที่เกาะ ลันตา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจัด การแข่งขันฟรีไดวิ่งขึ้นทุกปีในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว อีกที่ที่ใช้หลักสูตรของ AIDA คือ Blue Immersion ที่เกาะเต่า จ.ชุมพร ส่วนของ Apnea Total ซึ่งอยู่ที่เกาะเต่า จ.ชุมพร เหมือนกัน แต่สอนคนละหลักสูตร
นักเรียนจำนวนไม่น้อยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคุ้นเคยกับฟรีไดวิ่งที่เริ่มเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 1992 และกำหนดมาตรฐานออกมาในปี 1993 สิ่งสำคัญที่พวกเขาเหล่านี้ต้องการเรียนรู้ไม่ใช่วิธีการดำน้ำตัวเปล่า แต่ส่วนใหญ่เป็นการท้าทายศักยภาพของมนุษย์ที่เคยมีว่า ยังเหลืออยู่ในตัวพวกเขามากน้อยแค่ไหนต่างหาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|