เมื่อ “โรลส์-รอยซ์” ปรับสู่ความจำเป็นพื้นฐาน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

การจะทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน อยู่ได้ สิ่งที่ต้องมองให้ออกคือแนวโน้มและการปรับเปลี่ยนองค์กรบนฐานข้อมูลที่แม่นยำทางการตลาด เพื่อกำหนดอนาคตได้ถูกทาง เช่นเดียวกับโรลส์-รอยซ์ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ของเครื่องยนต์ระดับบนทั้งอากาศยานและยานพาหนะทางบก แต่เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยน การมุ่งแต่จะรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์โดยไม่ใส่ใจความจำเป็นแห่งยุคสมัยก็อาจจะทำให้แบรนด์เหลือแค่ตำนาน การปรับตัวสู่ความจำเป็นพื้นฐานจึงกลายเป็นทิศทางใหม่ของโรลส์-รอยซ์ที่ประกาศชัดสำหรับการดำเนินธุรกิจ อย่างน้อยก็ในประเทศไทยนับจากนี้เป็นต้นไป

ธุรกิจของโรลส์-รอยซ์ที่ทำอยู่ทั้งในตลาดโลกและในไทยมีด้วยกัน 4 ตลาด ได้แก่ เครื่องยนต์ในอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ การบินทหาร การเดินเรือและกลุ่ม พลังงาน ซึ่งยวน แม็คโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โรลส์-รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวอย่างชัดเจนว่า สำหรับการดำเนินงานในไทยในระยะ 5 ปีจากนี้ บริษัทจะเน้นธุรกิจในกลุ่มพลังงานเป็นหลัก ตาม แนวทางของรัฐบาลไทยที่หันมาให้การส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของภาคเอกชน เนื่องจากแนวโน้มความต้อง การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่แนวโน้มการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศทำได้ยากขึ้น

จากการศึกษาความต้องการเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบก๊าซเทอร์ไบน์และน้ำมันในตลาดของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนถึง 22 โครงการ ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและปฏิบัติการโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพี

โรลส์-รอยซ์เข้าร่วมประกวดราคาและตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ลูกค้าจากกลุ่มนี้อย่างน้อย 4-5 ราย ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายจะทำให้บริษัทมีรายได้ในช่วง 5 ปีจากนี้อย่างน้อย 200 ล้านบาท จากการจำหน่ายเครื่องยนต์ก๊าซเทอร์ไบน์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าของโรงงาน และเท่ากับเป็นการสร้างอัตราเติบโตถึง 200% ให้กับบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานในช่วง 5 ปีนี้ด้วย

ตลาดพลังงานของไทยในปัจจุบันตอบรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก 2 ระบบ คือจากก๊าซและน้ำมันเป็นหลักเท่านั้น โดย ปฏิเสธการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพราะเชื่อว่าก่อให้เกิดมลพิษ ขณะที่เชื้อเพลิงอย่าง น้ำมันเตาก็แพงจนไม่มีโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งไหนใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกแล้ว ส่วนพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานน้ำ ลม และ แสงอาทิตย์ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความ ต้องการได้อย่างมีเสถียรภาพ จึงไม่น่าแปลกที่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูงถึง 74% ของจากประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ในฐานะผู้จำหน่ายเครื่องยนต์กำเนิด พลังงานไฟฟ้า งานนี้ โรลส์-รอยซ์จึงจะต้อง เจอกับคู่แข่งในตลาด ซึ่งมีทั้งแบรนด์ระดับ โลกที่พัฒนาระบบไปไกลแล้ว โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง GE และแบรนด์ที่เน้นแข่งขันด้วยราคาอีกสารพัดแบรนด์จากจีนอีกด้วย ดังนั้นการคาดหวังที่จะได้ลูกค้าเกือบ 1 ใน 4 ของตลาดที่มีอยู่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“เราเชื่อว่าตลาด SPP เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของโรลส์-รอยซ์ เพราะเรามีทั้งขนาดและประเภทของเครื่องยนต์ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งการรุกตลาดพลังงานครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราพยายามทำตลาดเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานกับการบินไทย ซึ่ง 15 ปี ก่อนหน้านั้น การบินไทยไม่เคยใช้เครื่อง ยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ปัจจุบันการบินไทยก็เลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ของเราในเครื่องบินมากกว่า 100 เครื่อง เราจึงเชื่อว่าโรลส์-รอยซ์จะสามารถเป็นที่ยอมรับในตลาดธุรกิจพลังงานได้ในรูปแบบเดียวกัน” ยวน กล่าว

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งโรลส์-รอยซ์ ยังมีความมั่นใจที่จะทำตลาดโดยอาศัยประสบการณ์เดิม ปัจจุบันบริษัทมีเครื่อง ยนต์ก๊าซเทอร์ไบน์ประมาณ 34 เครื่อง ที่ให้บริการกับบริษัทด้านน้ำมันและก๊าซกับลูกค้าอย่างเชฟรอน และ ปตท.ซึ่งนำมาใช้ สำหรับผลิตไฟฟ้าภายใต้การดำเนินงานของ บริษัทต่างๆ ในประเทศอยู่แล้วและจากจำนวนที่ใช้งานกันอยู่ทั่วเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 700 เครื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีการเติบโต ด้านความต้องการพลังงานสูงสุดเป็นอันดับ สองรองจากเวียดนาม โดยมีความต้องการ ใช้พลังงานสูงถึง 22 กิ๊กกะวัตต์ ในปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มเป็นเกือบ 55 กิ๊กกะวัตต์ ในปี 2568

“เมื่อโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่สามารถ เกิดขึ้นได้ กฟผ.จึงมีนโยบายรองรับการขยายตัวของความต้องการนี้จากกลุ่มเอสพีพีจำนวน 22 รายให้เป็นผู้จัดหาพลังงาน ดังกล่าว ซึ่งแต่ละโครงการจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 100 เมกะวัตต์สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่จะขยายปริมาณเพิ่มขึ้น 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งโรลส์-รอยซ์มีเครื่องกำเนิดพลังงานในระดับที่เอสพีพีต้องการไปจนถึงระดับ 500 เมกะวัตต์ที่สามารถรองรับความ ต้องการของกลุ่มผู้ผลิต” มาเฮ็นดร้า สิงห์โชฮาน หัวหน้าอาวุโสฝ่ายการขาย ธุรกิจพลังงานภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลธุรกิจในหมวดพลังงานของ โรลส์-รอยซ์ในไทยกล่าว

ความต้องการไฟฟ้า ในปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ที่ประเมินนี้สำหรับครัวเรือนประมาณ 4 แสนครัวเรือน โดยสันนิษฐานว่าแต่ละครัวเรือน มีความต้องการใช้ไฟเฉลี่ยครัวเรือนละ 5 กิโลวัตต์

จุดขายหลักของเครื่องยนต์ในการให้กำเนิดพลังงานที่โรลส์-รอยซ์นำเสนอสู่ตลาด จะเน้นที่ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ที่สามารถปฏิบัติการได้ต่อเนื่องทั้งกลางวัน กลางคืน เพื่อเน้นสร้างผลตอบแทนด้านการเงินสูงสุดให้กับเจ้าของโครงการเอสพีพี มีความยืดหยุ่นหลายด้าน ในแง่ของเครื่อง ยนต์มีความยืดหยุ่นในการเปิดเดินเครื่อง การทำงานและการผสมผสานของเครื่อง ยนต์ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงในการใช้งานรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการใช้งานระดับทั่วไป (Base Load) และรองรับการใช้งาน ในช่วงปริมาณสูง (Peak Load) รวมทั้งความยืดหยุ่นในการจัดรูปแบบสำหรับบริการดูแลรักษาเครื่องยนต์

“เราเน้นเรื่องของความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าและบริการ เพราะจากประสบการณ์ของเราพบว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากบริษัท คือความยืดหยุ่นของระบบทั้งตัวเครื่องยนต์และบริการ และบริษัทที่เชื่อถือได้” มาเฮ็นดร้ากล่าว

แม้โรลส์-รอยซ์จะวางแผนงานในกลุ่มธุรกิจพลังงานไว้ในระยะสั้นแค่ 5 ปี แต่ดูเหมือนบริษัทมีเป้าหมายชัดเจนและใหญ่กว่าที่เห็นนี้ ถึงขั้นที่อาจจะมีแนวโน้มว่าในอนาคตที่ไกลออกไปรายได้จากธุรกิจ พลังงานอาจจะเพิ่มสัดส่วนและเติบโตแซงหน้าสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันที่มากกว่า 70% ของรายได้บริษัทมาจากธุรกิจการบินพลเรือนก็เป็นได้

โรลส์-รอยซ์ก้าวตามแผนงานของนโยบายพลังงานไทยและมองไกลออกไปถึงปี พ.ศ.2563 ที่ประเทศไทยมีแผนจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกจากที่กำหนดว่าจะสร้างถึง 5 แห่งด้วยกันสำหรับ กำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยวนยืนยันว่า โรลส์-รอยซ์พร้อมให้ปรึกษาด้านการจัดเตรียม ควบคุม เฝ้าติดตาม รวมทั้งพร้อมเสนอตัว เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบต่างๆ สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ล่าสุดบริษัทเพิ่งลงนามสัญญามูลค่ากว่า 35 ล้านปอนด์กับบริษัท ไชน่า นิวเคลียร์ พาวเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ในการจัดหาอุปกรณ์ควบคุมชุดความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์และแผงควบคุมให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำนวน 8 โรง

“ถึงแม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของคนไทยและยังต้องรออีกยาวไกล แต่โรลส์-รอยซ์ก็มีความสนใจเข้ามีส่วนร่วม”

คำพูดของยวนน่าจะเป็นการยืนยันชัดเจนว่า เป้าหมายของโรลส์-รอยซ์จะเกาะติดกับธุรกิจพลังงานไทยจากนี้ไปจนสุดทาง ไม่ว่าแหล่งกำเนิดพลังงานของไทยจะเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดไหนก็ตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.