เกือบไปแล้วไหมล่ะเบื้องหลังที่ถูกอัด


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

“คราวที่จะย้ายเข้ามาในสำนักงานใหญ่ สูง 30 กว่าชั้นนี้ เราหนักใจมาก เพราะมันจะมีอะไรกระทบมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราเคราะห์ดี เราสู้ได้ เราแก้ปัญหาไปแล้ว ยังเจริญขึ้นอีก ระยะ 38 ปีที่ผ่านมาทุกปีเราก็สู้ แต่ต่อไปมันจะมีอะไรเรายังไม่รู้เลย ส่วนตัวผมเอง จอมพลสฤษดิ์หาเรื่องผมจนต้องหนี แต่ที่แท้จริงเขาไม่ได้ตั้งใจ เขาจะหาเรื่องกับแบงก์”

ชิน โสภณพนิช ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ 7 มีนาคม พ.ศ.2527

เรื่องของธนาคารกรุงเทพถ้าจะให้เขียนสัก 10 ครั้ง เป็น 10 เรื่องก็พอจะเขียนได้

ทั้งนี้เพราะ 40 ปีของธนาคารกรุงเทพ มีตำนานที่พิลึกกึกกือมาตั้งแต่เริ่มต้นและไม่เคยหยุดยั้ง จนกระทั่งปัจจุบัน

ยุทธการข่าวลือของธนาคารกรุงเทพที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนั้น นอกเหนือจากที่สื่อมวลชนทั้งหลายพากันเสนอว่ามีสาเหตุต่างๆ นานาแล้ว ยังมีสาเหตุอีกอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นปัญหาหลักในการบริหารงานและนั่นคือการสื่อสาร (communication)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ “ผู้จัดการ” เพียงแต่หวังว่ามันน่าจะเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้ฝ่ายบริหารได้วิเคราะห์การกระทำของตัวเอง ไม่เพียงแต่ในขณะนี้ แต่ควรจะย้อนหลังรวมไปถึงช่วงที่ชาตรี โสภณพนิช เริ่มเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ

ในการทำรายงานชิ้นนี้เราจะพยายามรายงานให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ภายในขอบเขตของกฎหมายที่อนุญาตโดยไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท

เราเพียงแต่หวังว่า ผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ระดับหัวหน้าส่วนขึ้นไปจนถึงชาตรี โสภณพนิช ตลอดจนบรรดาผู้บริหารของธนาคารต่างๆ และองค์กรที่ใหญ่ๆ ควรจะอ่านเรื่องนี้ด้วยความสนใจและเอาข้อคิดของรายงานนี้กลับไปวิเคราะห์ดู

เหมือนอย่างที่นักประวัติศาสตร์ชื่อดังทางตะวันตก George Santayana ได้เคยกล่าวคำอมตะไว้ว่า “Those who do not remember history are condemned to repeat it”

เราเพียงแต่หวังว่าผู้บริหารธนาคารกรุงเทพคงจะไม่ repeat it เพราะถ้าจะมีอีกครั้งหนึ่งก็ไม่รู้จะออกหัวออกก้อยแน่

เพียงแค่คิดว่ามันอาจจะมีอีกครั้ง ก็พอจะทำให้เราขนลุกขนพองไปทั้งตัวแล้ว

หลังจากที่ชิน โสภณพนิช ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันนั้น ต่อมาอีก 3 เดือนกับอีก 11 วัน ธนาคารกรุงเทพก็ถูกหาเรื่องอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2527 ว่าธนาคารกรุงเทพล้ม

ถ้าใครสักคนบอกว่าธนาคารกรุงเทพล้มนั้นก็คงจะไม่ต่างไปจากการพูดว่า เศรษฐกิจเมืองไทยล้มเหมือนกัน!

“เช็คทุกๆ 10 ใบที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดต้องมีของแบงก์กรุงเทพอยู่ไม่ต่ำกว่า 3-4 ใบ ถ้าแบงก์กรุงเทพล้มจริงๆ นี่ ผมไม่อยากจะวาดภาพว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร” ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งพูดอย่างอัดอั้นตันใจต่อข่าวลือ

แม้แต่ประจิตร ยศสุนทร กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังพูดว่า “ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับธนาคารกรุงเทพ ก็ต้องกระทบกระเทือนต่อวงการแน่”

ว่ากันว่าที่ไหนมีควันมันก็ต้องมีไฟ

เพียงแต่ไฟมันอาจจะเป็นไฟในห้องครัวแต่ถูกคนทึกทักว่าเป็นไฟในบ้าน ทั้งนี้อาจจะเป็นเจ้าของบ้านไม่เคยแคร์ที่จะบอกชาวบ้านชาวช่องว่าตัวเองทำอะไรอยู่ก็ได้

ก็ต้องนับว่านายจอร์จ ตัน (George Tan) แห่งบริษัทแคเรียน (Carian) นี้แน่มาก เพราะอิทธิพลการล้มของตัวเองนอกจากจะทำให้ธนาคารบุมิพุททตรา (Bumiputra) ของมาเลเซียกระเทือนแล้ว หางเครื่องของมันยังเป็นเหตุให้เกิดการอ้างอิงว่า ธนาคารกรุงเทพก็ถูกหวยแคเรียนด้วย

“ธนาคารกรุงเทพ ว่าไปแล้วอยู่ที่ฮ่องกงมานานมาก บางครั้งคุณอาจจะพูดได้ว่าธนาคารกรุงเทพอาจจะรู้จักฮ่องกงดีพอๆ กับกรุงเทพฯ” ผู้สันทัดในวงการเงินอธิบายให้ฟัง

ก็คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะนายห้างชิน โสภณพนิช เองเมื่อระเหเร่ร่อนออกจากกรุงเทพฯ ในยุค ม.17 ของจอมพลสฤษดิ์ ก็มาปักหลักที่ฮ่องกงและขยายฐานของธนาคารกรุงเทพสาขาต่างประเทศออกไป

“พื้นฐานคุณชินก็เป็นคนจีนโพ้นทะเล ฮ่องกงยุคประมาณ 27 ปีที่แล้วยังเป็นยุคที่ทำมาค้าขึ้น ตอนนี้คุณไปดูบรรดาเจ้าสัวต่างๆ ที่เป็นคนจีนโพ้นทะเลที่มีกิจการใหญ่ๆ โตๆ ในกลุ่มอาเซียนนี้ซิ ล้วนแล้วแต่โตขึ้นมาได้จากการดันของคุณชินทั้งนั้น เช่น นายโรบิน โลว์ ที่มีกิจการต่อเรือที่ใหญ่มากในสิงคโปร์และธุรกิจในฮ่องกงด้วย อีกอย่างหนึ่งลูกชายคุณชินอีกคนที่เกิดจากภรรยาที่ซัวเถา ชื่อ โรบิน ชาน ก็มีธนาคารที่ฮ่องกง เรียกได้ว่าคุณชินหรือธนาคารกรุงเทพนั้นเป็นเจ้าสำนักใหญ่ในฮ่องกงแห่งหนึ่งทีเดียว” แหล่งข่าวคนเดิมพูดต่อพร้อมกับสั่งเหล้าแก้วที่สอง

ในยุคที่ดินและอาคารในฮ่องกงกำลังบูมนั้น แน่นอนที่สุด การเก็งกำไรก็ต้องเกิดขึ้น แล้วเผอิญในช่วงนั้นก็เป็นการฟาดฟันกันระหว่างกลุ่มเจ้าสัวคนจีนกับบรรดากลุ่มไทปัน (Taipan) เช่น ฮัชชินสัน หรือจาร์ดีนแมทธีสัน กับเซอร์เปา ฯลฯ

ราคาที่ดินในฮ่องกงกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำกำไรให้กับคนเก็งกำไรอย่างมาก และจอร์จ ตัน เองก็จับจุดนี้สร้างแคเรียนขึ้นมาบนพื้นฐานของเงินกู้ทั้งสิ้น

“ราคาที่ดินตอนนั้นเริ่มตกฮวบฮาบ บางคนบอกว่าเป็นเพราะเติ้งเสี่ยวผิงคำรามออกมาว่าอีกสิบกว่าปีจะขอฮ่องกงคืนนะ แต่ผมเชื่อว่าอีกด้านหนึ่งมันก็อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจก็เลวร้ายเช่นกัน ทำให้ราคาที่ดินในฮ่องกงขณะนั้นซึ่งราคามันถูกปั่นเกินความจริงไปมาก จำเป็นต้องกลับสู่ระดับที่ใกล้เคียงความจริง” นักการเงินของธนาคารต่างประเทศที่เคยประจำอยู่ฮ่องกงพูดเสริมขึ้นมา

ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นเพราะในบรรดานักเก็งกำไรแล้ว พ่อค้าฮ่องกงถนัดที่สุด อย่าลืมว่าตลาดหุ้นฮ่องกงเคยพังไปครั้งหนึ่งเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว ก็เพราะคนพวกนี้ และในการซื้อที่ดินและอาคารนั้นก็เป็นการเอาเงินธนาคารมาซื้อทั้งสิ้น ในภาวการณ์ที่ดอกเบี้ยถูก ก็คงจะพอถูไถไปได้ แต่ในปี 2524-2525 อัตราดอกเบี้ยจะเฉลี่ยราว 18% ซึ่งเป็นภาระหนักประกอบกับประเทศจีนจะเอาฮ่องกงคืน ในที่สุดต้องบีบบังคับให้เกิดการขายทรัพย์สินกันยกใหญ่

“ทีนี้พอกลุ่มแคเรียนล้ม กลุ่มเอด้าล้ม มันก็เลยกระทบแบงก์ต่างๆ กันหมด ตั้งแต่ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ก็โดน เชสแมนฮัตตันก็โดน มอร์แกนฯ ก็โดน คนก็เลยนึกว่าแบงก์กรุงเทพในฐานะที่อยู่ฮ่องกงมานานก็น่าจะโดนด้วย” แหล่งข่าวคนแรกพูดต่อ

ซึ่งจากการการเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับแคเรียนเลย!

จะอย่างไรก็ตาม ข่าวลือว่าธนาคารกรุงเทพขาดทุนมากกับ operation ในฮ่องกงก็เริ่มแพร่ออกมาทีละนิดนับตั้งแต่แคเรียนเริ่มล้มประมาณสิงหาคม 2526

ข่าวลือนี้เริ่มมาจากวงการธุรกิจ บนโต๊ะอาหารบ้าง ในที่สังสรรค์บ้าง พูดง่ายๆ มันเริ่มมาจากกลุ่มนักธุรกิจระดับเบิ้มๆ ทั้งนั้น

และเมืองไทยก็เป็นเมืองข่าวลือจริงๆ!

สถานภาพของธนาคารกรุงเทพในปี 2526 ก่อนเดือนธันวาคมก็เป็นสถานภาพที่มั่นคงเจริญเติบโตเต็มที่ “ปี 2526 เราขยายในด้านสินเชื่อสูงกว่าปกติถึง 30%” อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพเคยพูดกับ “ผู้จัดการ”

ข่าวลือเรื่องฮ่องกงก็เลยเป็นเพียงข่าวลือธรรมดาที่ไม่มีใครให้ความสนใจนัก

แต่ปลายปี 2526 ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็ส่งผลกระทบในทางลบให้กับธนาคารกรุงเทพ

เหตุการณ์นั้นคือการที่ฝ่ายบริหารพยายามควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้มีวินิจฉัยมากขึ้น และประกอบกับการที่ธนาคารกรุงเทพได้ปล่อยสินเชื่อจนหมดขอบเขตที่กฎหมายอนุญาต

“ต้องยอมรับว่าธนาคารกรุงเทพเขาใจกว้างมากในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ อำนาจของผู้จัดการนั้นเขาให้มากกว่าธนาคารอื่น ผู้จัดการบางคนมีสิทธิปล่อยได้ล้านสองล้านทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตสำนักงานใหญ่ และการปล่อยเงินให้เกินวงเงินนั้นเป็นของธรรมดา” คนในธนาคารกรุงเทพเล่าให้ฟัง

ก็เป็นธรรมดาของพ่อค้าที่อยู่ในระดับเล็กและระดับกลาง ซึ่งขาดการวางแผนงานที่ดี มักจะขยายงานโดยไม่ขยายฐานของทุน แต่จะขยายฐานของหนี้เพื่อเอามาเป็นทุน ฉะนั้นการใช้เงินเกินวงเงินไปอย่างมากๆ ก็เกิดขึ้นเป็นของธรรมดา ในยามที่ธุรกิจไปได้ดี พ่อค้าเหล่านี้จะได้ประโยชน์ตอบแทนสูง แต่ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ลงทุนจะประสบปัญหาภาวะดอกเบี้ย และขาดทุนในอัตราสูง ทำให้หมุนตัวไม่ทัน

“การใช้เงินเกินวงเงินของลูกค้าของธนาคารกรุงเทพนั้น เป็นตำนานเลยทีเดียวละ บางสาขาปล่อยเกินวงเงินเป็นเท่าตัวเลย ธรรมดาการปล่อยเกินวงเงินนั้น เขากำหนดไว้ว่าไม่เกิน 20% ของวงเงิน และลูกค้าต้องมาปิดวงเงินที่เกินไปภายใน 14 วัน แต่ก็เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพว่า ถ้ารู้จักลูกค้าดีพอก็จะปล่อยเกินไปให้” ผู้จัดการสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์คนหนึ่งพูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

ยุทธศาสตร์การสร้างวินัยให้ผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพก็เกิดขึ้น!

“ความจริงเราเคยเตือนเขาไปตลอดแล้วว่าพยายามให้อยู่ในกรอบตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ออกมาในรูปนั้น เราก็เลยต้องขออำนาจเขาคืนมา” ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพพูดให้ฟัง

เมื่อยุทธวิธีถูกกำหนดแล้ว หมายกำหนดการก็ถูกวางลงไปว่าต้องทำกันภายในสิ้นธันวาคมนี้ แล้วพอเริ่มงวดใหม่ก็จะไม่คืนอำนาจให้ระยะหนึ่ง จนกว่าทุกอย่างจะเริ่มเข้าสู่กฎเกณฑ์ที่วางไว้

“เวลาคุณจะเรียกเงินลูกค้าคืน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการบอกว่าเอามาปิดเสีย แล้วเดือนหน้าจะปล่อยให้เหมือนเดิม” ผู้จัดการสาขาคนเก่าพูด

แต่มาคราวนี้มันไม่ใช่ “ที่เก่าเวลาเดิม” เสียแล้ว

“ผมโดนมันหลอก ผมเจ็บใจมาก คุณนึกดูซิ ผมค้าขายกับมันมา 10 ปีเต็มๆ จากบัญชีหมุนเวียนเดือนละ 2 แสนมาเป็นเดือนละ 4-5 ล้าน ผมใช้เกินจริง ผมมี fix อยู่ 5 ล้าน ผมได้โอดี 3 ล้าน CBD อีก 4 ล้าน ผมจะใช้เกินโอดีประมาณ 2 ล้าน แต่ผมก็ปิดให้เขาทุกครั้งถ้าเขาต้องการ เพียงแต่ขอคืนให้ผมเหมือนเดิมเท่านั้น พอสิ้นปีผมก็ปิดโอดีผม CBD ผมยังเหลืออีก 1 ล้าน ผมจะแลก CBD เพื่อมาช่วยปิดโอดีก็ไม่ให้ เอ้า ไม่เป็นไร ผมไปแลกเช็คหามาปิดจนได้ พอมกราคมผมโผล่หน้าเข้าไป ผู้จัดการมันยิ้มแหยๆ แล้วบอกว่าผมไม่มีอำนาจแล้ว มีวงเงินแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น เกินหนึ่งบาทเช็คก็เด้ง ผมก็เต้นซิ เช็ค 1 ล้านผมจะถึงอีก 2 วันแล้ว คุณนึกดูก็แล้วกันผมพังแค่ไหน วงการค้าความเชื่อถือสำคัญมาก นี่มานั่งโกหกกัน มีปัญหาอะไรบอกกันได้ตรงๆ แต่ขอเวลาพ่อค้าบ้าง บอกผมมาแล้วให้เวลาผมสัก 1 เดือนให้ผมหาแหล่งเงินมาอุดที่ผมเกินๆ ไป นี่หลอกผมแท้ๆ แล้วมานั่งยิ้มแหยๆ กับผม ดอกเบี้ยก็หักกันทุกเดือนๆ เวลาขอให้ผมปิด ผมก็ปิดให้” อดีตลูกค้าธนาคารกรุงเทพรายหนึ่งระบายให้ฟังอย่างชนิดที่ต้องตัดราชาศัพท์บางคำออก เพื่อความสุนทรีในการอ่าน

“คุณจะให้ผมทำอย่างไร ตำแหน่งผู้จัดการสาขาเป็นตำแหน่งที่นั่งอยู่บนภูเขาไฟจริงๆ เวลาสำนักงานใหญ่มีเงินเหลือบอกให้ปล่อยเต็มที่ ให้หาลูกค้า เราจะไปซี้ซั้วหาลูกค้าที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีนได้อย่างไร ก็ต้องดูลูกค้าเก่าให้เขาเอาเพิ่มไป เวลาให้หาเงินฝากก็ตั้งเป้ามาให้หากันเต็มที่ เวลาจะตัดแบบนี้น่าจะประชุมถามเราสักคำว่าใช้วิธีแบบไหนดีที่สุด เราจะได้แนะให้ว่าให้เริ่มที่ไม่เกินโอดีก่อน แต่ให้เกิน CBD บ้าง แล้วค่อยๆ ลดไปไม่เกิน 60 วัน ผมเชื่อว่าผมพูดกับลูกค้าเขาได้ ผมเองก็ต้องหลอกเขาว่าจะคืนให้แล้วไม่คืน แน่ละ ถ้าบอกตรงๆ คุณก็รู้พ่อค้าเขาไม่ปิดบัญชีสิ้นปีกับคุณแน่ เขาจะปล่อยให้มันไม่เดิน แล้วไปเปิดแบงก์อื่น รอให้เราไปฟ้องร้องเขา ถ้าผมไม่ทำอย่างนั้น สำนักงานใหญ่ก็อัดผม ทำไปลูกค้าก็อัดผม ปล่อยสินเชื่อเสียก็โดนอัด ผมจะบอกให้คุณรู้นะ ไอ้ตำแหน่งผู้จัดการสาขาเงินเดือนแค่นี้กับรถเปอโยต์ประจำตำแหน่ง เทียบกับความรับผิดชอบมันไม่คุ้มหรอก” ผู้จัดการสาขาธนาคารกรุงเทพย่านเมืองหลวงระบายให้เราฟังเช่นกัน

ประกอบกับในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้ความกดดันที่จะต้องรักษาค่าเงินบาทไม่ให้มีการลด ก็ได้ออกมาตรการจำกัดการปล่อยสินเชื่อธนาคารไม่ให้เกิน 18% และควบคุมการเปิดแอลซี ฯลฯ ทั้งหมดนี้พลอยเป็นสัญญาณให้ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพยิ่งมั่นใจว่าต้องทำอะไรลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างวินัยในการปล่อยสินเชื่อ

ธนาคารอื่นๆ ในขณะนั้นดูจะไม่ตื่นเต้นกับมาตรการธนาคารชาติเท่าใดนัก การปฏิบัติก็เป็นไปปกติธรรมดา อำนาจของผู้จัดการก็ยังเหมือนเดิม และหลายคนในหลายธนาคารก็งุนงงกับปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบของผู้บริหารธนาคารกรุงเทพมาก

ในช่วงต้นปี 2527 เป็นช่วงที่ผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพไม่ได้อยู่เป็นสุข “ผมแทบไม่อยากเขาสาขาเลย ถึงหน้าประตูแบงก์ทีไร ผมอยากจะอาเจียนทุกที” ผู้จัดการสาขาคนเก่าพูดต่อ

เสียงตอบของเลขาผู้จัดการสาขาที่บอกว่า “ผู้จัดการไม่อยู่ค่ะ ไปประชุม” ดูเหมือนจะเป็นคำตอบคล้ายๆ กันหมดทุกสาขาของธนาคารกรุงเทพ

และจากการที่ตัวเองเกิดใหญ่ที่สุด ผลกระทบก็ต้องมากที่สุด

เช็คคืนของธนาคารกรุงเทพในต้นปี 2527 มีอัตราเฉลี่ยเกือบ 400% มากกว่าต้นปี 2526 “เวลาผมรับเช็คล่วงหน้าของธนาคารกรุงเทพมา ผมไม่สบายใจจริงๆ เพราะในต้นปี 2527 เช็คธนาคารกรุงเทพมีปัญหามากที่สุด เรียกว่าพอลูกน้องเอาเช็คต่างๆ มาส่ง ถ้าส่วนใหญ่เป็นของธนาคารกรุงเทพแล้ว ผมจะเย็นไปทั้งตัวเลย” เจ้าหน้าที่การเงินคนหนึ่งของบริษัทดีทแฮล์มพูดกับ “ผู้จัดการ”

แน่นอนที่สุดความพินาศทางธุรกิจสำหรับคนบางคน ก็ต้องเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดาจากการตัดสินเชื่อแบบนี้ “เป็นธรรมดาที่มาตรการที่เราทำออกไปก็จะต้องมีลูกค้าที่ไม่พอใจ เพราะไม่ได้สินเชื่อที่ตัวเองต้องการ” อำนวย วีรวรรณ พูด

แต่เพื่อคุณภาพและสร้างระบบให้ดีขึ้น ธนาคารกรุงเทพก็จำเป็นจะต้องเจ็บปวดในเบื้องต้น

และว่ากันว่า เมื่อคนเราจะต้องพังพินาศวิสันตะโรกันแล้ว ในเชิงธุรกิจ สถาบันการเงินก็คือเป้าใหญ่ที่สุดที่ตัวเองจะต้องโจมตี

ประเด็นของธนาคารกรุงเทพนั้นมองได้ 2 แง่ 2 มุม สุดแล้วแต่ใครจะมองในแง่ไหนมุมไหน เช่น พ่อค้าขายส่งเจ้าหนึ่งคิดว่า “การตัดวงเงินผมโดยไม่ให้เวลาผมปรับตัว ไม่ใช่ลักษณะของธนาคาร การเป็นสถาบันการเงินนั้นควรจะต้องให้เวลาลูกค้าพูดจากันบ้าง ผ่อนสั้นผ่อนยาว พ่อผมเล่าให้ฟังว่าสมัยคุณชินทำงานอยู่เวลาต้องดึงเงินคืน เขาจะค่อยๆ ดึง เขาไม่โหมทีเดียว จริงอยู่ผมใช้เงินเกินตัว แต่อย่าลืมนะว่าเป็นพวกแบงก์นะ ที่ยุยงส่งเสริมให้ผมใช้”

แต่ถ้ามองจากฝ่ายบริหารของธนาคารคนหนึ่งปัญหาก็จะอยู่ที่ว่า “ลูกค้าไม่มีวินัยในการใช้เงิน และผู้จัดการสาขาเราเองก็ไม่ได้อยู่ในกรอบที่จะต้องอยู่ ฉะนั้นมันก็ผิดที่ฝ่ายเราเหมือนกัน แต่ก็ต้องทำแบบ shock treament อาจจะเจ็บปวดสักชั่วครู่ แต่ต่อมาทุกอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอย เพราะผมเชื่อว่าลูกค้าของธนาคารกรุงเทพที่มีคุณภาพจะเห็นว่าเราบริการเขาได้เต็มที่ และพร้อมมากกว่าธนาคารอื่น”

ลูกค้าระดับเล็กและระดับกลางของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีจำนวนถึง 60% ของบรรดาลูกค้าทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากรายการนี้มาก

ในช่วงต้นปี 2527 หรือไตรมาสแรกเราก็มักจะได้ยินข่าวกิจการล้มกันเป็นว่าเล่น ตั้งแต่กิจการผ้าแถวสำเพ็ง กิจการอะไหล่แถววรจักร กิจการกระดาษอีกสองเจ้า ส่วนใหญ่จะมีผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ขายของไม่ออก มีบ้างที่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่ถูกตัดของธนาคารกรุงเทพ

วงแชร์ที่ล้มกันอย่างสามัคคีสมานฉันท์กันตามจังหวัดต่างๆ จนมีการล้างแชร์ด้วยลูกปืนก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้นเลย

“เอเย่นต์ร้านหนังสือต่างจังหวัดเดี๋ยวนี้ดึงเงินกันจ่ายช้าเอามากๆ มิหนำซ้ำพอจ่ายแล้วแทนที่จะเป็นตั๋วเงินก็เป็นเช็คเด้ง ต่างจังหวัดที่ยืดเวลากันออกไปอีกหลายเดือน” วัชรี มุสิกสินธร เจ้าของ ก.สัมพันธ์ เอเย่นต์หนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยพูดกับ “ผู้จัดการ”

แม้แต่ธนดี โสภณศิริ กรรมการบริหารของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ที่รับผิดชอบในเรื่องยาสีฟันดาร์กี้ ก็ยังรู้สึก “เช็คเด้งต่างจังหวัดกำลังมีปัญหามาก เปอร์เซ็นต์เช็คคืนมีเป็นเท่า ตัวเลย เมื่อเทียบกับปีก่อน”

ในภาวการณ์เช่นนี้ สถานภาพของธนาคารกรุงเทพในฐานะที่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสายตาประชาชนก็เลยเริ่มถูกมองว่ามั่นคงน้อยลง

“ผมไม่ได้ติดต่อมีบัญชีกับธนาคารกรุงเทพหรอก แต่ลูกค้าผมมี แล้วเวลามีปัญหาเขาก็เอาเรื่องเหล่านี้มาบ่นมาเล่าให้ผมฟังว่าธนาคารกรุงเทพที่ต้องเรียกสินเชื่อคืนแบบสายฟ้าแลบนั้น เพราะเงินขาดกะทันหันจากการที่ไปขาดทุนที่ฮ่องกงเป็นหมื่นๆ ล้าน” เจ้าของสินค้าพลาสติกพูดให้ฟัง

ไม่มีใครรู้ว่าข่าวขาดทุนเป็นหมื่นๆ ล้านนั้น ได้มีการเอาตัวเลขมาจากไหน?!

“ธนาคารกรุงเทพเองมีปัญหาในเรื่องบทบาทของตัวเองมาก ตัวเองแผ่ขยายไปต่างประเทศจนเป็น multi-national ที่ใหญ่เอามากๆ แต่ตัวเองลืมให้การศึกษากับ public ว่าตัวเองไปทำอะไรไว้ต่างประเทศบ้าง ในขณะที่ public เองวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็พบว่าตัวเองต้องเจอกับข่าวลือว่าธนาคารกรุงเทพขาดทุนเป็นหมื่นๆ ล้านกับแคเรียน แล้วไอ้แคเรียนนี่มันอะไรกันแน่” พันธุ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ บรรณาธิการข่าวจตุรัส พูดไปหัวร่อลงลูกคอไปอย่างถูกอกถูกใจกับ “ผู้จัดการ”

บางคนถึงกับคิดว่าแคเรียนคือ Clarion ที่ผลิตคอนเดนเซอร์ แอร์รถยนต์ที่นักใช้รถเมืองไทยรู้จักดี!

จะอย่างไรก็ตามอิทธิพลของ “ปากต่อปาก” ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนแคเรียนล้มในช่วงท้ายปี 2526 และเงียบไปก็กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคนที่ไม่มีหนี้แค้นที่ต้องชำระกับธนาคารกรุงเทพก็คงจะคิดว่าธนาคารกรุงเทพขาดทุนจริง เพราะเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมได้บ่งบอกเช่นนั้นมา

ส่วนคนที่สาบานว่าจะไม่อยู่ร่วมฟ้าร่วมดินกับธนาคารกรุงเทพ เพราะตัวเองถูกตัดสินเชื่อจนพังทลายไปก็คิดว่าแบงก์กรุงเทพขาดทุนจริงๆ และขาดทุนเพราะ “ชาตรีเอาเงินแบงก์ไปเล่นที่ในฮ่องกงจนเจ๊ง แล้วมาไล่เบี้ยกับพวกผม”

ชาตรี โสภณพนิช ในรอบ 180 วันที่ผ่านมานี้ก็เลยถูกเผากงเต๊กด้วยลมปากมาตลอด

ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพเองก็คงจะได้สดับตรับฟังลมปากนี้มาตลอด แต่ก็คงจะทำอะไรมากไปกว่าหวังว่าลมปากมันคงจะกระจายหายไปกับสายลมในที่สุด

“ความจริงข่าวลือนี้ผู้บริหารเขาได้รับรู้มาตลอด แต่เขาคงคิดว่ามันลือมานานแล้ว และในเมื่อมันไม่มีความจริงก็ไม่มีใครสนใจอะไร” ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งที่ไม่ได้นั่งอยู่ชั้น 26 พยายามอธิบายให้ฟัง

ความใหญ่ของธนาคารกรุงเทพนั้น ก็มักจะมีข่าวลือต่างๆ เข้ามาประกอบฉากให้มีเรื่องตื่นเต้นอยู่เสมอ

การลือก็จะลือกันหลายแบบหลายอย่าง และลือกันแบบไม่เลือกสถานที่และไม่แบ่งชั้นวรรณะ!

“ผมได้ยินมาตลอด ผมไปอาบอบนวด เจอคนเขาคุยกันเรื่องจิปาถะ พอพูดถึงเรื่องการค้าที่ตกต่ำก็จะต้องมีคนใช้บริการธนาคารกรุงเทพที่ด่าออกมาแล้วตบท้ายว่าธนาคารกรุงเทพกำลังขาดเงินอย่างหนัก” นักธุรกิจระดับอาเสี่ยเจ้าของร้านค้า 3 คูหาพูดให้ฟัง

“เรื่องธนาคารกรุงเทพนั้นเราพูดกันมานานแล้ว ไอได้ยินมาตลอดจะไปงานค็อกเทลที่ไหนก็ต้องได้ยินคนพูด” กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างใหญ่คนหนึ่งพูดกับ “ผู้จัดการ”

แม้แต่ในวงการสื่อมวลชนซึ่งจะมีนักข่าวสายเศรษฐกิจ ก็จะพูดถึงเรื่องแบงก์ขาดทุนที่ฮ่องกงอย่างมหาศาลทุกๆ ครั้งที่นั่งคุยกัน และพาดพิงไปถึงสำนักบัวหลวง

พอจะเรียกได้ว่า ความคิดที่ว่าธนาคารกรุงเทพขาดทุนเป็นหมื่นล้านที่ฮ่องกงนั้น เป็นความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการลือให้เป็นความจริง!

นอกจากลือว่าขาดทุนแล้ว

จากการที่มีการแสดงออกว่าเพื่อนสนิทผู้บริหารธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งมีความสนิทสนมกับพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ทำให้เกิดการหมั่นไส้ขึ้นมาว่าธนาคารกรุงเทพเล่นการเมืองอีกแล้ว

ฉะนั้นความใหญ่ของธนาคารกรุงเทพก็เลยถูกมองไปว่า “ใหญ่แบบนักเลงโต”

เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ “ใหญ่แบบนักเลงโต” นี้ถูกมองว่าได้ถูกนำมาใช้ก็คือการกระจายหุ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ที่บังคับให้ธนาคารพาณิชย์กระจายหุ้นให้มหาชนแล้วธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งใน 2 ธนาคารที่ทำไม่สำเร็จ

อีกธนาคารหนึ่งคือธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีข้ออ้างของการมีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ ซึ่งก็ไม่มีใครขัดข้องอะไรนัก

แต่กับธนาคารกรุงเทพที่อ้างว่าทำไม่ได้นั้นและจากการที่ผู้บริหารคนหนึ่งของธนาคารให้สัมภาษณ์ว่าจะปรับก็ปรับไป ธนาคารกรุงเทพก็จะจ่ายค่าปรับไปเรื่อยๆ เลยทำให้เกิดภาวการณ์ของการแสดงออกแบบนักเลงโตที่ไม่มีใครชอบ

“ตอนนั้นสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกรุงเทพมากพอสมควร ว่าทำตัวเหนือกฎหมาย” ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจคนหนึ่งออกความเห็น

แม้แต่คนในวงการรัฐบาล เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็เคยพูดในฐานะส่วนตัวในกลุ่มนักข่าวถึงความเป็นนักเลงโตของธนาคารกรุงเทพรวมทั้งการปล่อยสินเชื่อจนติดเพดานว่า ทำให้ธนาคารอื่นเขาต้องมาเดือดร้อนกับมาตรการของการจำกัดสินเชื่อเพียงเพราะธนาคารกรุงเทพไม่ได้ระมัดระวังตนเอง

จากข่าวลือคราวนี้เริ่มมาผสมผสานกับการหมั่นไส้ ก็ลองนึกดูว่าความเข้มข้นของข่าวลือจะดุเดือดขนาดไหน

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์ของผู้บริหาร

ในองค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลก ความยิ่งใหญ่ขององค์กรนั้นโดยลักษณะหนึ่งจะถูกแสดงออกโดยบุคลิกของผู้นำองค์กรนั้น

ไม่ว่าจะเป็น General Motor โดยนาย Smith หรือ Chase โดย David Rockefeller หรือ ITT โดย Geneen หรือ IBM โดย Watson

ในเมืองไทยเราก็มีลักษณะนั้นเช่นกัน เมื่อเราพูดถึงสยามกลการเราจะพูดถึง ถาวร พรประภา หรือไทยรัฐเราพูดถึง กำพล วัชรพล หรือธนาคารกสิกรไทยเราพูดถึง บัญชา ล่ำซำ หรือปูนซิเมนต์ไทยเราพูดถึง จรัส ชูโต

ว่ากันว่าหน้าตาภาพลักษณ์ขององค์กรแต่ละยุคแต่ละสมัยจะเป็นเช่นไร ก็ให้ดูบุคลิกและนิสัยใจคอของผู้นำขององค์กรในยุคนั้นสมัยนั้น

ธนาคารกรุงเทพเองก็ไม่มีข้อยกเว้น!

จากยุคของนายห้างชิน โสภณพนิช ที่พนักงานธนาคารกรุงเทพพากันขนานนามว่า “เล่าปี่ ผู้พนมมือแก่คนทุกชนชั้น” มาถึงยุคบุญชู โรจนเสถียร ที่เป็นนายธนาคารปัญญาชนและมีวัฒนธรรมสูง จนในที่สุดก็มาถึงยุคชาตรี โสภณพนิช ผู้ซึ่งต้องสานงานต่อให้สำเร็จเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองทำได้

“ในยุคของคุณชินนั้นเป็นช่วงที่ท่านใช้ความสัตย์ซื่อและปัญญา ปั้นดินให้เป็นดาว ใช้ความเมตตาปรานีและกตัญญู สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ท่านเป็นคนถ่อมตัว มีท่านคนเดียวที่ใช้คำว่า ผมต้องกตัญญูต่อพนักงาน ท่านทำให้ทุกคนสามัคคีกันสร้างธนาคารขึ้นมาอย่างถวายหัว” อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพระดับสูงคนหนึ่งเล่า

“ส่วนยุคของคุณบุญชูนั้นเป็นยุคของการมองการณ์ไกลและสู้กันด้วยปัญญา คุณบุญชูใช้บารมีในการปกครอง ความจริงในยุคคุณบุญชูนั้นค่อนข้างจะเผด็จการมาก เพราะท่านมีบารมีสูงและท่านรู้จริง ฉะนั้นถ้าท่านไม่เห็นด้วยในเรื่องอะไรก็ไม่มีใครค้านท่าน คุณบุญชูท่านเป็นคนรักลูกน้องและส่งเสริมลูกน้องมาก ท่านจะยอมลงทุนบางอย่างก่อน แล้วค่อยเก็บเกี่ยวผลระยะยาว สำหรับท่านแล้วการเริ่มงานอะไรที่มีอนาคตถึงจะไม่มีกำไรแต่ถ้ามีความหมายต่อธนาคารในระยะยาวแล้วเป็นการเสริมภาพลักษณ์ธนาคารแล้วท่านจะทำ” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ

ทั้งชิน โสภณพนิช และบุญชู โรจนเสถียร ต่างก็มีข้อดีที่เกื้อหนุนข้อเสียของแต่ละคนซึ่งกันและกันเมื่อมาทำงานร่วมกันจึงทำให้ธนาคารก้าวกระโดดไปไกลมาก

“พอจะพูดได้ว่ายุคนายห้างชินนั้นเป็นยุคบุกเบิกที่นายห้างจากที่เคยจนมาก่อน มาก่อร่างสร้างตัว พอมาทำแบงก์ก็พนมมือไหว้คนทั่วทิศเพียงเพื่อให้ธนาคารเจริญเติบโต และเมื่อธนาคารโตแล้วก็ไม่เคยลืมคนที่มีบุญคุณที่ช่วยให้ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารกรุงเทพทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นในด้านพนักงานหรือลูกค้าเก่าๆ”

“ส่วนคุณบุญชูก็เป็นยุคที่ท่านวางอนาคตของธนาคารด้วยการวางแผนระยะยาว รวมทั้งดันให้ธนาคารเป็นผู้นำทั้งในด้านการเงินและในด้านความรับผิดชอบต่อสังคม”

แต่นั่นมันเป็นเรื่องของคนที่เรียกว่าเป็นคลื่นลูกแรก ซึ่งก็หมดไปแล้ว

คลื่นลูกหลังก็เป็นยุคของชาตรี โสภณพนิช

“นายห้างชินเป็นห่วงชาตรีมาก นายห้างเคยพูดกับผมว่าชาตรีเป็นคนค้าขายเก่งมาก และฉับไวในเรื่องช่องทางและโอกาส แต่ชาตรีเสียตรงที่เป็นคนชอบเงินมากเกินไป” เพื่อนเก่านายห้างชินคนหนึ่งพูดกับ “ผู้จัดการ” อย่างเปิดเผย

ยุคชาตรีจึงเป็นยุคของการทำกำไรลูกเดียวในสายตาชาวบ้าน แต่ในสายตาชาตรีแล้วเขาคิดว่ายุคนี้คือยุคคุณภาพ

ชาตรีเองต้องการจะพิสูจน์ว่าในยุคของเขาเป็นยุคที่ธนาคารเจริญเติบโตมากที่สุดและทำกำไรมากที่สุด เขาเคยให้สัมภาษณ์รัฐกร อัสดรธีรยุทธ บรรณาธิการนิตยสารดอกเบี้ยว่า “ผมคิดว่าจากกำไรที่ธนาคารกรุงเทพทำมาในช่วงที่ผมเป็นกรรมการผู้จัดการก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเราเจริญเติบโตด้วยฝีมือของเรา”

ก็คงจะเป็นยุคชาตรี โสภณพนิช เองนี่แหละที่สายสัมพันธ์เก่าๆ สมัยพ่อถูกตัดทอนลงไปทีละนิด เพราะชาตรีต้องการทำงานให้มีระบบแบบ Professional Banker มากขึ้น

จากการช่วยเหลือกันในลักษณะคนเห็นหน้าเห็นตาคบค้ากันมานานตั้งแต่ยังลำบากมาด้วยกันในสมัยนายห้างชินก็ได้กลายเป็นการพิจารณาโครงการกันแบบมืออาชีพ

ความจริงการทำงานมันก็น่าจะเป็นเช่นนั้นหรอก ถ้าไม่มีข้อครหานินทาว่า ในกลุ่มวงจรของชาตรี โสภณพนิชเองนั้นกลับได้รับความช่วยเหลือกันแบบไม่อั้น

ข้อนี้จะจริงหรือไม่จริงก็ขึ้นอยู่ว่าจะมองกันในแง่มุมของใครและเวลาก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ในที่สุด

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ธนาคารกรุงเทพยุคชาตรี โสภณพนิช จึงเป็นสถาบันการเงินขนาดยักษ์ที่ถูกมองว่าเป็นนักเลงโตและเห็นแก่ได้และชอบรังแกคน

และแล้วอำนวย วีรวรรณ ก็ถูกดึงตัวเข้ามาร่วมสังฆกรรมกับธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวในฐานะประธานกรรมการบริหารในเดือนธันวาคม 2526

ใน “ผู้จัดการ” ฉบับที่หนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2526 เราเคยพูดว่า “ชาตรีจำเป็นต้องดึงอำนวยเข้ามา เพราะความใหญ่ของธนาคารกรุงเทพใหญ่เกินกว่าบารมีอย่างชาตรีจะแผ่คลุมไปถึง”

อำนวยเข้ามาอย่าง “ข้ามาคนเดียว” ในลักษณะมืออาชีพที่กระโดดเข้ามาในกลุ่มคนของนายห้างชิน คนเก่าของบุญชู โรจนเสถียร และคนของชาตรี โสภณพนิช เอง

อำนวยก็รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรในธนาคารกรุงเทพเพื่อให้องค์กรนี้ทำอะไรให้มีระเบียบแบบแผนนั้นเป็นเรื่องต้องใช้เวลาและต้องมีดุลยภาพอย่างมากๆ

“ธนาคารกรุงเทพมีอายุเพียง 40 ปีเท่านั้นเอง คุณอย่าลืมว่าคนที่เริ่มกับนายห้างมาตอนนี้ส่วนใหญ่ยังไม่หกสิบดีเลย แล้วไหนจะมีสายใยของญาติโกโหติกา ลูกสาว ลูกชายคนใหญ่คนโตในแบงก์ก็เข้ามาทำงาน ฉะนั้นผมเชื่อว่า ดร.อำนวยก็คงรู้ปัญหานี้ การจะไปเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่จะมีระบบดีๆ มารองรับการเติบโตของธนาคารกรุงเทพนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป” ผู้สังเกตการณ์ในธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ก็เป็นของธรรมดาที่คนเคยทำงานในองค์กรหนึ่งมานานเป็นสิบๆ ปีแล้วเคยแต่รายงานให้กับนายห้างชินหรือชาตรี จู่ๆ มีคนซึ่งไม่เคยอยู่ธนาคารมาก่อนเข้ามาเป็นผู้สามารถชี้ต้นตายปลายเป็นได้ ในด้านนโยบายการปฏิบัติงานก็ต้องมีปฏิกิริยากันบ้าง

แต่ไม่ว่าระดับผู้บริหารจะเปลี่ยนแปลงกันขนาดไหนก็ตาม ก็ยังคงมีสภาพการละเลยต่อพนักงานตั้งแต่ระดับหัวหน้าส่วนลงไป

ในองค์กรที่มีคนอยู่ประมาณเกือบ 20,000 คนเช่นธนาคารกรุงเทพนั้น การสื่อสารภายในเป็นสิ่งจำเป็นมาก อย่าว่าแต่ระดับพนักงานทั่วๆ ไปจะไม่รู้เลยว่า นโยบายองค์กร (Corporate Policy) ของธนาคารกรุงเทพมีอะไรบ้าง แม้แต่ระดับหัวหน้าส่วนหรือผู้จัดการฝ่ายบางคนก็ยังไม่รู้เหมือนกัน

ทุกคนแทบจะรู้กันหมดก็ต่อเมื่อมีเรื่องขึ้นมาถึงรู้ว่านโยบายธนาคารปีนี้เป็นปีของการชะลอการเติบโต คัดเลือกคุณภาพ และจะระดมเงินฝากในช่วงกลางปีหลัง

พฤษภาคมนอกจากจะเป็นเดือนที่ร้อนอบอ้าวแล้ว สำหรับพนักงานธนาคารกรุงเทพก็ยังเป็นเดือนที่หงุดหงิดใจด้วย

เป็นครั้งแรกที่ธนาคารกรุงเทพต้องสูญเสียตำแหน่งแชมเปี้ยนในการระดมเงินฝาก ซึ่งฝ่ายบริหารรู้อยู่ฝ่ายเดียวว่าไม่สู้เรื่องเงินฝาก แต่เอาเงินดอลลาร์เข้ามาปล่อยเพราะดอกเบี้ยถูกกว่า (ประมาณ 9%) ปล่อยออกคุ้มก็เลยไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากคงที่อยู่ที่ 12.5% ในขณะที่แห่งอื่นให้ 13%

“แต่พวกผมไม่รู้นี่หว่า ผมนั่งด่าฝ่ายบริหารตลอดเวลาว่าไม่กล้าตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ปล่อยให้แบงก์อื่นคาบเอาเงินไปหมด นี่เขาเล่นกันเองข้างบนแล้วไม่บอกพวกผมที่อยู่ข้างล่างเลย ก็สมแล้วล่ะที่เกิดเรื่อง ทำกันเหมือนกับว่าทุกอย่างให้เชื่อชั้น 26 แล้วพวกลื้อจะดีเอง” เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพระดับล่างระบายให้ฟัง

จากการที่ยอดเงินฝากลดลงในสายตาของคนใส่เสื้อนอกบนชั้น 26 ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่คาดคิดไว้ แต่ในสายตาของชาวบ้านและคนค้าขายกลับมองไปอีกแบบหนึ่งในแง่ลบ!

“ผมมองว่าแบงก์กรุงเทพจากการที่หินกับลูกค้าตอนนี้เริ่มรู้สึกแล้ว เพราะลูกค้าหนีหมดเงินฝากถึงลดลง” ผู้ใช้บริการธนาคารกรุงเทพคนหนึ่งพูดให้ฟัง

เดือนพฤษภาคมก็เริ่มมีข่าวลือเพิ่มขึ้นอีกชิ้นหนึ่งว่าธนาคารกรุงเทพกำลังแย่ เงินหมดระดมเงินฝากก็ไม่เข้าเป้า

พฤษภาคมเป็นเดือนที่ชาตรี โสภณพนิช ยังอยู่ต่างประเทศ ยังไม่กลับ และพฤษภาคมก็เป็นเดือนที่อุณหภูมิทางการเมืองขึ้นอยู่ตลอดเวลา จากการที่ฝ่ายค้านพยายามที่จะเจาะเลือกเป้าตัวบุคคลในรัฐบาลเพื่อโจมตี

เป้าเริ่มจากพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ มาสมัคร สุนทรเวช และในที่สุดก็เป็นสมหมาย ฮุนตระกูล ที่เป็นเป้าใหญ่ ซึ่งทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลกรีดเลือดสาบานว่าจะต้องชำระสมหมายให้ได้

หนึ่งใน ส.ส. นั้นคือ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ที่ถึงกับโพล่งออกมาว่า “กูจะเอามึงออก”

อันสายสัมพันธ์ของ พ.อ.พล นั้นมีอยู่หลายระดับและหลายขุม มีน้อยคนรู้ว่า พ.อ.พล นั้นก็เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับนายทหารระดับพลโทในปัจจุบันหลายคนที่กำลังอยู่ทั้งสายเสนาธิการและสายมันสมอง

“นักการเมืองถ้าเคยเป็นทหารมาก่อนเขาย่อมพูดกับทหารรู้เรื่องดี” นักวิเคราะห์คนหนึ่งออกความเห็น

ธรรมดาแล้ว พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ เองไม่ได้มีอะไรที่แค้นเคืองแบบต้องตายกันไปข้างกับสมหมาย ฮุนตระกูล แต่ พ.อ.พล เผอิญมีธุรกิจร่วมพันกว่าล้านแถวๆ ชะอำ ในรูปของโรงงานทำสับปะรดกระป๋อง

บังเอิญเงินส่วนหนึ่งที่โรงงานสับปะรดกระป๋องที่ชะอำก็ได้มาจากธนาคารกรุงไทยซึ่งมีตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการ

และก็บังเอิญที่ตามใจก็เป็นญาติสนิทของ พ.อ.พล

ความบังเอิญทั้งหลายมันก็น่าจะหยุดอยู่ตรงนี้ถ้าไม่มีอีกหลาย “บังเอิญ” เช่น บังเอิญสมหมายกำลังเล่นงานตามใจเรื่องการปล่อยกู้ให้รายใหญ่ๆ มากเกินไป และหนึ่งในหลายรายใหญ่นี้คือ พ.อ.พล

และบังเอิญสมหมายเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องการเงินการทองของประเทศอยู่ด้วย

ความเป็น “ศิลา” ของสมหมายที่ไม่อนาทรร้อนใจกับสภาพสถานะการเงินในวงการธุรกิจการค้าที่เลวร้ายลงเพราะมาตรการควบคุมสินเชื่อจนระส่ำระสายกันในหมู่พ่อค้านั้น พอจะเอามาเขียนกันเป็นตำนานได้

และแหล่งข่าว “ผู้จัดการ” ก็ยืนยันว่าใน “วงการอำนาจแฝง” หรือ “สีเขียว” นั้น สมหมายได้ถูกหมายไว้ให้สาสมแล้วว่าต้องไป

แม้แต่ศิวาวุธ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร “อาทิตย์” อย่างเปิดเผยว่า เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายควบคุมสินเชื่อในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นการพูดอย่างสุภาพ

ในคณะทำงานของ “อำนาจแฝง” นั้นเชื่อว่าต้องเปลี่ยนตัวซามูไรคนนี้ แต่ติดตรงที่ว่า ซามูไรคนนี้เผอิญก็มี “ข้อมูลใหม่” อยู่ข้างหลังตลอดเวลา

และก็บังเอิญอีกเหมือนกันที่ พ.อ.พล กับ “อำนาจแฝง” ที่เป็นคณะทำงานก็เป็นนักเรียนรุ่นเดียวกันซึ่งก็พึ่งพาอาศัยกันในด้านการเมืองมาตลอด

สุดท้ายของความบังเอิญก็อยู่ตรงที่ธนาคารกรุงเทพเพิ่งจะยื่นฟ้อง พ.อ.พล เรียกหนี้ซึ่งมีทรัพย์สินค้ำประกันคืนสิบกว่าล้านบาทพอดี ที่ฟ้องนั้นเพราะคดีจะหมดอายุความ

“เสธ.พล เขาลมเสียเพราะเขาเห็นว่าเงินแค่นี้ทรัพย์สินของเขาก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายทำไมต้องมาทำกัน ในสมัยหนึ่งตอน เสธ.พล เป็น ทส.ของแม่ทัพกฤษณ์ คนสูงๆ ในธนาคารกรุงเทพเอาใจเขาอย่างดิบดี ตอนหลังที่เขาเป็นรัฐมนตรีก็มีแต่มาล้อมหน้าล้อมหลังเชิญพบตลอดเวลา เสธ.เขาบอกผมว่าเขาจะดูใจคนพวกนี้ซิว่าเป็นคนอย่างไร” เพื่อนสนิท เสธ.พล คนหนึ่งพูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

นอกเหนือจากสมหมาย ฮุนตระกูล ที่ “อำนาจแฝง” กำลังเห็นว่าไม่เหมาะสมแล้วเมื่อพูดถึงทฤษฎีการต่อสู้คอมมิวนิสต์ของคำสั่งที่ 66/23 นั้นก็ได้ระบุลงไปอย่างแน่ชัดว่า เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขที่จะแก้ปัญหาการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมเพื่อให้สภาวะสงครามหมดสิ้นไปและได้รับชัยชนะเด็ดขาด และเป็นที่รู้กันดีในหมู่ “อำนาจแฝง” ว่าต้องแก้กันที่ระบบการธนาคาร ทหารในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะทหารที่กำลังรุ่งโรจน์พุ่งขึ้นมาเป็นดาวจรัสแสงในกองทัพต่างๆ นั้น ตั้งแต่ระดับพันโทขึ้นมาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีการศึกษาสูง และมีไม่น้อยที่จบการศึกษาอีกปริญญาด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ นอกเหนือจากหลักสูตรของโรงเรียนนายร้อยที่ต้องเรียนอยู่แล้ว

“ทหารพวกนี้พูดไปจริงๆ แล้วเป็นแกนใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และทหารพวกนี้ก็เป็นคนที่มองอะไรลึกลงไป ไม่ใช่ประเภทที่คุณจะเอาตัวเลขมาตบตาเขาได้ง่ายๆ เหมือนก่อน ผมไม่รู้ว่ากรมอื่นจะเป็นอย่างไร แต่ในกรมผมระดับเพื่อนๆ ผมมีความคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม ไม่ให้พ่อค้ากักตุนสินค้า หรือไม่ให้มีการผูกขาดในด้านใดด้านหนึ่งก็ต้องแก้กันที่ธนาคารก่อน” พันโทวัยสี่สิบระดับคุมกำลังคนหนึ่งที่กรมอยู่แถวเกียกกายพูดให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

มันเป็นความคิดที่ดี แต่อาจจะมองวิธีแก้ที่ผิดก็ได้!

แต่นั่นกลับไม่ใช่เรื่องสำคัญมิใช่หรือ

ที่สำคัญคือการมองของทหารรุ่นใหม่ที่มีต่อตระกูลต่างๆ ที่เป็นเจ้าของธนาคารต่างหาก ในลักษณะเหยี่ยวที่มองกระต่ายอยู่!

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วในยุค 14 ตุลาคมและหลัง 14 ตุลาใหม่ๆ ใครก็ตามที่โจมตีธนาคารว่าเป็นกลุ่มผูกขาด ต้องโอนเป็นของรัฐจะถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทันที มาวันนี้เวลานี้กลับเป็นทหารเสียเองที่มองว่าถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทของธนาคารเสียใหม่ เงื่อนไขของสงครามกับคอมมิวนิสต์ก็จะยังคงอยู่ตลอดเวลา

คนบางคนอาจจะใช้เวลาในการเรียนรู้สัจธรรมในระยะเวลาชั่วครู่ชั่วยามแต่ทหารใช้เวลา 10 กว่าปีถึงจะเรียนรู้สัจธรรมข้อนี้ได้

จึงไม่ต้องประหลาดใจหรือมานั่งงุนงงกันถ้าจะบอกว่า “อำนาจแฝง” นั้นได้จับตาดูสำนักบัวหลวงอย่างใกล้ชิดและด้วยความใจจดใจจ่อมาตลอด

“อย่างตอนที่ธนาคารกรุงเทพกระจายหุ้นไม่ได้ตามกฎหมายนั้น พวกผมก็มองว่าผู้บริหารไม่จริงใจ จริงอยู่คุณบอกมาว่ามีบริษัทนิติบุคคลหรือหุ้นอยู่มากแล้ว ไม่ยอมกระจาย แต่พวกผมก็รู้ว่านิติบุคคลเหล่านั้นมันก็บริษัทในเครือของผู้บริหารธนาคารทั้งนั้นแหละ มาตบตาพวกผมไม่ได้หรอก” พันโทคนเดิมพูดต่อ

“ธนาคารอย่างธนาคารกรุงเทพมันใหญ่เกินไปที่จะให้ใครก็ได้เข้ามาบริหาร มันเป็นตัวชี้นำทางเศรษฐกิจได้ มันกระตุ้นเศรษฐกิจได้ มันดึงเศรษฐกิจให้วุ่นวายได้ มันเป็นเฟืองที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ สรุปแล้วมันใหญ่มาก ใหญ่จนน่ากลัว ใครไปทำอะไรกับมันในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์กับคนของประเทศ แต่ทำเพื่อตัวเองและกลุ่มพรรคพวกตัวเอง มันต้องใช้กับคนมืออาชีพที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเข้ามาบริหาร” ผู้พันคนเดิมฝากให้เราคิดก่อนที่เราจะจากกันในช่วงแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มลับหายไปในส่วนโค้งของดาวพระเคราะห์ที่เราเรียกมันว่าโลก

มิถุนายนในที่สุดก็ย่างเข้ามาตามกาลเวลา

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ กำลังประสาทเสียกับความคิดที่ว่าปีนี้จะต้องซื้อเรือไว้เดินทางในหน้าน้ำหรือไม่

บนชั้น 26 นั้น ผู้บริหารส่วนใหญ่กำลังเริ่มประสาทกับกระแสของข่าวลือที่เริ่มเข้มข้นขึ้นตลอด

ในที่สุดผู้บริหารธนาคารกรุงเทพก็รู้แล้วว่าข่าวลือนั้นบางครั้งจะใช้ตำราพลเอกเปรม ด้วยวิธีใบ้ตลอดเป็นการแก้ก็คงจะไม่ได้อีกแล้ว

และแล้วเภทภัยก็เริ่มกรายเข้ามาในเดือนมิถุนายน

วันพฤหัสที่ 7 มิถุนายน ชัยรัตน์ คำนวณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส เชิญรัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ แห่งนิตยสารดอกเบี้ยและหนังสือพิมพ์มติชน สันติ วิริยะรังสฤษดิ์ แห่งไทยรัฐ และบรรยงค์ สุวรรณผ่อง แห่งนิตยสารการเงินการธนาคาร มาพบชาตรี โสภณพนิช เพื่อชี้แจงเรื่องข่าวลือที่ว่าธนาคารกรุงเทพคลอนแคลน

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน ที่บ้าน ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ

วันนั้น ดร.อำนวย เลี้ยงส่งบรรดานิสิตนักศึกษา แล้วก็ยังมีสันติ วิริยะรังสฤษดิ์ คอลัมนิสต์ที่ใช้ชื่อว่าไต้ฝุ่นในไทยรัฐ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง บรรณาธิการบริหารนิตยสารการเงินการธนาคาร และตัวแทนนิตยสาร “ผู้จัดการ”

หัวข้อในการซักถามวันนั้นก็คือ ข่าวลือที่ว่าธนาคารกรุงเทพขาดทุนที่ฮ่องกงเป็นหมื่นล้านหลุดออกมาจากปากสันติ วิริยะรังสฤษดิ์ ทั้งชาตรีและอำนวยก็ชี้แจงให้ฟังถึงสถานภาพที่แท้จริงของสาขาฮ่องกง

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน ธรรมดาแล้วหน้า 3 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีคอลัมน์สวัสดีเวลาเช้าของมังกร ห้าเล็บ แทบจะทุกวัน

ว่ากันว่า ความนิยมชมชอบคอลัมน์นี้ค่อนข้างจะสูงเอามากๆ ทีเดียว ทั้งนี้เพราะความเฉียบแหลมในข้อคิดและความคมกริบในข้อเขียน

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน วันนี้มังกรห้าเล็บสวัสดีตอนเช้าด้วยเรื่อง “โกไลแอธกลุ้ม” (อ่านข้อความละเอียดในล้อมกรอบ)

มังกรห้าเล็บสวัสดีตอนเช้าวันนี้เล่นเอาธนาคารกรุงเทพแตกตื่นกันพอสมควร

“ทุกคนที่อ่านก็รู้ว่าโกไลแอธที่มังกรห้าเล็บพูดถึงว่ามีสิทธิล้มดังๆ ได้นั้นหมายถึงธนาคารกรุงเทพ พวกเรางงกันหมดว่าเกิดอะไรขึ้น มีลูกค้าโทรมาถามด้วยว่าเขาหมายถึงธนาคารกรุงเทพใช่ไหม” พนักงานธนาคารกรุงเทพที่สาขาหนึ่งเล่าให้ฟัง

ไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในประเทศไทย ว่ากันว่าอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้สูงมากเพราะมีผู้อ่านมาก บางครั้งข้าราชการได้ดิบได้ดีก็เพราะหนังสือเล่มนี้ ที่โชคร้ายต้องตกกระป๋องไปก็มีไม่น้อย

ความสัมพันธ์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับธนาคารกรุงเทพก็มีมานานแล้ว แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของหนังสือคือกำพล วัชรพล ในสถานภาพของการเคยกู้เงินมาทำหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง

ตั้งแต่เจ้าของไทยรัฐลงมาจนถึงนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ก็รู้จักกับบรรดาผู้บริหารของธนาคารกันดีพอสมควร

เรียกว่าสนิทสนมกันถึงกำพล วัชรพล เรียก วิระ รมยะรูป ว่า “พี่ใหญ่” และเรียกชัยรัตน์ คำนวณ ว่า “น้องเล็ก”

ฉะนั้นการที่โดนมังกรห้าเล็บสวัสดีตอนเช้าในวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2527 แบบนี้ทำเอาบรรดาพี่ใหญ่และน้องเล็กถึงกับมึนไปเหมือนกัน

ทุกคนวิ่งกันวุ่นไปหมด คำถามที่ถามเหมือนกันว่า “โกวิท สีตลายัน (มังกร ห้าเล็บ) มีอะไรกับธนาคารกรุงเทพหรือ?”

นิตยสารแหล่งข่าวฉบับวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2527 พูดเป็นนัยในหน้า 5 คอลัมน์ “เพียงความเคลื่อนไหว” ว่า “ว่ากันว่าปฐมเหตุมันมาจากเช็คใบเดียวที่แบงก์ไม่ผ่านให้”

แต่มังกรห้าเล็บหรือโกวิท สีตลายัน ก็เป็นคนในวงการหนังสือพิมพ์แต่ก็ต้องเคยได้ยินข่าวลือของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งนับวันก็มีแต่หนาหูขึ้นทุกวันเหมือนกัน ฉะนั้นการจับประเด็นมาเขียนก็เป็นของธรรมดา

ชาตรี โสภณพนิช พูดว่า “เรื่องคุณโกวิทก็มีเจ้าหน้าที่คุยกันเราก็ชี้ว่าตัวเลขต่างๆ ที่เขาได้มามันผิด เขาน่าจะรับฟัง ผมก็ต่อว่าเขาไปว่าถ้าคุณโทรมาถามสักคำคุณก็จะไม่ลงไปอย่างนี้ คือไปเอาตัวเลขที่ปล่อยสินเชื่อของต่างประเทศทั้งหมดมาลงว่าเป็นของฮ่องกงแล้วคาดหมายว่าจะเสียหาย”

วันนั้นเป็นวันแรกที่เริ่มมีคนถอนเงินกันแล้ว

วันพฤหัสที่ 14 มิถุนายน 2527 สองวันหลังจากที่โดนสวัสดีตอนเช้าไปแล้ว ชาตรี โสภณพนิช ก็ตัดสินใจร่อนจดหมายเหตุให้กับบรรดาพนักงานธนาคารทั้งหลาย เนื้อหาของจดหมายเหตุก็เป็นการชี้แจงยุทธวิธีเดิมที่รู้กันไม่กี่คนบนชั้น 26

ในที่สุดพนักงานระดับล่างถึงจะ “อ้อ! มันเป็นอย่างนี้” กันเป็นแถว จดหมายเหตุฉบับนั้นชาตรียังได้พูดถึงความ “เก่งและเฮง” ที่คาดหมายว่าค่าเงินบาทจะไม่ลด เลยเอาดอลลาร์ซึ่งดอกเบี้ยถูกเข้ามาทำให้มีกำไรมาก

ชาตรีอ้างในจดหมายเหตุว่า “นั่นก็เป็นกลยุทธ์ในการทำงานของแต่ละคนแต่ละแห่ง ซึ่งไม่เหมือนกัน และการดำเนินกลยุทธ์นี้ในตอนแรกก็รู้กันไม่กี่คนเพราะเป็นเรื่องที่เราควรจะสงวนไว้ก่อน”

ซึ่งความจริงกลยุทธ์ของการชะลอการโตและหันเข้าหาคุณภาพมันก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องลับ เพราะทุกแบงก์ก็รู้ว่าการหันเข้าหาคุณภาพมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการทำอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องการเอาเงินนอกเข้ามานั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือเมฆอะไรมากมายนัก “เราก็คิดจะเอาเงินนอกเข้ามาเพราะถูกกว่า แต่คิดแล้วเราทุ่มหาเงินฝากในประเทศดีกว่าเพราะมีเสถียรภาพทำให้วางแผนระยะยาวได้ดีกว่า” ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์พูด ส่วนณรงค์ ศรีสอ้าน แห่งธนาคารกสิกรไทยก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาเงินเข้ามาด้วยเหตุผลเดียวกัน

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2527 เพียงวันเดียวที่จดหมายเหตุของชาตรี โสภณพนิช หรือที่คนแบงก์เขาเรียกกันว่า “บอส” ร่อนเวียนในธนาคารกรุงเทพ

“มังกรห้าเล็บ” ก็ออกมาสวัสดีเวลาเช้าของวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2527 กับธนาคารกรุงเทพอีกครั้งหนึ่ง

พร้อมกับการสวัสดีเวลาเช้าในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทั่วราชอาณาจักร ห่างไปจากสำนักงานใหญ่สีลมสัก 3-4 กิโลเมตร แถวๆ สำเพ็งมีคนอยู่ 3-4 คนแต่งชุดกางเกงทรงขาลีบ ใส่เสื้อแขนยาวสีขาวพับแขน รองเท้าผ้าใบ สไตล์เด็กอาชีวะยืนแจกใบปลิวที่บอกว่าธนาคารกรุงเทพกำลังคลอนแคลน

หลังจากนั้นใบปลิวก็ไปโผล่แถวๆ พาหุรัด เยาวราช ราชวงศ์

“มันเหมือนกับวางแผนไว้เพราะข่าวลือที่เริ่มกระพือขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน เริ่มเข้มข้นขึ้นทุกนาที สวัสดีเวลาเช้าของมังกร ห้าเล็บ วันที่ 11 ก็ทำให้กระแสข่าวลือพัดแรงมากขึ้น พอถึงวันที่ 15 ใบปลิวที่ออกนั้นก็คือจะวางหมากกันไว้แล้วว่ามันเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะแก้ไขอะไรก็คงจะไม่ทัน ทิ้งช่วงเสาร์อาทิตย์ให้คนลือกันให้เต็มที่แล้วรอดีเดย์วันจันทร์ที่ 18” นักวิเคราะห์สถานการณ์คนหนึ่งให้เหตุผล

ยุทธศาสตร์ของการวางแผนก็ทำท่าจะไปได้ตามหมากที่วางเอาไว้ เพราะวันเสาร์ที่ 16 และวันอาทิตย์ที่ 17 เป็นวันที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะพวกคอลัมนิสต์เริ่มจับข่าวได้และก็เริ่มวิจารณ์กัน

“เศรษฐกิจดีคงไม่มีข่าวแบงก์จะทรุด แต่พอข่าวซ่านออกไปคุยกันว่าแบงก์กรุงเทพเท่านั้น ดร.อำนวย วีรวรรณ เลยแจงจนหมดเปลือกว่าไม่มีทางทรุด แล้วหลังจากนั้นกำลังมีปัญหาถกเถียงกันว่าแบงก์ไหนล่ะกำลังจะเจ๊ง ขอแรงมดคันไฟให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติมือแน่ๆ อย่างนุกูล ประจวบเหมาะ เลาะรั้วหาข่าวให้ฟังหน่อยเถอะครับ...” นสพ.บ้านเมือง เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2527

“ วุ้ย...พูดแล้วขนลุก เทพินทร์แว่วมาว่าแบงก์หย่ายที่ไหนไม่รู้หาเงินปิดบัญชีกลางปีไม่ได้ ยังขาดอยู่เกือบ 2 หมื่นล้าน เลยต้องจ้ำจี้จ้ำไชพนักงานทุกแผนก ตั้งแต่ภารโรงยันผู้จัดการ ให้หาเงินมาเปิดบัญชีอย่างน้อยหัวละ 1 แสนบาท...” นสพ.ข่าวสด อาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน 2527

“ สัญชาติธนาคาร เอาเงินชาวบ้านมาทิ้งเปล่า - ปลวกเกาะต้องปล่อยกู้เรียกว่าให้สินเชื่อ เมื่อเงินไม่มีก็ต้องงดปล่อยกู้เรียกง่ายๆ ว่างดสินเชื่อ...ถึงอย่างไรมันก็เป็นไปไม่ได้ รัฐบาลจะไม่มีวันปล่อยให้ธนาคารล้มตึง สบายใจได้ลูกค้าทั้งหลาย!”

“อ้าว! พูดอะไรออกมา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ บอกรัฐบาลทีสิว่าจะมีธนาคารล้มน่ะ จริงแค่ไหน...” อย่าพูดเป็นเล่นไปนา มันฟังไม่เข้าที... “เศรษฐกิจการเมืองไทยตูมตามมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่คนขายก๋วยเตี๋ยวมีเมียมากแล้วเจ๊ง...จนกระทั่งถึงตอนนี้นายแบงก์มีเมียมากกำลังจะเจ๊ง” เดลินิวส์ 17 มิถุนายน 2527

เหมือนจะไม่สาแก่ใจ วันหยุดสุดสัปดาห์นั้นนอกจากหนังสือพิมพ์ภาษาไทยจะช่วยกันตอดแล้ว หนังสือพิมพ์ภาษาจีนก็รุมกันอัดโดยใช้ข้อมูลที่ผิดๆ “พวกนี้มีอิทธิพลกับย่านคนจีนมาก แล้วคนจีนเป็นคนขี้ตกใจ จากที่เคยประสาทกับการที่ทรัสต์แถวนั้นล้มแล้วถอนเงินกันแทบไม่ทัน ก็ทำให้บรรดาเจ้าสัวเถ้าแก่ทั้งหลายคอยระมัดระวัง พอเจอแบบนี้เข้าก็เตรียมพร้อมรอวันจันทร์กันเหมือนกัน”

ความจริงแล้วมีนักหนังสือพิมพ์จีนที่กินเงินเดือนประจำของธนาคารกรุงเทพสิบกว่าคน แต่ที่อัดแบงก์กรุงเทพก็คงจะเป็นพวกที่ไม่ได้รับเงินเดือนก็เลยถือโอกาสชำระความแค้นเสียเลย

“ที่บ้านผมพูดกันมากพอสมควร เตี่ยผมได้ข่าวมาจากหนังสือพิมพ์จีน เพราะค้าขายและใช้บริการธนาคารกรุงเทพ เรามีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงเทพไม่กี่ล้านหรอก แต่นั่นมันก็เป็นเงินสะสมที่เราทำกำไรมาเกือบ 5 ปี เราเลยคิดกันมาก เราจะติดต่อกับใครที่รู้เรื่องก็ไม่รู้จะไปหาใคร เพราะมันเป็นวันหยุด...”

จันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2527 วันนั้นอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนแต่เช้าเพราะรายงานอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า จะมีฝนตกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ในช่วงบ่ายถึงค่ำ ชั้น 26 ของธนาคารกรุงเทพก็พลอยครึ้มไปด้วย

ไม่มีใครรู้ว่าชาตรีคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆ ชาตรีรู้ว่ามีเงินสดๆ ที่เขาได้เรียกจากต่างประเทศเข้ามาเตรียมพร้อมไว้ 200 ล้านดอลลาร์ เขาก็รู้ว่าถ้าเขาระดมเงินในกรุงเทพตามสาขาต่างๆ ก็น่าจะได้พันกว่าล้าน รวมทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เตรียมไว้อีก 4 พันกว่าล้าน ทั้งหมดร่วมหมื่นล้านน่าจะพอ

แต่จะพอจริงหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นสงครามจิตวิทยาที่เอาความเชื่อมั่นมาเป็นเดิมพัน ถ้าวันนี้อุดไม่อยู่ พรุ่งนี้ก็ต้องอยู่ ถ้าพรุ่งนี้ไม่อยู่ล่ะ

ชาตรีคงไม่อยากจะคิดถึงสภาพนั้นแน่ๆ

ข่าวเรื่องการรุมถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ เริ่มกระจายไปทั่วย่านพ่อค้าคนจีน โทรศัพท์เข้ามายังธนาคารกรุงเทพวันนั้นมีมากจนผิดปกติ

ผู้บริหารระดับสูงทำงานไปคอยสดับฟังรายงานที่เข้ามาตลอด แต่ทุกคนปิดปากเงียบ

พนักงานระดับต่ำของธนาคารกรุงเทพที่ไม่รู้เรื่องพากันหน้าตาเลิ่กลั่กถามไถ่กันให้วุ่นไปหมด

“เขาว่าแบงก์จะล่มเหรอ” แม่ค้าขายขนมถามอย่างไม่ยี่หระกับคนซื้อในซอยข้างๆ ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่

“ธนาคารกรุงเทพไม่มีวันล่มหรอก ถ้าล้มประเทศไทยก็ไปด้วยสิ” ธรรมนูญ เลาหกัยกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตอบคำถามยามรักษาการณ์ ก่อนจะรีบก้าวตรงไปยังลิฟต์ขึ้นไปทำงาน

วันนั้นในบริเวณสยามสแควร์ ราชดำริ ก็มีคนมายืนแจกใบปลิวหน้าตาเฉย

บางคนที่ทำงานธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ก็ยืนยันว่ามีคนมาแจกใบปลิวหน้าสำนักงานใหญ่เหมือนกัน

ธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทยที่อยู่ย่านคนจีนพลอยได้รับผลประโยชน์จากการย้ายเงินครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแถวตลาดน้อย สำเพ็ง พาหุรัด หรือราชวงศ์

“วันที่ 18 เป็นวันที่ panic เริ่มจะขึ้น peak แล้วในการแก้เกมก็จะต้องฉับไวมาก”

“เราได้เตรียมแผนงานไว้เป็นอาทิตย์แล้วว่าถ้าเกิดกรณีเช่นนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง” อำนวย วีรวรรณ พูดกับ “ผู้จัดการ”

วันที่ 18 มิถุนายน นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ วิ่งเข้าหาธนาคารกรุงเทพกันยกใหญ่

ทั้งอำนวย วีรวรรณ, ชาตรี โสภณพนิช, วิระ รมยะรูป ต้องให้สัมภาษณ์กันแบบไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อหน่ายต่อคำถามที่ถามกันซ้ำซาก

ข่าวลือชิ้นล่าสุดที่ตกลงมาที่เลขที่ 333 ถนนสีลม คือข่าวที่ว่าชาตรี โสภณพนิช ขนเงินและหนีออกนอกประเทศไปแล้ว

ธนาคารกรุงเทพแก้เกมทันที สงครามนี้เป็นสงครามที่ต้องตอบโต้อย่างฉับไว ทุกเสี้ยววินาทีมีค่ามาก!

เสียงของชาตรีก็ถูกอัดและออกอากาศทันทีในวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าชาตรียังอยู่ ไม่ได้ไปไหน

วันนั้นรถขนเงินของธนาคารกรุงเทพต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ

การถอนเงินก็ลามไปถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย และเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ ซึ่งชาตรี โสภณพนิช ถือหุ้นอยู่ในฐานะส่วนตัว

สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควรจะพูดให้ประชาชนสบายใจได้อยู่แล้ว แต่สมหมายมัวแต่งุ่มง่ามเช็กข้อมูลอยู่!

อำนวย ยศสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถูกติดต่อทันทีเพื่อกันไม่ให้ไฟลามต่อไปแล้วค่อยหาหนทางดับไฟ

“ถึงคุณอำนวยแกไม่ได้รับผิดชอบในด้านการเงินการคลัง แต่หมากนี้ธนาคารกรุงเทพเดินถูก เพราะคุณอำนวยเป็นรัฐมนตรีช่วยคลังคำพูดก็ต้องมีน้ำหนักพอสมควร”

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2527 เช้าวันนั้นมังกรห้าเล็บ ไม่ได้มาสวัสดีเวลาเช้าอีก ฝนตกพรำๆ ทั่วไป วันนั้นที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา กำลังเครียดกับการประชุมเพื่อจะหาหนทางตอบโต้ลาวที่โจมตีไทยว่ารุกรานยึดดินแดนของลาว

เช้าวันนั้นท่ามกลางอากาศที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ธนาคารกรุงเทพค่อยเห็นแสงแดดลอดออกมาบ้างเมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อำนวย ยศสุข ให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

“ผมเชื่อว่าฐานะของธนาคารมั่นคง ประชาชนจะไปถอนเมื่อไรก็ถอนได้ แบงก์เองก็แถลงแล้วว่ามีกำไรถึง 1,070 ล้านบาท หลังจากหักภาษีแล้ว ผู้ที่ทำเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วนขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิด กระทรวงการคลังก็ติดตามเรื่องนี้ แบงก์ชาติก็เข้าไปสอดส่องตลอดเวลา ทางธนาคารก็มีสมาคมธนาคารควบคุมอยู่”

แต่แค่อำนวย ยศสุข ก็คงจะไม่พอ มันต้องมีอะไรที่หยุดทุกอย่างลงไปเพราะลำพังคนมาถอนเงินก็พอจะยันได้ แต่ถ้าคนปล่อยข่าวลือเกิดทำงานเป็นขบวนการและปล่อยต่อล่ะ

ถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่ทำเนียบทันที

และทุกคนก็ได้แต่เพียงภาวนาว่าขออย่าให้นายกฯ เปรมกลัวดอกพิกุลจะร่วงจากปากก็แล้วกัน!

บ่ายโมงกว่าทำเนียบโทรมาบอกว่าให้พบนายกฯ ได้ ชาตรี โสภณพนิช, อำนวย วีรวรรณ ไปรถคันหนึ่ง ชัยรัตน์ คำนวณ ไปอีกคันหนึ่ง

พลเอกเปรมก็คงจะรู้ว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ถ้าจะสงวนปากสงวนคำไว้ก็คงจะไม่สวยแน่ๆ ถึงตัวเองจะไม่รู้เรื่องการเงินการธนาคารเท่าไร

แต่พลเอกเปรมก็พอใจที่ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพเอาตัวเลขให้ดูแล้วยืนยันว่าสภาพยังดีอยู่แต่โดนข่าวลือ

ทั้งสามกลับจากทำเนียบตอนบ่ายสองโมงกว่าๆ ถึงในรถจะคับแคบกันไปหน่อย เพราะทั้งอำนวย วีรวรรณ และชาตรี โสภณพนิช นั่งรถชัยรัตน์ คำนวณ กลับ เพราะรถชาตรีเกิดไปเสียที่ทำเนียบ แต่ทุกคนค่อยหายใจโล่งอกเป็นครั้งแรกในหลายๆ วันที่ผ่านมานี้

บ่ายสี่โมงวันนั้นที่ทำการพรรคกิจสังคมที่ถนนพิชัย บรรยากาศอึดอัดมาก ได้มีการประชุมพรรค โดยมีการโจมตีพงส์ สารสิน เลขาธิการพรรคว่าเป็นเผด็จการ

แต่บ่ายสี่โมงวันนั้นบนชั้น 26 ของเลขที่ 333 ถนนสีลม ค่อยมีรอยยิ้มเริ่มออกมากันอย่างประปราย

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2527 ฝนหยุดตกแล้ว และไม่มีใครมาสวัสดีเวลาเช้าอีกเช่นเคย

เสียงนุ่มๆ ของคนผมสีดอกเลาวัย 60 กว่าที่ชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ถูกออกอากาศไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งปรากฏเป็นรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่าธนาคารกรุงเทพยังมั่นคงมากไม่มีอะไรน่าวิตก

พร้อมกับที่นายกฯ ได้ออกข่าวมา บรรดาคนที่ควรออกข่าวแต่แรกแต่ไม่ออก มาวันนี้กลับแข่งขันกันออกข่าวอย่างจะกลัวว่าตัวเองจะไม่ทันสมัย

สมหมาย ฮุนตระกูล ก็ออกข่าวบ้างว่า “...มีความพอใจ และคิดว่าจะไม่มีปัญหาติดขัด เกิดขึ้นที่จะกระทบกระเทือนต่อธนาคารกรุงเทพ การขาดทุนที่ฮ่องกงเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ปัญหาต่างๆ ของธนาคารกรุงเทพไม่มีทางลุกลามต่อไป”

พอรัฐมนตรีคลังออกข่าวก็ถึงตาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องรอให้รัฐมนตรีพูดว่าทุกอย่างมั่นคงก่อน ค่อยออกมาพูดบ้างว่า มันก็มั่นคงน่ะ!

คงกลัวว่าจะไปออฟไซด์กัน!!

สามวันวิกฤต (18-19-20 มิถุนายน) ก็ได้ผ่านการทดสอบไปแล้ว ว่ากันว่าเงินที่ถูกถอนไปนั้นมีตัวเลขแตกต่างกันไปสุดแล้วแต่ใครจะได้จากแหล่งไหนมา บางรายว่าพันกว่าล้าน บ้างก็ว่าหลายพันล้าน จะเท่าไรก็ตาม ผลกระทบมันพอจะทำให้ธนาคารกรุงเทพยอมรับว่าเป้ากลางปีนี้ผิดไปมากพอสมควร ถ้าจะมีผลดีที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้ก็น่าจะเป็นความสามัคคีที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานระดับล่างกับผู้บริหาร อาจจะเป็นเพราะทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันปกป้องหม้อข้าวเดียวกันก็ได้ แม้แต่สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพก็ได้ออกแถลงการณ์กับพนักงานให้ช่วยกันต่อต้านข่าวลือ

ปัญหาอยู่ที่ว่าความสามัคคีครั้งนี้จะมีการประสานต่อเพื่อให้ดีขึ้นหรือเป็นเพียงแค่ความสามัคคีแค่ชั่วครู่ชั่วยามเพียงเพราะสถานการณ์บีบบังคับเท่านั้น

ธันวาคมนี้ธนาคารกรุงเทพก็จะครบ 40 ปีแล้ว

40 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพเจริญเติบโตจากธนาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งด้วยแรงมุมานะ สติ ปัญญา การมองการณ์ไกล และความอ่อนน้อมเมตตาปรานีของชิน โสภณพนิช และบุญชู โรจนเสถียร และชาตรีกำลังสานต่อโดยพยายามทำให้เป็นระบบมากขึ้น

รากฐานของธนาคารกรุงเทพทุกวันนี้หยั่งลงไปลึกมากกว่าที่ใครจะมาโค่นล้มได้ง่ายๆ เพราะ 32% ที่ธนาคารกรุงเทพมีส่วนแบ่งในตลาดหมายถึง 1 ใน 3 ของสังคมธุรกิจในประเทศที่ต้องพึ่งธนาคารกรุงเทพ

ฉะนั้นการล้มธนาคารกรุงเทพนั้นคงจะไม่ใช่เป้าหมายที่ใครๆ หรือแม้แต่คนจิตทรามต้องการจะทำกัน แต่ถ้าการสะเทือนธนาคารกรุงเทพเพื่อจะสะเทือนสถานภาพของผู้บริหารบางคนก็คงจะเป็นไปได้ บทเรียนบางครั้งนี้คงจะสอนผู้บริหารธนาคารกรุงเทพได้หลายอย่างถ้ามีการทบทวนการกระทำเก่าๆ ไป แต่ที่แน่ๆ คือสัจธรรมของการเปลี่ยนแปลงทุกที่ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างกรณีของธนาคารกรุงเทพ การเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพย่อมหมายถึงการรักษาโรคตัวเอง ผ่าตัดเนื้อร้ายออก และในการกระทำเช่นนี้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ถ้าจะต้องไปกระทบกระทั่งรากฐานเก่า หรือจะต้องมีผู้สูญเสียผลประโยชน์ ก็ย่อมเป็นการสร้างศัตรูขึ้นมา ประกอบกับการที่ตัวเองบางครั้งไม่ได้หยุดมองตัวเองบ้างว่าได้เคยทำตัวเองให้คนอื่นเข้าใจบ้างหรือเปล่า ก็เลยทำให้ทุกอย่างเหมือนกับว่าถูกรุมจากทุกด้าน

ทุกวันนี้วิกฤตการณ์ได้ผ่านไปแล้ว ทุกคนคงจะสบายใจขึ้น แต่ถ้าทุกคนไม่มองตัวเองและทบทวนตัวเอง พร้อมทั้งหาทางแก้ไขข้อบกพร่องในวิธีการทำงานแล้ว เราเชื่อว่าครั้งนี้คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.