|
อนาคต “ช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง” Inter China School
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
“ถ้าดูแนวโน้มเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนแล้ว เดิมอยู่ที่ตะวันตกแต่จากนี้ไปจะอยู่ที่ตะวันออกอย่างจีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งไทยจะก้าวทันหรือไม่อยู่ที่การสอนให้คนรู้ภาษาจีน มาถึงวันนี้การพลิกฟื้นเรื่องจีนศึกษาอาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง แต่ไทยก็ต้องรีบทำ”
เป็นแนวคิดที่ดิษฐ์ ลินพิศาล ประธานมูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ โรงเรียนสอนภาษาจีนชื่อดังของเชียงใหม่ บอกกับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อปี 2552
(อ่านเรื่อง “ภาษาจีน อาวุธลับที่ซึมลึก” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www.goto manager.com ประกอบ)
ซึ่งนั่นทำให้เขาวางแผนที่จะผลักดันให้ช่องฟ้าซินเซิงฯ เป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่รู้ภาษาจีนป้อนเข้าสู่ตลาด แม้ว่าเขาจะมองเห็นปัญหากระบวนการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ที่ดำรงอยู่ก็ตาม
ดิษฐ์บอกว่า ที่ผ่านมานักเรียนจากช่องฟ้าซินเซิงฯ ถือว่าได้มาตรฐานระดับหนึ่ง ดูได้จากสัดส่วนการสอบเข้าโควตามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นอันดับต้นๆ รวมไปถึงการส่งนักเรียนเข้าสอบวัดระดับ HSK ซึ่งก็ได้ผลในระดับที่น่าพอใจพอสมควร แม้จะยังไม่ถึงกับดีมากก็ตาม
แต่เพื่อให้การเรียนการสอนภาษาจีนได้แน่นยิ่งขึ้น เขากำลังพยายามหาช่องทางประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือทางการจีน ที่ก่อนหน้านี้ก็ให้การช่วยเหลือทางโรงเรียน ทั้งด้านตำราเรียน สื่อการเรียนการสอน ตลอดจนส่งครูชาวจีนเข้ามาสอนอยู่แล้ว
ภายใต้เป้าหมายผลักดันให้ช่องฟ้าซินเซิงฯ พัฒนาเป็น Inter China School โดยใช้ภาษาจีน 100% ในการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไปจนจบการศึกษา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมงาน ยังไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะดำเนินการได้ในปีการศึกษาหน้า (2554) นี้หรือไม่
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างเส้นทางต่อยอดให้กับเด็กที่เรียนภาษาจีนมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยมปลาย ในอนาคตอาจจะพัฒนาให้ช่องฟ้าซินเซิงฯเป็น Training School หรือเป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรครูภาษาจีน ที่ถือเป็นปัญหาหนึ่งของวงการศึกษาภาษาจีนในระยะที่ผ่านมาด้วย เพียงแต่โครงการนี้อาจจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ทั้งก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงสื่อการสอนต่างๆ
หรืออีกแนวทางหนึ่งก็อาจจะเสนอให้มีการลงทุนตั้งวิทยาลัยขึ้นมา เพื่อเปิดหลักสูตรด้านการเรียนภาษาจีนเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว หรือเพื่อการพาณิชย์ ฯลฯ ต่อยอดให้กับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนสอนภาษาจีน แต่ไม่มีช่องทางที่จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษาตามสายที่เรียนมาได้
ซึ่งทางมูลนิธิฯ ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ กำลังมองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มจากทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ที่มีอยู่คือ ที่ดินบนถนนช้างคลาน ซึ่งปัจจุบันได้ให้เช่าสร้างเป็นเชียงใหม่ ไนท์บาซาร์ ที่ระยะที่ผ่านมาก็เป็นแหล่งรายได้หลักจากค่าเช่าให้กับมูลนิธิอยู่แล้ว
สัญญาเช่าที่ดินแปลงนี้จะหมดสัญญาในราวเดือนมีนาคม 2557 ที่จะถึงนี้
โดยมูลนิธิฯ มีแผนงานที่จะเปิดประมูลใหม่ ขณะนี้ได้ให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแบบวางผังสิ่งปลูกสร้างใหม่ เพื่อเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาพัฒนาอยู่ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะทำให้มูลนิธิฯ มีรายได้เข้ามาสนับสนุนแนวทางการพัฒนาโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงฯ ได้มากขึ้นด้วย
นี่เป็นความหวังหนึ่งของโรงเรียนสอนภาษาจีน และอาจเป็นความหวังของประเทศไทยด้วย ก่อนที่จะหลุดขบวน หรือปล่อยให้จีนใช้ไทยเป็นเพียงทางผ่านให้กับมณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ได้ออกสู่ตลาดโลกเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|