|
![](/img/mgrm/logo_print02.gif)
3 พันธกิจที่คนไทยต้องทำให้เป็นไปได้
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
จากการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและการจัดการชายฝั่งจากเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 คน เดินทางมารวบรวมปัญหาในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการระยะยาวในการจัดการและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยมีศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเบื้องต้น 3 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง-ไทยมีความตระหนักเรื่องปัญหาน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำทะเลอย่างมาก โดยดูได้จากการมีหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่คณะผู้เชี่ยวชาญสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการที่มี ขาดเอกภาพและไม่สามารถบริหารจัดการที่ดินและน้ำในพื้นที่ชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ คณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงเสนอแนะให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่วิกฤติแบบบูรณาการ โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องสามารถรายงานตรงกับคณะรัฐมนตรีได้
สอง-การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและน่าจะมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว ดังนั้นกรอบเวลาของการวางแนวทางเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องมองให้ยาวกว่าระยะ 20-50 ปี ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่นิยมใช้กันสำหรับการวางแผนการดำเนินการในระดับปฏิบัติการ ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เสนอแนะให้ทำแผนระยะยาวในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่ควรมีกรอบเวลาอย่างน้อย 100 ปี หรือนานกว่านั้น โดยใช้วิธีการคาดการณ์ภาพอนาคตที่หลากหลายและบูรณาการปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์เชิงนโยบายของทางเลือกต่างๆ เพื่อการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลนี้
สาม-ระบบเพื่อป้องกันน้ำท่วมของเขตเมืองของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ต้องออกแบบเพื่อยอมให้น้ำท่วมได้เพียง 1 ครั้งในรอบ 100 ปี (หรือคาบการเกิดซ้ำ 100 ปี) ซึ่งถือว่าเสี่ยงมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่ใช้ในเมืองใหญ่อื่นๆ ที่มีความสำคัญในระดับเดียวกัน เช่น ฮานอย ยอมให้เกิดน้ำท่วมได้ 1 ครั้งในรอบ 250 ปี นิวออร์ลีนส์ 1 ครั้งในรอบ 500 ปี ลอนดอน 1 ครั้งในรอบ 1,000 ปี และเขตชุมชนขนาดใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ 1 ครั้งในรอบ 10,000 ปี ดังนั้นคณะผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอให้มีการทบทวนแนวทางการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่เมืองที่มีความสำคัญอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร
กลับสู่หน้าหลัก
![Creative Commons License](http://i.creativecommons.org/l/by-nc-nd/3.0/th/88x31.png) ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|