ไม่ว่าเศรษฐกิจเฟื่องหรือฟุบ เมอร์ซิเดสเบนซ์ ก็ยังครองใจเถ้าแก่ตลอดกาล


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2527 นี้นับเป็นปีที่ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล มีอาการ “หนืด” เป็นพิเศษ

“ยอดขายทั้งหมดจะตกลงไปราว 30 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปีที่ผ่านมา” แบงเกอร์รายหนึ่งระบุ สาเหตุใหญ่นั้นก็คงต้องโยนไปที่มาตรการจำกัดสินเชื่อของแบงก์ชาติ เพราะคงมีไม่กี่คนที่กล้าหอบเงินสดๆ ไปถอยรถออกมาใช้

แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตลาดรถกำลัง “หนืด” เป็นพิเศษนี่แหละ สุทธิ ทิพธิภาภร ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ของบริษัทธนบุรีพาณิชย์-ตัวแทน จำหน่ายเมอร์ซิเดสเบนซ์ บอกกับ “ผู้จัดการ” ว่า ขณะนี้ธนบุรีพาณิชย์ กำลังติดต่อกับบริษัทเดมเลอร์เบนซ์ ที่เมืองสตุดการ์ด ประเทศเยอรมนีตะวันตก ขอเพิ่มโควตาการผลิตและประกอบรถเบนซ์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะลูกค้าเรียกร้องกันมากเหลือเกิน

ธนบุรีพาณิชย์มีโรงงานประกอบรถเบนซ์อยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ โรงงานนี้กำลังผลิตจริงๆ ตกปีละ 2,400 คัน แต่ก็ได้รับโควตาจากเดมเลอร์เบนซ์ให้ผลิตได้เพียง 1,200 คัน หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต

“จำนวนเท่านี้นอกจากจะขายหมดเรียบร้อยแล้วยังมีออร์เดอร์ค้างอยู่อีกไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราผลิตให้ไม่ทัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเพิ่มการผลิตจาก 50 เปอร์เซ็นต์เป็น 75 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้รับกับยอดขายที่เพิ่ม” สุทธิ แสดงเหตุผล

ปัจจุบันรถเบนซ์ที่ธนบุรีพาณิชย์ประกอบออกขายเป็นรุ่น 200 และ 200อี ซึ่งรุ่นแรกราคาในท้องตลาดตกราว 950,000 บาท ส่วนรุ่นหลังแพงกว่ากันอีก 1 แสนบาท

“เป็นรุ่นที่นิยมกันมากในบ้านเรา ส่วนรุ่นอื่นๆ ตลาดยังไม่โตพอที่จะประกอบขึ้นมา ขายคุ้มทุน” สุทธิตอบคำถามที่ว่า ธนบุรีพาณิชย์สนใจจะประกอบรถเบนซ์รุ่นอื่นๆ ด้วยหรือไม่

นอกจากรถเบนซ์ที่ประกอบในประเทศทั้ง 2 รุ่นนี้แล้ว ธนบุรีพาณิชย์ยังเป็นผู้นำเข้ารถเบนซ์ประกอบนอกหรือรถ CBU (Completely built-up) อีกประมาณ ปีละ 200 คัน สำหรับลูกค้าที่ได้เอกสิทธิ์ทางการทูตซึ่งสามารถสั่งซื้อเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้โดยไม่เสียภาษี

“ส่วนมากเป็นรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้ประกอบในบ้านเรา อย่างรุ่นที่สั่งเข้ามามากก็คือรุ่น 190 อี และรุ่น 190 ราคาซีไอเอฟ ของทั้งสองรุ่นนี้ก็ราว 3 แสนกว่าบาท คนนำเข้าส่วนมาก เป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ตั้งในบ้านเรา” สุทธิ กล่าว

และเมื่อถูกถามว่า เบนซ์มีดีตรงไหน จึงไม่ถูกคลื่นลมของสถานการณ์เศรษฐกิจเล่นงานเอาบ้าง สุทธิถือโอกาสแบไต๋ให้ฟังว่า “รถเบนซ์นั้นลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพวกเถ้าแก่ พวกนี้ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะดีหรือเลวอย่างไร เขาไม่สน เขาอยากได้ เขาก็ขนเงินสด มาถอยออกไปใช้ ไม่ต้องดาวน์ ต้องผ่อนให้ยุ่งยาก”

รถเบนซ์ที่บรรดาเถ้าแก่โปรดปรานกันมากนั้น รุ่น 280 เอส เห็นจะต้องมาในอันดับต้นๆ และก็เป็นรุ่นที่ไม่ได้ประกอบในประเทศ

ถ้าดูจากรายงานของกรมศุลกากรก็พบว่า รุ่น 280 เอส ถูกนำเข้ามากที่สุด ในสภาพของรถที่ใช้แล้ว

รายงานของกรมศุลากากรบอกว่า เมื่อปีที่แล้วมีการนำเข้ารถเบนซ์ใช้แล้ว 224 คันคิดเป็นมูลค่า 42.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจำนวน 168 คัน มูลค่า 30.08 ล้านบาท ในปี 2525 หรือคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์จะเท่ากับ 33.33 และ 42.02 ของจำนวนและมูลค่าตามลำดับ

ลองคิดบวกลบคูณหารดู แล้วก็ตกคันละ 3-4 แสนบาท ซึ่งผู้นำเข้ามีเอกสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี

แต่ถ้าถามราคารถเบนซ์ 280 เอส ในตลาดรถยนต์บ้านเรา ราคาก็จะสูงขึ้นไปกว่านั้น เป็น 5-6 เท่า

จึงเป็นที่รู้จักกันอยู่ว่า สำหรับผู้ที่มีเอกสิทธิ์สามารถนำรถเบนซ์เข้ามาได้อีกหรือไม่ ต้องเสียภาษีนั้นก็สามารถเซ็งลี้สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำทีเดียว

ส่วนว่าใครคือผู้มีเอกสิทธิ์นั้น ก็อย่าต้องระบุเลย เดี๋ยวจะกระเทือนความสัมพันธ์อันดีระหว่ างประเทศเสียเปล่าๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.