บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

คนกรุงเทพฯ โชคดีที่มีทะเลบางขุนเทียน เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อน แหล่งเรียนรู้ และเป็นแผ่นดินหน้าด่านที่ปกป้องกรุงเทพฯ ชั้นในไว้จากการรุกดินแดนโดยเงื้อมมือธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำทางทะเลที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้สูงไม่แพ้พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหาดทรายสวยชื่อดังในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งจับกุ้ง หอย ปลา ปู จากธรรมชาติเกรดเอที่คนทั่วไปมักจะนึกว่ามีแหล่งมาจากชายฝั่งนอกกรุงเทพฯ

ไม่ว่าชายทะเลบางขุนเทียนจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีคุณค่าซ่อนอยู่มากเพียงใด แต่ชื่อเสียงที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็แค่เพียงทะเลกรุงเทพฯ ที่มีแต่หาดเลน เป็นแหล่งร้านอาหารทะเล และจุดชมวิวสำหรับพาครอบครัวมาทานอาหาร ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และบางขุนเทียน ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ กับชีวิตคนกรุงเทพฯ ชั้นในไปมากกว่านี้

ลึกๆ แล้ว คนในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร พวกเขาต้องเผชิญปัญหาอะไร อยู่อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเท่าไรนัก

คงศักดิ์ ฤกษ์งาม ผู้นำเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียน หรือชื่อที่ชาวบ้านแถวชายทะเลบางขุนเทียนเรียกขานว่า “หมอโต” มีอาชีพหลักรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนเส้นสุดท้ายด้านใต้สุดของกรุงเทพฯ ถนนที่เปรียบเหมือนแนวเขื่อนถาวรกั้นพื้นที่กรุงเทพฯ ออกจากชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เขารับ นัดกับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเราต้องการเข้ามาศึกษาว่าปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนสาหัสแค่ไหน

ถึงจะรับราชการ แต่ภารกิจของคงศักดิ์ไม่ได้จบแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข และเลือกที่จะแบกภาระของพื้นที่ 3,000 ไร่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปไว้บนบ่า ร่วมกับชาวชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่ที่เขาเติบโตมา

“ผมอยู่ตรงนี้ เกิดที่นี่ ไม่เคยย้ายไปที่อื่น จนกระทั่งผันตัวเองลงพัฒนาท้องที่ เพราะ ตลอดเวลาที่ผมทำงานก็จะอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ละคนก็จะเข้ามาระบายมานั่งคุยให้ฟังอยู่เสมอเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ก็เริ่มจากแนะนำพูดคุยกับชาวบ้าน เมื่อเขาเชื่อเรา ก็เลยทำงานด้วยกัน”

สิ่งที่คงศักดิ์แนะนำให้ชาวบ้านตระหนักก็คือ ไม่ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องอะไร อย่างไร เสียงของชาวบ้านก็เป็นแค่เสียงที่ตะโกนเท่าไรก็ไม่มีใครได้ยิน เพราะปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนนอกพื้นที่ เขาแนะนำให้ชาวบ้านรวมตัวเป็นเครือข่ายเริ่มจากในชุมชนก่อน ขยับไปชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดพลัง จากนั้นต้องเข้าหาสื่อ ใช้สื่อเป็นตัวกระตุ้นความสนใจด้วยการกระจายข่าวปัญหาผ่านสื่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ทำให้ผมรู้ว่าเวลามีปัญหาอะไร คุณพูดไปเถอะไม่มีใครฟังหรอก แต่ถ้าออกสื่อเมื่อไรดังเป็นพลุแตกเลย” เพราะเชื่อในพลังของสื่อ ปัจจุบันคงศักดิ์ยังทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมืองของทีวีไทยของเขตกรุงเทพฯอีกตำแหน่ง ปัจจุบันทั้งกรุงเทพฯ มีเขาเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่เพียงคนเดียว โดยเริ่มทำมา ตั้งแต่ปี 2551 และกะจะทำต่อเนื่องไปเพื่อแก้เหงาหลังจากเกษียณอายุราชการด้วยเลย

การก่อตั้งเครือข่ายของคงศักดิ์ เริ่มต้นจากชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนภายใต้ชื่อเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนในช่วงหลังเมื่อมีสมาชิกจากชุมชนที่อยู่ติดกันเข้ามาเป็นภาคีเพิ่มรวมเป็น 6 ชุมชน

ปัญหาอย่างแรกที่คนพื้นที่นี้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งกลืนกินแผ่นดินหายไปหลายพันไร่ แล้วกว่าพวกเขาจะหาทางหยุดปัญหาได้ก็ต้องลองผิดมาหลายครั้ง กว่าจะลองได้ถูกและมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็เพิ่งจะราว 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง

“เราอยู่ เราหากินกับชายฝั่ง ทั้งคนบางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรปราการ เมื่อแผ่นดินถูกทะเลตีร่นเข้ามา พื้นที่ประมงน้ำเค็มและทรัพยากรน้อยลง มันเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับเราที่ต้องแก้ไขเพื่อความอยู่รอด มีคนบอกว่าปัญหากัดเซาะ ชายฝั่งที่นี่เรื่องเล็กเพราะไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่เหมือนชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของเรามันแค่หลังฉาก แต่ผมแย้งนักวิชาการว่า กล้าพนันกับผมไหมว่าพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในอ่าวไทยตั้งแต่ภาคกลางไปถึงสงขลาเลย”

คงศักดิ์ยืนยันว่า จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ และชายฝั่งทะเลบริเวณส่วนหัวของอ่าว ก.ไก่ เป็นแหล่งทำประมงน้ำเค็มที่สำคัญของประเทศ เฉพาะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจากประมงน้ำเค็มคิดแล้วสูงถึง 84% ของประมงน้ำเค็มทั้งหมด ถ้าจะเทียบรายได้กันวันต่อวันกับแหล่งท่องเที่ยวว่าเศรษฐกิจใครดีกว่ากัน เขาจึงรับประกันว่าพื้นที่แห่งนี้ทำรายได้ไม่แพ้ใคร

“เรามีรายได้จากการขายสินค้าประมงทุกวัน เป็นรายได้จาก การทำงานแค่ช่วง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน แต่แหล่งท่องเที่ยววันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวลงเท่าไร วันต่อวันเขาสู้เราไม่ได้หรอก ผมเคยนำข้อมูล นี้ไปแย้งในที่ประชุมเพื่อให้นักวิชาการเห็นความสำคัญของพื้นที่ ก็เป็นที่ฮือฮาในที่ประชุมเลย”

คงศักดิ์นัดทีมงานผู้จัดการ 360 ํ มาพบที่ริมคลองพิทยาลงกรณ์ราว 7 โมงเช้า เพื่อต้องการให้เห็นสภาพเศรษฐกิจประจำวันในพื้นที่ ซึ่งจะมีชาวบ้านขนสัตว์น้ำที่จับได้จากชายฝั่งใส่เรือมาขายผู้ค้าส่งที่ท่าเรือ ซึ่งมีกันอยู่หลายรายตามแนวคลอง เป็นผู้รับซื้อมือหนึ่งซึ่งจะแยกประเภทสินค้าคัดขนาดจากที่นี่ ก่อนจะลำเลียง ส่งสินค้าไปยังมหาชัย ซึ่งถือเป็นผู้ค้ามือที่สองไม่ใช่มือหนึ่งอย่างที่ผู้นิยมอาหารทะเลส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ความหลากหลายของสัตว์น้ำที่นำมาขายสะท้อนความหลาก หลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้อย่างดี สินค้าจากชายทะเลบางขุนเทียน ยังมีจุดเด่นของความเป็นสินค้าธรรมชาติสูง แม้ส่วนหนึ่งจะได้มาจากรูปแบบของการทำประมงน้ำเค็ม ทำให้ มีรสชาติอร่อยกว่าสัตว์น้ำจากแหล่งอื่น สินค้าที่จับมาขายกันมีทั้งกุ้งแช่บ๊วย กุ้งกุลาดำตัวโตจากนากุ้งธรรมชาติ ปลากุเลา ปลากะพงขาวตัวใหญ่ ปลาดุกทะเล ปลากระบอก ปลาบู่ที่ปรับตัวมาเป็นสัตว์น้ำเค็มไปแล้ว ปูม้า ปูทะเล และหอยหลากชนิด อาทิ หอยพิม หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏทุกวันนี้ เพิ่งกลับมาดีขึ้นหลังจากที่ชุมชนผ่านการเผชิญปัญหาในพื้นที่และแก้ไขมาแล้วเปลาะหนึ่ง ตอนนี้สภาพชายทะเลบางขุนเทียนเมื่อมองจากด้านบน นับจากคลองพิทยาลงกรณ์ไล่ลงไปถึงชายทะเล ด่านแรกจะเห็นป่าชายเลนชั้นที่หนึ่ง ต่อด้วยนากุ้งธรรมชาติ ตามด้วยป่าชายเลนชั้นที่สอง และเลยไปจากนั้นก็เป็นทะเล

ทุกวันนี้พวกเขายังคงเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ที่เชื่อว่าได้ผลตามเป้าหมายของชุมชน แม้ว่าจะมีหน่วยงานระดับประเทศที่นำทีมงานจัดการแก้ปัญหา เรื่องน้ำและชายฝั่งจากเนเธอร์แลนด์เข้ามาศึกษาหาข้อมูลในพื้นที่เมื่อเดือนกุมภา พันธ์ที่ผ่านมาก็ตาม เพราะชาวบ้านเชื่อว่าอนาคตคนกลุ่มนี้อาจจะมีผลงานดีๆ มาช่วยชาวบ้าน แต่ถ้าให้รอคงต้องรออีกนาน ดังนั้นระหว่างนี้พวกเขาก็จะไม่วางมือในสิ่งที่ทำอยู่และจะทำต่อเนื่องไป

คงศักดิ์เล่าว่า แนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ชุดแรกเกิดขึ้นเมื่อชุมชนบางขุนเทียนเห็นหมู่บ้านโคกขามทำไป 6 เดือนเริ่มได้ผล ก็คิดจะทำกันบ้าง แต่กรุงเทพฯ เป็นเขตปกครองพิเศษจะทำเรื่องของบประมาณจะต้องใช้เวลาอีกนาน

“จุดเริ่มต้นที่รวบรวมชาวบ้านในชุมชนตั้งเป็นเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวด ล้อมขึ้นก็ตอนนั้นแหละ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนทีหลังเมื่อมีภาคีจาก 6 ชุมชน คือเราสู้กันมานาน ตอนแรกมีแค่บางขุน เทียนกับเสาธง จะทำให้ได้ผลเร็วต้องใช้มวลชนเข้าสู้ ถ้าสู้ตามลำพังไม่ผ่านหรอก”

เครือข่ายรักทะเลฯ ใช้วิธีของบประมาณด้านภัยพิบัติของสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ซึ่งเหลือจากนำไปช่วยในเหตุการณ์สึนามึในภาคใต้ประมาณ 3 ล้าน กว่าบาทมาเป็นทุนเริ่มต้น หลังจากแนวไม้ไผ่รุ่นปี 2552 ชุมชนก็เริ่มปลูกป่าเสริมหลังในแนวไม้ไผ่ได้แล้ว

“ก่อนจะเริ่มชวนชาวบ้านมาทำ รัฐบาลแทบไม่ได้เข้ามาทำอะไรกับการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเลย มีแค่สมัยท่านผู้ว่าฯ พลตรีจำลอง (ศรีเมือง) ที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลงมาศึกษาอยู่ 7 เดือน เข้าเดือนที่ 8 บอกวิธีนี้คงช่วยได้ระยะหนึ่ง ก็ได้งบมาทิ้งหินวางไว้หน้าทะเล 800 เมตร”

จาก 800 เมตร ในปีแรก เมื่อชาวบ้านยังไม่มีวิธีอื่นและ กทม.แบ่งงบมาทิ้งหินให้ทุกปี แนวกองหินก็ยาวขึ้นเพิ่มเป็น 4.7 กิโลเมตร ทิ้งกันปีเว้นปี แต่ก็ไม่สามารถหยุดปัญหาการกัดเซาะได้ เพราะเนื้อดินอ่อน หินก็จบหายไป ปี 2538 กทม.ก็หยุดให้งบ โดย ให้เหตุผลว่าไม่คุ้มกับการลงทุนในการขนหินมาทิ้งในแต่ละปี

“พอหยุดทิ้งพื้นที่ก็ถูกกัดเซาะเข้ามาอีก 405 ไร่ ไม่คุ้มกันเลย พื้นที่ขนาดนี้เราสามารถสร้างผลผลิตส่งเลี้ยงชุมชนเมืองได้อีกเท่าไร แต่ถ้าเอาแผ่นดินกลับมาใช้ประโยชน์ ได้อีกครั้งคงจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม นั่นแหละเหตุการณ์ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปลายปี 2550 ผมเริ่มตั้งเครือข่ายแล้วก็ของบได้มาในปี 2551”

นักวิชาการส่วนใหญ่อาจจะมองว่า การแก้ปัญหาของพื้นที่บางขุนเทียนไม่ใช่การปรับแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อปัญหาของน้ำทั้งระบบ รวมถึงน้ำที่กัดเซาะชายฝั่งนี้ด้วย

ในความเห็นของคงศักดิ์ เขาเห็นว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนซึ่งต้องเริ่มจาก ช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ตัวเองยืนหยัดได้ด้วยตัวเองให้ได้เสียก่อน อะไรก็ได้ที่ได้ผลเกิดขึ้น ในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำโครงการที่เกิดขึ้นไปกระทุ้งหน่วยงานรัฐให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง

“เมื่อเราทำแล้วได้ผลก็ต้องพยายามทำให้หน่วยงานภาครัฐมาดู เพราะเราก็เสียภาษี เราเริ่มช่วยตัวเองไปแล้วคุณมาช่วยต่อหน่อยได้ไหม นี่คือเทคนิคของชุมชน เป็นหลักการที่เหมือนการใช้ภาพหนึ่งภาพแทนคำพันคำ โครงการของเราคือภาพที่ใช้แทนคำ อธิบายกับหน่วยงานรัฐว่า เราต้องการอะไรและอยากให้เขาช่วยเราสานต่อในเรื่องงบประมาณ”

คงศักดิ์บอกว่าทุกวันนี้ปัญหาการกัดเซาะของพื้นที่สามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัด แล้ว อย่างน้อยก็ไม่โดนกัดเซาะเพิ่ม ได้งบประมาณจากหน่วยงานราชการปีละ 10 ล้านบาท เป็นงบที่ให้มาเพื่อรอจนกว่าโครงการใหญ่ๆ ของนักวิชาการหรือของภาคราชการจะทำแล้วเสร็จ เงินงบประมาณปีละ 10 ล้านบาทนี้เป็นสิ่งที่คงศักดิ์และชุมชนร้องขอ เพื่อปักแนวไม้ไผ่ให้ได้ตลอดแนว 4.7 กิโลเมตรตามแนวชายทะเลของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

“ถือว่า กทม.ตอบสนองค่อนข้างดีในการให้งบ ถ้าไม่ทำเลยชาวบ้านจะเสียแผ่นดิน อย่างน้อยปีละ 6 เมตรทุกปี คิดแล้วงบประมาณแค่นี้เพื่อรักษาแผ่นดินถูกมาก แต่ถ้าจะมีโครงการใหญ่ต้องใช้งบเยอะและขั้นตอนก็ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์กว่าจะจบก็ใช้เวลานาน ชาวบ้านคงรอไม่ได้”

ส่วนไม้ไผ่ที่ได้งบจัดซื้อเอามาทำแนวชะลอคลื่นก็มีบางหน่วยงานที่โจมตีว่า ไม้ไผ่เยอะขนาดนี้แล้วไม่เป็น การตัดไม้ทำลายป่าจากที่หนึ่งมาไว้อีก ที่หนึ่งหรือ

“ไม้ไผ่ที่เราเอามาเป็นผลดีกับเจ้าของป่าไผ่เสียอีก เพราะต้องตัดลำไผ่แก่เพื่อเลี้ยงหน่อแทนที่จะตัดทิ้งก็เอามาขายเรา ก็จองป่าซื้อล่วงหน้ากัน เลย ได้ขนาดก็ตัดมาให้เรา ที่บางขุน เทียนเราจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว ใหญ่กว่าของผู้ใหญ่หมู ที่โคกขาม ไม้ที่เราปักรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2534 ก็ยังมีให้เห็นอยู่เลยแต่ดำปี๊ดแสดงว่า ไม้ไผ่ทนอยู่ได้นาน แต่ตอนนั้นปักสองข้างแล้วใช้ทิ้งหินลงไปไม่ใช่เอามาทำแบบนี้”

การปักแนวไม้ไผ่ที่บางขุนเทียนจะต่างจากที่โคกขามเล็กน้อย ที่โคกขามจะปักในช่วงน้ำลด แต่บางขุนเทียนค่อนข้างเร่งงานน้ำไม่ลดก็ต้องลงไปทำเพื่อแข่งกับเวลา ช่วงงานเร่งก็ใช้รถแบ็กโฮลงช่วยปักไม้ไผ่ร่วมกับแรงงานคน ซึ่งต้องใช้คนจำนวนไม่น้อยสำหรับการปักไม้ไผ่ความยาว ขนาด 5 เมตร

วิธีการปักที่บางขุนเทียนจะปักไม้ไผ่ เป็นแนวตรงทั้งหมดเพราะจะง่ายกว่าแบบสามเหลี่ยมแบบที่โคกขาม ไม้ไผ่ที่จะปักไม่ต้องทำให้แหลมเพราะดินอ่อนปักง่าย มีเทคนิคนิดเดียวแค่เอาส่วนปลายปักลงดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะไม่ค่อยผุแล้วเอา โคนต้นซึ่งใหญ่กว่ามาสู้กับน้ำ วันหนึ่งปักได้สัก 50 เมตรก็ถือว่าเต็มที่ ปักเสร็จตะกอนเลนก็จะเข้ามาตามช่องไม้ไผ่ซึ่งมีลำคดงอเป็นช่องให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ถ้ามองแนวเฉียงจะดูเหมือนเป็นกำแพงหนาและถี่มาก

จริงๆ จะว่าไปแนวไม้ไผ่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชนและเห็นกันมานานในฟาร์มหอยแมลงภู่ แต่การเลี้ยงหอยใช้ไม้รวกลำเล็กปักให้หอยแมลงภู่เกาะ พอหอยโต ในฟาร์มหอยก็มักจะมีตะกอนดินขึ้นสูงในก่ำหรือในกลุ่มไม้รวกที่ปักไว้ และมักพบเนินดินขึ้นหลังฟาร์มหอย คนเลี้ยงต้องถอนเอาไม้สลับข้างบนลงล่างเพื่อหนีตะกอนเลน ฟาร์มหอยจึงเป็นตัวช่วยที่ดึงตะกอนเลนและชะลอคลื่นได้ชุดหนึ่ง แต่ที่ใช้ทำแนวสร้างดินไม่ได้เพราะฟาร์มหอยต้องทำในทะเลห่างจากฝั่งไปอีก 3 กิโลเมตร

ภูมิปัญญาชาวบ้านจากฟาร์มหอยแมลงภู่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกมา แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่สรุปออกมาเป็นแนวไม้ไผ่นี้นี่เอง

“เราใช้คำว่าแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เคยเรียกว่าเขื่อนไม้ไผ่ แต่เป็นเขื่อน เดี๋ยวต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้าพูดว่าเป็นแนวไม้ไผ่มันเป็นโครงสร้างอ่อนไม่ต้องรอ ทำได้เลย เราเลือกทำจุดแรกตรงด้านหน้าที่ราชพัสดุเพราะเป็นที่ไม่มีเจ้าของและเว้าลึกที่สุด”

น่าดีใจว่า คนในชุมชนบางขุนเทียนที่ออกมาช่วยกันทำแนวไม้ไผ่ มีตั้งแต่ชาวบ้านวัย 50 ปีไล่ลงมาถึงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี ซึ่งหมอโตเชื่อว่าการที่คนหลายรุ่นในชุมชนหันมาทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นการสะท้อนถึงอนาคตของชุมชนที่คงทำให้มีคนเสียสละทำงานเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อแนวไม้ไผ่ขยายถึงแนวที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิของเอกชน พวกเขา มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะไม่ทำให้เจ้าของที่ดินใช้สิทธิ์ในพื้นที่ตนเองเมื่อได้แผ่นดิน และป่ากลับมา

“พอเราสามารถทวงพื้นดินคืนมาได้ เราบอกเจ้าของที่ว่าขอให้ชุมชนนะ อย่าไปรุกล้ำ อย่าไปแผ้วถางที่จะทำนากุ้งต่อ เราจะปลูกป่าเพิ่มให้หนาขึ้น โฉนดยังเป็นชื่อของคุณ เราขอแค่สิทธิ์ เป็นข้อตกลงปากเปล่า คงบังคับไม่ได้ แต่ขอและให้กันด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตอาสามากกว่า เพื่อช่วยกันป้องกันการกัดเซาะแล้วระบบนิเวศก็จะกลับมา เชื่อว่าเขาน่าจะรักษาคำพูด และรู้ดีว่าถ้าเราไม่ทำ ที่ของเขาก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่เมื่อชุมชนทวงที่ดินคุณกลับมา คุณก็ควรจะให้อะไรกับชุมชน”

ไม้ชายเลนที่ชุมชนนำมาปลูก ที่นิยมเห็นกันบ่อยคือต้นโกงกาง เป็นไม้ที่เข้ามาทีหลัง ไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นนี้คือต้นแสม ซึ่งเมื่อปลูกมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเม็ดแสมลอยในผืนป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่ง กทม.เข้าไปทำทางเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความยาว 1,300 เมตรไว้แล้วในพื้นที่

สำหรับพื้นที่บางขุนเทียน คงศักดิ์บอกว่า ถ้าบริษัทไหนทำกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วอยากเข้ามาปลูกป่า คงจะลำบากหน่อย เพราะต้องเดินเท้าเข้ามา และจุดที่ปลูกจะต้องเป็นหลังแนวไม้ไผ่หรือพื้นที่ที่อยู่ลึกบริเวณที่มีป่าอยู่บ้างต้นไม้ถึงจะอยู่รอด เพราะถ้าเลือกปลูกง่ายๆ ในตะกอนเลนที่เกิดใหม่ หรือใกล้ชายฝั่งเกินไป กล้าไม้เล็กๆ จะไม่มีแรงยึดเกาะที่ทนต่อกระแสน้ำได้ แค่คนปลูกคล้อยหลัง คลื่นก็ซัดกล้าไม้ลอยตามกลับไปแล้ว

แม้จะต้องเจอปัญหาการการกัดเซาะ แต่ทะเลบางขุนเทียนก็นับว่าโชคดีอยู่บ้างในบางเรื่อง

ถ้าเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งระหว่างชายฝั่งกรุงเทพฯ ที่บางขุนเทียนกับชายฝั่งแถวจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ขนาบทะเลบางขุนเทียน ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปากอ่าวทำประมงน้ำเค็มเป็นหลักเหมือนกัน และเป็นปลายทางของแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลลงอ่าวไทยทั้งท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง แถมด้วยการเป็นแหล่งระบายน้ำของคูคลองอีกหลายสาย เฉพาะบางขุนเทียนก็มีคลองหลักๆ ในพื้นที่ ได้แก่ คลองสนามชัย คลองหัวกระบือ/คลองขุนราชพินิจใจ คลองพิทยาลงกรณ์ และคลองแสมดำ

“ของกรุงเทพฯ ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้เราโชคดีที่ไม่มีโรงงาน แต่ฝั่งสมุทร ปราการและสมุทรสาครจะเจอหนักกว่าเรื่องสารพิษจากน้ำเสียที่ตกตะกอนอยู่ในสัตว์น้ำ แต่ระยะหลังเราก็เริ่มได้ผลกระทบเรื่องน้ำเสียเพิ่มขึ้นผลผลิตเริ่มลดน้อยลง เพราะ กทม.ในเขตฝั่งธนบุรีมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ตั้งขึ้นกำลังเฝ้าระวังกัน คาดว่าเขาจะทำให้ดีเหมือนฝั่งพระนครที่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย”

ถ้าไม่เป็นอย่างที่คงศักดิ์คาดการณ์ น้ำเสียจะกลายเป็นอีกปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาในพื้นที่ เพราะเขาบอกว่าตอนนี้ทุกปีในพื้นที่ ก็มีเทศกาลน้ำเสียประจำปีอยู่แล้ว โดยจะเกิดขึ้นราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลมจากทุกทิศทางพัดปะทะกันจนปั้นน้ำเสียเป็นก้อนและไม่กระจายไปในทะเล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปลาตายลอยให้ชาวบ้านมาช้อนไปขายเป็นประจำทุกปี

หลังทีมงานเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ลงมาฟังข้อมูลสรุปจากคงศักดิ์พร้อมบินดูพื้นที่ เขาก็ไม่ได้หวังว่าระดับนโยบายจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะทุกวันนี้เขาและชุมชนยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่

“ผมก็จะยังเขย่าข่าวหรือสร้างความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ผลักดันจนการกัดเซาะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วนี่แหละอันตรายที่สุด เพราะวาระแห่งชาติคือเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะที่จะกลายเป็นเรื่องนิ่ง”

ดังนั้นระหว่างวาระแห่งชาติเดินไปตามเส้นทางของมัน คงศักดิ์ก็จะยังคงเดินหน้า ขยายเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป จาก 1 ชุมชนเป็น 6 ชุมชน ตอนนี้เครือข่ายของ เขาขยายข้ามจังหวัดกลายเป็นเครือข่ายรักอ่าวไทย โดยรวมตัวกันตั้งแต่ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงจังหวัดตราด

“หน่วยงานรัฐมีขอบเขตของจังหวัด เป็นตัวแบ่งแยก แต่ภาคประชาชนของเรา เราเชื่อมชายฝั่งถึงตราดแล้วมาสุดทางภาคตะวันตกที่เพชรบุรี จากเพชรบุรีลงไปใต้ทั้งอันดามันทั้งอ่าวไทยเขาจะมีคณะกรรมการเขาอยู่แล้วเหมือนที่ผมทำ แต่แบ่งเป็นท่อนๆ พอระยะสักปีหรือครึ่งปี เรามาประชุมกันที สุดแท้แต่เขาจะจัดที่ไหน ประชุมในเครือข่าย กลุ่มย่อยก็จะมีประชุม กันสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าเรื่องด่วนเราจะเรียกเลย เร็วอาจจะเดือนละครั้งเวลามีอะไรเข้ามา”

คงศักดิ์อธิบายการทำงานของเครือ ข่ายที่ดูเหมือนจะรวดเร็ว ทันสมัยและเข้าใจการทำงานที่ไม่ใช้เส้นแบ่งพื้นที่หรือเขตแดนเป็นข้อจำกัดได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เสียอีก

จากเครือข่ายที่ขยายตัวจับกลุ่มกันแน่นขึ้นในภาคประชาชน คนในชุมชนแห่งนี้ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตพื้นที่ดินและป่าในชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนก็จะจับกลุ่มกันแน่นขึ้น ๆ เหมือนเครือข่าย และภาพอดีตในวัยเด็กของคงศักดิ์ที่ยังจดจำได้ดีว่า สมัยนั้นกว่าที่เขาจะพาตัวเอง ออกไปเห็นทะเลบางขุนเทียนได้ จะต้อง เดินเลาะคันนากุ้งและแทบจะต้องมุดผ่านป่าแสมที่แน่นทึบ เจอทั้งตัวนาก เสือปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อออกไปงมกุ้งและจับปลาในวันหยุดกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน กลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกครั้ง เพราะปฏิบัติการทวงคืนแผ่นดินของพวกเขาเห็นผลมากขึ้นทุกวัน

ที่สำคัญพวกเขาจะไม่ปล่อยปละละเลยให้คลื่นลมและทะเลเอาป่าและแผ่นดินไปจากชุมชนเหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.