Southern Scenic Route ความคิดสร้างสรรค์กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมได้เดินทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หลายแห่งในนิวซีแลนด์ แต่ในบรรดาการท่องเที่ยวทั้งหมดมีการเดินทางเส้นเดียวที่ผมมองว่าออกจะอยู่นอกเส้นทางที่นักท่องเที่ยวไปกัน นั่นคือ เส้นทางไปยังเมืองอินเวอร์คาร์เกิล เมืองหลวงของแคว้นเซาท์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใต้ที่สุดของนิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่ใต้สุดในโลก เพราะนักท่องเที่ยวที่ไปเซาท์แลนด์จะไปแค่สถานที่ท่องเที่ยวอย่างเทอานาว หรืออุทยานแห่งชาติ มิลฟอร์ด ซาวน์ กับเดาท์ฟูล ซาวน์

แม้ว่าจะมีถนนเชื่อมระหว่างอินเวอร์คาร์เกิล เข้ากับเมืองต่างๆ ในแคว้น นักเดินทางที่ต้องมาอินเวอร์คาร์เกิลเพื่อท่องเที่ยวหรือธุรกิจต่างเลือกที่จะขับรถมาตามทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งวิ่งระหว่าง แคว้นมากกว่าทางหลวงที่ผ่านเมืองและอำเภอต่างๆ ในเซาท์แลนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่านักท่อง เที่ยวที่มีน้อย ประกอบกับนักธุรกิจต่างเลือกที่จะเดินทางบนถนนที่ดีที่สุดและย่นระยะเวลาเดินทางให้มากที่สุด ปัญหาที่ตามมาคือบรรดาเมืองและอำเภอต่างๆ ในแคว้นเซาท์แลนด์ต่างกลายเป็นเมือง ที่ถูกลืม และจำนวนประชากรในเขตเหล่านั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาสมองไหลควบคู่กับประชากรขาดแคลนในเซาท์แลนด์

เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมานานนับสิบปี ในอดีตชาวใต้ไม่ได้มีปัญหาทาง เศรษฐกิจมากนัก เพราะเมืองต่างๆ เชื่อม โยงโดยรถไฟสายใต้ มีทั้งรถไฟสายหลักจากไครส์เชิร์ชมายังอินเวอร์คาร์เกิล และยังมีรถไฟสายเล็กๆ เชื่อมต่อไปยังอำเภอต่างๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวไปถึงและเศรษฐกิจเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม ในช่วง กลางๆ ค.ศ.1970 ประเทศนิวซีแลนด์ต้องลอยตัวค่าเงินดอลลาร์ เพราะปัญหาเศรษฐกิจประกอบกับวิกฤติน้ำมันโลก ทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ขายรัฐวิสาหกิจจำนวนมากรวมทั้งการรถไฟไปสู่เอกชน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้รถไฟนิวซีแลนด์ ปิดเส้นทางเดินรถจำนวนมาก รวมถึงเส้นทางในเซาท์แลนด์ ผลที่ตามมาคือสภาพเศรษฐกิจ ซบเซา ประชาชนในเซาท์แลนด์ต่างพยายามขอให้รัฐบาลเร่งเยียวยา แต่ก็โดนรัฐใส่เกียร์ว่าง เพราะเขตที่เรียกร้องบางเขต หรือบางหมู่บ้านอาจจะมีประชากรไม่กี่ร้อยคน เพราะการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการเหมือนกันทั่วโลก คือเช้าเย็นก็ไม่ได้สักชาม เมื่อภาครัฐนิยมเกียร์ว่างเพราะไม่ได้เป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ สรุปง่ายๆคือชาวเซาท์แลนด์ขอให้รัฐเยียวยาก็ไม่มีวี่แวว ทำให้บรรดาผู้ประกอบการ ธุรกิจต้องหันมาพึ่งตนเองโดยเริ่มจากผู้ประกอบการ ในเขตทัวร์ทาเพียร์ ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณหกร้อยคน ได้หารือกันถึงแนว คิดที่จะพัฒนาตนเอง

ทัวร์ทาเพียร์ เกิดจากการตั้ง รกรากโดยชาวฮังกาเรียนที่มีความรู้ด้าน ป่าไม้กับเครื่องจักรไอน้ำ ต่อมาพัฒนา เป็นชุมชนใหญ่ โดย เป็นแหล่งวิศวกรรม หัวจักรไอน้ำจากทั่ว เกาะใต้ เดินทางมา ทำงานกับการรถไฟ ที่มาตั้งอู่หัวจักรไอน้ำของเกาะใต้ตอนล่างขึ้นที่ทัวร์ทาเพียร์ ประกอบกับอำเภอดังกล่าวถูกป่าล้อมรอบทำให้เกิดอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวของการรถไฟที่มาอำเภอเล็กๆ ไกลปืนเที่ยงเพื่อซ่อมบำรุงหัวจักรไอน้ำแล้วก็ขนซุงเข้า ไปขายต่อในเมืองต่างๆ

นอกจากนี้ป่าในเขตนั้นเรียกว่าป่าฟยอร์ดแลนด์มีกวางจำนวนมากทำให้มีการล่ากวางทั้งการเดินป่าหรือ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ล่ากวาง ถ้ามองจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 มาถึงยุคกลางๆ ถึงปลาย ค.ศ. 1960 ทัวร์ทาเพียร์ก็เรียกได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ดี แม้ว่านิวซีแลนด์จะนำรถไฟหัวจักรดีเซลมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 ก็ต้องใช้เวลาในการเอารถหัวจักรไอน้ำออกจากระบบ เพราะนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรถ่านหินมากอันดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามเย็น นิวซีแลนด์ ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก เรื่องแรกคือการลดลงของ จำนวนกวางในป่าอย่างน่าตกใจ ประกอบกับการที่รัฐบาลในปี 1952 เป็นห่วงเรื่องการลดลงของป่าไม้ จึงประกาศให้ป่าฟยอร์ดแลนด์เป็นอุทยานแห่งชาติฟยอร์ดแลนด์ ทำให้อุตสาหกรรมป่าไม้ท่องเที่ยวล่าสัตว์ หรือเดินป่าเพื่อยิงกวาง หายไปในพริบตา เรื่อง ที่สองคือ การรถไฟนิวซีแลนด์หยุดนำเข้าหัวจักรไอน้ำและหันมาใช้หัวจักรดีเซลกับหัวจักรไฟฟ้าในปี ค.ศ.1956 สัญญาณดังกล่าวทำให้ประชากรในทัวร์ทาเพียร์และบริเวณใกล้เคียงลดลงเร็วกว่าจำนวนหัวรถจักรไอน้ำที่ส่งมาซ่อมบำรุงเสียอีก ในที่สุดหัวจักรไอน้ำก็โดนเปลี่ยนจนหมดในราวๆ สิบปีต่อมา การรถไฟตัดสินใจหยุดวิ่งมาที่อำเภอต่างๆ ในเซาท์ แลนด์ แม้แต่รางรถไฟก็ถูกรื้อออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นกว่าหกสิบปีได้อันตรธานหายไปจากทัวร์ทาเพียร์เหมือนกับว่าไม่เคยมีมาก่อน เหลือก็แต่ร้านค้าที่เคย เปิดเพื่อรองรับวิศวกรกับนักท่องเที่ยวในอดีตที่ต้อง กระเสือกกระสนดิ้นรนกันต่อไป

ถ้าอำเภอใหญ่อย่างทัวร์ทาเพียร์ประสบปัญหา ประชากรลดเหลือหกร้อยคน อำเภออื่นๆ ต้องประสบปัญหาที่ยิ่งกว่า ในการประชุมผู้ประกอบการ ธุรกิจทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปว่าถ้าไม่มีรถไฟอย่างน้อยก็ให้มีถนนลาดยาง เพราะว่าถนนที่แคว้นเซาท์ แลนด์ในขณะนั้นโดยมากจะเป็นถนนลูกรังและบางเส้นยังเป็นถนนเลนเดียว บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจ ในยุคนั้นเล็งเห็นประโยชน์จากธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อ ดึงดูด แต่การที่จะมีนักท่องเที่ยวต้องมีองค์ประกอบ สองอย่างคือ สถานที่ท่องเที่ยว และการคมนาคมที่สะดวก นอกจากถนนหนทางที่ไม่สะดวกแล้ว สถานที่ ท่องเที่ยวไม่เป็นที่ดึงดูด ใจ เพราะกิจกรรมในอดีตเช่น เดินป่าล่ากวาง หรือขึ้นเฮลิคอป เตอร์ยิงกวางก็หายไป ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวที่พอจะไปได้ก็มีแค่ถ้ำหนอนเรืองแสงซึ่งคล้ายๆ กับหิ่งห้อยบ้านเรา ที่เมืองเทอานาว แต่การจะไปก็แสนจะยากเย็น ทำให้เกิด concepts การท่องเที่ยวเชิง อนุรักษ์ขึ้นมา โดยชาวบ้านเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตธุรกิจท่องเที่ยวแบบล่องเรือในทะเลสาบของมิลฟอร์ดและเดาฟูลซาวน์ รวมถึงการให้มีมัคคุเทศก์นำนักท่องเที่ยวเดินป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติ รัฐบาลในตอนนั้น แม้จะไม่ต้องลงทุนอะไรเพราะเอกชนต้องหาเรือมาเอง พาเดินป่าเอง แต่กว่าจะอนุมัติได้ก็นานพอดู ตรงนี้ที่ทำให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ Ecotourism ในยุค 1970 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่หันมาโปรโมตการท่องเที่ยวแขนงใหม่ที่เพิ่งจะมาพูดกันในเมืองไทยสามสิบกว่าปีตามหลังประเทศนิวซีแลนด์

คนที่มาเที่ยวนิวซีแลนด์น้อยคนนักที่จะไม่ได้ไป ล่องเรือเพื่อชม Milford Sound ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลก ของยูเนสโกไปแล้ว แต่กว่าที่จะมีถนนไปถึงให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ชมนั้นก็เรียกว่าเป็นความพยายามของภาค เอกชนอย่างมาก รวมไปถึงความพยายามในการให้รัฐบาลหันมาสร้างถนนเรียกว่า Southern Scenic Route ซึ่งชาวเมืองทัวร์ทาเพียร์ได้รวมตัวกันใน ค.ศ.1985 หรือ 25 ปีก่อนเพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลหันมาปรับปรุงถนนลูกรังเพื่อเชื่อมกับทางหลวงให้เป็นรูปตัว U จากเมืองดันเนดินในแคว้นโอทาโกผ่านอุทยานแห่งชาติแคทรินในแคว้นเซาท์แลนด์ตัดเข้าเมืองอินเวอร์ คาร์เกิลเชื่อมไปยังเทอานาว โดยผ่านมิลฟอร์ดซาวน์ และเชื่อมถึงเมืองควีนส์ทาวน์ในแคว้นโอทาโก ปรับเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่านอุทยานแห่งชาติสองแห่งและอำเภอต่างๆ ในเซาท์แลนด์เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากบรรดา ผู้ประกอบการธุรกิจจากสองแคว้นเป็นอย่างมาก เพราะจะได้มีการพัฒนาถนนหนทาง และเมื่อถนนตัดผ่านความเจริญย่อมตามมา ทว่านิวซีแลนด์ขณะ นั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงานที่เน้นนโยบาย สวัสดิการแบบที่เราเรียกว่าประชาภิวัฒน์เพื่อหาเสียง เข้าพรรค แก้กฎหมายเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านคือ ฝรั่งเศส ที่คุ้มครอง หมู่เกาะเฟรนซ์โปลีนีเชียนถึงขั้นฟ้องศาลโลกเรื่องความมั่นคงกับสิ่งแวดล้อม จะให้รัฐบาลหันมามองผู้ประกอบการในแคว้นใต้ ซึ่งเป็นเขตที่สีผิดเพราะเลือกพรรคอนุรักษนิยมก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับบ้านเราที่เขตที่สีผิดต้องมาทีหลัง เรื่องผู้ประกอบการของทางใต้จะมาขอถนนใหม่จาก รัฐบาลนั้นบอกได้เลยว่าโดนบอกปัดแทบไม่ทัน บรรดารัฐมนตรี ส.ส. คณะกรรมาธิการต่างๆ ไม่มีใครตอบรับ เพราะว่าโปรเจกต์นี้อาจจะฟังดูง่ายแต่ไปคาบเกี่ยวหลาย กรม และกระทรวงคือ กรมทาง หลวง ที่ต้องของบประมาณตัดถนน

นอกจากนี้ยังมีกรมป่าไม้เพราะมีการตัดถนน ผ่านพื้นที่ป่า กระทรวงพาณิชย์ที่มาดูแลเรื่องการค้า กระทรวงท่องเที่ยวเพราะต้องโปรโมตการท่องเที่ยว และยังมีเทศบาลอำเภอต่างๆ ผ่านกรมการปกครอง อีก เรียกว่าต้องผ่าน รมต.อนุมัติสามสี่คน ผ่านกรรมาธิการหลายกลุ่ม ทำให้เรื่องโดนปัดตกไปอย่าง รวดเร็ว

เมื่อรัฐบาลไม่ทำบรรดาผู้ประกอบการติดต่อไปยัง Auto-mobile Association ซึ่งคล้ายๆกับราชยานยนต์สมาคมในประเทศไทย แต่ AA ของนิวซี แลนด์นั้นมีอำนาจต่อทะเบียนรถยนต์ ออกใบขับขี่ระหว่างประเทศ ออกป้ายทะเบียนรถยนต์ สอบใบขับขี่ ทำป้ายถนน พิมพ์แผนที่เดินทาง ออกหนังสือท่องเที่ยวและซ่อมแซมรถยนต์ เรียกได้ว่าเป็นทั้งกองทะเบียน กรมการขนส่งทางบก และกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในที่เดียวกัน เพราะนิวซีแลนด์ เชื่อว่าการให้องค์กรอิสระหรือเอกชนรับช่วงงานรัฐบาลนั้นจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและไม่เสียค่าจ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย

ปรากฏว่าทาง AA ก็คล้อยตามแนวคิดแต่ติดอยู่ ที่มาตรฐานของถนนและการประกาศเส้นทางดังกล่าวคาบเกี่ยวกับทางหลวงอย่างน้อยสามเส้น คือ ทางหลวงหมายเลขหนึ่ง หมายเลขหก และหมายเลขเก้าสิบสี่ ทำให้ทาง AA ทำได้เพียงพิมพ์แนะนำท่องเที่ยวผ่านหนังสือแนะนำท่องเที่ยวเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ชาวบ้านในแคว้นเซาท์แลนด์มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป โดยเริ่มจากการทำป้ายกันเอง ประกอบกับการที่รัฐบาล หันมาเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้เริ่มที่จะมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการพัฒนาถนนระหว่างควีนส์ทาวน์ไปยังเทอานาวและจากเทอานาวไปยังมิลฟอร์ดรัฐบาลประกาศในปี ค.ศ.1988 หรือสามปีหลังจากที่ชาวบ้านได้ยื่นโปรเจกต์ให้รัฐบาลและเริ่มที่จะช่วยตนเองไปมากแล้ว ให้ถนนรูปตัว U ตามที่ชาวบ้านขอร้องให้เป็นถนนสาย Southern Scenic Route อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำหนดเส้นทางไว้น้อยกว่าที่ชาวบ้านได้ Proposed ไว้ และการก่อสร้างหรือพัฒนาถนน ก็มีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันแม้ว่าจะหานักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปจนครบตัว U ของ Southern Scenic Route ได้น้อยมาก แต่นิตยสารหลายแห่งต่างชมว่าถนนสายดังกล่าวมีเส้นทางที่สวยและเป็นธรรมชาติมากมาย ถ้าเริ่มจากดันเนดิน เมืองใหญ่ทางตอนใต้ของนิวซีแลนด์ก็จะได้ชมสถาปัตยกรรมแบบสกอตติช ก่อนที่จะตัดเข้าอุทยาน แห่งชาติแคนรินที่มีจุดชมวิวหลายจุด ได้เห็นมหาสมุทร ก่อนที่จะได้ชมเพนกวินคิ้วเหลือง ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นการชมแบบธรรมชาติ ไม่มีการเสียค่าเข้าชมหรือมีเชือกกั้นแบบออสเตรเลีย เพียงนักท่องเที่ยวเดินลงบันไดไม้ไปตามโขดหินก็จะเจอบรรดานกเพนกวินแบบระยะใกล้ชิด จากนั้นก็สามารถเลาะไป ยังอินเวอร์คาร์เกิล และต่อไปยังเมืองบลัฟที่อยู่ใต้สุด ของนิวซีแลนด์ ตามเส้นดังกล่าวจะผ่านน้ำตก และทะเลสาบมากมาย ก่อนที่จะถึงมิลฟอร์ด ซึ่งปัจจุบัน สามารถเลือกที่จะล่องเรือค้างคืนได้ โดยเรือสำราญจะออกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนกลับมามิลฟอร์ด ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นสามารถเดินทางต่อไปยังเทอานาว ซึ่งเป็นเมืองริมทะเลสาบที่สวยมากเมืองหนึ่ง และสามารถต่อไปยังควีนส์ทาวน์ที่สวยงาม

ความสำเร็จของ Southern Scenic Route ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่คนไทยนิยมพูดกันว่าเอกชน เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในบ้านเราให้เจริญก้าวหน้า ผมเชื่ออย่างลึกๆ ว่าในทุกๆ ประเทศ ธุรกิจต่างนำการเมืองเพราะแม้แต่ในสหภาพยุโรปยังมีคำว่า Spill Over คือเศรษฐกิจรวมตัวกันแล้ว เดี๋ยวการเมืองก็ตามมาเอง แต่จุดนี้เรามักจะพูดถึงบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศ ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดเล็กแบบ SMEs ต่างต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์ได้แสดงให้เห็นจาก กรณี Southern Scenic Route ว่าคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งก็สามารถที่จะเคลื่อนไหวประเทศหรือแม้แต่โลกได้ ผมอาจจะบอกว่าทั้งหมดนี้ เกิดจากการพยายามช่วยตนเอง แบบ DIYs (Do it yourselves) แต่ผลที่ตามมาคือเคลื่อนรัฐบาลที่แสนจะอืดอาดให้คล้อยตามเพราะผลความสำเร็จของบรรดา SMEs และต่อมาได้ทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์หันมาเคลื่อนไหวให้โลกหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอีกหลายทศวรรษให้หลัง

เมื่อผมหันมามองบ้านเรา ผมก็เชื่อมั่นว่าถ้าคนไทยของเราพยายามที่จะทำสิ่งดีๆ แบบ DIYs โดยไม่พึ่งพารัฐ เราย่อมสามารถที่จะแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตามและผลของความสำเร็จย่อมทำให้รัฐหันมาร่วมมือเพราะเห็นความสำคัญเองโดยที่ไม่ต้องเรียกร้องหรือแสดงความผิดหวังว่ารัฐไม่เหลียวแลพุทธศาสนาของเราก็สอนมาก่อนที่ฝรั่งจะคิดคำว่า DIYs เสียอีกคือ อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนแลคือที่พึ่งแห่งตน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.