|
Microfinance การเข้าถึงทุนหรือหนี้
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ชีวิตคนยากคนจนมักมีแต่ทุกข์ซ้ำกรรมซัด ด้วยเหตุปัจจัยแห่งตนและปัจจัยภายนอก ปัจจัยแห่งตน มักได้แก่ ความไม่รู้ ความซื่อ ประมาท และโลภ ปัจจัยภายนอกที่เห็นได้ชัดคือความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างและความโลภของผู้อื่น การฆ่าตัวตายของคนยากจน 88 รายในรัฐอานธรประเทศของอินเดีย เพื่อหนีหนี้ Microfinance นอกจากจะเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ยังเป็นคำถามเปิดให้รัฐบาลอินเดียต้องเร่งสรุปบทเรียนและปรับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความยากจน
ในช่วงสองทศวรรษก่อน ประชากรราว 60 เปอร์เซ็นต์ของ อินเดีย เอื้อมไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบ ไม่ว่าจะออมทรัพย์หรือ กู้สินเชื่อ ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในชนบท เมื่อต้องการกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหรือใช้จ่ายฉุกเฉินในครอบครัว พวกเขามักหันไปพึ่งแหล่งเงินกู้นอกระบบ คนอินเดียเรียกเจ้าหนี้นอกระบบว่า ‘เบียจ’ หรือ ‘สูด-คอร์’ คำหลังนี้แปลว่าคนกินดอกเบี้ย เพราะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูบเลือดสูบเนื้อ 36-60 เปอร์เซ็นต์
ราวปี 1992 รัฐบาลอินเดียริเริ่มโครงการนำร่องที่เรียกว่า SHG (Self-Help Group) Bank Linkage Programme โดยอาศัยโครงสร้างของ SHG หรือกลุ่มแม่บ้านในชนบทที่มีอยู่เดิม โครงการนี้สนับสนุนให้สมาชิกแต่ละคนออมทรัพย์อย่างน้อย 30 รูปีต่อเดือน เพื่อใช้เงินดังกล่าวและสถานะของกลุ่มเป็นเครื่องค้ำประกัน ทำให้สามารถกู้สินเชื่อจาก ธนาคารได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12-15 แล้วจึงนำสินเชื่อนั้นมาปล่อยกู้ต่อในหมู่สมาชิกในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16-25 โดยอาศัยความเป็นกลุ่มตรวจสอบและกดดันซึ่งกันและกัน ให้ใช้จ่ายเงินกู้อย่างออกดอกออกผลและคืนเงินตรงตามกำหนด เพราะถ้าเสียเครดิตก็จะไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้อีก ปัจจุบันทั่วอินเดียมีกลุ่ม SHG ในลักษณะนี้ราว 11 ล้านกลุ่ม เฉพาะในรัฐอานธรประเทศมีอยู่ถึง 9.7 แสนกลุ่ม แต่ผลการวิจัยเมื่อกลางปีก่อน พบว่าสมาชิกของ SHG ในรัฐดังกล่าวกู้เงิน 3 ใน 4 จากแหล่งกู้อื่น
ราวกลางทศวรรษ 1990 Micro-finance ที่เรียกกันว่า ‘สถาบันการเงินชุมชนรายย่อย’ หรือ ‘ระบบการเงินในระดับจุลภาค’ ในที่นี้ขอเรียกทับศัพท์ว่าไมโครไฟแนนซ์ เริ่มดำเนินการในอินเดียโดยเฉพาะรัฐทางใต้ ช่วงแรกมีลักษณะคล้าย NGO ที่ออกสินเชื่อแก่คนยากจนเพื่อใช้เป็นทุนสร้างอาชีพ การศึกษาของบุตร หรือยกระดับสภาพความเป็นอยู่ ด้วยหลักคิดและหลักการคล้ายกับ Grameen Bank ของ Muhammad Yunus นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลชาวบังกลาเทศ ไมโครไฟแนนซ์ช่วยให้คนยากจน มือเปล่าที่ไม่มีอะไรมาใช้ค้ำประกัน สินเชื่อ ได้นำเงินกู้ก้อนเล็กไปใช้ลงทุน เช่น รับซื้อผักมาขาย เลี้ยงไก่ รับตัดเย็บเสื้อผ้า เข็นรถขายของ ฯลฯ
เมื่อเทียบกับแหล่งกู้อื่น ไมโครไฟแนนซ์เป็นแหล่งกู้ที่ง่ายและเร็ว ชาวบ้าน ที่สนใจจะเป็น ‘ลูกค้า’ อย่างที่เรียกกัน สามารถยื่นความประสงค์ เสียเวลาทำเอกสารไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถได้สินเชื่ออย่างน้อย 5,000 รูปีติดกระเป๋ากลับบ้าน โดยทั่วไปจะมีการเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นงวดรายสัปดาห์ โดยเจ้าหน้าที่จะมา ‘ให้บริการ’ เรียกเก็บถึงประตูบ้าน อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่างร้อยละ 24-36
จากการวิจัยพบว่าชนบทของอินเดียมีความต้องการสินเชื่อ ราว 5 แสนล้านรูปี เมื่ออุปสงค์มีมากขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าตลาดไมโครไฟแนนซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงปี 2006-2009 มีอัตราการเติบโตถึง 83 เปอร์เซ็นต์ หากวัดจากจำนวนลูกค้าหรือลูกหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 27 ล้านราย อินเดียถือเป็นตลาดไมโครเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเงินหมุนเวียนอยู่ราว 2.5 แสนล้านรูปี
หากเปรียบเทียบกับกรามีน แบงก์ของบังกลาเทศ อินเดียมีข้อด้อยตรงที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ไมโครไฟแนนซ์รับฝากเงินจากประชาชน นัยหนึ่งตัดช่องทางหาทุน ทำให้ไมโครไฟแนนซ์ต้องพึ่งแหล่งทุนในระบบ ส่งผลให้ต้องมีการแข่งขันทำยอด เพื่ออวดตัวเลขงามๆ สิ่งที่ตามมาคือการให้กู้แบบปูพรมพร้อมกับการทวงหนี้แบบเข้มข้น และหลงลืมเป้าหมายของการยกระดับความยากจน กลับกลายเป็นองค์กรที่มุ่งหากำไรในชั่วข้ามคืน
จากการแข่งขันที่มีอยู่สูง ทุกวันนี้ไมโครไฟแนนซ์ส่วนใหญ่ไม่ต่างอะไรจากเจ้าหนี้คนกลาง ที่กู้เงินจากสถาบันในระบบหรือดึงเงินจากตลาดทุนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10-12 มาปล่อยกู้แก่คนจนในอัตราร้อยละ 24-30 โดยไม่มีการตรวจประวัติผู้กู้ว่ากู้เกินกำลังหรือไม่ กู้จากแหล่งสินเชื่อกี่แห่ง ทั้งไม่ใส่ใจว่าผู้กู้นำเงินนั้นไปใช้ทำอะไร หากผู้กู้ชำระคืนเงินกู้ก้อนแรกได้ตามกำหนด ก็พร้อมจะปล่อยกู้รอบใหม่ในก้อนที่ใหญ่กว่าเดิม ผลด้านลบที่ตามมาคือคนจนจำนวนมากมีหนี้ท่วมหัว
ตัวอย่างเช่น Panchali Satyavva แม่บ้านลูกสองที่อยู่ดีๆ ก็มีคนมาเคาะประตูพร้อมข้อเสนอเงินกู้ก้อนเล็ก ที่เธอไม่ต้องลงแรงมากมายเพียงแต่โกหกเล็กๆ ว่ากำลังหาเงินมาซื้อจักรยานไว้ปั่นไปขายผักในเมือง ทั้งที่ถีบจักรยานไม่เป็น สามวันให้หลังเงิน 5,000 รูปี ก็มานอนอยู่ในกระเป๋าและหมดไปอย่างรวดเร็วกับเก้าอี้พลาสติก ของชำ เสื้อผ้าของลูก และจ่ายค่างวดเงินกู้ที่ค้างกับ SHG เพียงสัปดาห์ต่อมาก็มีไมโครไฟแนนซ์เจ้าใหม่มาเสนอเงินกู้ให้อีกก้อน ปัญชลีไม่รีรอที่จะรับ แล้วภายในเวลาห้าปี แม่บ้านลูกสองที่ไม่มีอาชีพหรือรายได้อย่างเธอก็มีหนี้สินรวมเกือบ 2 แสนรูปี ปลายเดือนตุลาคมปีก่อน ในวันที่เอเย่นต์จากไมโครไฟแนนซ์ 6 ราย เข้ามาข่มขู่และทวงหนี้ เธอกินยาฆ่าหนูหวังฆ่าตัวตาย เพื่อหนีปัญหา โชคดีที่เพื่อนบ้านมาพบและนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทัน ขณะที่ชาวบ้านอีก 88 รายในรัฐอันธรประเทศไม่โชคดีเช่นนี้
จากการสำรวจพบว่าในอำเภอ Someshwar ที่ปัญชลีอาศัยอยู่ ซึ่งมีประชากรวัยทำงานราว 600 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเหมืองหินรายได้เฉลี่ย 55 รูปีต่อวัน แต่มีหนี้สินเชื่อรวมกันถึง 20 ล้าน แสดงให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่ด้วยสินเชื่อและเงินกู้เป็นปัญหาที่ยากจะแก้และเรื้อรัง
Vijay Mahajan ผู้ก่อตั้ง Basix ไมโครไฟแนนซ์รายแรกของอินเดีย กล่าวว่าแม้เปอร์เซ็นต์การคืนสินเชื่อจะสวยหรูอยู่ระหว่าง 96-98 แต่เขาพบว่าผู้กู้ส่วนใหญ่ใช้สินเชื่อไปกับการจับจ่ายประจำวันมากกว่าการสร้างอาชีพ และบรรดาแม่บ้านจ่ายคืนค่างวดด้วยการหมุนเงินจากแหล่งกู้รายอื่น “แทนที่ไมโครไฟแนนซ์จะช่วยปลดหนี้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน เรากลับทำให้ปัญหาหนี้สินของพวกเขาหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น”
เมื่อมีการเปิดเผยตัวเลขคนฆ่าตัวตายหนีหนี้ไมโครไฟแนนซ์เมื่อปลายปีก่อน รัฐบาลท้องถิ่นของอานธรประเทศได้เร่งให้มีการตรวจสอบการทำงานของไมโครไฟแนนซ์และออกมาตรการ อาทิ ควมคุมเพดานดอกเบี้ย สั่งให้เปลี่ยนการจ่ายค่างวด จากรายสัปดาห์มาเป็นรายเดือน มีการประมวลประวัติผู้กู้ และห้ามการตามหนี้แบบเคาะประตูบ้าน แต่ Vijay Mahajan มองว่าความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจำเป็นต้องเกิดจากการปฏิรูปภายในของบรรดา บริษัทไมโครไฟแนนซ์เอง และยอมรับว่าการมุ่งหากำไรทำให้ไมโครไฟแนนซ์สูญเสียจิตวิญญาณและหลงทางจากเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม คำถามและคำตอบในเรื่องนี้คงต้องกลับไปตั้งต้นกันที่ความจำเป็นพื้นฐานของคนยากคนจน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|