ธุรกิจโรงพยาบาลไทยยุครวมตัวสู้ศึก “บำรุงราษฎร์” ยันกลยุทธ์โตเดี่ยว กลุ่ม รพ.กรุงเทพรับผลเด้ง 2 ต่อ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

แรงกระเพื่อมหลังจากกรุงเทพดุสิตเวชการ (บีจีเอช) หรือกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ ได้เข้าไปซื้อหุ้น ร.พ.บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (บีเอช) ในสัดส่วนถึง 11.11% รวมมูลค่า 2,717 ล้านบาท (แบ่งเป็นการซื้อหุ้นสามัญจำนวน 46,116,400 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.32% และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ (NVDR) จำนวน 35,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 4.79%)

ในช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับแวดวงธุรกิจโรงพยาบาลของไทยอีกครั้ง เพราะในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม ร.พ.ยักษ์ใหญ่รายนี้เพิ่งเข้าควบรวมกิจการกับกลุ่ม ร.พ.พญาไท ด้วยวงเงินกว่า 9,825 ล้านบาท

ทำให้กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพมีธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก 8 แห่ง จาก 2 เครือพญาไท และเปาโล จากเดิมที่มีธุรกิจโรงพยาบาลอยู่แล้ว 19 แห่ง จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช และบีเอ็นเอช ว่ากันว่า หากนับการควบรวมกิจการกับกลุ่ม ร.พ.พญาไท และการเข้าไปซื้อหุ้นใน ร.พ.บำรุงราษฎร์ ครั้งนี้ จะทำให้กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ มีขนาดสินทรัพย์ และรายได้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากโรงพยาบาลในออสเตรเลียทันที

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าไปซื้อหุ้นในครั้งนี้ของกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ จะสร้างความไม่พอใจให้กับ “เดนนิส บราวน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และทีมบริหาร เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ร.พ.บำรุงราษฎร์ ไม่ได้รับการติดต่อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทและกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด

ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ระบุถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้กับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการควบรวมกิจการในธุรกิจโรงพยาบาลของไทย และกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เขาอธิบายว่า การขยับธุรกิจในครั้งนี้ของกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ ได้แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยรูปแบบการให้บริการและฐานลูกค้าที่ครบวงจร พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเปิดรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 เพราะการซื้อหุ้นใน ร.พ.บำรุงราษฎร์ เมื่อรวมกับของเดิมที่ควบรวมกิจการกับกลุ่ม ร.พ.พญาไท จะทำให้การเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะที่ ร.พ.เปาโล ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนลูกค้าระดับกลางได้ดี

จากการทำวิจัยของบริษัทบอสตัน คอนเซ้าท์ติ้งกรุ๊ป พบว่า ในปี 2555 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ในไทยคิดเป็นมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของรายได้ทั้งโลก ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็เติบโตขึ้นปีหนึ่งมากกว่า 10% เพราะคนมีกำลังซื้อมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์บางแห่งเติบโตมากกว่า 25% ขณะที่ลูกค้าต่างชาติเข้ามามากกว่าปีละ 1.5 ล้านคน

แหล่งข่าวรายเดิมย้ำว่า กระแสการควบรวมจะเริ่มทยอยให้ห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ เพื่อเปิดรับตลาดอาเซียน โดยในอนาคตอาจจะเหลือโรงพยาบาลกลุ่มใหญ่เพียง 2-3 กลุ่มในเมืองไทย เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลใดไม่มีเครือข่ายคงจะลำบาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เกิดใหม่ ถ้าไม่มีเครือข่ายหรือพันธมิตรจะเสียเปรียบในการแข่งขันทันที เนื่องจากจะทำให้การต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นภาพพจน์ของการรับบุคลากร การจัดซื้อยา และเครื่องมือแพทย์ รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลและโนว์ฮาวต่างๆ จะสู้กับโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายไม่ได้

กระนั้น นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี แสดงความเห็นว่า การจับมือหรือการควบรวมกิจการโรงพยาบาลมีทั้งข้อดีและเสีย ข้อดีคือ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะการมีขนาดที่ใหญ่จะช่วยลดต้นทุน และแชร์เซอร์วิส รวมไปถึงเทคโนโลยีร่วมกันได้

แต่ข้อเสียคือ อาจจะทำให้ราคาในการรักษาเพิ่มขึ้นได้ เพราะถ้าโรงพยาบาลกลุ่มนี้สามารถคุมตลาดได้ก็จะกำหนดราคาได้ตามอำเภอใจ ขณะที่โรงพยาบาลเล็กจะแข่งขันได้ลำบาก แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นคนละตลาดกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ในมุมมองของหมอบุญมองว่าโรงพยาบาลไม่ควรมองแต่เรื่องธุรกิจมากเกินไป ควรจะมองถึงคนไข้เป็นสำคัญ

“ภาพของการควบรวมไม่ได้มีให้เห็นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศก็มีภาพนี้ให้เห็น อย่าง โรงพยาบาลในมาเลเซียก็หันไปซื้อโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ ในอินเดียก็มีเข้าไปซื้อคลินิกที่ฮ่องกง หรือในไทยเองขณะนี้ก็จะมีกลุ่มนักลงทุนกลุ่มโฟทีสกรุ๊ปจากอินเดียสนใจที่จะเข้ามาซื้อโรงพยาบาลในไทย”

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรีไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวม เนื่องจากจับตลาดล่าง และสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี นอกจากนี้ คุณภาพของการรักษาก็ไม่แพ้ระดับบนแต่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ถึง 30% และการที่ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะถ้าเข้าตลาดต้นทุนจะสูงไปด้วย

ปัจจุบันโรงพยาบาลธนบุรีในกรุงเทพฯ มี 2 สาขา คือ ธนบุรี 1 และ 2 จำนวน 2,200 เตียง โดยปีนี้ธนบุรี 2 จะลงทุนเพิ่มเติม 500 ล้านบาท ส่วนต่างจังหวัดมี 15-16 แห่ง โดยไม่ได้ใช้ชื่อธนบุรีเพียงอย่างเดียวใช้ชื่ออื่นด้วย เช่น ราชยินดี ที่หาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังรับบริหารให้กับโรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ต จำนวน 140 เตียง ซึ่งปีนี้จะลงทุนเพิ่ม 50 ล้านบาท และโรงพยาบาลตำรวจแผนกอินเตอร์ โดย ร.พ.มีรายได้จากการรับจ้างบริหารปีละ 100 กว่าล้านบาท

ส่วนการขยายตัวในต่างประเทศมีการขยายตัวไปจีน โดยไปร่วมทุนกับกลุ่ม Wjing ของทหาร เพื่อทำโรงพยาบาล 2 แห่ง และร่วมทุนกับกลุ่มเอกชนอีก 1 แห่ง ซึ่งหมอบุญบอกว่าจากนี้ไปธนบุรีจะบุกตลาดจีนมากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมาก และมีโอกาสในการเข้าทำตลาดสูง และการที่ประเทศไทยนั้นเตียงมีปริมาณมากกว่าคนไข้ ทำให้ ร.พ.หลายแห่งหันไปขยายตัวที่จีนไม่น้อย

ทว่า ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การแข่งขัน รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับให้มุมมองว่า การเข้าซื้อหุ้นหรือการควบรวมกิจการของ ร.พ.ในปัจจุบันถือว่ามีปริมาณที่มากเกินไปแล้ว เพราะจะส่งผลให้ ร.พ.กลายเป็นธุรกิจจนเกินไป นอกจากนี้ การควบรวมกิจการกันหรือสร้างเป็นเครือจะทำให้เกิดภาพคล้ายกับการฮั้วกัน คือไม่มีการแข่งขันกันก็เหมือนกับฮั้วกันแล้ว และเชื่อว่าภาพแบบนี้จะมีให้เห็นอยู่อีกเรื่อยๆ โดยอาจจะเป็นเครืออื่นๆ อย่าง เครือโรงพยาบาลปิยะเวท

“การควบรวมกิจการ การซื้อหุ้นของ ร.พ.ในต่างประเทศไม่มีรูปแบบนี้ ผมอยู่ยุโรปมาหลายสิบปีไม่มีภาพแบบนี้เกิดขึ้นเลย โดนส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ควรมีการผูกขาดหรือรวมตัวกันแบบนี้ แต่ ร.พ.ควรจะเป็นแบบเดี่ยวๆ เพื่อจะได้แข่งขันกัน”

ด้าน เดนนิส บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) เปิดเผยถึงกรณีบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของทุนจดทะเบียนว่า เป็นการเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตามปรกติ ซึ่งการซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงทิศทางใหม่และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือเป็นการครอบงำกิจการ และไม่ได้มีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดการ

ส่วนการเข้ามาถือหุ้นดังกล่าวจะนำไปสู่การควบรวมกิจการในอนาคตหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 กลุ่มว่าจะตัดสินใจอย่างไรในอนาคต ซึ่งในฐานะฝ่ายบริหารไม่สามารถตอบได้ แต่ปัจจุบันทาง รพ.บำรุงราษฎร์มีศักยภาพทั้งทางด้านบุคลากรและฐานะทางการเงินในการดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องควบรวมกิจการกับกลุ่มใด แม้จะมีการเปิดเสรีอาเซียนแล้วก็ตาม ก่อนหน้านี้ตนก็เคยบริหารงานโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามาก่อน ซึ่ง ร.พ.ในสหรัฐฯ สามารถดำเนินธุรกิจไปได้โดยที่ไม่มีเครือข่าย

อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่ม ร.พ.กรุงเทพจะส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นทางการได้หรือไม่นั้น จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนกว่า 50% ในการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 24 ก.พ.นี้ ในฐานะฝ่ายบริหารก็จะไม่บรรจุประเด็นเกี่ยวกับการเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวเข้าเป็นวาระการประชุม แต่หากผู้ถือหุ้นต้องการทราบข้อมูลก็พร้อมจะชี้แจง

ในแง่ของศักยภาพในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องควบรวมกับใคร และในขณะนี้กำลังวางแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ในฮ่องกง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเปิดประมูลในปี 2555 ส่วนธุรกิจในประเทศปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 10% จากปีก่อน ตามการขยายตัวของยอดคนไข้ที่เข้ารับการรักษา

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ร.พ.บำรุงราษฎร์มีความชำนาญในการรับบริหาร ร.พ.อยู่แล้ว เพราะรับบริหารอยู่ที่อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม จีน อินเดีย

เบื้องลึก ร.พ.กรุงเทพย่องซื้อบำรุงราษฎร์
แผนเพิ่มมูลค่าหุ้น+รับมือเปิดเสรี

เป็นที่รู้กันว่าการซื้อหุ้นบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยใช้เงินกว่า 2.7 พันล้านบาท นั้น ได้สร้างความไม่พอใจต่อผู้บริหาร ร.พ.บำรุงราษฎร์ เพราะกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพไปซื้อหุ้นในตลาดก่อนที่จะมีข้อตกลงร่วมกัน

มีการวิเคราะห์กันว่า ปฏิบัติการรุกคืบในครั้งนี้ของกลุ่ม ร.พ.กรุงเทพ ต้องการนำไปสู่การเพิ่มขนาดเครือข่ายให้กลายเป็นเครือโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตามนโยบายของ “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศวิสัยทัศน์ เมื่อครั้งที่ควบรวมกิจการเครือ ร.พ.กรุงเทพ และกลุ่ม ร.พ.พญาไท

ทว่า “วิชัย ทองแตง” ประธานกรรมการ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) กลับวิเคราะห์ว่า การเข้าไปซื้อหุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นการซื้อเพื่อลงทุนอย่างหนึ่ง เนื่องจากปริมาณหุ้นที่ซื้อไม่ได้มากแค่ 11% เท่านั้นเอง ไม่ใช่การเข้าไปซื้อเพื่อสร้างเครือข่าย หรือเทกโอเวอร์เพราะบำรุงราษฎร์ใหญ่เกินไป และการควบรวมจะต้องถือหุ้นมากกว่า 50% เหมือนกับเมื่อปลายปี 2553 ที่เครือ ร.พ.กรุงเทพเข้ามาควบรวมกิจการ ร.พ.พญาไท โดยถือหุ้น 66% ซึ่งปัจจัยที่เครือ ร.พ.กรุงเทพเลือกซื้อ ร.พ.บำรุงราษฎร์ เนื่องจากมีผลประกอบการดี มีชื่อเสียงดีเยี่ยมมาโดยตลอด นอกจากนี้ มองว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศมากกว่า

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการธุรกิจโรงพยาบาลอีกรายหนึ่ง ระบุว่า การซื้อหุ้นของ ร.พ.กรุงเทพครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญในลักษณะของ Money Game ลักษณะสร้างวอลุ่ม เพราะจะสะท้อนกำไรหุ้นของ ร.พ.กรุงเทพเอง เนื่องจากจิตวิทยาพาไป สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีกระแสข่าว ร.พ.กรุงเทพลงทุนในกิจการใดๆก็แล้วแต่ มูลค่าหุ้นของ ร.พ.กรุงเทพจะสูงขึ้นมาทันที

หากย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่า ร.พ.กรุงเทพได้มีการลงทุนหรือเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลต่างๆ ในลักษณะนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ร.พ.รามคำแหงที่เข้าไปถือหุ้นถึงกว่า 30% ร.พ.กรุงธน 16% หรือกลุ่มพญาไทที่ก่อนจะควบรวมกิจการก็ถืออยู่ถึง 19% หรือล่าสุดเข้ามาถือหุ้นบำรุงราษฎร์ถึง 11%

ทั้งนี้ในเดือน ธ.ค.53 ราคาหุ้น ร.พ.กรุงเทพ ก่อนที่จะควบรวมกับกลุ่ม ร.พ.พญาไท ราคาหุ้นอยู่ในระดับ 38 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อควบรวมกันแล้วก็ขึ้นมาอยู่ที่ระดับราคา 47 บาทต่อหุ้น และขึ้นมาอยู่ที่ 54 บาทต่อหุ้นในช่วงนี้

เขากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยุทธศาสตร์การลงทุนของเครือ ร.พ.กรุงเทพในลักษณะโฮลดิ้ง คอมปะนี ยังช่วยเป็นเกราะป้องกันในกรณีที่ต่างชาติจะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการในราคาถูกๆ อีกด้วย จากเดิมที่ผู้ก่อตั้งถือหุ้นในลักษณะของเบี้ยหัวแตกประมาณ 10-20% ซึ่งจะคุมเสียงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นโฮลดิ้ง คอมปะนีจะทำให้มาร์เกตแคปใหญ่ แชร์โฮลเดอร์มีความมั่นคงแข็งแรง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.