ตลาดมือถือเปลี่ยนครั้งใหญ่“โนเกีย” กร้าว ท้าทำ “สงคราม”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นการวิเคราะห์และมองตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้นของ ชูมิท คาร์พูร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด

ก่อนหน้านี้ สตีเฟ่น อีลอป ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนเกีย กล่าวว่า “โนเกียกำลังอยู่บนทางแยกแห่งวิกฤต ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้โนเกียสามารถเดินต่อไปได้”

ช่วงเวลาที่โนเกียกำลังเขียนปฐมบทใหม่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ในการนำวินโดวส์โฟนมาเป็นระบบปฏิบัติการหลักบนสมาร์ทโฟนของโนเกียนั้น กว่าผู้บริโภคทั่วโลกจะเริ่มได้สัมผัสกับโนเกียวินโดวส์โฟนตัวแรกน่าจะเป็นปี 2555 โดยจะได้เห็นผลิตภัณฑ์โนเกียวินโดวส์โฟนในช่วงปลายปีนี้

ช่วงเวลาก่อนที่จะถึงฤกษ์การคลอดโนเกียวินโดวส์โฟน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่โนเกียต้องงัดกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์เด็ดๆ ที่มีอยู่ในมือมาขับเคี่ยวกับบรรดาคู่แข่งขันตัวฉกาจที่จ้องจะดูดสิ่งที่โนเกียครอบครองในตลาดทั่วโลกมาไว้ในมือให้ได้มากที่สุด และหากเป็นเช่นนั้นจริงโนเกียจะยิ่งตกอยู่ในสถานการณ์เสือลำบากอย่างแน่นอน

“เราเชื่อว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ดีพอ มีกลยุทธ์ที่ดีพร้อม ที่จะรักษาความเป็นผู้นำของโนเกียในตลาดในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ได้” ชูมิท คาร์พูร์ กล่าวอย่างมั่นใจ

โนเกียหวังว่าผู้บริโภคจะไม่ชะลอการตัดสินใจซื้อมือถือโนเกียเพื่อรอมือถือโนเกียที่มาพร้อมกับวินโดวส์โฟน โดยเชื่อว่าระบบปฏิบัติการซิมเบียนยังสามารถทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนตลาดให้กับโนเกียในช่วงปีนี้ได้

จุดแข็งของโนเกีย ณ วันนี้ คือ การเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง การที่โนเกียทำธุรกิจเกือบทุกประเทศทั่วโลก การมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุม และการที่โนเกียมีความสัมพันธ์ที่ดีของผู้ให้บริการโทรศัพท์ในแต่ละประเทศทั่วโลก

ความได้เปรียบของโนเกียจึงยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาการเพลี่ยงพล้ำของโนเกียให้กับคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นไอโฟน ซัมซุง แอลจี แบล็กเบอร์รี่ ที่สามารถเจาะยางอันแข็งแกร่งให้ยางแบนลงได้ โนเกียจึงไม่ได้อยู่บนหอคอยที่สูงลิบเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมา

ยิ่งสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมายในขณะนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้าให้โนเกียและแบรนด์อื่นๆ ต้องรีบสปีดติดหัวรบ เพื่อสอยฝ่ายตรงข้ามให้ราบเป็นหน้ากลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสมาร์ทโฟน

ชูมิท คาร์พูร์ มองว่าวันนี้สถานการณ์ในตลาดมือถือได้เปลี่ยนแปลงเพราะสมาร์ทโฟนเติบโตเร็วมาก การแข่งขันไม่ใช่การแข่งขันระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างราคากับราคาของแต่ละแบรนด์อีกต่อไป แต่การแข่งขันจะเปลี่ยนมาสู่เรื่องของอีโคซิสเต็มส์

การแข่งขันในตลาดมือถือจะแข่งขันด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ดีไวซ์ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชั่น ที่จะผสานรวมกันเป็น “โซลูชั่น” ทำให้มือถือแต่ละค่ายขายจุดที่แตกต่างกันในเรื่องโซลูชั่นที่จะนำเสนอให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

ก่อนที่โนเกียจะมาจับมือกับไมโครซอฟท์ โนเกียมีทาง 3 แพร่งให้เลือกเดิน คือ 1.เดินหน้าพัฒนาด้วยตนเองต่อไป 2.การมองไปที่ 2 อีโคซิสเต็มส์อย่างแอปเปิลและแอนดรอยด์ และ 3.การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่าง

โนเกียเลือกแนวทางที่สามคือการร่วมมือกับไมโครซอฟท์ โดยนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาผนึกร่วมกัน ซึ่งเมื่อระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟนมาเป็นแพลตฟอร์มหลักของสมาร์ทโฟนโนเกีย โนเกียจะขับเคลื่อนอนาคตโดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งฮาร์ดแวร์ การเลือกสรรซอฟต์แวร์ ภาษาที่รองรับและขีดความสามารถในการผลิตและเข้าถึงตลาด

นอกจากนี้โนเกียและไมโครซอฟท์จะรวมบริการเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น Nokia Maps จะเป็นส่วนสำคัญของบริการเด่นของไมโครซอฟท์ อย่าง Bing และ AdCenter แอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ของโนเกียจะผนวกรวมเข้ากับไมโครซอฟท์มาร์เกตเพลส

ในส่วนของซิมเบียนจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้บริการในรูปแบบแฟรนไชส์เพื่อสร้างเพิ่มให้กับการลงทุนที่ได้ทำไปแล้ว กลยุทธ์จะสร้างโอกาสในการรักษาและการส่งผ่านผู้ใช้แพลตฟอร์มซิมเบียนกว่า 200 ล้านคน ทั้งนี้ โนเกียยังคงมีแผนการที่จะขายโทรศัพท์ซิมเบียนอีกกว่า 150 ล้านเครื่องต่อไปในอนาคต

“ปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์ซิมเบียนโฟนวางจำหน่ายในตลาดอย่างแน่นอน และจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นและจุดขายที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้เลือกซื้อ”

ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ MeeGo จะกลายเป็นโครงการระบบปฏิบัติการสำหรับการสื่อสารเคลื่อนที่แบบโอเพ่นซอร์ส โดยมุ่งเน้นที่การสำรวจเพื่อพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารและแพลตฟอร์ม รวมถึงประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคสำหรับยุคหน้า โดยโนเกียยังวางแผนที่จะส่งผลิตภัณฑ์ MeeGo เข้าสู่ตลาดในปีนี้

สำหรับฟีเจอร์โฟน โนเกียจะใช้นวัตกรรมและความแข็งแกร่งในตลาดที่กำลังเติบโตเพื่อเชื่อมต่อผู้คนอีกพันล้านคนให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและให้ประสบการณ์ในการใช้งานแอปพลิเคชั่น

“เราเชื่อว่าอีโคซิสเต็มส์จะทำให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด”

ชูมิท คาร์พูร์ ย้ำว่าสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้เห็นและสัมผัสกับโนเกียวินโดวส์โฟนเครื่องแรกคือ เรื่องของสเปกที่จะสูงที่สุดในตลาดมือถือ นอกจากนี้โนเกียยังทำให้เทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มวินโดวส์โฟนมีราคาย่อมเยาลง ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

หัวใจในการวางตลาดผลิตภัณฑ์ของโนเกียในอนาคต ยังยึดเรื่องของการวางโพซิชันนิ่งของผลิตภัณฑ์ในแต่ละรุ่นที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เข้ากับแต่ละไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้มือถือ โดยเชื่อว่าผู้บริโภคไม่ได้คำนึงถึงว่ามือถือรุ่นนั้นๆ จะใช้ระบบปฏิบัติการใด แต่จะให้ความสำคัญตรงที่ว่ามือถือเครื่องนั้นใช้งานอะไรและตอบโจทย์การใช้งานที่โดนใจมากกว่า

สองเกาหลีสุดอันตราย

ซัมซุงและแอลจี คือคู่แข่งขันที่สุดอันตรายของโนเกียในวันนี้ เพราะทั้งสองค่ายไล่เก็บส่วนแบ่งที่โนเกียทำตกลงตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และมาในปีนี้ทั้งซัมซุงและแอลจียังวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ค่อนข้างมากด้วย

เป้าหมายของ “ซัมซุง” คือการขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งแซงหน้า “โนเกีย” ให้ได้ในปีนี้

เป้าหมายของ “แอลจี” คือการขึ้นเป็นท็อปทรีในตลาดมือถือเมืองไทย

“เราจะโค่นบัลลังก์เบอร์หนึ่งที่ชื่อโนเกียให้ได้” เป็นคำประกาศกร้าวของ วิชัย พรพระตั้ง ผู้อำนวยการธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

แนวทางการทำตลาดเพื่อก้าวสู่เบอร์ 1 ของซัมซุงในปีนี้ ซัมซุงจะเน้นทำตลาดทุกระดับตั้งแต่ตลาดล่างไปจนถึงไฮเอนด์แบบสุดๆ แต่จะให้ความสำคัญกับตลาดสมาร์ทโฟน เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่กำลังมา

ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ของซัมซุงอย่างสมาร์ทโฟนสุดอัจฉริยะ “ซัมซุง กาแล็คซี่ เอส ทู” น่าจะทำให้ซัมซุงยิ่งติดตลาด โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้ที่นิยมแอนดรอยด์โฟน หลังจากซัมซุงกาแล็คซี่เอสตัวแรกทำยอดขายได้มากกว่า 10 ล้านเครื่องทั่วโลก

ซัมซุงกาแล็คซี่เอสทูใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.3 หรือจิงเจอร์เพลด ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับความนิยมทั่วโลก พร้อมชิปประมวลผลดูอัลคอร์ เร็วมากขึ้นจากเดิมเกือบ 2 เท่า และมีคุณสมบัติเด่นมากมาย อาทิ การแสดงผล 3D การเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ติดขัด ผ่านการโหลด กูเกิล ยาฮู และยูทูบที่เร็วขึ้นถึง 30% หน้าจอ Super AMOLED Plus ขนาดใหญ่ถึง 4.27 นิ้ว

นอกจากนี้ ซัมซุงกาแล็คซี่เอสทูยังเป็นโทรศัพท์รุ่นแรกในการนำเสนอแอปพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากซัมซุง “ซัมซุงฮับ” เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานทุกๆ ด้าน อาทิ Social Hub Premium ศูนย์สังคมออนไลน์ Reader’s Hub ห้องสมุดเคลื่อนที่ Game Hub และ Music Hub

สำหรับแอลจีเน้นการทำตลาดก่อนค่ายมือถือรายอื่นด้วยนวัตกรรมครั้งแรกของโลก

“เราจะทำตลาดด้วยนวัตกรรมที่เป็นครั้งแรกในโลก” สมศักดิ์ อธิศัยตระกูล ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

แอลจีวางกลยุทธ์ในการทำตลาดปีนี้ด้วยการรุกตลาดสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟนแบบครบทุกเซกเมนต์ โดยที่สมาร์ทโฟนจะใช้ชื่อ “Optimus” ในการทำตลาด ส่วนตลาดฟีเจอร์โฟนจะใช้ชื่อ “Wink” ในการทำตลาด

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในส่วนของฟีเจอร์โฟนนั้น แอลจีมุ่งเน้นการทำตลาดมือถือแบบหน้าจอสัมผัสและ QWERTY เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเลือกซื้อที่เน้นการใช้งานถ่ายรูป เล่นเฟซบุ๊ก ฟังเพลง มีไลฟ์สไตล์ชอบใช้งานอินเทอร์เน็ต แอลจีได้เตรียมมือถือ LG Wink ไว้ถึง 20 รุ่นในการทำตลาดในช่วงครึ่งปีแรกนี้

สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนแอลจีมองว่าจะมีการเติบโตไม่น้อยกว่า 100% ทำให้แอลจีเตรียมผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนที่จะบุกตลาดโดยมุ่งไปที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เพียงระบบเดียวเท่านั้น เนื่องจากเป็นระบบปฏิบัติการที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด

ไฮไลต์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่จากแอลจีที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ประกอบด้วยสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของโลกที่มาพร้อมหน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ ในรุ่น LG Optimus 2X ทำให้มือถือมีประสิทธิภาพการทำงานที่รวดเร็วเหนือมือถือระดับไฮเอนด์ในปัจจุบัน ทั้งการท่องอินเทอร์เน็ต และการใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมทั้งการเล่นเกมกราฟิก 3 มิติ และยังเป็นเครื่องแรกที่บันทึกและรองรับการแสดงผลระดับ Full HD ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

LG Optimus Black เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อมจอภาพ NOVA Display ที่มีความสว่างที่สุดในตลาด แต่ประหยัดพลังงานกว่าถึง 30-50% เมื่อเทียบกับจอภาพในมือถือทั่วไป พร้อมกล้องดิจิตอลด้านหน้าที่มีความละเอียดที่สุดถึง 2 ล้านพิกเซล และยังมีสมาร์ทโฟน LG Optimus ME สมาร์ทโฟนที่ใช้งานง่าย ฟีเจอร์ครบในราคาสุดคุ้ม

สำหรับค่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอชทีซี โซนี่ อีริคสัน หรือแม้แต่โมโตโรล่าก็มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ออกมาช่วงชิงตลาดเช่นกัน

ส่วนไอโฟนจากแอปเปิลมีข่าวลือออกมากับตัวไอโฟนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ที่จะมีราคาต่ำลงและมีรุ่นให้เลือกซื้อมากกว่าหนึ่งรุ่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง น่าจะทำให้ไอโฟนมีการเติบโตในกลุ่มผู้ใช้งานวงกว้างมากยิ่งขึ้น และจะมีส่วนทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.