|
สกัดนินเทนโด โซนี่ลดราคาเพลย์สเตชั่น
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มีนาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการเครื่องเล่นวิดีโอเกมของโลกเคยเป็นตลาดของนินเทนโดและโซนี่มานานหลายปี จึงไม่แปลกใจที่การแข่งขันระหว่างนินเทนโดกับโซนี่จึงเป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะล่าสุดนี้โซนี่ คอมพิวเตอร์ เอนเตอร์เทนเมนต์ อเมริกา ตัดสินใจตัดราคาเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น ลงมาถึง 24% ก่อนที่นินเทนโดจะเปิดตัวเครื่องเล่นพกพาใหม่ นิว 3DS เพียง 1 เดือน
กลยุทธ์ของโซนี่ที่ตั้งใจปรับลดราคาเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น PSP ลงมาให้ต่ำกว่านินเทนโดถึงครึ่งหนึ่ง ก็คงมาจากความเชื่อว่าลูกค้าจะต้องคิดแล้วคิดอีกกว่าจะซื้อของแพงอย่างนินเทนโด อีกหรือไม่ แม้แต่เกมเมอร์ที่เป็นสาวกของทางนินเทนโดเองก็ตาม
นับจากเปิดตัวเครื่องเล่น PSP มาตั้งแต่ปี 2005 หรือ 6 ปีมาแล้ว สามารถสร้างยอดการจำหน่ายได้ถึง 23 ล้านเครื่อง เฉพาะในอเมริกาเหนือ และกว่า 67.8 ล้านเครื่องทั่วโลก ขณะที่นินเทนโด ออกมาเป็นโมเดลที่หลากหลายกว่าของ DS ทำให้ยอดการจำหน่ายทั่วโลกพุ่งขึ้นไปเป็น 145 ล้านเครื่อง
ทั้งนี้ การตัดสินใจของโซนี่ในการปรับลดราคามาจาก
ประการแรก เพื่อสร้างความสนใจจากลูกค้าให้กลับมาเหลียวดูแบรนด์ PSP ของโซนี่อีกครั้ง หลังจากละความสนใจมานาน ซึ่งเข้าตามแผนของโซนี่ ที่กำลังจะปรับผลิตภัณฑ์สู่ระบบใหม่ของตนในไม่ช้านี้ถือว่าเป็นทายาทรุ่นต่อไปของเครื่องเล่น จาก PSP สู่รุ่นใหม่ที่เรียกว่า “Next Generation Portable” ซึ่งคงจะวางห้างค้าปลีกก่อนสิ้นปีนี้
ประการที่สอง เพื่อเรียกร้องความสนใจของลูกค้าด้วย PSP ที่มีราคาถูกกว่านินเทนโดเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว โซนี่ ก็ทำการเพิ่มเกมใหม่เพื่อเล่นกับอุปกรณ์อีกถึง 13 เกม ด้วยระดับราคาที่ถูกเพียง 10-20 ดอลลาร์ เท่านั้น โดยเกมที่ออกใหม่ขายแบบลดราคานี้ รวมถึงเกม Toy Story 3 เกม Metal Gear Solid : Peace Walker
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนินเทนโดจะไม่ได้แสดงความวิตกกังวลต่อความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ของโซนี่แม้แต่การตัดราคาขายต่อหน่วยดังกล่าว แต่ค่อนข้างจะระมัดระวังและติดตามการดำเนินงานของคู่แข่งรายแอปเปิลมากที่สุด
ทั้งนี้เพราะแอปเปิลทำท่าว่าจะเอาจริงกับการขยายบทบาทในตลาดวิดีโอเกมหลังจากที่ตลาดวิดีโอเกมสั่นสะเทือนด้วยเกมฮิต ชื่อ Angry Birds ไปแล้ว และกำลังตามมาติดๆ ด้วย Infinity Blade
นอกจากนี้ การที่ไอโฟน ไอพอด และไอแพดอุปกรณ์ที่ใช้เล่น เกมของแอปเปิลขายได้ทั่วโลกกว่า 120 ล้านเครื่องไปแล้วทั่วโลก ก็ยังเป็นคู่แข่งขันและภัยคุกคามเจ้าตลาดเกมเพลย์สเตชั่นเดิมอย่างนินเทนโด และโซนี่
นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่นินเทนโดตัดสินใจปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ เครื่องเล่นในไลน์ DS จะเปลี่ยนเป็นระบบ 3DS แทน
กลุ่มที่สอง คือ เครื่องเล่นวี (Wii) เริ่มถึงอายุหรือทำท่าจะล้าสมัยแล้ว คงต้องการทายาทออกใหม่เช่นเดียวกันของไมโครซอฟท์และโซนี่ ที่ปรับตัวออกไปสู่ Motion-gamins System หรือ เกมที่ใช้อารมณ์ในการควบคุมการเล่นกันแล้ว
นักวิเคราะห์ทางการตลาดบางคนเชื่อว่าในไม่ช้า สภาพการแข่งขันนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป มิฉะนั้นจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งนินเทนโดและแอปเปิลเอง ถึงกับมีบางคนพยากรณ์ว่าในอนาคต นินเทนโด อาจจะใช้ความถนัดของตนเองสร้างความยั่งยืนของธุรกิจด้วยการหันไปผลิตเกมให้กับเครื่องเล่นไอโฟนและตระกูลไอ อื่นๆ ของแอปเปิล เพราะถึงทุกวันนี้ยังมีเกมเมอร์ที่เป็นสาวกของเกม ซูเปอร์มาริโอ กันไม่ใช่น้อย เพื่อรวมกันเราอยู่ แยกกันล่มสลาย
เหตุผลสำคัญที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าจะมีการรวมตัวกันเพื่อผลักดันธุรกิจแทนที่จะมัวแต่แข่งขันกัน ก็คือ
ประการแรก ลูกค้าที่ยินดีที่จะซื้อเกมใหม่ๆ ในราคาถูกๆ มีอยู่นับล้านในโลกนี้ หากขยายตลาดออกไปเป็นตลาดระดับมวลชนหรือ Mass ได้ ราคาเกมละ 3-5 ดอลลาร์ ก็สามารถทำรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่กิจการแล้ว
ประการที่สอง การร่วมมือกับแอปเปิลในการผลิตเกมใหม่ๆ ป้อนอุปกรณ์โมบายอย่างไอโฟนจะช่วยขยายพรมแดนของความรู้ความสามารถของนินเทนโดในด้านการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้นินเทนโดสามารถต่อยอดธุรกิจออกไปได้อีกมากมายและในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น
ประการที่สาม กลยุทธ์การร่วมมือกันและสามารถขยายการเติบโตทางธุรกิจได้ มีส่วนช่วยให้ทินเทนโดไม่ต้องเสียหน้าในทางธุรกิจ ไม่ต้องเก็บเกมเพลของตนเข้ากรุด้วย และจะช่วยให้ได้น้ำข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจบนอุปกรณ์โมบายที่นินเทนโดอาจจะยังไม่กระจ่างชัด และนำเอาพฤติกรรมการเล่นเกมบนโมบายเหล่านี้เป็นข้อมูลในการพัฒนาธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นใจ
หากผู้ประกอบการอย่างนินเทนโดจะอยู่แบบโดดเดี่ยวบนโลกเครื่องเล่นเกมแบบดั้งเดิมต่อไป ก็อาจจะสายเกินไปในการปรับตัว เมื่อตลาดสมาร์ทโฟนตอนนี้ทำท่าว่าจะเติบโตอย่างคาดไม่ถึง เพียงแค่ไอโฟนโอเอสตัวเดียวก็พัฒนาส่วนแบ่งตลาดสหรัฐขึ้นมาเป็น 5% ของรายได้ซอฟต์แวร์วิดีโอเกมทั้งหมดเริ่มจากเพียง 1% ในปีก่อนหน้านี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|