แบงก์แลนด์ฯ เร่งขยายสินเชื่อธุรกิจ รองรับขยับชั้นสู่แบงก์พาณิชย์เต็มตัว


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 มีนาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ภารกิจด่วนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ ที่ต้องเร่งทำในเวลานี้ คือ การยกระดับจากธนาคารรายย่อยเป็นธนาคารพาณิชย์ และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในไตรมาส 2 หลังจากที่ต้องชะลอแผนมาหลายครั้ง เนื่องจากปัจจัยภายนอกไม่เอื้ออำนวย แม้ธนาคารจะมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งจำนวนทุนจดทะเบียนเป็นไปตามเกณฑ์เพื่อขอเป็นธนาคารพาณิชย์ และได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปแล้วก็ตาม หากสถานการณ์ต่อจากนี้ไม่พลิกผัน แบงก์แลนด์ฯ สามารถเดินตามแผนที่ตั้งไว้ทั้งหมด ภายในปี 2556 ธนาคารจะมีสินทรัพย์รวม 145,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 33% จากปี 2548 ที่ธนาคารเริ่มดำเนินธุรกิจเป็นปีแรก และมีมาร์เก็ตแชร์ 1-1.2% ของการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.8%

ปัจจุบันธนาคารมีขนาดสินทรัพย์อยู่ในอันดับที่ 14 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยผลประกอบการในปี 2553 มีสินทรัพย์รวม 62,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.6% โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เติบโตสูงกว่า 100.8% ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อธุรกิจต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 38% ของสินเชื่อรวมในปี 2553 มีหนี้ด้อยคุณภาพ 1.46% ซึ่งต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ และได้กันสำรองหนี้สูญในสัดส่วน 142.8% มีเงินฝากและตั๋วแลกเงินรวม 44,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% แบ่งเป็นเงินฝาก 27,089 ล้านบาท ตั๋วแลกเงิน 11,772 ล้านบาท มีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน 94.7% เพิ่มขึ้น 84.7% เป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีอย่างก้าวกระโดด และมีจำนวนลูกค้าเงินฝากเพิ่มขึ้น โดยลูกค้ารายย่อยที่มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวน 11,574 ราย คิดเป็น 91.5% ของจำนวนผู้ฝากเงินทั้งหมด ซึ่งมาจากการออกแคมเปยเงินฝากที่ตรงใจลูกค้า

ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 49% โดยมาจากการขยายตัวของสินเชื่อและเงินลงทุน ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากฐานลูกค้าเก่าและใหม่ ส่งผลให้กำไรสุทธิก่อนภาษีต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มจาก 0.94% ในปี 2552เป็น 1.06% ในปี 2553

ศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย กล่าวว่า กระบวนการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์และกระบวนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เพิ่มเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในสัดส่วน 14-15% คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมลดลงรายละ 15% ทั้งสองเรื่องเป็นกระบวนการที่จะดำเนินการควบคู่กันไป โดยกระบวนการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงการหลังพิจารณา ก่อนจะส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์จะมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่าการเป็นเพียงธนาคารเพื่อรายย่อย แผนธุรกิจของธนาคารหลังจากที่ได้รับการยกระดับแล้ว จะเริ่มขยายธุรกิจสู่การปล่อยสินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น เช่น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำ และกลุ่มที่เป็นช่องว่างตลาด ซึ่งสินเชื่อทั้งระบบรวม 8 ล้านล้านบาท แต่ธนาคารยังมีสัดส่วนในกลุ่มนี้ไม่มากนัก

นอกจากนี้ในปี 2556 เป็นปีที่ธนาคารตั้งเป้าจะเป็น 1 ใน 5 ผู้นำในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซี่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเป็นเจ้าตลาดอยู่ โดยแบงก์แลนด์ฯ มองว่า ไม่ใช่การเป็นผู้นำในแง่เม็ดเงินสินเชื่อ แต่หมายถึงในแง่ Top of Mind ที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่อต้องการซื้อบ้าน โดยจะเน้นเรื่องความแตกต่างของการให้บริการและเงื่อนไข เช่น บริการสินเชื่อดิลิเวอรี่ถึงบ้าน กู้นาน 40 ปี ผ่อนชำระได้ยาวจนผู้กู้อายุถึง 70 ปี เป็นต้น ไม่ใช้การแข่งขันด้านราคา เติบโตจากลูกค้าใหม่มากกว่าการรีไฟแนนซ์ และธนาคารมีแผนจะแตกไลน์สินเชื่อไปสู่กลุ่มธุรกิจใกล้เคียง เช่น ผู้รับเหมา จากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อบ้านเท่านั้น โดยมีสัดส่วน 60% ของพอร์ต

แผนในปี 2554 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% และขยายฐานเงินฝากโดยใช้สาขาในการบุกเบิกเพื่อเข้าหากลุ่มลูกค้าใหม่ โดยจะเพิ่มสาขาใหม่ 10-15 แห่ง กระจายไปตามแหล่งชุมชนและภูมิภาคมากขึ้น จากปัจจุบันที่มี 31 สาขา และเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจเป็น 50% ของพอร์ต จากเดิม 40%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.