อาราเบียน-ไทย อลเวงยิ่งกว่าสงคราม อิรัก-อิหร่าน

โดย ไพศาล มังกรไชยา
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

มันเริ่มมาจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในยุคพลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ก็เลยทำให้ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ผู้ซึ่งมีพ่อตาชื่อประทีป เชิดธรนินทร์ ซึ่งเป็นเลขาพลตรีประมาณ ได้มีโอกาสพบกับชีคอับดุลาห์ ซาเลห์ อภิอัครมหาเศรษฐีของซาอุดีอาระเบีย

ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นคนจังหวัดระยอง อาชีพเดิมเป็นครู หันมาเป็นนักธุรกิจเพราะตัวเองชอบกว่า

มาในยุครัฐบาลเปรม 1-2-3- ซึ่งพรรคชาติไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขณะนั้น ไพโรจน์ ทำธุรกิจส่งคนงานไปตะวันออกกลาง จนกลายเป็นผู้ชำนาญการไปแล้วนั้น เมื่อพลตรีประมาณถูกคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้ศึกษาปัญหาตะวันออกกลาง ไพโจน์ จึงเป็นคนหนึ่งในคณะทำงานนั้น

" คุณไพโรจน์ได้ไปร่วมงานแสดงสินค้าในตะวันออกกลาง และได้มีโอกาสพบกับมือขวา ของ ชีคซาเล่ห์ โดยการแนะนำผ่านนายแพทย์ไทยคนหนึ่ง ซึ่งทำงานกับชีค" ผู้ที่รู้เรื่องเล่าให้ฟัง

" อีกประการหนึ่งทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย สุวัฒน์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งก็สนิทกับมือขวาของชีคก็เคยยุยงส่งเสริมให้ชีคมาลงทุนในเมืองไทย"

จะติดขัดอยู่ก็ตรงที่ว่า จะลงทุนกับใครดี?

" การเจอคุณไพโรจน์ซึ่งเป็นสายของพลตรีประมาณซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่ง ก็ตรงกับสเป็กของชีค เนื่องจากแขกนี่เคยชินประเภทการค้ากับการเมืองมามาก นี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เหมาะ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ถึงจะไหว้พระกันคนละองค์ระหว่างไทยกับแขก แต่ก็ยังมีเงินซึ่งเป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน เลยทำให้การติดต่อรวดเร็วขึ้น

" ผมศึกษาปูมหลังของชีคซาเล่ห์อยู่นาน จนในสุดก็หมดข้อสงสัย เพราะเขารวยจริงและเป็นนักธุรกิจใหญ่มาก ถ้าเราสามารถดึงเขาเข้ามาลงทุนในบ้านเราก็จะเป็นประโยชน์อย่างสูง" ไพโรจน์พูดกับ " ผู้จัดการ"

ในปลายเดือนธันวาคม 2525 ชีค ซาเล่ห์ ก็เลยได้มาเป็นแขกรับเชิญของพลตรีประมาณ อดิเรกสาร

การมาของชีค ซาเล่ห์ ไม่ได้เป็นข่าวอึกทึกนัก คงจะระแคะระคายกันเพียงว่า ก่อนที่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจะลงแตะพื้นสนามบินดอนเมือง เขาได้แวะสิงคโปร์และตกลงกับรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะลงทุนประมาณ 1,000 ล้านเหรียญเพื่อสร้างสวนสนุกแบบดิสนีย์แลนด์

" ชีค ซาเล่ห์ มาฟอร์มใหญ่มาก เพราะแต่ละโครงการที่เขาบอกว่าสนใจเป็นโครงการระดับช้างเท่านั้น เช่นสนามบินหนองงูเห่า หลายๆ โครงการ ในแผนพัฒนาชายฝั่งตะวันออก ซึ่งแต่ละโครงการเป็นพันหรือหมื่นล้าน ก็เลยทำให้หลายคนมองว่า แขกคนนี้เป็นแขกที่อาจจะไม่มีของจริง" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟัง

" ชีคบ่นว่าไม่เข้าใจประเทศไทย ปกติเขาไปประเทศไหนมีแต่ประเทศนั้นจะเสนอให้เขามาลงทุนด้านนั้นด้านนี้ แต่ประเทศไทยอย่าว่าแต่ชักชวนเลย ขนาดตัวชีคเป็นเสนอโครงการว่าสนใจอย่างนั้นอย่างนี้ทางเราก็ไม่สนใจ" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟัง

ในที่สุด แทนที่จะทำโครงการที่ไม่มีคนสนใจ ชีคก็คิดว่าจะเริ่มตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนจะดีกว่า ธนาคารนี้ชื่อว่า อัลบารการอินเวสเม้นท์ แบงก์

" ได้มีการยื่นเรื่องนี้ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 26 แต่เรื่องก็เงียบมาตลอด" คนใกล้ชิดกับกลุ่มพลตรีประมาณ เปิดเผย

และเพื่อไม่ให้มีการล่าช้าในการทำงาน เพราะต้องรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงตั้ง Investment Bank ขึ้นมาในรูปบริษัท

อาราเบียน-ไทย อินเวสเม้นท์ ก็เกิดขึ้น

อาราเบียน-ไทย ว่าไปแล้วก็พยายามยึดแนวการทำงานของอินเวสเมนต์แบงก์ คือนอกจากจะให้ความสนใจการลงทุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการเกษตร แล้วก็จะเป็นตัวช่วยอำนวยความสะสะดวกด้านการค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลางด้วย

"ถ้าทางตะวันออกกลางเปิดแอล/ซี เข้ามาซื้อสินค้าบ้านเรา แล้วแบงก์ไม่ช่วยรับซื้อลดให้พ่อค้าส่งออก เนื่องจากไม่ได้มีการติดต่อระหว่างแบงก์ในนี้กับแบงก์ในตะวันออกกลาง เจ้าของแอล/ซี อย่างนี้อาราเบียน-ไทย จะเข้าไป ช่วยรับซื้อแอล/ซี นั้นให้" ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เล่าให้ฟัง

อย่างที่ได้บอกไว้แล้วว่า อาราเบียน-ไทย เป็นเรื่องที่กลุ่มชีคซาเล่ห์ ลงเงิน ส่วนฝ่ายไทยลงแรงทำงาน ดังนั้นจะนำเงินจากตะวันออกกลางไปทำอะไรเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยที่จะต้องขบคิดให้ตก

" ที่จริง ก็คงไม่ยุ่งหรอก ถ้าเงินของกลุ่มชีคซาเล่ห์ จะไม่มีข้อจำกัดตรงที่ปล่อยกู้เงินกินดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะผิดข้อบัญญัติทางศาสนาอิสลาม จะทำได้ก็แต่นำไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลกำไรขึ้นมาเท่านั้น " คนที่ทราบเรื่องดีอธิบาย

อาราเบียน-ไทย ในช่วงเริ่มต้นนั้นจะมีทีมงานที่สำคัญก็เพียงยงยศกับไพโรจน์ ซึ่งทั้งสองยอมรับว่างานนี้ออกจะใหญ่เกินกำลังความรู้ความสามารถของพวกตนจะไปถึง

ยงยศมีความสนิทสนมกับวิสิษฐ์เป็นส่วนตัว และครั้งหนึ่งวิสิษฐ์ก็เคยเป็นเลขาของประมาณ พ่อยงยศ ในสมาคมอุตสาหกรรม

"ที่จริง เรื่องเทเล็กซ์น้ำมัน เป็นเรื่องระหว่างพลตรีชาติชายกับคุณบุญชู และคุณวิสิษฐ์ ทางอดิเรกสารไม่เกี่ยวและยังรู้สึกไม่สบายใจที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น การที่ยงยศไปดึงวิสิษฐ์มาที่อาราเบียน-ไทย จึงเป็นการเอาคนมีฝีมือมาทำงานใหญ่ และยังช่วยประสานรอยร้าวในอดีตด้วย" คนที่ใกล้ชิดกับอดิเรกสารกล่าว

การทาบทามวิสิษฐ์เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2526 ซึ่งแรกๆ วิสิษฐ์แรก ก็แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ข้อเสนอ เนื่องจากช่วงนั้นวิสิษฐ์ยังมีบทบาทพอสมควร ในธนาคารนครหลวงไทย

แต่ครั้นเมื่อความขัดแย้งระหว่างทีมงานของวิสิษฐ์กับมหาดำรงค์กุลเข้มข้นในเวลาต่อๆ มา วิสิษฐ์ก็เริ่มยอมรับข้อเสนอของยงยศ และตัดสินใจเด็ดขาดเข้าร่วมงานด้วยในอีกหนึ่งเดือนให้หลัง

การเข้ามาในอาราเบียน-ไทย ของวิสิษฐ์ ไม่ใช่เข้ามาเพียงตามลำพัง หากแต่ได้พ่วงทีมงานจากนครหลวงไทยมาด้วยอีกหลายคน

วัฒนา ลัมพะสาระ จิตตเกษม แสงสิงแก้ว และพันตรีปานสรวง ชุมสาย ล้วนมาปักหลักเป็นมือซ้ายขวา ให้กับวิสิษฐ์ โดยที่ก่อนหน้านี้วัฒนาได้เอาลูกน้องของตนที่ชื่อ บริพันธ์ ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนมานั่งเป็น Project manager อยู่ที่อาราเบียน-ไทย แล้ว

การเข้ามาของวิสิษฐ์และพวกนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการย้ายทีมจากนครหลวงไทยมาอยู่ที่อาราเบียน-ไทย ทั้งกระบิ

จะต่างกันก็ตรงที่นครหลวงไทยวิสิษฐ์ไม่ได้มีอำนาจเลยแม้แต่จะอนุมัติเงินซัก 1 บาท แต่ที่อาราเบียน-ไทย " ผมอนุมัติได้ทันทีในวงเงิน 1 ล้านเหรียญยูเอส" วิสิษฐ์กล่าวกับ " ผู้จัดการ"

ในยุคที่วิสิษฐ์เริ่มเข้ามาบริหารอาราเบียน-ไทยนั้นก็เป็นยุคสมัยที่ตึกดำเริ่มวิกฤต

เป็นของธรรมดาที่ความสัมพันธ์กันส่วนตัวระหว่างตึกดำกับกลุ่มวิสิษฐ์ที่มีอยู่จะเป็นผลให้มีการช่วยเหลือกลุ่มตึกดำทางอ้อม

" อาราเบียน-ไทย เอาเงินฝากเข้าเจริญกรุงไฟแนนซ์ประมาณ 5-60 ล้านบาท แล้วผ่านจากเจริญกรุงไฟแนนซ์ไปพัฒนาเงินทุนอีกทอดทันที" แล่งข่าวระบุ

แต่วิสิษฐ์ปฏิเสธกับ " ผู้จัดการ" ว่าจำนวนเงินไม่ได้มากมายขนาดนั้น ในกลุ่มของอาราเบียนไทยที่ขัดแย้งกับวิสิษฐ์พูดว่า เป็นฝีมือการสั่งการของวิสิษฐ์ แต่ " ผมจะไปทำคนเดียวได้อย่างไร ในเมื่ออำนาจผมมีแค่ 23 ล้านบาท อีกอย่างหนึ่ง ผมทำอะไรไปก็บอกคณะกรรมการ" วิสิษฐ์แย้ง

มันอาจจะเป็นเพราะทุกคนตั้งความหวังไว้กับอาราเบียน-ไทย อย่างมากๆ ก็ได้ว่า ที่นี่จะเงินไหลมาอย่างไม่จำกัดจากซีคซาเลห์ และมันก็อาจจะเป็นการประจวบเหมาะกับสภาวะทางการเงินของช่วงปี 2526 เป็นช่วงของวิกฤตการณ์และทำให้ทุกคนหน้ามืดตาลายกันโดยถ้วนหน้า ฉะนั้นเงิน 10 ล้านเหรียญหรือ 230 ล้านบาทที่ชีคซาเลห์ส่งเข้ามายังดินแดนถิ่นสยาม จึงถูกจ้องตาเป็นมันกันเป็นแถวๆ

" นอกจากฝากเจริญกรุงไฟแนนซ์ แล้วผ่านไปให้พัฒนาเงินทุน ก็ยังมีอีกก้อนหนึ่งซึ่งฝากไว้ที่ส่งเสริมเงินทุนไทยของวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น" (วิวัฒน์ถือหุ้นในอาราเบียน-ไทย อยู่ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 4 ล้าน 6 แสนบาท โดยถือ 5 เปอร์เซ็นต์ ในนามของตัวเองอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ในนามของส่งเสริมเงินทุนไทย)

" ส่วนที่ฝากในส่งเสริมเงินทุนไทย มีประมาณ 4-50 ล้านบาท ขณะที่เจริญกรุงไฟแนนซ์ รับไป 20 กว่าล้านบาท" แหล่งข่าวคนหนึ่งยืนยัน

ปัญหาของเจริญกรุงไฟแนนซ์เป็นอย่างไร ทุกคนคงพอจะรู้แล้ว แต่ส่งเสริมเงินทุนไทยเอง ถึงแม้จะไม่ได้มีอุปสรรคมาก แต่เงินของส่งเสริมเงินทุนไทยก็ไปจมอยู่กับโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น โครงการที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการโดยตรงของส่งเสริมเงินทุนไทย

อีกประการหนึ่งวิวัฒน์ สุวรรณภาศรี เองก็ต้องใช้เงินแบกหุ้นธนาคารนครหลวงไทยไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อผนวกกับสถานการณ์การเงินช่วงปลายปี 2526 ซึ่งบริษัทการเงินล้มกันระเนระนาด ก็ไม่ได้ทำให้สภาพของส่งเสริมเงินทุนไทยหายใจหายคอคล่องเท่าไหร่

"คุณวิวัฒน์แกมีหลักฐาน ไม่ใช่ตัวเปล่าแต่แกขาดสภาพคล่องพอสมควร ฉะนั้นเงินฝากของอาราเบียน-ไทย ก็อาจจะต้องค้างเติ่งอยู่ในนั้น" แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว

เมื่อมามองโครงสร้างผู้ถือหุ้นในอาราเบียน-ไทย แล้วจะเห็นได้ชัดว่าแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มชีคซาเลห์ ซึ่งมีไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นตัวแทนมีหุ้นอยู่ดังนี้

ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ 46 หุ้น

บริษัทคอมเมอร์เชียลเทรด 368 หุ้น

(บริษัทนี้มีไพโรจน์กับยงยศ อดิเรกสาร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)

ยงยศ อดิเรกสาร 621 หุ้น

ชีคซาเลห์ อับดุลลาห์ คามิล 845 หุ้น

ชีคฮุสเซน โมฮ์ซิน อัลฮาร์ซี 282 หุ้น

ห้างฯ อัลบารากาฯ 1,127 หุ้น

ไพบูลย์ ลีนะวัต 138 หุ้น

สุเชษฐ์ ศรีพัฒนะกุล 138 หุ้น

เลิศสักดิ์ วัชรปรีชา 138 หุ้น

อเนก ศรีสนิท 23 หุ้น

สมศักดิ์ ยมะสมิต 23 หุ้น

รวมหุ้นของฝ่ายชีคซาเลห์และกลุ่มไพโรจน์ยงยศ 3,749 หุ้น หรือ 81.5 เปอร์เซ็นต์

2. กลุ่มวิสิษฐ์ ตันสัจจา มีดังนี้

วิสิษฐ์ ตันสัจจา 1 หุ้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัดไตรวี 367 หุ้น

(ห้างนี้เป็นกิจการส่วนตัวของวิสิษฐ์กับลูกชายชื่อวิฑัต และวรีรัตน์ ขณะนี้เป็นตัวแทนค้าขายกับพม่า)

วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี 230 หุ้น

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

ส่งเสริมเงินทุนไทย จำกัด 230 หุ้น

วัฒนา ลัมพะสาระ 23 หุ้น

รวมหุ้นทางฝ่ายวิสิษฐ์ ตันสัจจา 851 หุ้น

หรือ 18.5 เปอร์เซ็นต์

ที่จริงแล้วโครงสร้างหุ้นนั้นได้ผูกเอาไว้โดยกุญแจอยู่ที่ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งเมื่อดูหุ้นของฝ่ายชีคแล้วจะเห็นว่าเฉพาะกลุ่มของชีคซาเลห์เองจะเป็นว่า

ชีคซาเลห์ อับดุลลาห์ คามิล 845 หุ้น

ชีคฮุสเซน โมฮ์ซิน อัลอาซี 282 หุ้น

ห้างฯ อัลบารากาฯ 1,127 หุ้น

ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ 46 หุ้น

รวมแล้ว 2,300 หุ้นหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ พอดี

" ความจริงมันไม่สำคัญหรอกว่าชีคถือเท่าไหร่ ที่สำคัญคือชีคเป็นคนให้เงินให้ทองมาปล่อย ฉะนั้นใครจะถือหุ้นเท่าไหร่ ก็เกือบจะไม่มีความหมาย เพราะถ้าชีคไม่ให้เงินมาทำอะไรไม่ได้" นักธุรกิจวงในคนหนึ่งสรุป

และเงินทองของชีคเองนี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่

" ชีคซาเลห์ไม่รู้จักกลุ่มคุณวิสิษฐ์ ยิ่งทางสายคุณวัฒนายิ่งไม่รู้จัก เขารู้จักแต่ยงยศและไพโรจน์ เดิมทีเขาต้องการให้ยงยศเป็นคนบริหาร แต่พอยงยศเห็นว่างานนี้ใหญ่เกินไป เลยขอให้วิสิษฐ์เข้ามาช่วย" นักธุรกิจคนเดิมเล่าต่อ

วิสิษฐ์ ตันสัจจา ความเป็นคนมีชื่อเสียงในเรื่องความรักลูกน้องเป็นทุนเดิมแล้ว จากการที่กลุ่มตนอันมีวัฒนา ลัมพะสาระ จิตตเกษม แสงสิงแก้ว และพันตรีปานสรวง ชุมสาย โดนบีบหนักที่ธนาคารนครหลวงไทย เมื่อมาอยู่อาราเบียนไทย อินเวสเม้นท์ (ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอาราเบียน-ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะคำว่าอินเวสเมนท์ขัดกับพระราชกำหนดสถาบันการเงินที่ออกใหม่เมื่อ 26 ธันวาคม) ก็เลยหอบหิ้วทุกคนตามติดกันมา โดยให้วัฒนาคุมด้านการพัฒนาธุรกิจ ให้จิตเกษมเป็นฝ่ายวิเคราะห์โครงการ

" คุณวิสิษฐ์เองได้เบนซ์ 280 เป็นรถประจำตำแหน่ง"

นอกเหนือจากปัญหาการนำเงินไปฝากกินดอกเบี้ยซึ่งเผอิญเข้าไปกลุ่มตึกดำแล้ว ก็ยังมีข้อกล่าวหาติดตามมาว่า กลุ่มวิสิษฐ์พยายามที่จะติดต่อกับชีคซาเลห์ เอง เพื่อดำเนินุธุรกิจผ่านเขา และทางซาอุฯ ได้แจ้งเรื่องนี้มาทางยงยศ ว่ากลุ่มวิสิษฐ์ไม่น่าไว้ใจซึ่งกับ " ผู้จัดการ" วิสิษฐ์ปฏิเสธ ว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริง

"ฝ่ายคุณยงยศก็เอาเงินอาราเบียน-ไทย ไปใช้ในกิจการของตัวเองในกลุ่มธุรกิจของเขาเหมือนกัน มันก็ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ" แหล่งข่าวสายวิสิษฐ์กล่าวตอบโต้

นอกจากนี้เมื่อคราวที่อาราเบียน-ไทย ได้เซ็นสัญญากับบริษัทวอลโว่ เพื่อซื้อรถขนแร่สังกะสี จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทที่ชนะประมูลการขนแร่จากบริษัทผาแดงอินดัสตรี เช่าซื้อรถวอลโว่มาใช้ 5 คัน โดยแจกพนักงานในกลุ่มของตน ทั้งนี้ก็ทำหลักฐานว่าเงินที่ซื้อรถวอลโว่ทั้ง 5 คันจะเสียดอกเบี้ยให้อาราเบียน-ไทย 16 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่มีการเสียดอกจริงๆ " ผู้จัดการ" ได้สอบถามเรื่องนี้กับคนในกลุ่มวิสิษฐ์ และได้รับคำตอบปฏิเสธกลับมาว่าไม่จริงอีกเช่นกัน

" ตามแผนเดิมทางชีคซาเลห์เมื่อส่งเงินมาครั้งแรกเป็นจำนวน 10 ล้านเหรียญก็จะทยอยตามมาอีก 15 ล้านเหรียญ แต่พอเกิดเรื่องถกเถียงกันแบบนี้ ก็เลยให้มาแค่ 5 ล้านเหรียญเท่านั้น" แหล่งข่าวในอาราเบียน-ไทย ชี้แจงเพิ่มเติม

ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2527 ที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล มีตัวแทนของชีคซาเลห์เข้าประชุมด้วย 2 คน และทั้ง 2 คนนี้ก็ได้ยื่นเงื่อนไขให้วิสิษฐ์และทีมของเขาลาออก โดยให้ยงยศรักษาการแทน

ก่อนหน้านั้นวิสิษฐ์เดินทางไปทัวร์ยุโรปกับภรรยา และถูกหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งรายงานว่าไปยุโรปกับวัฒนาและจิตตเกษม " ผมไปเที่ยวกับเมียผมสองคนเท่านั้น ไม่รู้ใครเอาข่าวไปเขียนจนเลยเถิดไป" วิสิษฐ์พูดกับ " ผู้จัดการ"

" คนอย่างผมไม่ต้องมาขอให้ลาออกหรอก ผมจะออกเอง แล้วว่างๆ ผมจะพูดให้ฟังทั้งหมด" วิสิษฐ์พูดตบท้าย ก่อนจะขอตัวไม่ออกความเห็นใดๆ อีก

หลังจากนั้นไม่นานทีมของวิสิษฐ์ทั้งทีม รวมทั้งเลขาฯ ก็ตบเท้าลาออกจากอาราเบียน-ไทย โดยให้วิวัฒน์ สุวรรณภาศรี รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพราะต้องปกป้องเงินฝากของอาราเบียน-ไทย ที่ฝากไว้ในส่งเสริมเงินทุนไทย และในช่วงหลังๆ เหตุการณ์เขม็งเกลียว วิวัฒน์เองก็สามารถยืนอยู่ตรงกลางไม่เอนเอียงเข้าทางใคร ทางกลุ่มยงยศและไพโรจน์จึงไม่ขัดข้องถ้าจะให้วิวัฒน์รักษาการตำแหน่งนี้ด้วย

ส่วนเงินฝากที่เจริญกรุงไฟแนนซ์ ซึ่งก็คงต้องถูกผ่องถ่ายไปสหธนกิจไทยทยอยใช้ใน 10 ปี ก็คงสมใจแขกที่เชื่อเรื่องบาปของดอกเบี้ย เพราะสหธนกิจไทยก็พอดีไม่จ่ายดอกเบี้ยให้อยู่แล้ว

บทเรียนครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนของฝ่ายอาหรับมากกว่า ในฐานะที่เข้ามาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ใครเป็นใครบ้าง

เรื่องราวทั้งหมดไม่มีใครผิด แต่ลักษณะการทำงานแบบคนไทยนี้แขกอย่างชีคซาเลห์ ไม่เคยเจอและเมื่อเจอแล้วก็หวังแต่เพียงว่า ชีคคงไม่เหมาว่าคนไทยทำธุรกิจกันแบบนี้ไปหมด

วันนี้อาราเบียน-ไทย ค่อนข้างจะเงียบเหงา ในรอบ 12 เดือน ที่ผ่านมานี้ ชีวิตของวิสิษฐ์ ตันสัจจา วัฒนา ลัมพะสาระ และจิตตเกษม แสงสิงแก้ว เป็นชีวิตที่โลดโผนพอสมควร หวังว่าอาราเบียน-ไทย คงจะเป็นแห่งสุดท้ายที่จะโลดโผน และต่อจากนี้ไปก็น่าจะอยู่อย่างเงียบๆ ได้แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.