สามแบงก์ยักษ์ใหญ่กับการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ธนาคารพาณิชย์แทบสูญพันธุ์ มีเพียงธนาคาร 3 แห่งที่เป็นไทยแท้ และบาดแผลจากการฝ่าฝันกระแสพายุเศรษฐกิจ นับว่าสร้างความเสียหายให้ไม่น้อย

ธนาคารกรุงเทพ : การคงสภาพเดิม

หลังวิกฤติเศรษฐกิจ โดยภาพรวมของธนาคารกรุงเทพยังคงอันดับ 1 ทั้งส่วนแบ่งทางตลาดและสินทรัพย์ เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย และมีการปรับตัวด้านโครงสร้างผู้ถือหุ้นและโครงสร้างการจัดการน้อยที่สุด คือ ผสมผสานระหว่างตัวแทนของเจ้าของเดิมกับผู้บริหารที่เป็นคนนอกครอบครัว

อย่างไรก็ตาม การ "คงสภาพเดิม" ทางอำนาจและจำนวนกรรมการ โดยการผสมผสานระหว่างคนในและนอกตระกูลโสภณพนิชนั้นไม่ใช่ของใหม่ แต่สำหรับธนาคารกรุงเทพนับเป็นวิธีการบริหารในลักษณะเก่าและใช้มาหลายยุค

ธนาคารไทยพาณิชย์ : ผสมผสานและประนีประนอม หลังวิกฤติเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงรักษาธนาคารใหญ่อันดับ 4 ไว้ได้เมื่อมองในแง่สินทรัพย์รวม เงินกู้ และเงินฝาก แม้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้วอันดับก็ยังคงที่ แต่อันดับดังกล่าวใช่ว่าจะไม่เดือดร้อน เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างปี 2539-2542 อัตราการเติบโตของสินทรัพย์รวมลดลงอย่างรุนแรง เดิมเคยเติบโตสูงที่สุดเปรียบเทียบธนาคารในระบบในปี 2540 คือ 32.51% กลายมาเป็นติดลบ -2.54% ใน ปี 2542

เมื่อสถานการณ์ผันผวนผู้บริหารตัดสินใจเลือกการผสมผสานและการประนีประนอม ความเป็นเจ้าของเพื่อปรับรับวิกฤติที่เกิดขึ้น มีการขายหุ้นให้ธนาคารซันวาและธนาคารลองเทอมเครดิต เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่

แนวทาง "ผสมผสานและประนีประนอม" ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำมาสู่การยอมรับเป็นธนาคารของรัฐ ได้รับการปกป้องจากรัฐมีเม็ดเงินอัดฉีด แต่ผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหน้าที่บริหารชุดเดิมยังคงมีอำนาจอิสระในการบริหารธนาคารต่อไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่มองเห็นชัดถึงการผสมผสานและประนีประนอม คือ แม้จะให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติเข้ามาถือหุ้นถึง 45.28% แต่ก็เป็นพันธมิตรสำคัญที่คอยฉีดเม็ดเงินมากกว่าจะเข้ามาครอบครองกิจการและปรับเปลี่ยนการบริหาร

ธนาคารยังจัดโครงการบริหารใหม่เป็นธนาคารสมัยใหม่ มีการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ และใช้ผู้บริหารคนไทยทั้งหมด

ธนาคารกสิกรไทย : สู่การปฏิรูป

ธนาคารกสิกรไทยมีสินทรัพย์มากเป็นอันดับ 3 หลังเกิดวิกฤติมีสินทรัพย์รวม 727,438 ล้านบาทหรือ 13.42% ของธนาคารทั้งระบบ และเมื่อเกิดวิกฤติมีเพียงอัตราการขยายตัวของ เงินกู้เท่านั้นที่แย่ลง

แต่การที่ได้ re-engineering มาก่อน ทำให้ไม่เจ็บตัวมาก หลังเกิดวิกฤติกสิกรไทยได้ปรับกลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น ลดจำนวนพนักงาน ปรับปรุงสาขา ยุบรวม ปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และเพิ่มทุนโดยตัวเอง เป็นการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องให้สอดรับกับสภาพตลาดเงินตลาดทุนที่เปิดเสรีและมีการแข่งขันจากต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวที่ถือว่าสำคัญที่สุดของกสิกรไทยมี 4 ด้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งปีนั้น บัณฑูร ล่ำซำ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคือ ด้านวิสัยทัศน์ที่ไม่แข่งกันเองระหว่าง ธนาคารใหญ่ๆ เน้นธุรกิจใหม่ๆ ปรับคุณภาพพนักงาน และปรับองค์กรและเทคโนโลยี และ re-engineering

การปรับตัวของธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับสภาพตลาดเงินทุนที่เปิดเสรี และมีการแข่งขัน จากต่างประเทศมากขึ้น มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจแล้ว

ข้อมูลจาก สำนักกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.