อยู่อย่างเซนที่ Carmel


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เสน่ห์อย่างหนึ่งของหมู่บ้านในเมือง Carmel-by-the-Sea หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Carmel รัฐแคลิฟอร์เนีย คือ ประเพณีที่คนในหมู่บ้านช่วยกันทำให้บ้านของตนเองมีเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยการตั้งชื่อบ้านเป็นกิจจะลักษณะและต่างก็รู้จักบ้านแต่ละหลังตามชื่อที่ตั้งมากกว่าตามเลขที่บ้านตามปกติ

สำหรับคู่สามีภรรยาผู้ซึ่งต่างเป็น “ม่าย” มาก่อน พรหมลิขิตชักนำให้ได้พบกันจนครองคู่กันในที่สุด ต่างช่วยกันสร้างรังรักบนคาบสมุทรมอนเทอเรย์ และตั้งชื่อบ้านหลังน้อยว่า An Tearmann ซึ่งเป็นภาษาไอร์แลนด์หมายถึง “ที่หลบภัย”

บ้านหลังงามกะทัดรัดนี้ออกแบบโดย Dirk Denison สถาปนิกจากชิคาโก โดยให้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางต้นไซปรัสหนาทึบที่ปกคลุมด้วยหมอก และหันหน้าออกสู่ชายหาดขาวสะอาดตาและเจิดจ้าเมื่อต้องแสงแดด

หากพูดว่าบ้านหลังนี้ตั้งบนทำเลทองก็ไม่ผิด เพราะอยู่บน “จุดชมวิวของ Carmel” ตั้งบนที่ดินแปลงแคบๆ บนเนินเตี้ยของ หาดเพ็บเบิล ทำให้เห็นวิวมหาสมุทรแปซิฟิกได้เต็มตา จุดนี้เจ้าของบ้านถือเป็นเรื่องดีอย่างที่สุด แต่การอยู่บนทำเลทองก็มีข้อเสียตรงที่ทุกคนอยากสร้างบ้านแถบนี้กันทั้งนั้น พวกเขาจึงรู้สึก ถึงความไม่เป็นส่วนตัวเท่าไรนัก เพราะทั้งสองด้านมีบ้านพักอื่นๆ ขนาบข้าง จึงไม่ต้องสงสัยที่ต้องมีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนเข้าพักและป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ นับพันคน

Denison จึงต้องแก้ปัญหาให้ด้วยการออกแบบบ้านให้ส่วนหน้ายกพื้นสูงกว่าระดับพื้นถนน ทำให้คนอยู่ในบ้านมีความเป็น ส่วนตัวมากขึ้น ทั้งยังเห็นทิวทัศน์ของมหาสมุทรตรงหน้าได้ชัดเจน ไม่มีอะไรบังแม้แต่น้อย

เดิมที เจ้าของบ้านผู้เป็นเจ้าของธุรกิจประกันสุขภาพกับภรรยาซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อสร้างบ้านพักสำหรับวันสุดสัปดาห์ แต่ภรรยาของเขาเสียชีวิตไปก่อน ในเวลาเดียวกัน คู่ชีวิตคนปัจจุบันของเขาซึ่งทำธุรกิจประกันสุขภาพเหมือนกัน ก็กำลังสร้าง บ้านพักแถบเทือกเขาบลูริดจ์ไว้พักผ่อนในบั้นปลายของชีวิต และเธอก็เสียสามีไปเช่นกัน

ดูเหมือนโชคชะตาตั้งใจล้มแผนของคนทั้งสอง ฝ่ายภรรยา เล่าว่า

“ชีวิตเราได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ มาแล้วมากมาย เราจึงแสวงหาความสงบ แสวงหาที่ที่ปลอดภัยสำหรับตัวเรา เพื่อนๆ และคนในครอบครัว นั่นคือ ความสงบนิ่งอย่างเซน”

Denison ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างงานไม้สไตล์ญี่ปุ่นรูปแบบทันสมัย ผลงานออกแบบสำหรับคู่สมรส ใหม่จึงเป็นบ้านสองชั้นพร้อมระเบียงและห้องทำสมาธิบนหลังคา เขาเน้นไม้สัก ไม้ซีดาร์ และไม้มะฮอกกานี ส่วนผนังและประตูสวนใช้ทองสัมฤทธิ์ ส่วนหลักการเลือกใช้วัสดุอยู่ที่นอกจากต้องตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่ต้องรับลมทะเลตลอดเวลาและอยู่ติดกับมหาสมุทรแล้ว ยังต้องทนทานต่อแรงลมพายุฤดูหนาวและเกลือจากทะเลด้วย

Carmel เป็นเมืองที่ภาคภูมิใจในตนเอง เพราะบังคับใช้กฎหมายการแบ่งเขตเมืองอย่างได้ผล สามารถบังคับใช้ลงไปในรายละเอียดจนทำให้คู่สามีภรรยาต้องสร้างบ้านตามรอยเท้าบ้านหลังที่มีอยู่เดิม โครงสร้างบ้านหลังใหม่จึงมีเนื้อที่ขนาดเล็กกะทัดรัด เพียง 1,950 ตารางฟุต

Denison เล่าว่า “เรารู้ดีว่ามีเนื้อที่ไม่มากนัก เราต้องวางแผน สร้างบ้านพักอย่างละเอียดลออ”

หลังจากทั้งคู่ให้โจทย์ว่า ต้องการบ้านที่ให้ความรู้สึกเหมือน อยู่ในเรือที่ต่อด้วยฝีมือช่างผู้ชำนาญการอย่างสุดแสนประณีต ห้องนั่งเล่นใหญ่ในบ้านจึงแลดูกลมกลืนเป็นกันเองอย่างสบายๆ โดย Denison ออกแบบบังตาทำด้วยแผ่นกระดานและเหล็กวางเรียงต่อเนื่องกันในแนวตั้งมองดูเหมือนเครื่องดนตรีสำหรับเคาะให้จังหวะ บังตาที่ว่านี้ทำให้ฝ่ายสามีนั่งดูทีวีในห้องนั่งเล่นได้อย่างสบายใจ ขณะเดียวกันก็คุยกับคู่ชีวิตที่กำลังง่วนอยู่กับการปรุงอาหารรสเลิศ อยู่ในครัวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อไปยืนมองจากปลายด้านหนึ่ง ของบ้าน จะเห็นบังตามีรูปแบบเป็นทางการ แลดูแข็งแกร่ง และในเชิงสถาปัตยกรรมจะเป็นเหมือนป่าที่สามารถกรองแสงจ้าจากชายหาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ลานบ้านสไตล์ญี่ปุ่นถือเป็นบริเวณหรูหราที่สุดของบ้าน ได้รับการออกแบบเป็นพื้นที่ปิดในแนวยาว มีประตูกระจกทั้งสองด้าน ประตูด้านหนึ่งเปิดออกสู่ห้องนอนใหญ่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งเปิดสู่ห้องนั่งเล่น หลังคาบริเวณนี้เป็นกระจก พยุงด้วยเคเบิลที่ยืด หยุ่นได้ หลังคากระจกทำหน้าที่นำความอบอุ่นเข้ามา แม้ในวันอากาศชื้น Denison จึงติดตั้งอ่างสำหรับแช่ตัวไว้ใกล้กับห้องนอน

เจ้าของผู้เป็นสามีเล่าว่า

“เราทำทุกวิถีทางไปสู่ความเรียบง่าย”

บ้านหลังใหม่นี้นอกจากจะเป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเยี่ยม ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งรางวัลชีวิตที่ได้จากการทำงานหนักของคนทั้งคู่ด้วย ผู้เป็นภรรยายอมรับว่า

“มันดูดีกว่าที่ดิฉันคิดไว้เสียอีก คงไม่มีอะไรวิเศษกว่าประสบการณ์ที่ได้อยู่ในบ้านที่ออกแบบอย่างประณีตทุกตารางนิ้ว”

สถาปนิกจอมเนี้ยบอย่าง Denison คลั่งไคล้เฟอร์นิเจอร์ built-in มาก เพราะนอกจากจะสวยงามแล้วยังประหยัดเนื้อที่ด้วย แม้แต่โซฟาในห้องนั่งเล่นและเฮดบอร์ดไม้ในห้องนอนใหญ่ก็ยังเป็นแบบ built-in

ความน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ห้องทำสมาธิบนหลังคา ซึ่งเวลาจะขึ้นไปต้องใช้บันไดนอกบ้านที่ทำด้วยกระจก ไม้สัก และเหล็ก ภายในห้องปูเสื่อตาตามิทอด้วยฝีมือประณีตเพื่อซ่อนที่นอน เอาไว้ Denison อธิบายความพิเศษตรงนี้ว่า “คุณสามารถนอนใต้ช่องวงกลมแล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า มันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเกสต์เฮาส์เล็กๆ ก็ไม่ปาน”

เขายังตบท้ายด้วยปรัชญาว่า

“แนวคิดการสร้างสรรค์พื้นที่ขนาดเล็กลงและมีส่วนเชื่อมต่อนี้ถือเป็นงานหลักของเรา มันดีมากที่ได้อยู่กับของน้อยสิ่งลงแต่ มีคุณภาพสูงสุด”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.