|
“Greener City, Greener Enterprise”
โดย
ดร. เมธาคุณ ตุงคะสมิต
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อผมเข้าทำงานด้านยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในราวต้นปีที่แล้ว ผมสร้างโอกาสให้ตัวเองได้เปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่เป็นนักวางกลยุทธ์เชิงธุรกิจ มามองในมุมมองของนักวางกลยุทธ์เมือง ซึ่งเป็นระบบนิเวศใหม่ที่น่าศึกษาและมีปัญหาท้าทายหลายอย่างที่รอการแก้ไข
แน่ล่ะ ถ้ามองในเชิงระบบ (System) แล้ว องค์ประกอบ (Components) และปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างองค์ประกอบย่อมไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อเปรียบ เมืองกับองค์กรธุรกิจแล้ว เรามิอาจนำหลัก การของการทำกำไรสูงสุดมาใช้กับเมืองได้ หากแต่ต้องเป็นหลักของประโยชน์สูงสุดของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมเมือง
ผมเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า “สังคมเมืองคืออะไร?” ซึ่งผมพบว่าการหาขอบเขตของเมืองในเชิงกลยุทธ์มันช่างยากเย็น เพราะเมืองต้องพึ่งพาทรัพยากรจากชนบท เช่นเดียวกันกับที่องค์กรธุรกิจต้องพึ่งพาทรัพยากรจากแหล่งภายนอกเช่นเดียวกัน ผมพบว่าทุกๆ เรื่องหากจะมองแบบแยกส่วนแล้ว การแก้ไขปัญหาก็คงจะติดกรอบความคิดและเงื่อนไขเดิมๆซึ่งยากที่จะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อกรุงเทพมหานครมีการขยายตัว (Urbanization) ตามกระแสโลก
เมืองกับชนบทจึงเป็นเรื่องที่แยกขาด จากกันได้ยาก ใช่หรือไม่ว่า คนเมืองกับคน ชนบทย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์ หรือแม้ถึงที่สุดแล้วก็อาจครอบครองร่างกายกว้างศอก ยาววาหนาคืบร่างเดียวกัน แตกต่างกันที่บทบาทต่างกรรมต่างวาระ
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ชาวกรุงเทพมหานครได้หันมาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากยังไม่เคยมีช่วงระยะเวลาใดๆ มาก่อนเลย ที่ชาวกรุงเทพฯ จะต้องเผชิญปัญหากันเต็มๆ และหันมามองปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเท่ากับปัจจุบัน
อันที่จริงแล้วเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ มหานครสามารถรักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ชาวกรุงเทพฯมาโดยตลอด แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 40 ปี เศษนับตั้งแต่มีการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบการวางแผน จึงส่งผลให้วิถีการผลิตและการบริโภคของกรุงเทพมหานครเปลี่ยนไปเป็นลักษณะการผลิตและบริโภคแบบรวมศูนย์ในปริมาณมาก (centralized mass production and consumption) และมีการแข่งขันทางการค้าเพื่อระบายสินค้าที่ผลิตออกมาสู่ตลาดโลก โดยมีศูนย์กลางการแข่งขันของประเทศกระจุกตัวอยู่ในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑลใกล้เคียง
ผลจากการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติในทิศทางนี้ได้ส่งผลต่อกรุงเทพ มหานครอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการเพิ่มการ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นปัจจัยในการผลิต และมีการขยายตัวของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ มีการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรจากชนบทสู่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
หากมองในเชิงบูรณาการแล้ว จะพบว่ามาตรฐานความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพมหานครได้ยกระดับขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ มหานครก็มีการนำเข้าและใช้ทรัพยากร ธรรมชาติรวมถึงแรงงานจากต่างจังหวัด (และต่างประเทศ) ในอัตราเพิ่มที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่าเรากำลังหันเข้าสู่พฤติกรรมวัตถุนิยม (Materialism) และบริโภคนิยม (Consumerism) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมสังคมโลกนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่ประการใดเนื่องจากทุกประเทศยังคงยึดถือ อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) เป็นหลักการพื้นฐาน ในการพัฒนาประเทศ
ปรากฏการณ์โลกร้อน (Global warming) ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งกรุงเทพมหานครเอง เช่นเรื่องปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการทรุดตัวของแผ่นดิน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการจุดประกายแนวความคิดการพัฒนาโดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) โดยกรอบยุทธศาสตร์จะต้องเริ่มต้นจากการบริหารจัดการทรัพยากรภายในเขตกรุงเทพ มหานครอย่างใส่ใจ มิต่างอะไรกับการบริหารทรัพยากรในองค์กรธุรกิจให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ที่ผมใช้คำว่า “ใส่ใจ” นั้น ผมหมาย ถึงต้องเริ่มต้น “มุมมองใหม่” ในใจของคน กรุงเทพมหานครเสียก่อน ซึ่งมุมมองใหม่ที่ว่านี้ จะต้องเกิดจากปัญหาพื้นฐานที่ทุกคนเผชิญร่วมกัน นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องที่ทำให้เกิดวงจรของการบริโภค และการทิ้งอย่างไม่สิ้นสุด ผมจึงขอเสนอประเด็นเพื่อขบคิดร่วมกันว่า แทนที่เราจะมองภาพเดิมๆ ของรถเก็บขยะสีเขียวของกรุงเทพมหานครว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราน่าจะมองในมุมใหม่ว่าหากเราร่วมมือกันบริหารจัดการวงจรการบริโภคและการทิ้งอย่างพอดิบพอดี นั่นคือนำพระราชดำริเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับชีวิตคนเมือง เราจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ไม่ยาก
หากชาวกรุงเทพมหานครยังคงใช้ทรัพยากรเทียบเท่าเมืองใหญ่ๆ ในโลก เช่น กรุงลอนดอน กรุงปารีส กรุงรีโอเดจาเนโร อยู่ต่อไป ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานครเท่านั้น หากแต่ประเทศไทยทั้งประเทศจะต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันในเรื่องของมลภาวะจากขยะและของเหลือใช้ (Waste and by-product) จากกิจกรรมการผลิตและการบริโภค รวมถึงวิกฤตการณ์การขาดแคลนแหล่งพลังงานในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ของกรุงเทพ มหานครในการสนับสนุนการลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Reduce and recycle) รวมถึงการแสวงหาทางเลือกในการผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความจำเป็นของสังคม (alternative energy) จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะสามารถสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ผมขอยกตัวอย่างกลยุทธ์ที่ประยุกต์ ใช้ได้ทั้งภาคธุรกิจและภาคสังคมเมือง เช่น เรื่อง “ขยะคือทรัพยากร” กล่าวคือ การใช้ ทรัพยากรทุกอย่างให้เกิดประโยชน์ ไม่เหลือทิ้งขว้าง อย่างที่สหประชาชาติได้นิยาม ความหมายของ “zero-waste strategy” ซึ่งถึงแม้จะดูไกลเกินเอื้อมในเชิงปฏิบัติจริง แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะฝันให้ไกลและไปให้ถึง ทั้งนี้ผมเองพบว่ามีอีกมากมาย หลายเมืองและหลายองค์กรธุรกิจในโลกนี้ที่กำลังกระตือรือร้นเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว
เมื่อกล่าวถึงขยะ ในสภาวะที่ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหา แหล่งพลังงานหมุนเวียนทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งนับวันจะมีปริมาณลดน้อยลงและมีราคาสูงขึ้น ขยะชุมชนจึงน่าจะเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งซึ่งมีศักยภาพในการนำมาใช้เพื่อผลิตพลังงาน ทั้งนี้เนื่องจากมีปริมาณมากและไม่ต้องซื้อหา ในขณะที่ในปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้มียุทธศาสตร์ของภาครัฐที่ชัดเจนและสอด คล้องกันในการสร้างกลไกการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse and recycle) อย่างชัดเจน ตลอดรวมถึงกลไกการนำขยะมาใช้เป็นพลังงานทดแทน (Waste-to-energy) ก็ยังคงปรากฏเป็นรูปธรรมน้อยมาก ทั้งที่ปัญหาขยะและการแสวงหาแหล่ง พลังงานทดแทนเป็นประเด็นปัญหาซึ่งสามารถดำเนินการแก้ไขควบคู่กันไปได้อย่างสอดคล้องลงตัว อย่างไรก็ตาม บท บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 86 วงเล็บ 3 ได้เปิดทาง ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
อย่างไรก็ดี ภายใต้บทบัญญัติในส่วนที่ 12 ซึ่งว่าด้วยสิทธิชุมชน ทั้งในมาตราที่ 66 และมาตราที่ 67 ถือได้ว่าเป็น ปัจจัยที่มีผลต่อยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งในแง่ที่เอื้ออำนวยและในแง่ที่เป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์การดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนที่เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยนั้น ในเบื้องต้นพบว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากร ธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) และจากบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการหรือในสาขานั้นๆก่อนที่จะมีการลงมือดำเนินโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในอนาคตของ ประเทศไทย จำเป็นจะต้องผ่านกระบวน การกลั่นกรองและพิจารณาจากทุกฝ่ายอย่าง รอบคอบเสียก่อนส่งผลให้มีการกระจายต้นทุนทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ผลักภาระให้กับผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการเฉพาะ
กระบวนการมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนดังกล่าว อาจเป็นดาบสองคมที่กลาย เป็นปัจจัยด้านลบหรืออุปสรรคต่อโครงการ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีผลประโยชน์ทั้งด้านการเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งหากกระบวน การรับรู้ของประชาชนในระดับรากแก้วในท้องถิ่นนั้นๆ ถูกบิดเบือน หรือมีการมองภาพเป็นส่วนย่อยๆ หรือท้องถิ่นนิยม กระแสต่อต้านที่เรียกว่า “NIMBY” หรือ “Not in My Backyard” ก็อาจส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี ในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริง ในเรื่องอิทธิพลท้องถิ่น การบิดเบือนข้อมูล และการแบ่งแยกทางความคิดดังกล่าวได้
โดยส่วนตัวผมเห็นว่า การให้สิทธิชุมชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ต้องสัมพันธ์และสอดรับกับความรู้ความเข้าใจและข้อมูลที่เป็นกลางถูกต้อง ตลอดจนการพัฒนาจิตสำนึกต่อส่วนรวมของประชาชนควบคู่กันไปด้วย ซึ่งกระบวนการ นี้จำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนา และฐานของสังคมที่ประกอบขึ้นด้วยชนชั้นกลาง (Middle class) ในสัดส่วนที่มากกว่าปัจจุบัน เหมือนเช่นในประเทศแถบยุโรปตะวันตกและอเมริกา เหนือ จึงจะทำให้ยุทธศาสตร์การดำเนินการ ด้านทรัพยากรพลังงานและสิ่งแวดล้อมมีกลไกการขับเคลื่อนที่เหมาะสม กระแส “NIMBY” ก็จะกลายเป็นกระแส “SIMBY” หรือ “Start in My Backyard” นั่นคือการตระหนักว่าการเริ่มต้นจัดการขยะนั้นต้องเริ่มต้นที่บ้านได้โดยไม่ยาก
อาจกล่าวได้ว่า ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่า หัวใจของยุทธศาสตร์ “ขยะคือทรัพยากร” อยู่ที่ความร่วมมือกันของชุมชนและกรุงเทพมหานคร ส่วนเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ ที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น
ครับ เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่ใช่คำตอบของวิกฤตการณ์ ขยะล้นเมือง หากแต่ต้องบูรณาการ 1) ภาคประชาสังคม และ 2) การขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ด้วยยุทธศาสตร์ “ขยะคือทรัพยากร” จึงจะประสบผลสำเร็จ
ยุทธศาสตร์ “ขยะคือทรัพยากร” ที่มีเป้าหมายในการแปรเปลี่ยนขยะจำนวนมหาศาลถึงเกือบหนึ่งหมื่นตันต่อวันของกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นทรัพยากรในรูปของที่สามารถนำ กลับมาใช้ใหม่ได้และรวมถึงพลังงานทดแทน ควรจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
1) ต้องมีการบริหารจัดการขยะมูล ฝอยจากชุมชนที่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการและเทคโนโลยีที่เป็นระบบและครบ วงจร เน้นการนำขยะมูลฝอยที่มีศักยภาพกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุดและลดปริมาณ ขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปบำบัดและกำจัด ให้น้อยที่สุด โดยวิธีการจัดการจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น อาจเริ่มต้น ด้วยการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อไปหมักให้ได้แก๊สมีเทนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลือนำไปทำปุ๋ย หรือฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะเป็นต้น
2) เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยการ ดำเนินงานจะต้องเป็นไปในลักษณะของการ บูรณาการและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติมากที่สุด เช่น ริเริ่มคณะทำงานร่วม หรือ “บอร์ดขยะ” เพื่อส่งเสริมกระบวนการคัดแยกที่แหล่งกำเนิด (CBM-Community Based Waste Management) ซึ่งบอร์ดนี้ ควรจะประกอบด้วยตัวแทนชุมชน ตัวแทน ผู้รับซื้อขยะ ตัวแทนซาเล้ง ตัวแทนภาคธุรกิจในท้องถิ่นที่สมัครใจและมีโครงการเพื่อสังคม (CSR) และนักวิชาการก็จะทำให้ เกิดกระบวนการขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงกับกลไกเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการจ้างงานอย่างยั่งยืน มิใช่เป็นเพียงกระบวนการ “จิตอาสา” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากตัวอย่างยุทธศาสตร์ “ขยะคือทรัพยากร” ที่สามารถ ขับเคลื่อนกระบวนการความร่วมมือภาคสังคม ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าด้วยกันอย่างลงตัวตามที่ได้ยกมานี้ ได้ให้แนว คิดที่สำคัญยิ่งสำหรับการบริหาร จัดการองค์กรธุรกิจยุคใหม่กับผม นั่นคือแนวคิดที่ว่าด้วยประโยชน์สูงสุดร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ไม่ใช่กำไรสูงสุดสำหรับใครบาง คนอย่างแต่ก่อนเสียแล้ว
ก็เพราะธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องเดียวกัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันนั่นเองครับ!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|