|

40 เมือง 25 ล้านล้าน อย่าเผาโลกด้วยเมืองใหญ่
โดย
ดร. เมธาคุณ ตุงคะสมิต
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อโลกกำลังจะถูกเผาด้วยแผนการใช้เงินลงทุนพัฒนาเมืองถึง 25 ล้านล้านเหรียญ ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน 40 เมืองใหญ่ทั่วโลก การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแค่ความสบายของมนุษย์โลกแต่ผลการก่อสร้างจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อโลกร้อนโดยตรง นั่นคือที่มาของการประชุม The First Sustainable Infrastructure Financing Summit ที่เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการพูดคุยกันในรายละเอียดของการสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่ที่ไม่ก่อ ให้เกิดมลภาวะทั่วโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้อง เริ่มต้นจากการหาแนวทางการดำเนินงานที่แต่ละเมืองจะต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันผ่านกรณีศึกษาของแต่ละเมือง
ในการประชุมประกอบด้วยกลุ่ม C40 หรือกลุ่มความร่วมมือของเมืองภาคีเพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เป็นหนึ่งใน 40 เมืองใหญ่ทั่วโลกที่ร่วมมือกันแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าวในครั้งนี้ด้วย โดยกรุงเทพ มหานครนำแนวทาง Public-Private Partnership และแนวทางการเร่งรัดกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกของกรุงเทพมหานครเข้าร่วมเสนอต่อที่ประชุม 40 เมืองใหญ่ที่กล่าวถึงมีประชากรรวมกันมากกว่า 400 ล้านคน แต่หากรวมประชากรที่ใช้ชีวิตในเมืองทั่วโลกจะมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ซึ่งกลุ่มคน ในเมืองส่วนมากมีความต้องการใช้พลังงาน สูง เมื่อเป็นเช่นนี้หากมีแนวทางที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนในเมืองขึ้นได้ จากตัวอย่างเมืองที่มาระดมความคิดกันใน ครั้งนี้ ก็น่าจะมีผลต่อการลดภาวะโลกร้อน ของโลกนี้ลงได้ การประชุมครั้งนี้ยังคาดหวัง ด้วยว่า การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงและความยืดหยุ่นในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นด้วยแนวคิดสีเขียว จะเป็นหนทางที่นำไปสู่การสร้างงาน ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย
การพัฒนาเมืองแต่ละแห่ง เริ่มต้นมักเกิดจากการระดมทุนตามแผนการลงทุน ซึ่งต้องอาศัยเงินจากหลายภาคส่วนทั้งงบประมาณ กองทุนบำเหน็จบำนาญ เงินจาก อุตสาหกรรม ผ่านการแสดงบทบาทของเมืองและรัฐบาลเพื่อดำเนินงานอย่างเหมาะสม หากแต่หลายเมืองแสดงเพียงมุมมองระยะยาวที่สร้างความมั่นคงด้านการเมืองการบริหารปกครอง ทั้งที่ความจำเป็นที่แท้จริงนั้น ควรต้องคำนึงถึงความ เสี่ยงของเมือง ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนเมืองในระยะยาวมากกว่า
เป้าหมายการประชุมเพื่อความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จึงถือเป็นแนวทางใหม่ที่ดึงดูดความสนใจจากเมืองใหญ่เข้าร่วมประชุม เมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมมีทั้งเมืองจากประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเมืองจากทุกทวีปทั่วโลก อาทิ อัมสเตอร์ดัม กรุงเทพฯ เคปทาวน์ โคเปนเฮเกน โฮจิมินห์ จาการ์ตา โยฮันเนสเบิร์ก ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว
การประชุมคาดหวังว่าจะเกิดความสำเร็จด้านการใช้พลังงานในเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ออกแบบ ลงทุน การนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้เกิดการอยู่อาศัยและกิจกรรมในเมืองที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน อาทิ เรื่องการอยู่อาศัย การขนส่ง การบริโภค ฯลฯ หรือกล่าวได้ว่ามีการคิดถึงผลกระทบต่อโลกร้อนอย่างครบวงจรในทุกกิจกรรมในเมือง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|