|
ปฏิบัติการซักโลกของยูนิลีเวอร์
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องปกติที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกหรือแม้แต่ยักษ์ระดับประเทศ ถูกบังคับให้ต้องกำหนดไว้เป็นหนึ่งในนโยบายการดำเนินงานควบคู่ไปกับการทำกำไร ภาพกิจกรรมของแต่ละองค์กรที่ออกมา บางแห่งก็เป็นไปเพื่อสังคมโดยแท้ แต่บางแห่งก็กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องได้ผลที่ไปกันได้กับการดำเนินธุรกิจด้วย แต่อย่างไรก็ต้องถือเป็นผลพลอยได้ต่อโลกที่ส่งผลต่อการยืดอายุธุรกิจให้ดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปพร้อมๆ กัน
นโยบายเพื่อการดำเนินธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Living Plan) เพิ่งถูกบรรจุเข้ามาเป็นนโยบายหลักของยูนิลีเวอร์ทั่วโลก พร้อมกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมานี้ เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อเป็นบท สรุปให้กับแนวทางการดำเนินงานแทนที่ ซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility) ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องคำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ให้มีความชัดเจน และจับต้องได้
ปัจจุบันประมาณการได้ว่า เกือบ 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั่วโลก ใช้ผลิตภัณฑ์ ซักผ้าของยูนิลีเวอร์ หรือคิดแล้วมีอัตราการซักล้างราวๆ 1.25 แสนล้านครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงมาช้านาน แต่เพียงแค่คิดว่าหากทำให้ทุกคนซักล้างน้อยลง ก็เท่ากับยืดอายุของโลกใบนี้ไปได้มหาศาล
แต่ในทางตรงข้ามบริษัทผู้ผลิตย่อม ต้องการขยายอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ตรรกะง่ายๆ นี้จึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เดินสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคยักษ์ใหญ่กับการประกาศนโยบายเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่าง ยั่งยืน ที่พ่วงเอาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้เป็นหัวข้อใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม การได้คิด ย่อมดีกว่าไม่คิดที่จะทำอะไรเลย ไม่ว่าช้าหรือเร็วกว่านี้
มร.บาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิลีเวอร์ก็ตระหนัก ในเรื่องนี้ดีและเข้าใจว่า แม้บริษัทจะต้องการการเติบโตในเชิงธุรกิจ แต่วิธีการที่จะได้มาซึ่งการเติบโตนั้นจะต้องพัฒนาขึ้นภายใต้วิธีการใหม่ในการทำธุรกิจที่ต้องแน่ใจแล้วว่า และต้องไม่ใช่การเติบโตที่เพิ่ม ภาระให้กับโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดำเนินงานภายใต้ความพยายามที่จะลดการใช้ทรัพยากรของโลกที่มนุษย์ใช้กันอย่างเกินพอให้น้อยลง
“หลังจากเริ่มแผนดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน แนวทางคือเราจะทำให้สังคมอยู่อย่างยั่งยืนด้วยผลิตภัณฑ์แต่ละแบรนด์ได้อย่างไร และในตัวองค์กรเราก็พยายาม กลับมามองเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จากที่เราใช้ทรัพยากรของโลกไปมากแล้ว และตระหนักว่าจากนี้ไปเราจะโตต่อไปไม่ได้ หากไม่หยุดที่จะใช้ทรัพยากร ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของเรา”
แผนการธุรกิจยั่งยืนที่ยูนิลีเวอร์ประกาศใช้พร้อมกันทั่วโลก กำหนดแนวทางว่า จะต้องบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ไว้ภายในปี 2563 (ค.ศ.2020) ดังนี้
หนึ่ง-มีแผนที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 2 พันล้านคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ ยูนิลีเวอร์ทั่วโลก
สอง-ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการผลิตลง 50% และ
สาม-จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้มากขึ้น
ภายใต้แนวทางนี้ วิธีการที่เหลือขึ้น อยู่กับโรงงานผลิตและการดำเนินงานของยูนิลีเวอร์ในแต่ละประเทศว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย ตามแต่บริบทของแต่ละประเทศ
แม้จะเพิ่งประกาศแผนทั่วโลก แต่ยูนิลีเวอร์ไทยก็ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมกับโรงงานผลิตในไทยมาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้ (ดูแนวทางเพื่อสิ่งแวดล้อมโลกของยูนิลีเวอร์ไทย) ในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้น้ำ ลดของเสีย และ ลดการใช้ทรัพยากรไปพร้อมๆ กัน
สิ่งที่บริษัทดำเนินงานอาจจะเป็นเรื่องของการดำเนินงานเบื้องหลัง ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่าเป็นความจำเป็นทาง ธุรกิจ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ล้วนบีบคั้นให้บริษัทต่างๆ ทำกำไรได้น้อยลงแต่ ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ต้องหาวิธีประหยัดในหลายๆ รูปแบบ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความจากมุมมองของแต่ละคน
แต่สิ่งที่ถูกต้องและสามารถใช้เป็นตัววัดผลได้ดีที่สุด ก็คือ ผลลัพธ์ของการดำเนินงานนั้นๆ ควรเป็นผลที่ Win-win ทั้งกับตัวองค์กรและผู้บริโภค
ความพยายามลดต้นทุนที่ผู้บริโภคไทยสัมผัสได้ของยูนิลีเวอร์ โดยมากสะท้อน ออกมาในรูปแบบของการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ซักล้างที่ปรับเป็นสูตรเข้มข้นเพื่อให้ผู้บริโภคลดการใช้และลดปริมาณน้ำที่ใช้ซักล้าง การดีไซน์หีบห่อ หรือแพ็กเกจจิ้งใหม่เพื่อลดการใช้พลาสติกในการผลิตบรรจุภัณฑ์และทำให้สินค้าที่บรรจุภายในถูกใช้จนแทบไม่เหลือตกค้าง เป็นต้น
ในปัจจุบันตลาดสินค้าคอนซูเมอร์โดยรวมมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่กว่าจะได้มาก็ต้องทำตลาดกันแบบหืดขึ้นคอ สำหรับยูนิลีเวอร์ มร.บาวเค่อก็ยังยืนยันว่าในปีนี้ ยูนิลีเวอร์ก็คาดว่าจะสร้างอัตราเติบโตให้กับบริษัทได้ประมาณ 5% เช่นกัน
แต่เป้าหมายในทางกลับกันของการลดต้นทุนการดำเนินงานและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเด็นปัญหาที่ผ่านมาหรือแม้แต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไปข้างหน้า ดูหมือนว่ายูนิลีเวอร์มีตัวเลขที่ต้องทำให้ได้มากกว่าเป้าอัตราการเติบโตเสียอีก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ตัวเลขเป็นไปตามเป้าหมายครบทุกด้านนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|