อินโดจีน: ภูมิภาคแห่งอนาคตและโอกาสที่ท้าทาย

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ภูมิภาคอินโดจีน ในความรับรู้และความเข้าใจของผู้คนจำนวนมาก อาจผูกพันอยู่กับภาพอดีตแห่งความขมขื่นที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามและความขัดแย้ง หากสำหรับผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ภูมิภาคอินโดจีนกำลังเปียมด้วยโอกาสและความท้าทายอย่างยิ่ง

งานสัมมนา “Indochina Vision: The Region of Opportunities and Challenges” ซึ่งจัดโดย นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งในประจักษ์พยานของข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น

แม้กิจกรรมสาธารณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นในห้วงจังหวะเวลาของวิกฤติว่าด้วยการกล่าวหาและจับกุมคนไทยในโทษฐานรุกล้ำดินแดนของทาง การกัมพูชา หากแต่เมื่อพิจารณาด้วยทัศนะที่เปิดกว้างและอย่างปราศจากมายาคติ นี่คือจังหวะก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงออกซึ่งบทบาทนำในการเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่งคงทางสังคมให้เกิดมีขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในโลกธุรกิจปัจจุบัน มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการมีศักยภาพและสรรพกำลังจากฐานอำนาจทางการเงินที่มั่งคั่ง หรือเครือข่ายสายสัมพันธ์ของผู้คนที่มีบทบาทอิทธิพลในเชิงสังคมเท่านั้น หากแต่โอกาสแห่งความสำเร็จที่ผู้คนไขว่คว้าและแสวงหา เกิดขึ้นจากผลของกระบวนการเรียนรู้ ที่พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารที่ไหลรินท่วมทับให้กลายเป็นพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และการนำไปผลิตสร้างให้เกิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่จับต้องได้

สุนทรพจน์ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ให้เกียรติมากล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ ในด้านหนึ่งอาจพิจารณาในฐานะที่เป็นเพียงวาทกรรมตามแบบพิธีทั่วไป หากแต่นัยความหมายที่สอดแทรกอยู่ในสุนทรพจน์ดังกล่าวย่อมเป็นประหนึ่งจุดยืนและแนวนโยบายของรัฐไทยที่มีต่อภูมิภาคอินโดจีนอย่างมิอาจปฏิเสธ

“ด้วยสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ที่เป็นประหนึ่งจุดเชื่อมโยงประเทศต่างๆ บนผืนแผ่นดินใหญ่ในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีนต่างมีประสบการณ์ ร่วมกันทั้งในมิติของความคาดหวัง และการจำเริญเติบโตภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน”

จุดใหญ่ใจความที่นายกรัฐมนตรีไทยพยายามชี้ให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้ตระหนักก็คือ ความพยายามที่จะกำหนดนิยาม ภูมิภาคอินโดจีน ให้แตกต่างไปจาก กรอบความคิดเดิมที่อาจประเมินภูมิภาคแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งและสงคราม ไปสู่ “อินโดจีนใหม่” ซึ่งหมายรวม ถึงทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และจีนตอนใต้ ที่เปี่ยมไปด้วยความร่วมมือและศักยภาพที่แข็งแกร่งในการเติบโตมั่งคั่ง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ประการหนึ่งก็คือ การเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอินโดจีน ในช่วงปี 2005-2009 ที่ผ่านมา ดำเนินไปท่ามกลางอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามมีอัตราการเติบโต สูงถึงร้อยละ 7.8 ขณะที่ลาว เติบโตขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนกัมพูชาก็สามารถรังสรรค์พัฒนาการทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 8.2

“วิสัยทัศน์ว่าด้วยอินโดจีนใหม่ในห้วงเวลาและบรรยากาศที่เปลี่ยนไปนี้ ก็คือการเสริมสร้างให้ภูมิภาค นี้เป็นดินแดนของการจำเริญ เติบโตที่ยิ่งใหญ่และความมั่งคั่งที่ดำเนินไป สำหรับทุกๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงการขจัดความแตกต่างในมิติของลำดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจระหว่าง กันด้วย”

วิสัยทัศน์ดังกล่าวดูจะสอดรับกับ ความพยายามที่จะเพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงและบูรณาการประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่ดำเนินไปภายใต้คำขวัญ “Enhancing Connectivity, Empowering People” หรือ “เชื่อมโยงประชาคม สร้างเสริมประชาชน” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ASEAN มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงทางกายภาพของเส้นทางคมนาคมและระบบ logistics ระหว่างกันในเชิง hardware เท่านั้น

หากยังมีมิติของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ (Knowledge Connectivity) รวมถึงการเสริมสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตด้วย

“อินโดจีนใหม่ ในทัศนะที่ว่านี้ ไม่ได้ มีความสำคัญหรือนัยความหมายที่จำกัดอยู่เฉพาะการเติบโตก้าวหน้าของประเทศภายในภูมิภาคอินโดจีนเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงอนาคตของอาเซียนโดยองค์รวม ซึ่งจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย”

แม้นายกรัฐมนตรีไทยจะพยายามกำหนดนิยามและวางเค้าโครงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอินโดจีนขึ้นใหม่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงวาทกรรมที่ยังไม่ปรากฏรูปธรรมให้จับต้องได้ในขณะปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเมื่อมีการกล่าวถึงอินโดจีนใหม่ในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากร วัตถุดิบและแรงงาน

ภาพฝันว่าด้วยประชาคมอาเซียนที่มีประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.69 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เสริมด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียนและข้อตกลงทางการค้า และการลงทุนที่สมาชิกของอาเซียนมีต่อพันธมิตรอื่นๆ ที่จะทำให้อาเซียนมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ อาจเป็นเพียงมายา ภาพที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยนัก

เพราะในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเหล่านี้กำลังเร่งระดมเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ อย่างหนักแน่นจริงจัง ประเทศไทยกลับตกอยู่ในอาการหยุดนิ่งและในหลายกรณีกลายเป็นการพัฒนาย้อนกลับ ที่ส่งให้ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในเวทีระดับนานาชาติ มีลักษณะถอยหลังไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ศักยภาพในการแข่งขันด้วยการอาศัยข้อได้เปรียบ ในเรื่องแรงงานราคา ต่ำที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน อดีต กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงใช้เป็นจุดขาย เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ประกอบการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ใหม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการผลิต สมัยใหม่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปจากเดิมมาก ควบคู่กับการแสวงหาบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งย่อมมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ หากเป็นผลจากกระบวนการที่ต้องอาศัยการวางแผน และเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันในมิติของความสามารถในการผลิตอย่างจริงจังด้วย

บางทีสถานภาพของไทยในการเป็น ประเทศที่มีบทบาทนำในกลุ่มอาเซียน อาจ กำลังถูกบดบังด้วยความเคลื่อนไหวจากจีน ซึ่งกำลังจะเป็นมหาอำนาจที่พร้อมขยายบทบาทและอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน อาเซียน และเวทีโลกอย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจาก บทบาทของจีนในเรื่อง Connectivity ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประชาคมอาเซียน ตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่การมุ่งสู่การเป็น ASEAN Economic Community (AEC) ภายในปี 2015 ดูจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง และกำลังส่งผลกระเทือนที่พร้อมจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การ เมือง และสังคมอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้น ในภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียนโดยรวมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นัยความหมายจากถ้อยแถลงของ ก่วน มู่ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในหัวข้อ “Connectivity: Key to Prosperity” ในงานสัมมนาเดียวกันนี้เป็นประหนึ่งการประกาศจุดยืน ท่าที และนโยบายครั้งสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนและอาเซียนด้วยโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนมีส่วนร่วมทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันและให้การสนับ สนุนทางการเงินในโครงการดังกล่าว

จีนเร่งพัฒนาระบบการขนส่งด้วยระบบรางอย่างต่อเนื่องและพยายามก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีในด้านดังกล่าว ซึ่งสอดรับกับความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนและอาเซียนอย่างยากจะปฏิเสธ

“การเชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนเข้าด้วยกัน ภายใต้ระบบรถไฟความเร็วสูง นอกจากจะทำให้การเดินทางระหว่างผู้คนและสินค้าจากประเทศต่างๆ ทำได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงการประหยัดเวลาแล้ว ก็ย่อมหมายถึงเงิน เพราะเวลาก็คือเงิน หากเส้นทางเหล่านี้สร้างเสร็จ เศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย”

แผนที่ที่ก่วน มู่นำมาแสดงประกอบ การสัมมนาในวันนั้น ได้ชี้ให้เห็นโครงข่ายของเส้นทางที่เชื่อมโยงภูมิภาคอินโดจีนในมิติที่พร้อมจะก้าวข้ามและพ้นไปจากกรอบความคิดเดิมว่าด้วยอาณาเขตและดินแดนไปอย่างเด่นชัด หากแต่สอดรับกับยุทธศาสตร์หลักของจีนอย่างแนบแน่น

ก่อนหน้านี้ ยุทธศาสตร์ของจีนอาจได้รับการประเมินเป็นเพียงความพยายามที่จะแสวงหาหนทางที่จะเชื่อมโยงเส้นทางออกสู่ทะเลทางด้านอันดามัน และ มหาสมุทรอินเดีย ควบคู่กับการเร่งพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศให้มีระดับใกล้เคียงกับเขตเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองทางภาค ตะวันออก

กรณีดังกล่าวสอดรับกับบริบทที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองบนเวทีโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างมีความจำเป็นที่จะต้องหันกลับไปแก้ไข ปัญหาวิกฤตการณ์ที่ต้องเผชิญ และกลายเป็นการเปิดโอกาสให้จีนสามารถแสดงบทบาทนำได้อย่างไร้แรงเสียดทานที่หนักหน่วงจากคู่แข่งขัน ขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจในเอเชียก็ยังเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคง เกินกว่าที่จะแทรกตัวหรือขยายบทบาทครอบคลุมเข้าสู่สุญญากาศแห่งอำนาจนี้ได้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือภายใต้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่บ่งชี้ความสำคัญของ จีน ในฐานะที่เป็นจักรกลหลักในการหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ ในหลายๆ ด้านนั้น จีนมิได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกเพียงเพราะมีประชากรจำนวนมาก ซึ่งอาจประเมินมูลค่าในฐานะที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ หรือแหล่งแรงงานที่ล้นเหลือเท่านั้น

หากบทบาทของจีนบนเวทีโลกเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายาวนานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ครั้งที่บรรยากาศการเมืองโลกยังอยู่ภายใต้กรอบความคิดแบบสงครามเย็นเลยทีเดียว โดยจีนพยายาม กำหนดตำแหน่งของตัวเองไว้ในฐานะที่เป็นผู้นำของหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก และพร้อมจะให้ การสนับสนุนร่วมมือกับประเทศเหล่านั้นในการหลบเลี่ยงจากอิทธิพลของทั้งสหรัฐ อเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งกำลังขับเคี่ยวช่วงชิงการเป็นผู้นำของโลกในขณะนั้น

จีนได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นผู้นำระดับ 3 ในระบบการเมืองโลก มาสู่การเป็นขั้วอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงยามที่นานาประเทศเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงินทั้งในช่วงปี 2540 และในปี 2551 พร้อมๆ กับการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสายสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ได้สร้างไว้ในช่วงก่อนหน้า และการบุกเบิกความสัมพันธ์ใหม่ๆ อย่างกว้างขวาง ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่มีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย อาจระบุถึงประเทศไทยและโดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร ว่าเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ Connectivity ในมิติมุมมองของจีน ซึ่งค่อนข้างจะสอดรับกับความทะเยอทะยานและเข็มมุ่งของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยที่มองเห็นความสำคัญดังกล่าว

แต่ประเทศไทยและผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายจะยินดีรับข้อเสนอที่พร้อมจะเป็นเป็นเพียงภาพฝันนี้ไว้ เพียงเพราะคนอื่นกำหนดให้เป็น หรือจะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถให้บรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและปรากฏผลจริงจังจากพื้นฐานภายในที่มั่นคงแข็งแรงอย่างไร

เพราะปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับสมาชิกในประชาคม ASEAN ไปพร้อมกัน และในความเป็นจริง วิวัฒนาการของ ASEAN ที่กำลังดำเนินไปนี้ มิได้เกิดขึ้นท่ามกลางความหมายที่ทุกประเทศหรือทุกคนใน ASEAN จะได้ประโยชน์ หากแต่เป็นกรณีที่ผู้มีความสามารถ ในการปรับตัวและประเมินศักยภาพการแข่งขันเท่านั้นที่จะแสวงประโยชน์จากบริบทที่เปลี่ยนไปนี้

ประดาป พิบูลสงคราม ผู้แทนไทยในคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการเชื่อมโยง ระหว่างกันใน ASEAN และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “Toward the Vivid Future” พยายามชี้ให้เห็นมิติของการเปลี่ยนผ่านในเชิงกายภาพและความพยายามที่จะจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ จากกรอบ ความร่วมมือที่มีอยู่อย่างหลากหลาย

“อนาคตที่เรืองรองรอคอยอยู่เบื้องหน้า หากแต่เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่การเชื่อมประสานแบบ “ไร้รอยต่อ” (seamless) ซึ่งย่อมไม่ได้เป็นเพียงการเชื่อมประสานเฉพาะภายในภูมิภาคอินโดจีน หรืออาเซียนเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมประสานในบริบทที่กว้างขวางออกไปสู่สากล ทั้งในมิติของทวีปเอเชียโดยรวมและของโลกด้วย”

มิติความคิดว่าด้วยการเชื่อมประสานอย่าง “ไร้รอยต่อ” ดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่สอดรับกับวิถีของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB ซึ่งได้เผยแพร่เอกสารภายใต้ชื่อ “Infrastructure for a Seamless Asia” เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา

แต่การเชื่อมประสานอย่างไร้รอยต่อที่ว่าย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ หากปราศจากซึ่งพัฒนาการ ที่ย่อมต้องมีราก ฐานมาจากความมั่นคงทางการเมือง และอาจรวมถึงความสามารถในเชิงเศรษฐกิจของประเทศที่แวดล้อมอยู่ภายใต้กรอบแห่งความเชื่อมประสานเหล่านี้

ขณะเดียวกัน การเสริมสร้างและการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรที่อยู่ภายนอกกลุ่ม เพื่อให้ทั้งอินโดจีนและอาเซียนสามารถบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ก็เป็นเรื่องที่มิอาจมองข้าม

“บทบาทของหน่วยงานระดับนานา ชาติ รวมถึงสถาบันการเงินทั้งหลายจะมีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนพัฒนาการ และความเจริญมั่งคั่งของประเทศในภูมิภาค อินโดจีน ซึ่งจะช่วยกระชับช่องห่างของการพัฒนาให้แคบลงและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคให้แข็ง แกร่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การก้าว สู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียนในปี 2015 เป็นจริงยิ่งขึ้น”

อนาคตของอินโดจีนนับจากนี้ ไม่ได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวและเลื่อนลอย หากกำลังเป็นดินแดนแห่งประโยชน์และโอกาสที่ท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และแนวนโยบายที่ชัดเจนรอบด้านในการบริหารจัดการอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.