|
บทสนทนา
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
- ช่วยขยายความอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลางนั้นมีอะไรบ้าง
ในกฎหมายธุรกิจของลาวจะมีบัญชี เขาก็เรียกว่าบัญชีกิจการที่สงวนไว้ให้กับคนลาว ซึ่งก็ไม่มากหรอก เพราะฉะนั้น คนที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจในลาว ต้องไปศึกษากฎหมายธุรกิจว่า มีกิจการใดที่สงวนไว้บ้าง เพราะนอกเหนือจากนั้น ทุกคนสามารถเข้ามาทำได้หมด
- โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าตอนนี้ ธุรกิจอะไรที่น่าลงทุนที่สุดในลาว
คิดว่าในขั้นต่อไปนี้ กิจการที่ต่อเนื่องจากเรื่องของการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะว่ามันมีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศที่กำลังเกิดขึ้น อย่างเช่น ทางรถไฟ ฉะนั้นถ้าจะมาลงทุนด้านนี้ ก็น่าสนใจ
แล้วสนามบิน เพราะในบางที่ก็ยังไม่มีสนามบิน ที่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้ ทางเหนือของลาว หัวพัน หรือทางใต้ เซกอง สาละวัน ถ้าจะเข้ามาลงทุนด้านนี้ มันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้ก็มีความเป็นไปได้สูง
นอกจากนั้นก็จะเป็นการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งสามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศ
แล้วส่วนที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว อันนี้ก็สำคัญ หลายแห่งยังไม่ได้มีบริษัทนำเที่ยว หรือกิจการที่ต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างรีสอร์ต โรงแรม อันนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้สูง
- พื้นที่ขนาดใหญ่ในลาว ตอนนี้ยังมีเหลืออยู่มากไหม
ตอนนี้ก็เริ่มจำกัดแล้ว เพราะว่ารัฐบาลเปิดให้มาก แล้วก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลประสบอยู่ ก็เรื่องที่ดิน ซึ่งต้องไปสำรวจกับท้องถิ่น เพราะจะหาแบบเป็นผืนเดียวนี้ไม่ง่ายแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงหันมาให้การส่งเสริมลักษณะที่ให้นักลงทุนเข้ามาทำเป็นคอนแทร็คฟาร์มมิ่งแทน โดยการจ้างคนลาวให้ปลูกพืชในที่ดินของตนเอง อันนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ที่ดินขนาดใหญ่ ตอนนี้มันหายาก
- ขั้นตอนการเข้ามาลงทุนในลาว จะทำอย่างไร
การลงทุนในลาวสามารถทำได้ 3 ลักษณะ ลักษณะแรก คือทำธุรกิจตามสัญญา ท่านไม่จำเป็นต้องมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ในลาวก็ได้ หากได้ทำสัญญาผูกพันกับบริษัทที่มีอยู่ในลาวก็สามารถเอาสัญญานั้นไปจดทะเบียน แล้วก็ดำเนินธุรกิจไปได้ แต่การลงทุนประเภทนี้จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ลักษณะที่ 2 นี่ คือธุรกิจร่วมทุน ผู้ลงทุนต่างประเทศมาร่วมทุนกับบริษัทลาว ตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ขึ้นมา แล้วก็ไปจดทะเบียน ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการค้า ท่านก็สามารถนำเงินรายได้กลับประเทศไปได้
ลักษณะที่ 3 นี่ก็คือการลงทุนของต่างประเทศฝ่ายเดียว อันนี้ก็ได้ หากไม่อยากร่วมทุนกับผู้ลงทุนภายใน ก็สามารถมาลงทุนได้ 100% อันนี้กฎหมายของลาวก็อนุญาต
- แล้ว 2 ประเภทหลังนี่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่
ได้ตามเขตที่เข้าไปลงทุน มันมีเขต 1 เขต 2 เขต 3
เขต 3 ก็คือตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 1-4 ปี
เขต 2 ก็คือเขตที่ออกไปจากตัวเมืองใหญ่ แต่ก็ไม่ถึงกับทุรกันดาร ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ประมาณ 4-6 ปี
เขต 1 เขตทุรกันดาร ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6-10 ปี
เกี่ยวกับการจะเข้ามาลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญ ก็คือจะต้องพยายามศึกษาข้อมูลให้มีความชัดเจน เพราะว่าประเทศลาวนั้น บางครั้งข้อมูลก็มี แต่ไม่เพียงพอ ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนการผลิต การขนส่ง ผู้ลงทุนก็ต้องคำนึง ต้องรู้ว่าเมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว จะได้ผลตอบแทนยังไง ต้องมีข้อมูลมากๆ แล้วนโยบายของรัฐบาลก็ต้องรู้
แต่ว่าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือต้องมาติดต่อกับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน เพราะทุกแขวงจะมีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่จะมีข้อมูลเบื้องต้นให้ และสามารถช่วยเรื่องการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่น
- สมมุติว่ามีนักลงทุนอยากไปลงทุนที่เชียงขวาง ต้องมาติดต่อที่นี่หรือไปที่เชียงขวาง
ไปเชียงขวางเลย เพราะเชียงขวางก็จะมีหน่วยงานที่ขึ้นกับที่นี่ เขาเรียกแผนกแผนการและการลงทุน จะมีหน่วยงานลงทุนอยู่ในแผนกนั้น ไปติดต่อกับแผนกนั้น จะได้ข้อมูลและประสานงานต่อได้ ไม่จำเป็นต้องมาส่วนกลางหมด ยกเว้นที่บอกว่าเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับสัมปทาน อันนั้นหากไปหาที่แขวง เขาก็ต้องบอกให้มาที่นี่
- ที่เคยได้ข้อมูลมา การอนุมัติการลงทุนจะมีการแบ่งอำนาจระหว่างแขวงกับส่วนกลาง
แต่ก่อนในกฎหมายปี 2004 จะมีการแบ่งว่าถ้าเป็นแขวงเล็ก จะสามารถอนุมัติโครงการได้ไม่เกิน 3 ล้านดอลลาร์ ถ้าเป็นแขวงใหญ่ ซึ่งมี 4 แขวง คือนครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาสัก สะหวันนะเขต สามารถอนุมัติโครงการได้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ แต่ว่าในกฎหมายใหม่นั้นไม่มีแล้ว ตอนนี้เปลี่ยนเป็นว่าการลงทุนมูลค่าเท่าใด แขวงก็สามารถอนุมัติได้ ก็ทำให้มันสะดวกกว่าเก่า
แล้วในกฎหมายใหม่ ก็ไม่มีกำหนดเวลาของการลงทุน คือเราสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ต่อเนื่องจนกว่าจะเลิกกิจการไปเอง หรือล้มละลาย จากเดิมที่ในกฎหมายเก่าจะกำหนดเวลาไว้ 15 หรือ 25 ปี อันใหม่นี้ก็เปิดพอสมควร
- มีกฎหมายกำหนดไว้ไหมว่า จะมาลงทุนแล้วต้องจ้างแรงงานท้องถิ่นเท่าไร
มีกฎหมายแรงงาน โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะส่งเสริมให้ใช้คนลาวที่เป็นแรงงานทั่วไป ยกเว้นที่มีความจำเป็นทางด้านวิชาการ สามารถนำเข้าได้ อย่างโครงการใหญ่ ยกตัวอย่างโครงการน้ำเทิน 2 ที่ต้องการช่างเทคนิคพิเศษเข้ามา แต่กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกิน 10% แต่ระยะหลังนี่ก็อนุโลมให้เป็น 20% แต่ว่ากรณีมีความจำเป็น บางโครงการเอามากเท่าไรก็ได้ แต่ว่ามีระยะเวลาจำกัดไว้ แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว อยากให้ใช้คนลาว
แต่ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาแล้ว บางแขนงการ แรงงานเราก็ไม่พอ อย่างโครงการปลูกอ้อย ปลูกยางพารา รัฐบาลคำนวณแล้วว่า ถ้ากิจการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว อย่างยางพาราประมาณ 4 แสนเฮกตาร์ ถ้าหากเกิดขึ้นมาจนเต็มแล้ว จะไม่มีคนงานมากรีดยาง อันนี้ก็ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไร จะแก้อย่างไร ตอนนี้หลายคนเห็นปัญหาแล้ว
- มีคำแนะนำอะไรเป็นพิเศษสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในลาว
ที่เน้นในเบื้องต้นเลย ก็คือพยายามเข้ามาหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนที่จะทำ หรือไปที่แผนกแผนการและการลงทุน เพราะที่เคยติดตามมาก็เห็นมีธุรกิจที่มีปัญหาขัดแย้งกัน อันนี้เป็นกับนักลงทุนจากทุกประเทศ เพราะจะมีประเภทพวกนายหน้าไม่ใช่นักธุรกิจแท้ ชักชวนนักลงทุนเข้ามา แต่พอเข้ามาจริงแล้วไม่สามารถทำได้ อันนี้พยายามเลี่ยง ต้องระวัง คือพยายามไปหาหน่วยงานรัฐ หรือไปหาสภาการค้าและอุตสาหกรรม ที่เขามีการจัดตั้งอยู่เกือบครบทุกแขวงแล้ว เขาจะรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกว่า ต้องเข้าหาหน่วยงานพวกนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|