นโยบายส่งเสริมการลงทุนของ สปป.ลาว

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ครั้งที่ 7 ของ สปป.ลาว กำหนดอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ระหว่าง
ปี 2011-2015 เอาไว้สูงถึงปีละ 8% ตามเป้าหมายการลงทุนในลาวช่วง 5 ปีนี้ จะต้องเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 1.7 พันล้านดอลลาร์

เนื้อหาส่วนนี้เป็นภาพรวมของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ สปป.ลาว เป็นข้อมูล ที่เรียบเรียงมาจากคำอธิบายของฮุมเพ็ง สุลาไล อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งมีบทบาทเหมือนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย...

“รัฐบาล สปป.ลาวเริ่มวางนโยบายเปิดกว้างต่อการลงทุนมาตั้งแต่ปี 1986 หลังจากนั้นก็ได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับแรกในปี 1988 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้วางกรอบนโยบาย ระเบียบการ และขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งก็ค่อนข้างเปิดกว้างพอสมควร เพื่อให้ชาวต่างประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเข้ามาลงทุนในลาวได้เกือบทุกประเภท ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการ การประกันภัย การขนส่ง โทรคมนาคม พวกนี้เปิดกว้างหมด

แต่จะมีแต่บางกิจการ เช่นที่เกี่ยวพันกับความมั่นคง หรือความปลอดภัยของชาติ หรือกิจการที่จะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้กำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะพิจารณาเป็นพิเศษ

แต่ก่อนนั้น กฎหมายนี้ฉบับแรก การยื่นเอกสารเพื่อลงทุนจะต้องผ่านมายังกรมส่งเสริมการลงทุน เป็นศูนย์กลาง เป็นผู้พิจารณารายเดียว

หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงกฎหมายในปี 1994 โดยกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น แล้วก็กำหนดบางนโยบายเพิ่มเติม เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบ อุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญคือผู้ลงทุนที่เป็นชาวต่างประเทศจะเสียภาษีรายได้บุคคลเพียง 10% เป็นอัตราเดียวเท่ากันหมด จากปกติที่ทั่วไปจะเสียอยู่ประมาณ 2-35%

แล้วกฎหมายนี้ก็มีการปรับปรุงมาตลอด ปี 2004 ก็ได้ปรับปรุงอีกครั้ง ล่าสุดคือในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 รัฐบาลก็ได้รับรองกฎหมายการลงทุนฉบับปรับปรุงใหม่ซึ่งมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ

1. เป็นการรวมเอากฎหมายลงทุนของต่างประเทศ และภายในเข้าด้วยกัน เพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ระหว่างผู้ลงทุนภายในกับต่างประเทศ ซึ่งอันนี้สำคัญ

2. กำหนดขั้นตอนการพิจารณาการลงทุน ให้มีความกะทัดรัดกว่าเดิม แบ่งงานให้แขนงการ ให้กระทรวง ให้ปลัดแขวง สามารถตัดสินใจเรื่องการลงทุนได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มรูปแบบในการพิจารณาการลงทุนผ่านระบบประตูเดียว (one stop door) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน

3.กำหนดนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือยกเว้นภาษีในบางแขนงการ เป็นต้นว่าแขนงสาธารณสุข แขนงการศึกษา มีนโยบายยกเว้นอากรกำไรที่สูงกว่านโยบายปกติ

4. มีการแบ่งเขตของการลงทุน เป็นเขต 1 เขต 2 เขต 3 ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกัน

อันนี้เป็นกรอบของนิติกรรม เป็นกลไกหนึ่งที่สามารถกำหนดนโยบายสำหรับการพิจารณาอนุมัติการ ลงทุน เป็นกลไกที่ทำให้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนสามารถแบ่งอำนาจให้ท้องถิ่น ส่วนกรมส่งเสริมการลงทุน จะรับผิดชอบเฉพาะโครงการที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ หรือพัฒนาที่ดิน การบิน การประกันภัย การธนาคาร ที่เราจะพิจารณา แล้วเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ

ตามกฎหมายส่งเสริมลงทุนใหม่นี้ กิจการที่ได้รับการส่งเสริม ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถไปจดทะเบียนกับกระทรวงการค้า และกระทรวงอุตสาหกรรมได้เลย ไม่จำเป็น ที่จะต้องมาผ่านที่นี่ แต่เพื่ออำนวยความสะดวก เราได้จัดตั้งหน่วยงานประตูเดียว เวลายื่นคำร้องมาที่นี่ แล้ว ดูว่าโครงการนั้นจะเกี่ยวพันกับหน่วยงานใดก็จะประสานเพื่อให้นักลงทุนได้ ไปติดต่อที่หน่วยงานนั้น

ประเทศลาว เป็นประเทศที่เพิ่งเปิดการลงทุนมาได้ไม่นาน ตั้งแต่ปี 1986 จนปัจจุบัน ก็ไม่ถึง 30 ปี เพราะฉะนั้นการจะทำให้ต่างประเทศเข้าใจสภาพต่างๆ นั้นยังไม่ทั่วถึง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามโฆษณา ออกไปทำโปรโมชั่น ไปโรดโชว์ในต่างประเทศ แต่ว่าหลายคนก็ยังไม่เข้าใจในประเทศลาวดี ฉะนั้น รัฐบาลเห็นว่าการลงทุนนี่จะเป็นงานหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด

ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ โดยเฉพาะในแผน 5 ปี ฉบับที่ 7 ระหว่างปี 2011-2015 ได้วางเป้าหมายการขยายตัวของจีดีพีไว้สูง ประมาณ 8% ต่อปี โดยได้คาดหมายว่าจะมีการลงทุนจากภาคธุรกิจทั้งภายในและต่างประเทศปีละ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอันนี้ก็เป็นความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการลงทุน เพราะฉะนั้นพวกเราจึงมีความจำเป็นต้องเปิดกว้างนโยบาย แล้วก็ออกไปโฆษณาในต่างประเทศ

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะประเทศลาวเป็นประเทศที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากร ธรรมชาติมาก ถ้าดูจำนวนประชากรมีแค่ 6 ล้านกว่าคน เทียบกับเนื้อที่ดิน 236,800 กว่าตารางกิโลเมตร เฉลี่ยความแน่นหนาของประชากรแค่ 24 คนต่อตารางกิโลเมตร ฉะนั้นความสามารถในการจะพัฒนาทางด้านการเกษตร หรือเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศลาว ก็มีความเป็นไปได้สูง ฉะนั้นจึงมีความต้องการจะต้องระดมทุนเข้ามาใช้ในแขนงนี้

ปัจจุบัน รัฐบาลก็ได้เปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนปลูกพืชอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา นอกจากนี้ก็มีพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง อ้อย ก็มีโรงงานน้ำตาลจากประเทศไทย 2 ราย ไปลงทุนที่แขวงสะหวันนะเขต และเป็นกิจการที่มีการพัฒนาค่อนข้างดี

ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะขยายกิจการลักษณะนี้ เพราะสามารถกระจายรายได้ให้ท้องถิ่น ทำให้ประชาชนท้องถิ่นมีงานทำ มีอาชีพทันที อันนี้ก็เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญมาก

อันที่สอง ก็เป็นนโยบายเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ คือไฟฟ้าและเหมืองแร่ ไฟฟ้า นี่ก็เข้าใจว่าเป็นบุริมสิทธิอันหนึ่งของรัฐบาล เพราะว่าในประเทศลาวนี้ก็เต็มไปด้วยแม่น้ำสายต่างๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งตามที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้นสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 23,000 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีสัญญากับรัฐบาลประเทศภาคี โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

ประเทศไทยนี่ก็มีสัญญาในการยกระดับความต้องการพลังงานไฟฟ้าขึ้น ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าจากลาว ซึ่งตามสัญญาของ รัฐบาลลาวจะต้องตอบสนองไฟฟ้าให้ประเทศไทย จนถึงปี 2015 ประมาณ 7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งมีหลายโครงการได้เริ่มผลิตแล้ว อย่างโครงการห้วยเฮาะ โครงการเทินหินบุน เร็วๆ นี้ก็เพิ่งเปิดโครงการน้ำเทิน 2 เมื่อวันที่ 9 เดือนธันวาคม (2553) ได้เปิดเป็นทางการ เป็นการสนองไฟให้ประเทศ ไทย

แล้วก็ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการน้ำงึม 2 อันนี้ก็เป็นการลงทุนของบริษัทจากไทย บริษัท ช.การช่าง นอกจากนี้ ตามแผนก็จะมีโครงการอื่นๆ เป็นโครงการขนาดใหญ่ อยู่ตามลำแม่น้ำโขง นี่ก็มี 4-5 โครงการ ก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่เรียกว่าเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย อันนี้ก็เป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาล

แล้วเคียงคู่กันนั้น ก็เป็นเรื่องเหมือง แร่ เพราะลาวเป็นประเทศยังที่อุดมสมบูรณ์ ในเรื่องแร่ธาตุ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ ทองแดง แล้วใหม่ๆ นี่ก็เป็นแร่เหล็ก สังกะสี หรือว่า บ๊อกไซด์เพื่อนำไปทำอะลูมิเนียม หรือถ่าน หิน ที่ผ่านมา รัฐบาลให้สัมปทานแก่บรรดา ผู้ลงทุน ไม่ว่าต่างประเทศหรือภายในมากพอสมควร มีเกือบถึง 160 กิจการที่ให้ผู้ลงทุนต่างประเทศมาขอสำรวจ ยังไม่ได้เริ่ม ขุด อยู่ในขั้นตอนสำรวจเพื่อหาข้อมูล ถ้าหากมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ก็สามารถเสนอขอลงทุนต่อรัฐบาล

การลงทุนของต่างประเทศที่เริ่มแล้ว ก็มีทองคำ ทองแดง ซึ่งมี 2 บริษัท คือล้านช้างมินเนอรัล กับภูเบี้ยไมนิ่ง ซึ่งก็สามารถสร้างรายรับให้รัฐบาลเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นก็มีกิจการด้านการบริการ การบริการนี้หมายถึงการประกันภัย การขนส่ง คมนาคม การธนาคาร ซึ่งเกี่ยวกับการธนาคารนั้น ก็มีหลายธนาคารเริ่มมาตั้งสาขาใน สปป.ลาว จากประเทศไทยก็มีหลายธนาคารที่เข้ามาอยู่ที่นี่นานแล้ว แล้วยังมีธนาคารของมาเลเซีย เวียดนาม ฝรั่งเศส ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้สนใจติดต่อมา ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ

เรื่องอื่นๆ ก็คิดว่าเป็นเรื่องการขนส่ง แล้วก็การท่องเที่ยว เป็นอีกแขนงหนึ่งที่สำคัญ เพราะประเทศลาว เป็นประเทศที่ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมก็ยังมีอยู่ เป็นนโยบายของรัฐบาลก็จะส่งเสริมนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนด้านโครงสร้าง พื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกันในภูมิภาค ประเทศที่อยู่ในจีเอ็มเอส ในอาเซียน ก็คิดว่ารัฐบาลลาวจะใช้การที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แล้วสามารถทำทัวร์ต่อไปประเทศอื่นได้ ทำเป็นลูปไป อันนี้ก็มีสัญญากันแล้วในกรอบจีเอ็มเอส

ในการนี้ รัฐบาลก็จะต้องเน้นเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน อย่างเส้นหมายเลข 9 หรือว่าอาร์ 3 จากคุนหมิงลงมาผ่านประเทศลาว แล้วก็เข้าสู่ประเทศไทย เป็นโครงการที่ถือว่าเป็นสายคมนาคมหลัก สามารถส่งเสริมให้เกิดกิจการต่อเนื่องได้อีกมาก แล้วก็ยังมีการสร้างสะพานหลายแห่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว และที่ใกล้จะเสร็จก็ที่คำม่วน แล้วก็ยังมีสะพานที่ห้วยทราย

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกันกับประเทศอื่น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการค้าขาย เพราะตลาดของประเทศลาวนั้นไม่ใหญ่ แต่ถ้ามองถึงตลาดในภูมิภาค เราสามารถผลิต และส่งออกไปขายได้ เพราะว่าเราอยู่ตรงกลาง

เมื่อก่อนก็เคยมีการจะให้ประเทศลาวนี้เป็นแลนด์ลิงค์ แต่จะเป็นแลนด์ลิงค์ได้นั้น โครงสร้างพื้นฐานจะต้องดี ต้องสามารถผลิตของที่เขาต้องการ มันก็จะมีช่องว่างตรงที่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน มีประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศลาวนี่ยังอยู่ในช่วงของการสร้างบุคลากร การยกระดับความสามารถของผู้รับเหมาของธุรกิจ หากต้องแข่งกับต่างประเทศในอนาคต

แล้วก็ยังเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือว่าเขตเศรษฐกิจเฉพาะ อันนี้ก็เป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่จะส่งเสริม ซึ่งตาม กฎหมายปี 2009 ได้กำหนดเกณฑ์ของนโยบายเรื่องการส่งเสริมให้ต่างประเทศมาลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็มีอยู่ 3 เขต

เขตแรกที่บ่อเต็น เรียกบ่อเต็นแดนคำ เป็นการลงทุนของประเทศจีน อยู่ชายแดนระหว่างแขวงหลวงน้ำทากับทางบ่อหานของจีน อันนี้ก็ดำเนินไปได้มากแล้ว เขามี 3 ระยะ ระยะแรกเสร็จไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 มีการสร้างโรงแรม ร้านค้า สนามกอล์ฟ ศูนย์บันเทิงต่างๆ ก็มีเกิดขึ้นมาก

อีกเขตหนึ่งก็ที่บ้านต้นผึ้ง อันนี้ก็มีการขยายตัวดี เพราะอยู่ที่แขวงบ่อแก้วนี้ก็สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศใกล้เคียงได้

เขตที่สามก็ที่สะหวันนะเขต สะหวัน เซโนนี่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้สร้างมานานแล้ว แต่ว่าเนื้อที่ไม่มาก แค่ 300 เฮกตาร์

แล้วก็ยังมีเขตอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ที่อยู่ในแผนของรัฐบาล เช่นในแขวงคำม่วนซึ่งคงเริ่มต้นหลังจากสะพานสร้างเสร็จแล้ว ในเขตคอนพะเพ็ง แขวงจำปาสัก หรือในแขวงหัวพันทางภาคเหนือ อันนี้ก็ติดกับชายแดน เวียดนาม รัฐบาลก็รับรองดำรัสให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเน้นดึงการลงทุนเข้ามาแต่โครงการใหญ่ๆ อันนี้ก็มีเหตุผล แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้ต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ซึ่งระยะหลังนี่รัฐบาลก็ต้องการส่งเสริมการลงทุนประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถไปจดทะเบียนกับกระทรวงการค้าได้เลย เพราะเราเปิดกว้าง”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.