โอกาสของนักธุรกิจไทย-ลาว

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่กำหนดการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ลาวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดให้มีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2553 (2010) หลังตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว 10 วัน

เพราะถ้ามองแบบคนที่เชื่อในเรื่องของตัวเลขแล้ว วันดังกล่าวจัดเป็นวันดีอีกวันหนึ่ง

ตลาดหลักทรัพย์ลาวกำหนดให้เปิดตัวอย่างเป็นทางการตามฤกษ์ในตัวเลข 10-10-10 หมายถึงวันที่ 10 เดือน 10 (ตุลาคม) ปี 2010

ส่วนการเปิดการซื้อขายหุ้นวันแรกกำหนดเอาไว้ตามฤกษ์ในตัวเลข 11-1-11 ซึ่งก็คือวันที่ 11 เดือน 1 (มกราคม) ปี 2011

วันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปลงนามใน MOU ก็จะตรงฤกษ์ตามตัวเลข 2010-2010

“ผมมองแบบเป็นวิศวกร วันเปิดตัวตลาดคือ 10-10-10 คือ 10 ยกกำลัง 3 แต่วันที่ผมไปเซ็น MOU คือ 20 ตุลาคมนั้น ถ้าเป็นตัวเลขคือ 20-10-2010 เท่ากับ 2010 ยกกำลัง 2” เป็นมุกที่ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยกขึ้นมาเปรียบเทียบให้ผู้จัดการ 360 ํ เห็นภาพ

MOU ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2551 ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยลงนามใน MOU กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาว

บทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตาม MOU ฉบับนั้น เป็นเหมือนพี่เลี้ยงในการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่จะถูกส่งลงมาเป็นพนักงานของคณะกรรมการคุ้มครองหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ลาว

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรเหล่านี้ไปแล้ว 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 สัปดาห์ เนื้อหาในการฝึกอบรม เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ ขั้นตอนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกำกับดูแลโบรกเกอร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานงาน โทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงการพาคนเหล่านี้มาดูงานยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นระยะ

(อ่าน “รหัส 10-10-10 ตลาดการเงินลาวเปิดเต็มรูปแบบ” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ส่วน MOU ฉบับที่ 2 ที่เพิ่งลงนามกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นการลงนามกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ ในเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าที่กำหนดไว้ใน MOU ฉบับแรก

เนื้อหาหลักใน MOU ฉบับที่ 2 มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุนให้กับตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSI) โดยอาศัยแนวทางของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TSI) มาเป็นต้นแบบ

TSI เป็นหน่วยงานหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการลงทุนกับเยาวชน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังให้ความรู้ควบคู่จรรยาบรรณกับผู้ประกอบวิชาชีพในธุรกิจหลักทรัพย์

ส่วนเรื่องที่ 2 คือการวางแนวทางสำหรับการที่จะให้บริษัทสามารถจดทะเบียนได้พร้อมกันทั้ง 2 ตลาด (Duo Listing)

ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับตลาดหลักทรัพย์ลาวจะแตกต่างจากรูปแบบการร่วมทุนของตลาดหลักทรัพย์ลาวกับตลาดหลักทรัพย์เกาหลี เพราะตลาด หลักทรัพย์เกาหลีจะเน้นในเรื่องฮาร์ดแวร์ คือการนำระบบเข้ามาใช้ในการซื้อขาย แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องซอฟต์แวร์คือการให้ความรู้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

“การสนับสนุนเรื่องคนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าคนของเขาเก่ง ต่อไปเขากับเราก็จะทำธุรกิจร่วมกันง่ายขึ้น” ชนิตรอธิบาย

การวางบทบาทเป็นพี่เลี้ยงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้กับตลาดหลักทรัพย์ลาวนั้น มองในระดับหนึ่ง ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรในตลาดทุนของทั้ง 2 ประเทศ

แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น ผลที่ภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศจะได้รับนั้นกลับมีมากกว่า

โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจของทั้ง 2 ฝั่ง

ในอดีต ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างคนไทยกับคนลาว แม้จะมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่คนของทั้ง 2 ประเทศมีความใกล้ชิดกันและวัฒนธรรมของ 2 ประเทศก็ใกล้เคียงกัน

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีนักธุรกิจไทยหลายรายที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในลาวแบบไม่จริงใจ หวังเพียงผลกำไรเฉพาะหน้า โดยไม่มองถึงความสัมพันธ์ในอนาคต

ที่หนักกว่านั้นคือหลายคนเข้าไปในลักษณะ “ตีหัวเข้าบ้าน” ได้สัมปทานโครงการบางอย่างไว้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ หรือทำแบบทิ้งขยะเอาไว้ตามหลัง

และหนักที่สุดคือ เข้าไปหลอกลวงหุ้นส่วนที่เป็นคนลาว

ทำให้นักธุรกิจไทยอีกหลายรายที่ต้องการเข้าไปลงทุนในลาวแบบจริงใจ ต้องเสียโอกาสไปมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของลาวกำลังเดินหน้าขยายตัว

(อ่าน “โอกาสที่เปิดรออยู่ในลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนสิงหาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

บทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจที่หน่วยงานหลักของตลาดทุนไทยมีต่อภาคธุรกิจของลาวแล้ว ยังเป็นการรับรองถึงธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องจากความสัมพันธ์อันดีเช่นนี้จะต้องเป็นธุรกรรมที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและจริงใจ ลดความระแวงระหว่างกัน

“ตลาดหลักทรัพย์เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ต่อไปนักธุรกิจไทยที่ไปที่นั่นจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน เพราะเขา friendly เพราะเขาดีใจ เพราะต่อไปถ้าเขาเห็นชื่อว่าเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ไม่มีปัญหา คุยธุรกิจก็ง่าย รัฐมนตรีทุกคนรู้จักหมด อธิบดีทุกคนรู้จักหมด คนในกระทรวงที่จะเป็นคนอนุมัติก็รู้จักหมด เพราะเราเดินเข้าไป 2-3 ปีนี้ ไปสร้างความสบายใจ ให้เขารู้จักว่าการที่จะ deal กับบริษัทจดทะเบียนนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะข้อมูลทุกอย่างโปร่งใส เปิดเผยหมด แล้วก็ไม่มีใครกล้าที่จะไปหลอก ไปโกง การทำธุรกิจทุกอย่าง ต้อง on paper เพราะว่ามีที่มา ที่ไปทั้งหมด” ชนิตรตอกย้ำ

วันที่ 20 ตุลาคม นอกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ไปลงนามใน MOU กับตลาดหลักทรัพย์ลาวแล้ว ยังได้ไปจัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องขั้นตอนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แก่ผู้ประกอบการของลาวที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียน โดยได้มีวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามโกลบอลเฮ้าส์ และบุญชัย ปัณฑุรอัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทซาบีน่า ไปเป็นวิทยากร

ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการลาวเข้าร่วมรับฟังถึงกว่า 400 คน

การจัดกิจกรรมประเภทนี้ อย่างน้อยก็ได้สร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างนักธุรกิจลาวกับเจ้าของกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่ที่มากไปกว่านั้น คือมีธุรกิจเกิดขึ้นตามมาในภายหลังอีกด้วย

“แค่คุณบุญชัยพูดบนเวทีว่า เขาอยากได้ distributor ในลาว เท่านั้นแหละ ห้องประชุมแทบแตก” ชนิตรยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

กรณีของสยามโกลบอลเฮ้าส์กับซาบีน่า เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดการซื้อขาย

แต่หลังจากนี้ไป กรณีเช่นนี้จะต้องเกิดตามมาอีกหลายครั้ง ขึ้นอยู่ว่านักธุรกิจลาวและไทยจะสามารถจับโอกาสที่ลอยอยู่ตรงหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.