LSX: จุดเชื่อมต่อลาวกับตลาดทุนโลก

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการใน สปป.ลาว จะพบกับประสบการณ์ใหม่หลังตลาดหลักทรัพย์ลาวเริ่มเปิดซื้อขายอย่างเป็นทางการตามกำหนด 11-1-11 ปรากฏการณ์นี้เปรียบเสมือนการเปิดข้อต่อของตลาดทุนลาวให้สามารถเชื่อมไปยังตลาดทุนอื่นๆ ทั่วโลก

“5...4...3...2...1...หม่ง...”

ทันทีที่เสียงนับถอยหลังจบลง เสียงลั่นฆ้องด้วยมือของสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี ผู้ประจำการ รัฐบาล สปป.ลาวในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครอง หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ค.ล.ต.) ก็ดังกังวานขึ้น

ตัวเลขราคาหุ้นที่วิ่งอยู่บนกระดานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่บนผนังห้องโถงชั้น 2 ของอาคารตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSX) เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที

ราคาหุ้น BCEL และ EDL-GEN จากตัวเลขที่วิ่งอยู่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วินาที เป็น 0 กีบทั้งคู่

หุ้น BCEL เปลี่ยนเป็น 8,000 กีบ และ EDL-GEN เปลี่ยนเป็น 4,700 กีบ

เสียงปรบมือระคนเสียงฮือฮาของผู้คนที่อยู่ในห้องโถงดังต่อเนื่องถึงกว่า 10 นาที หลังสิ้นเสียงฆ้อง หลายคนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาที่นำออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไป ตอนที่ทั้ง 2 บริษัททำ IPO (Initial Public Offering)

สีหน้าของผู้คนล้วนมีแววปีติ เพราะทุกคนที่ได้ซื้อหุ้นของทั้ง 2 บริษัทเอาไว้ ต่างได้รับกำไรกันถ้วนหน้า...อย่างน้อย 15%

ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) และบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN) เป็น 2 บริษัทนำร่องที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ซึ่งเริ่มเปิดซื้อขายอย่างเป็น ทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ตามฤกษ์ 11-1-11 หมายถึงวันที่ 11 เดือน 1 ปี 2011

ก่อนหน้านั้นมีการเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการไปครั้งหนึ่งแล้ว ตามฤกษ์ 10-10-10 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553 (2010) แต่การซื้อขายจริงยังไม่เริ่ม เพราะระบบการซื้อขายยังไม่พร้อม จึงขยับเวลาเปิดการซื้อขายให้มาเริ่มต้นในวันที่ 11 มกราคมดังกล่าว

(อ่าน “ตลาดทุนแห่ง สปป.ลาว เมื่อทุนลาว คนลาว เป็นเจ้า” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ทั้ง 2 บริษัท เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลลาว โดย BCEL เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐทำหน้าที่ให้สินเชื่อสนับสนุนธุรกรรมที่เกี่ยวพันกับการค้าการลงทุน ระหว่างประเทศ ส่วน EDL-GEN เป็นส่วน หนึ่งของธุรกิจที่เคยอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) แต่เมื่อจะต้องนำ EDL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องแยกธุรกิจเฉพาะส่วนที่ทำกำไร คือเขื่อนและโรงไฟฟ้า 3 แห่งออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในการซื้อหุ้นที่นำออกมา IPO

EDL-GEN มีทุนจดทะเบียน 2,600 พันล้านกีบ นำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 217 พันล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 16-27 ธันวาคม 2553 ในราคาหุ้นละ 4,000 กีบ

ส่วน BCEL มีทุนจดทะเบียน 682 พันล้านกีบ นำหุ้นจำนวน 15% ของทุนจดทะเบียนมาทำ IPO โดยใช้วิธีการประมูลจากราคาตั้งต้นที่หุ้นละ 5,000 กีบ ได้ราคาล่าสุดก่อนการซื้อขายจริงที่หุ้นละ 5,910 กีบ

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการ ผู้ที่ซื้อหุ้น IPO ของ EDL-GEN เอาไว้ ได้กำไร (ทางบัญชี) ทันที 17.5% ในขณะที่ผู้ที่ซื้อหุ้น IPO ของ BCEL ได้กำไรถึง 35.4%

การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เป็นดำริของรัฐบาล สปป.ลาวมาตั้งแต่ปี 2540 แต่มาเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง เมื่อสภาแห่งชาติได้รับรองแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 6 ระหว่างปี 2549-2553 โดยในแผนนี้ระบุชัดว่าจะต้องจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2553 ซึ่ง สปป.ลาวก็ได้ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน จนกระทั่งสามารถเปิดตัวตลาดหลักทรัพย์ลาวได้ตามกำหนด

เหตุผลที่ต้องกำหนดระยะเวลาการเปิดตลาดหลักทรัพย์เอาไว้ค่อนข้างตายตัว เนื่องจากในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 7 ระหว่างปี 2554-2558 ได้ตั้งเป้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของ สปป.ลาวไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8% ต่อปี ดังนั้นการลงทุนในช่วง 5 ปี ตามแผนฉบับนี้ต้องมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการ เงินทุนในช่วงนี้ต้องมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาให้ทันใช้เป็นกลไกในการจัดหาเงินทุนระยะยาวให้กับผู้ลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมา การลงทุนใน สปป.ลาวต้องอาศัยตลาดเงิน ซึ่งก็คือการกู้จากธนาคารพาณิชย์แต่เพียงอย่างเดียว ระยะเวลาการกู้ก็สั้นเพียงแค่ 3 ปีเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นว่าเรานำตลาดเงินมาใช้เป็นตลาดทุน รัฐบาลจึงมีแผนว่าต้องตั้งตลาดทุนให้ได้ในปี 2010 เพื่อรองรับกับเป้าหมายในแผน 5 ปี ครั้งที่ 7” เดชพูวัง มูลรัตน์ ประธาน และผู้อำนวยการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ลาว บอกกับผู้จัดการ 360 ํ

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า หลังจากตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดการ ซื้อขายอย่างเป็นทางการ และนักลงทุนเริ่ม เข้าใจกลไกการระดมทุนโดยอาศัยตลาด หลักทรัพย์แล้ว ความเป็นไปได้ที่ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ในแผนที่จะให้ GDP โตขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 8% นั้นจะต้องทำได้มากกว่าเป้า

“เพราะว่าเรามีแหล่งเงินทุนระยะยาวแล้ว นักธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ก็จะมีความสะดวกในการระดมทุน ความมั่นคงก็จะมีเพิ่มขึ้น” เขาให้เหตุผล

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ลาวเพิ่งเปิด และมีสินค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่เพียง 2 บริษัท แต่เดชพูวังก็ได้วางแผนในการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนเอาไว้แล้ว โดยเขาตั้งเป้าหมายแบบอนุรักษนิยมไว้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า เมื่อถึงปี 2020 (พ.ศ.2563) จะต้องมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวไม่น้อยกว่า 10 บริษัทจากสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขเป้าหมายที่เขาตั้งไว้อาจจะน้อยเกินไป เพราะขณะนี้ ผู้ประกอบการหลายรายใน สปป.ลาว ต่างหันมาให้ความสนใจในการเข้ามาใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์ในการระดมเงินทุน

โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ในภาคเอกชน อย่างเช่น

- กลุ่มดาวเรือง เจ้าของธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี และกาแฟ

- บริษัทเทรดเวิลด์ เจ้าของศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ไอเต็ค

- บริษัทอนุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

- บริษัทผลิตสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแขวงสะหวันนะเขต

- ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ใน สปป.ลาว ที่มีอยู่ประมาณ 4 แห่ง

“กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เราก็ได้เคยพูดคุยกับเขา ก็มีการเชิญชวนเขาให้เข้ามาเป็นบริษัท จดทะเบียน เพราะเรามองว่าถ้าเขาเข้ามาแล้วทำธุรกิจให้ดีขึ้น เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทอยู่ในมหาชน”

เดชพูวังย้ำว่า “คำว่ามหาชน ไม่ใช่เพียงแค่ในสังคม แต่มหาชน หมายรวมถึงคน ทั้งภายในและต่างประเทศ”

ตลาดหลักทรัพย์ลาวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาล สปป.ลาว และตลาดหลักทรัพย์เกาหลี โดยร่วมลงทุนกันในสัดส่วน 51% ต่อ 49% โดยทางฝั่งเกาหลีเป็นผู้วาง ระบบเทคโนโลยีสำหรับการซื้อขายหุ้น

ความสามารถของระบบการซื้อขายที่บริษัทคอสคอมจากเกาหลีนำเข้ามาติดตั้งไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์ลาวนั้นสามารถรองรับคำสั่งซื้อขายหุ้นที่มีเข้ามาในเวลาเดียวกันสูงถึง 1 แสนรายการ

แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์เพิ่งเริ่มเปิดการซื้อขาย คนส่วนใหญ่ ยังมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่มากนัก ตลาดหลักทรัพย์ลาวจึงยังไม่นำการซื้อขายแบบ real-time เข้ามาใช้ แต่ใช้วิธีการจับคู่คำสั่งวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และช่วงบ่าย

เมื่อมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องมีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แต่เนื่องจากสภาพของตลาดที่ยังใหม่ มีขนาดไม่ใหญ่ ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ใน สปป.ลาว ทุกวันนี้ เป็นการให้แบบเป็นแพ็กเกจ คือ 1 ใบอนุญาตสามารถทำได้ทั้งการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ตลอดจนการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น

“ตลาดเรายังเล็กอยู่ เราให้ในลักษณะ 1 ใบอนุญาตสามารถทำได้ทุกฟังก์ชัน แต่ในอนาคต เมื่อขนาดของตลาด ขยายตัวขึ้นก็คงต้องมีการแยกแต่ละฟังก์ชัน ออกมาเป็นใบอนุญาตเฉพาะ”

ปัจจุบันใน สปป.ลาวมีบริษัทหลักทรัพย์ที่เปิดดำเนินกิจการอย่างจริงจัง 3 แห่ง

แห่งแรกคือ บริษัทหลักทรัพย์ BKT เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จากประเทศไทย กับธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ซึ่งมีผลงาน ที่ผ่านมาคือการเป็นที่ปรึกษา จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL-GEN)

แห่งที่ 2 คือ บริษัทหลักทรัพย์ล้านช้าง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Sacom Bank จากเวียดนามกับธนาคารพัฒนาลาว (ธนาคารของรัฐ) ผลงานที่ผ่านมาคือการเป็นที่ปรึกษา จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้กับ BCEL

แห่งที่ 3 บริษัทหลักทรัพย์เอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (ธนาคารของรัฐ) กับบริษัทข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นบริษัทของคนลาว

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจแสดงความจำนงจะเข้ามาประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ใน สปป. ลาวอีก 2 ราย ได้แก่ ธนาคารอินโดไชน่าของเกาหลี ที่จะร่วมทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ IBKS จากเกาหลีเช่นกัน จัดตั้งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ IBK และธนาคารพงสะหวัน ซึ่งเคยลงนาม ในบันทึกความเข้าใจในการร่วมกันทำธุรกิจหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ของไทย

แต่ 2 รายหลังนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นทำธุรกิจหลักทรัพย์อย่างจริงจัง

“วันแรกที่เปิดตัวตลาดหลักทรัพย์มีคนโทรศัพท์มาหาจากสหรัฐอเมริกา มาแสดงความยินดีแล้วบอกว่าอยากจะเข้ามาลงทุนในลาว ผมบอกเขาว่าให้เข้ามาได้เลย” เดชพูวัง เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

มาถึงวันนี้ องค์ประกอบในตลาดทุนของ สปป.ลาวถือว่าครบวงจรแล้ว

ตลาดหลักทรัพย์ลาวเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบ มีสินค้าซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน มีบริษัทหลักทรัพย์ มีนักลงทุน ธุรกรรมในตลาดทุนของ สปป.ลาว เริ่มก้าวเดินไปข้างหน้า

จากวันแรกที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) ยังมีไม่มากนัก ในอนาคต เมื่อธุรกิจขนาด ใหญ่ซึ่งเป็นสัมปทานของรัฐเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ และสามารถดึงดูดเงินลงทุนทางอ้อมจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ สปป.ลาวได้แล้ว

คงต้องรอดูว่าตลาดเกิดใหม่ (จริงๆ) อย่างตลาดหลักทรัพย์ลาวจะใช้เวลาเท่าใดที่จะถูกจัดให้อยู่ใน list ของ Fund Manager ทั่วโลก ในฐานะ Emerging Markets ที่ต้องนำเงินเข้าไปลงทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.