Lao Bond ประตูเปิด สปป.ลาว สู่ตลาดการเงินสากล

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทยไม่กลับเข้ามาสู่วงจรขาขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ในปีนี้ตลาดทุนไทยอาจมีสินค้าใหม่มาเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันในนามของ “พันธบัตรรัฐบาล สปป.ลาว”

หากเปรียบประเทศลาวเป็นองค์กรธุรกิจ สปป.ลาว ณ วันนี้ก็คือกิจการที่กำลังฟื้นตัว ที่ภาษานักการเงินชอบเรียกว่า turn around ผลประกอบการมีอัตราเจริญเติบโต ในระดับสูง และเริ่มได้รับความเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ

กิจการประเภทนี้ หากได้รับการสนับสนุนมีสถาบันการเงินอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหม่ เข้ามา ก็จะกลายเป็นพยัคฆ์ติดปีกได้ไม่ยาก หากใช้จ่ายเงินที่ได้มาอย่างมีวินัย

แต่ประเทศมีความละเอียดอ่อนกว่าบริษัท การจะเข้ามาพึ่งพากลไกในตลาดการเงิน (Fianacial Market) จำเป็นต้องมีขั้นตอนที่ลึกซึ้งมากกว่า โดยเฉพาะการสร้างอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating)

สปป.ลาว ก็กำลังดำเนินขั้นตอนที่ว่า...อย่างรัดกุม

นับจากเปิดประเทศ ตามวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ที่ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว นำมาใช้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน สปป.ลาวเริ่มกระบวนการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับการเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยพัฒนาตลาดเงิน (Money Market) ภายในประเทศขึ้นมา พร้อมเปิดเสรีในการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์

(อ่าน “ทุนไทยในร่องรอยจินตนาการใหม่” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนมีนาคม 2553 และเรื่อง “เปิดนโยบายการเงินลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

แต่ปริมาณเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในระบบยังไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้พัฒนาประเทศ

20 กว่าปีมาแล้วที่ สปป.ลาวต้องอยู่ในสถานะประเทศที่ต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายรายเข้ามาสนับสนุนโดยการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ เพื่อให้ รัฐบาลลาวมีเม็ดเงินที่สามารถนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น

แต่การพัฒนาประเทศของ สปป.ลาว เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในช่วง 10 ปีมานี้ เมื่อมีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนขอสัมปทานในโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ โครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เหมืองแร่ จนถึงการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำ การเกษตร หรือเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยว ฯลฯ

เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ทำให้รัฐบาลลาวมั่นใจที่จะริเริ่มโครงการขนาด ใหญ่ และออกไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น

สปป.ลาวได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 10 ในปลายปี 2547 และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 เมื่อปลายปี 2552

(อ่าน “การสร้างบ้านแปงเมืองอย่างมีนัยสำคัญของลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

ขณะที่ในภาคการเงิน สปป.ลาว เริ่มศึกษาการใช้กลไกในตลาดการเงิน ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพื่อหาช่องทางระดมเงินทุนระยะยาวเข้ามาใช้ในโครงการต่างๆ มากขึ้น นอกเหนือจากเงินที่ได้รับความช่วยเหลือแต่เพียงแหล่งเดียว

แนวคิดในการสร้างตลาดทุน (Capital Market) โดยการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ลาว เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 และเดินหน้าอย่างจริงจังเมื่อสภาแห่งชาติได้รับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ฉบับที่ 6 ระหว่างปี 2549-2553 โดยในแผนนี้ระบุชัดเจนว่าต้องจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาในปลายปี 2553

ปี 2547 กระทรวงการเงินของลาวได้เคยขอให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ของไทยศึกษาการออกพันธบัตรรัฐบาลลาว เป็น Asia Bond ที่จะระดมเงินจากตลาดทุนของประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ในประเทศ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เป็นสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาวในหลายๆ โครงการเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดในการให้ สปป.ลาว ออกพันธบัตร Asia Bond ครั้งนี้

หลักการของ Asia Bond คือให้ประเทศในทวีปเอเชียหันมาระดมทุนจากตลาดทุนจากประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน เนื่องจากเงินออมของประเทศในเอเชียมีเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาเงินออมก้อนนี้ ซึ่งถูกดูแลโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ถูกใช้ไปกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาล สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งมีความมั่นคง และสภาพคล่องมากกว่า จึงกลายเป็นลักษณะที่คล้ายกับว่าประเทศที่ฐานะด้อยกว่า ต้องกลายไปเป็นเจ้าหนี้ของประเทศที่มีฐานะดีกว่า

ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่ว่า น่าจะให้ประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน ซึ่งมีฐานะใกล้เคียงกัน เข้ามามีบทบาทในการเกื้อกูล ทางการเงินซึ่งกันและกัน ในลักษณะของการใช้เงินของเอเชียมาช่วยเหลือประเทศในเอเชียด้วยกันเอง

ซึ่งในการนี้จะต้องสร้างตลาดทุนของเอเชียให้มีความมั่นคงและมีสภาพคล่อง มีสินค้าหลากหลายเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน

ปี 2547 ประธานกรรมการของ EXIM ในขณะนั้นคือวีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมมิตรภาพไทย-ลาวอยู่ด้วย

วีรพงษ์เคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ พล.อ.เปรมเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ยังบอบช้ำจากวิกฤตินานัปการ เป็นผลพวงต่อ เนื่องมาจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1-2 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2517

เพื่อระดมเงินทุนเข้ามาชดเชยกับงบประมาณรายจ่ายจำนวนมากของรัฐบาลไทย ซึ่งต้องถมลงไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในปี 2523 สมหมายในฐานะที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับทางญี่ปุ่นเพราะเป็นนักเรียนเก่าที่นี่ ได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อขอออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาด เงินญี่ปุ่น ในนาม “ซามูไร บอนด์” และประสบผลสำเร็จ

แต่ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทยสามารถระดมเงินทุนเข้ามาได้เพียงอย่างเดียว

ยังเท่ากับเป็นการเปิดตัวประเทศไทยที่เพิ่งหลุดพ้นจากการปกครองระบอบเผด็จการทหารมานานนับ 10 ปีต่อตลาดการเงินสากล เพราะหลังจากได้รับการตอบรับจาก “ซามูไร บอนด์” ล็อตแรก ต่อมาประเทศไทยก็สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนจากตลาดทุนของอีกหลายประเทศ ตาม มาอีกหลายล็อต สร้างแหล่งเงินทุนใหม่ที่มีต้นทุนต่ำให้กับรัฐบาลไทยนำมาใช้พัฒนาประเทศ จนอันดับเครดิตของประเทศถูกยกระดับให้สูงขึ้น

“ซามูไร บอนด์” ล็อตแรกที่ไทยออกในปีนั้นก็เป็นหลักการเดียวกับ Asia Bond ที่ สปป.ลาวมีแนวคิดจะนำออกมาขายในปี 2547

วีรพงษ์มองเห็นในจุดนี้จึงต้องการสนับสนุน สปป.ลาวในการเปิดตัวสู่ตลาดการเงินสากลเพราะจะช่วยยกระดับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ให้สูงขึ้น เขาจึงได้ให้ EXIM เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตรรัฐบาลลาวล็อตนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

“ตอนนั้น รัฐบาลลาวมีความต้องการเงินเพื่อเข้าไปลงทุนในโครงการ โรงไฟฟ้าต่างๆ ก็ตั้งใจจะออกเป็นพันธบัตร เราก็คุยกับทางรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) อยู่พักใหญ่ ไปช่วยเขาทำ due diligence จนมายื่นเสนอต่อ ก.ล.ต. แล้วเสนอต่อกระทรวงการคลังของไทย เพื่อที่จะให้มีการออกพันธบัตรอันนี้ได้ ได้รับอนุมัติ จากกระทรวงการคลังไทยเรียบร้อยแล้วด้วย ที่จะออกพันธบัตรอันนี้ ทีนี้พอจะออกดอกเบี้ย มันอยู่ในช่วงขาขึ้นพอดี ทางลาวมองอัตราดอกเบี้ยแล้วเลยชะลอไป แล้วเรื่องก็เลยเงียบไป” สมพร จิตเป็นธม รองกรรมการผู้จัดการ EXIM ซึ่งมีส่วนในการเตรียมการออกพันธบัตรของ สปป.ลาวในครั้งนั้น เล่ากับ ผู้จัดการ 360 ํ ถึงความเป็นไปของพันธบัตรรัฐบาลลาวที่เคย คิดจะออกในครั้งแรก

กระทรวงการคลังของไทยอนุมัติให้ สปป.ลาวออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินในตลาด ทุนไทยได้ ในปี 2549 ซึ่งขณะนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเคยเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของ EXIM และเป็นเพื่อนรุ่นน้อง ที่มีความสนิทสนมกับวีรพงษ์ ตั้งแต่สมัยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน

(รายละเอียดอ่าน “Sharp & Tough” เรื่องจากปกนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนตุลาคม 2544 หรือใน www.gotomanager.com)

การที่ สปป.ลาวสนใจจะเข้ามาระดมทุนระยะยาวผ่านตลาดทุนของไทย นอกจาก ความใกล้ชิดที่ทั้ง 2 ประเทศที่มีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้านแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากการที่เงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดเงินลาวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในการชำระคืนเงินกู้จึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หากเทียบกับการที่ สปป.ลาวจะไประดมทุนในตลาดทุนของประเทศอื่นๆ

เมื่อแผนการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดยการออกพันธบัตรต้องชะลอไป สปป. ลาวจึงเปลี่ยนมาใช้ตลาดเงิน ด้วยการกู้เงิน โดยตรงจากสถาบันการเงินต่างประเทศ แต่ เป็นการกู้ในลักษณะ commercial loan ไม่ใช่การกู้แบบได้รับเงื่อนไขผ่อนปรน ในลักษณะเงินช่วยเหลือเหมือนในอดีต

โครงการน้ำงึม 2 น่าจะเป็นโครงการแรกๆ ที่รัฐบาลลาวใช้เงินกู้ในลักษณะนี้

ปี 2549 กระทรวงการเงินของลาวได้กู้เงินจาก EXIM จำนวน 60 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) กู้ต่อเพื่อการนำเงินไปร่วมถือหุ้น 25% ในโครงการน้ำงึม 2

“เงินกู้ก้อนนี้เราไม่ได้ปล่อยในลักษณะ subsidy อะไรเลย อัตราดอกเบี้ยคิดตามตลาด โดยอาศัยเงินรายได้จากการ ขายไฟฟ้ามาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้คืนอยู่บางส่วน” สมพรบอก

(อ่านเรื่อง “น้ำงึม 2 อีก 1 แบตเตอรี่จากลาว ที่กำลังจะป้อนไฟมาสู่ไทย” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภา คม 2553 หรือใน www.gotomanager. com ประกอบ)

เมื่อวันที่ 24 กันยายนปีที่แล้ว (2553) สมดี ดวงดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน สปป.ลาวได้เดินทางมาลงนามในสัญญาเงินกู้ วงเงิน 220 ล้านดอลลาร์กับอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย และเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

สัดส่วนการปล่อยกู้แบ่งเป็นธนาคารกรุงไทย 150 ล้านดอลลาร์ และธนาคารออมสิน 70 ล้านดอลลาร์

เงินกู้ก้อนนี้ กระทรวงการเงินของ สปป.ลาว มีวัตถุประสงค์จะนำไปปล่อยกู้ต่อให้ กับรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว (LHSE) เพื่อใช้ลงทุนในโครงการหงสา

แม้จะเป็นการกู้แบบ commercial loan แต่ความพิเศษของเงินกู้ 220 ล้านดอลลาร์ ก้อนนี้ คือเป็นเงินกู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ถือเป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลลาวในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้สถาบันการเงินไทยมักต้องเรียกหลักทรัพย์ อาทิ การนำเงินรายได้จากการขาย ไฟฟ้าในอนาคตมาค้ำประกันเงินกู้ก่อน

การที่ธนาคารของไทย 2 แห่ง ให้เงื่อนไขพิเศษแก่กระทรวงการเงินของลาวเช่นนี้ แสดงถึงอันดับความน่าเชื่อถือของ สปป.ลาวได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง เพราะทั้ง 2 ธนาคารมีความเชื่อถือในกระทรวงการเงิน ซึ่งมาในฐานะตัวแทนของรัฐบาล สปป.ลาว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดีลเงินกู้ 220 ล้านดอลลาร์ของกระทรวงการเงิน สปป.ลาว กับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจากันนั้น ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว กระทรวงการเงินของลาวก็ได้รื้อฟื้นโครงการออกพันธบัตร Asia Bond มาคุยกับ EXIM อีกครั้ง เพื่อให้ EXIM เข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตรล็อตใหม่

กระทรวงการเงินของลาวมีแผนที่จะออกพันธบัตรในวงเงินประมาณ 70-80 ล้านดอลลาร์มาขายให้กับสถาบันการเงินไทย ในลักษณะ Private Placement โดยพันธบัตร ล็อตนี้เป็นลักษณะของการทำ securitization เพราะได้นำรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าเทินหินบุนกับโครงการโรงไฟฟ้าห้วยเฮาะมาเป็นตัวหนุนหลังพันธบัตร เพื่อให้ได้รับความมั่นใจในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ลงทุน

โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับประเทศไทยและมีนักลงทุนไทยเป็น ผู้ถือหุ้น

ว่ากันว่า กระทรวงการเงินของลาวได้มีการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทยไว้บางส่วนแล้ว เพื่อที่จะให้มาเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายพันธบัตรล็อตนี้

การออกพันธบัตรล็อตนี้ รัฐบาล สปป.ลาวต้องการทดสอบตลาดว่าอันดับความน่าเชื่อถือของ สปป.ลาว ในสายตาของนักลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินในขณะนี้ เป็นอย่างไร

เพราะหากการออกพันธบัตรล็อตนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี ก็จะเป็นประตูที่เปิดให้ สปป.ลาวสามารถเข้ามาใช้กลไกในตลาดทุนของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ด้วยกัน มีความสะดวกยิ่งขึ้น

รัฐบาล สปป.ลาวอาจสามารถออกพันธบัตรล็อตใหม่มาขายได้อีกหลายๆ ล็อต ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้แผน การออกพันธบัตรรัฐบาลของ สปป.ลาว ล็อตดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะอัตรา ดอกเบี้ยในตลาดเงินของไทยเริ่มกลับเข้ามาสู่วงจรขาขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูอีกเช่นกันว่า การกระโดดเข้าสู่ตลาดการเงินสากล อย่างเต็มตัวของ สปป.ลาวครั้งนี้ จะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร

สปป.ลาวกำลังจะกลายเป็นพยัคฆ์ติดปีกหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.