|

โครงการลงทุนของ LHSE
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการลงทุนของ LHSE
1. น้ำเทิน 2 เป็นเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาวในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในริมถนนสาย 8A ในแขวงคำม่วน บนลำน้ำเทิน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดสายหนึ่งของแม่น้ำโขง อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออก ระยะทาง 250 กิโลเมตร
โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 มีกำลังการผลิต 1,088 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ขายให้กับประเทศไทย 920 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้ใน สปป.ลาว อายุสัมปทาน 25 ปี วงเงินลงทุนทั้งโครงการ 1,580 ล้านดอลลาร์ โครงสร้างผู้ถือหุ้นในช่วงเริ่มต้นประกอบด้วย Electricite de France (EDF) ถือหุ้น 35% บริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. 25% LHSE 25% และบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเม้นท์ 15%
แต่เมื่อวันที่ 29 กันยายนปีที่แล้ว บริษัทอิตาเลียนไทย ดีแวล๊อปเม้นท์ ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดออกไปให้กับ EDF และบริษัทผลิตไฟฟ้า ทำให้ EDF เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 40% และบริษัทผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 35%
โครงการนี้เริ่มต้นการก่อสร้างในปี 2547 และเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว
ตามข้อตกลงว่าด้วยการซื้อไฟ (Power purchasing agreement: PPA) ที่กฟผ.ทำกับรัฐบาลลาว LHSE จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นขึ้นเป็น 47% ในสิ้นปี 2576 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดการให้สัมปทาน โดยในปี 2577 สปป.ลาวจะมีกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในโครงการ
2. หงสา เป็นโครงการโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหินตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพียง 35 กิโลเมตร
โรงไฟฟ้าหงสาอายุสัมปทาน 25 ปี มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ทำให้เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว วงเงินลงทุนรวมทั้งโครงการ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน 3,710 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนการถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มบ้านปู และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือฝ่ายละ 40% LHSE 20% ในส่วนของโรงไฟฟ้า และกลุ่มบ้านปูกับบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ถือฝ่ายละ 37.5 LHSE 25% ในส่วนของเหมืองถ่านหิน
โครงการนี้เริ่มต้นการก่อสร้างตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558
3. น้ำงึม 3 เป็นโครงการเขื่อน และโรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ทางต้นลำน้ำงึมที่บ้านล่องแจ้ง ซึ่งเดิมอยู่ในเขตพิเศษไชยสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างแขวงเชียงขวาง และแขวงเวียงจันทน์ อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร
โครงการนี้มีกำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวม 708 ล้านดอลลาร์ โครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วยบริษัท จี เอ็ม เอส ลาว จำกัด บริษัทลูกของบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) 27% บริษัทมารูเบนี คอร์ปอเรชั่น 25% บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 25% และ LHSE 23%
การดำเนินการโครงการนี้ล่าช้ากว่ากำหนด โดยเอ็มดีเอ็กซ์ ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อเข้าดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2537 แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้โครงการต้องชะลอออกไป
การลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า (Tariff MOU) ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนกับ กฟผ. มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเดินหน้าโครงการอย่างจริงจัง
โครงการนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงินทุนในกลางปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างโครงการในช่วงปลายปี กำหนดแล้วเสร็จ และเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2560 มีอายุสัมปทาน 27 ปี
4. เซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อของแขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยตัวเขื่อนจะอยู่ในเขตจำปาสัก แต่ตัวเขื่อนอยู่ในเขตอัตตะปือ
โครงการนี้มีกำลังการผลิต 390 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวม 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงสร้างผุ้ถือหุ้นประกอบด้วย 25% บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% กลุ่ม Korea Western Power ถือหุ้น 25% บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 25% และ LHSE 24%
ก่อนหน้านี้ โครงการนี้ได้เซ็น Tariff MOU กับ กฟผ.ไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อประมาณปี 2551 แต่มีปัญหาในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์ เช่น โลหะที่ต้องใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นมา ทำให้โครงการมีต้นทุนเพิ่ม ค่าไฟฟ้าที่เสนอขายไม่คุ้มเมื่อเทียบกับต้นทุน ประกอบกับรัฐบาลก็ไม่ต้องการที่จะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มในช่วงนั้น ทำให้มีการปล่อยให้ MOU หมดอายุไป
กลุ่มผู้ลงทุนเพิ่งจะมาเซ็น Tariff MOU กับ กฟผ. อีกครั้งเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมปีที่แล้ว
ตามแผนของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ จะเสร็จ และเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2561 โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี
5. น้ำเทิน 1 โครงการเขื่อน และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในแขวงบอริคำไซในภาคกลางของ สปป.ลาว เหนือขึ้นไปจากโครงการน้ำเทิน 2 และโครงการเทินหินบุน
โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 มีกำลังการผลิต 523 เมกะวัตต์ อายุสัมปทาน 27 ปี วงเงินลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ ผู้ร่วมทุนประกอบด้วย บริษัท Gamuda Bhd.บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของมาเลเซีย 40% บริษัทผลิตไฟฟ้า 40% และ LHSE 20%
โครงการนี้ล่าช้า โดยผู้ร่วมทุนได้เซ็น Tariff MOU กับกฟผ.ไปครั้งหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 โดยตามแผนเดิมต้องเริ่มก่อสร้างโครงการใน ปี 2551 แล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2556 แต่ผู้ร่วมทุนได้เสนอให้มีการทบทวนค่าไฟใหม่ ทำให้ Tariff MOU ฉบับเดิมหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2551
6. น้ำเงียบ 1 โครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ภาคกลาง ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 120 กิโลเมตร
โครงการนี้ มีกำลังการผลิต 261 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 470 ล้านดอลลาร์ โครงสร้างผู้ถือหุ้นประกอบด้วย The Kansai Electric Power Co.Inc. 40% กฟผ. 25% บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) 15% และ LHSE 20%
ได้มีการลงนามใน Tariff MOU ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนกับกฟผ.ไปครั้งหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2550 แต่ต่อมาภายหลังได้มีการทบทวนเรื่องค่าไฟใหม่อีกครั้ง ทำให้ MOU หมดอายุ และโครงการต้องล่าช้าออกไป
7. เซกอง 4 โครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ในแขวงเซกอง ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว มีกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์
8. น้ำกง 1 โครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่บนลำน้ำกง ในแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว มีกำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์
9. เซกอง 5 โครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงเซกอง ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์
ทั้งโครงการเซกอง 4 น้ำกง 1 และเซกอง 5 เป็นการลงทุนของ Region Oil จากรัสเซีย ซึ่งได้เข้ามาลงนามใน MOU เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าทางภาคใต้ของ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2549 และเริ่มต้นลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการน้ำกง 1 กับเซกอง 4 กับรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551
เขื่อนทั้ง 3 แห่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งเป็นโครงการน้ำกง 1 วงเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 168-186 ล้านดอลลาร์ โครงการเซกอง 4 ลงทุนรวม 604 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นวงเงินลงทุนในโครงการเซกอง 5
สัดส่วนการร่วมทุนในทั้ง 3 โครงการ เท่ากัน คือ Region Oil 80% LHSE 20%
ตามแผนการที่ Region Oil เสนอต่อรัฐบาล โครงการเซกอง 4 จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2555 โครงการน้ำกง 1 จะแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟในปี 2556 และโครงการเซกอง 5 จะแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายไฟได้ในปี 2557
โครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 9 โครงการ ที่ LHSE มีส่วนถือหุ้นอยู่ด้วยจะมีกำลังการผลิตรวม 5,820 เมกะวัตต์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|