|
นิวซีแลนด์ดอลลาร์กับการบริหารเงินสดของแบงก์ชาตินิวซีแลนด์
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อพูดถึงเอกสารราชการที่ทุกคนเห็นบ่อยที่สุดหรือใช้กันบ่อยที่สุด ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยจะตอบว่า บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง หรือใบขับขี่ แต่เอกสารราชการที่เราใช้มากที่สุดและมองข้ามมาตลอดก็คือเงินของเรานั่นเอง เพราะถ้าเราอ่านคำกำกับบนธนบัตรจะพบคำว่า ธนบัตรนี้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เพราะเราใช้เงินกันจนเป็นเรื่องปกติจึงไม่ทันได้สังเกตว่าที่จริงแล้ว ธนบัตรทุกฉบับที่พิมพ์ต่างเป็นเอกสารราชการทั้งสิ้น โดยมีลายเซ็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับควบคู่ไปกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เมื่อพูดถึงธนบัตรหรือแบงก์ ผมก็ขอเท้าความถึงประวัติศาสตร์ของเงินกระดาษสักนิด เพราะ ว่าในประวัติศาสตร์นั้นเราเองก็ยังไม่สามารถทราบแน่ชัดว่าชาติใดคิดค้นธนบัตรขึ้นมาก่อน เพราะมีการเคลมจากทั้งจีนและฝรั่ง โดยเริ่มจากจีนที่มีประวัติการใช้ตราสารแทนเงินตรา โดยเริ่มจากใบเสร็จรับฝากเงินหรือของที่นำมาซื้อขายกันในตอนปลายราชวงศ์ถัง ก่อนที่จะถูกพัฒนาเป็นตราสาร แทนทองแดงในสมัยราชวงศ์หยวนของพวกมองโกล ให้เป็นเงินตราถาวรของประเทศจีน ทำให้คนจีนนิยมเรียกเงินของตนเองว่า หยวน มาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าชื่อทางการของเงินจีนคือ เรนมินบี้ ก็ตาม โดย ทางจีนเองก็เคลมว่าจากบันทึกของมาร์โค โปโล ที่กล่าวถึงเงินกระดาษของจีนว่าเป็นการค้นพบที่มหัศจรรย์
อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเองก็มีหลักฐานว่าธนบัตร ไม่ได้มาจากการตื่นตูมของมาร์โค โปโล แต่เป็นเพราะอัศวินเทมปลาร์ ซึ่งท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบนวนิยายของแดน บราวน์ อาจจะคุ้นชื่อกันดีในรหัสลับดาร์วินชี ที่เล่าว่าเป็นอัศวินที่โดนกวาดล้างเพราะทราบความลับสำคัญของคริสตจักร แต่ในความเป็นจริงแล้วอัศวินเทมปลาร์ ที่โดนนักเขียนทั่วโลกสร้างภาพให้เป็นนักรบผู้ห้าวหาญ โดยมากมักจะเป็นนักการเงิน เนื่องจากอัศวินเทมปลาร์ได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปาในยุคครูเสดให้เป็น กองทหารหลักที่ทั้งรบและพิทักษ์การคมนาคมของชาวคริสต์ ทุกเมืองจึงมีฐานทัพของเทมปลาร์ โดยชาวคริสต์ที่ต้องการไปแสวงบุญในยุคนั้นจะทำการฝากเงินไว้ที่ฐานทัพของเทมปลาร์ในเมืองของตน โดยเทมปลาร์จะออกตราสารเพื่อให้นักแสวงบญสามารถเอาตราสารนั้นไปเบิกเงินจากเมืองต่างๆระหว่างเดินทางได้ ซึ่งเป็นการชี้ว่ายุโรปเองก็มีระบบ เงินกระดาษรวมทั้งการฝากถอนที่เก่าแก่ไม่แพ้ของจีนเช่นกัน และเทมปลาร์ก็ได้เป็นรากฐานของการ ธนาคารและการโอนตราสารเครดิตมาจนถึงปัจจุบัน
จุดจบของอัศวินเทมปลาร์ที่แท้จริงนั้นออกจะ แตกต่างจากหนังสือรหัสลับดาร์วินชีที่นำมาสร้าง เป็นภาพยนตร์อันโด่งดัง แท้จริงแล้วเทมปลาร์มีจุดจบ จากเมื่อเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้กับบรรดาลูกค้าทำให้ลูกหนี้ ประสบปัญหาการจ่ายคืนเงินต้น โดยเฉพาะรัฐบาลฝรั่งเศสของพระเจ้าฟิลลิปที่สี่จำเป็นต้องกู้เงินจากเทมปลาร์เพื่อทำสงครามกับอังกฤษ ทีนี้เมื่อเทมปลาร์ เกิดแพ้สงครามครูเสด พระสันตะปาปาทรงให้กษัตริย์ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระราชอำนาจ ในยุคนั้นสอบสวนและพิจารณายุบกองทหารของเทมปลาร์เข้ากับกองทัพอื่น พระเจ้าฟิลลิปที่สี่ทรงประสบ ปัญหาการจ่ายคืนหนี้กับเทมปลาร์อยู่แล้วจึงฉวยโอกาสเบี้ยวหนี้โดยจับกุมพวกเทมปลาร์มาทรมานและให้การเท็จซัดทอดว่า เหตุผลที่รบแพ้มุสลิมเพราะเทมปลาร์ศรัทธาในลัทธิมาร พระเจ้าฟิลลิปจึงกราบทูลพระสันตะปาปาให้ยุบเทมปลาร์ และล้อมจับบรรดาแกรนด์มาสเตอร์ของเทมปลาร์ที่ถือบัญชีเงินกู้มาทรมาน จนตายในวันศุกร์ที่ 13 ซึ่งจากหลักฐานที่มีเทมปลาร์โดน จับไปทรมานและสังหารทั่วยุโรปเพื่อทำลายหลักฐานเงินกู้ ซึ่งพระเจ้าฟิลลิปที่สี่ได้รับความร่วมมือจากบรรดา เจ้านายยุโรปในยุคนั้นอย่างพร้อมเพรียง เพราะบรรดาเจ้ายุโรปในสมัยนั้นต่างเป็นลูกหนี้เทมปลาร์กันหลายพระองค์ จึงทำให้เกิดมหกรรมชักดาบและสังหารเจ้าหนี้ กันในยุคมืดของยุโรป
เมื่อหันมามองประวัติของธนบัตรในประเทศไทย กันดูบ้าง ในอดีตนั้นเงินตราของไทยเราก็ใช้แต่เหรียญพดด้วงกับเหรียญกษาปณ์ รวมไปถึงการใช้เบี้ยหรือหอย ที่ตีตรามาเป็นเงิน จนเกิดคำว่าเบี้ยน้อยหอยน้อยมาจน ถึงทุกวันนี้ ส่วนธนบัตรนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในไทยช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรียกเงินกระดาษว่า หมาย เพราะเป็นการแปลมาจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Bill หรือ Note นั้นเอง
อย่างไรก็ตาม หมายในรัชกาลที่สี่ และตอนต้นของรัชกาลที่ห้านั้นไม่ได้เป็นที่นิยมนัก เพราะชาวไทยในยุคนั้นนิยมพกเหรียญ โดยเฉพาะพดด้วงมากกว่า ต่อมาเมื่อชาวต่างชาติได้เข้ามาตั้งธนาคารในเมืองไทย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารอินโดจีน ได้ขออนุญาตในการพิมพ์ ธนบัตรเพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมายกันเอง
แนวคิดของธนาคารพิมพ์แบงก์เองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะว่าอังกฤษเองในปัจจุบันก็ยังอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ เช่น แบงก์ออฟสกอตแลนด์ รอยัลแบงก์ออฟสกอตแลนด์ และธนาคารพาณิชย์จำนวนไม่น้อยพิมพ์เงินปอนด์ออกมาใช้ร่วมกับเงินของแบงก์ชาติ โดยปอนด์ของแบงก์ชาติเป็นธนบัตรที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ ในขณะที่เงินปอนด์จากธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ได้แต่ในอังกฤษ ในฮ่องกงเองก็ให้ธนาคารพาณิชย์คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และแบงก์ออฟไชน่า พิมพ์ธนบัตรมาใช้กันเองภายใต้การควบคุมของหน่วยราชการ
ดังนั้นการที่ธนาคารสามแห่งมาขอพิมพ์เงินบาทในสมัยนั้นจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด ในยุคนั้นเราใช้ภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Banknote มา กำกับเงินกระดาษ ด้วยความที่ชาวไทยชอบเรียกชื่อ ย่อ จึงเรียกธนบัตรสั้นๆ ว่า แบงก์ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีการพิมพ์แบงก์กันออกมาโดยธนาคารพาณิชย์ พระปิยมหาราช ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้รัฐบาลสยามในยุคนั้นพิมพ์ธนบัตรเองเพื่อ ควบคุมการเงินและเวนคืนอำนาจการพิมพ์ธนบัตรจากธนาคารพาณิชย์มาสู่ธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติ ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของแบงก์ชาติในไทยคือการควบคุมปริมาณเงินบาทในตลาดเพื่อป้องกันเงินเฟ้อในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศนิวซีแลนด์การพิมพ์ธนบัตรในยุคแรกนั้นคล้ายกับประเทศไทยในอดีตที่รัฐมอบสิทธิการพิมพ์ธนบัตรให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคาร ยุคนั้นที่พิมพ์ปอนด์นิวซีแลนด์คือแบงก์ออฟนิวซีแลนด์ และธนาคารเวสต์แพคของออสเตรเลีย ซึ่งต่อมามีธนาคารถึงหกแห่งทั้งระดับจังหวัดอย่างธนาคารแห่งโอ๊กแลนด์ ระดับประเทศอย่างเนชั่นแนลแบงก์ ไปจนถึงระดับทวีปอย่างธนาคารแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตรงนี้เองทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ในปี พ.ศ.2475 ได้เล็งเห็นความสำคัญในการตั้งธนาคารกลาง หรือ Reserve Bank of New Zealand ขึ้นเพื่อควบคุมเงินตราในประเทศและป้องกันเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางได้ใช้เวลา 2 ปี ในการเปลี่ยนจากเงินที่พิมพ์โดยธนาคารพาณิชย์มาสู่เงินที่จัดพิมพ์โดยธนาคารกลางในปี พ.ศ.2477
เมื่อสิบกว่าปีก่อนธนาคารของออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้คิดค้นธนบัตรที่พิมพ์จากพลาสติกขึ้นมา แบบที่เขาเรียกกันว่า Polymer ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่รัฐบาลไทยให้ออสเตรเลียพิมพ์ธนบัตรห้าสิบบาทในช่วงกาญจนาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธนบัตรแบบพลาสติกนี้มีราคาในการพิมพ์ที่สูงกว่าธนบัตรกระดาษหลายเท่า แต่ข้อดีคือมีความทนทานกว่ากระดาษมากกว่าสี่เท่าตัว
นอกจากนี้เมื่อโดนฉีกก็ไม่ขาดแต่พลาสติกอาจจะยืดไปบ้าง แถมพลาสติกมีความทนทานต่อความเปียกชื้นสูงมาก จึงไม่มีปัญหาว่าธนบัตรจะเปื่อยยุ่ย และยากต่อการปลอมแปลง เมื่อนิวซีแลนด์ และออสเตรเลียหันมาใช้ธนบัตรพลาสติก ก็แทบจะเรียกว่าหาธนบัตรปลอมของประเทศทั้งสองไม่ได้เลย ในปัจจุบันมีแปดประเทศบนโลกที่ใช้ธนบัตรแบบใหม่ โดยเฉพาะเวียดนามเป็นประเทศที่หันมาใช้ธนบัตรโพลีเมอร์อย่างเต็มรูปแบบตามหลังออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และโรมาเนีย
แม้ว่าราคาผลิตจะสูงแต่การเข้ามาของเอฟ โพสต์ ได้ทำให้ชาวนิวซีแลนด์ลดการพกพาเงินสดลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แทนที่ค่าพิมพ์ธนบัตรแบบ ใหม่จะสูงขึ้นกลับทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการ พิมพ์ เพราะมีแค่การพิมพ์เงินเพื่อเข้ามาแทนธนบัตร ที่เสียหายหรือสีตกจากระยะเวลาหรือการใช้งานที่หนัก จำนวนธนบัตรที่ถูกเบิกถอนจากเครื่อง ATMในแต่ละวันนั้นจะมีจำนวนไม่มาก แม้แต่ในช่วงเทศกาลที่บ้านเราจะต้องให้ธนาคารเตรียมเงินสดเป็นจำนวนนับแสนล้านบาทเพื่อให้ลูกค้าได้ทำการเบิกถอน แต่ในนิวซีแลนด์ การเบิกถอนเงินสดก็ไม่ได้มีมากขึ้น
ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีธนบัตรหมุนเวียนอยู่แค่ 3,935 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์หรือราวๆ เก้าหมื่น ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้แม้แต่ครึ่งเดียวของเงินสดที่ชาวไทยเบิกถอนในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา จากสถิติ ของธนาคารกลาง เงินจำนวนที่หมุนเวียนนี้ รวมถึงธนบัตรเก่าๆ ที่นักสะสมยังเก็บไว้มากกว่า 35 ล้านดอลลาร์หรือ 800 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่คนไทยที่จะไปนิวซีแลนด์ครั้งแรกจะประสบปัญหาในการหาที่แลกเงินนิวซีแลนด์ในบ้านเรา เพราะถ้าเฉลี่ยการหมุนเวียนเงินสดต่อประชากร นิวซีแลนด์จะตกอยู่ที่ 900 ดอลลาร์ต่อประชากร หรือประมาณสองหมื่นบาทเท่านั้น ในขณะที่ประเทศ ของเขามีรายได้ต่อหัวประชากรที่หกหมื่นบาทต่อเดือน
เมื่อหันมามองวิวัฒนาการทางการเงินของนิวซีแลนด์และของประเทศต่างๆ ในโลกแล้วผมก็อดนึกเสียดายไม่ได้ว่าประเทศไทยของเรานั้นมักจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่คิดจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แต่ก็ทำไปได้นิดเดียวก็เลิก เพราะว่าประเทศไทยของเรานั้นแท้จริงแล้วเป็นประเทศเอเชียประเทศ แรกและประเทศที่สามในโลกที่นำธนบัตรโพลีเมอร์ออกมาใช้จ่ายคือธนบัตรใบละห้าสิบบาทเมื่อสิบสอง ปีก่อน แต่เราก็เลิกไป ซึ่งในขณะที่เราเลิกสานต่อ ประเทศเวียดนามกลับเดินหน้าเอาโพลีเมอร์มาใช้ ทำให้เทคโนโลยีธนบัตรของเขาล้ำหน้ากว่าบ้านเรา
ผมเชื่อว่าเราอาจจะมีเหตุผลเรื่องความประหยัดในการพิมพ์ธนบัตรเองมากกว่าการให้ต่างชาติทำให้ และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโพลีเมอร์มีต้นทุนและค่าลิขสิทธิ์ที่สูง แต่ในทางกลับกันถ้าเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ได้ เราก็จะแปรสภาพ เป็นผู้ส่งออกธนบัตรที่ปัจจุบันแทบจะเรียกว่าโดนผูกขาดโดยออสเตรเลีย แต่การพัฒนาดังกล่าวอาจจะใช้ทั้งเงินและระยะเวลาที่นานทำให้มีการยกเลิกแผนงานได้
ผมมองว่านี่เป็นปัญหาหลักของบ้านเราที่มักจะใจร้อนและนิยมการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือการพัฒนาระยะสั้นมากกว่าการที่เราจะหันมาพัฒนากันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองระดับประเทศ ภูมิภาค หรือแม้แต่พรรคการเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ กีฬา และสังคม จะเน้นการพัฒนาให้เห็นผลในระยะสั้นแต่อาจจะมีปัญหาได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ยังขาดการพัฒนาในภาพรวมที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าด้วยศักยภาพที่เรามีในมือ หากเราหันมาพัฒนาเรื่องใดก็ตามในระยะยาวและจริงจัง ประเทศไทยของเราย่อมสามารถพัฒนาไปเป็นผู้นำของโลกได้เช่นเดียวกับที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นผู้นำในระบบการซื้อขายแบบโอนเงินและธนบัตรของโลกในปัจจุบัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|