สร้างสมองที่ดีกว่า


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เราอาจเพิ่มความฉลาดของสมองเราได้ แต่คงมิใช่ด้วยการกินบลูเบอร์รี่ ไขมันปลา วิตามินทั้งหลายแหล่ หรือเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้

มนุษย์เราพยายามแสวงหาวิธีเพิ่มความฉลาดให้แก่สมองของตัวเองมาตลอด และความพยายามนี้คงจะง่ายขึ้นมาก ถ้าหาก ว่านักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจกลไกการทำงานของสติปัญญา แม้เพียงครึ่งหนึ่งของที่เข้าใจกลไกการสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ

เพราะจะทำให้เราไม่ต้องมัวไปเสียเวลากับวิธีการต่างๆ ที่คลุมเครือ ที่อ้างว่าสามารถ เพิ่มความฉลาดให้เราได้ อย่างเช่นต้องเข้าเว็บไซต์ฝึกสมองนี้สิ หรือต้องไปฝึกสมาธิแบบนั้นสิ หรือต้องกินลูกเบอร์รี่เยอะๆ เคี้ยวหมากฝรั่งบ่อยๆ หรือต้องมีเพื่อนฝูงมากๆ แล้วเราจะฉลาดขึ้น หรือมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น จะแก้ปัญหายากๆ ได้ หรือจะมีความจำดีขึ้น

การเข้าเว็บไซต์ฝึกสมองหรือแม้แต่การพยายาม ติดตามอ่านข่าวคราวทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับวิธีการเพิ่มพูนสติปัญญา ก็อาจยังไม่ทำให้คุณได้ค้นพบคำแนะนำดีๆ ในการเพิ่มความฉลาดให้ตัวเอง คุณอาจพบคำแนะนำดีๆ บางอย่างได้ จากผลการศึกษาวิจัยแบบที่เรียกว่า การ วิจัยเชิงสังเกต (observational study) ซึ่งจะตั้งคำถามว่า คนที่ทำพฤติกรรม X ฉลาดกว่าคนที่ไม่ทำพฤติกรรม X หรือไม่

กระนั้นก็ดี คำตอบว่าใช่ ก็ยังไม่อาจทำให้สรุปได้ว่า การทำ พฤติกรรม X นั้น จะทำให้คนเราฉลาดขึ้น การที่เราขาดความรู้เรื่อง กลไกการทำงานของการเพิ่มความฉลาด ทำให้เราตกเป็นเป้านิ่งของคำกล่าวอ้างต่างๆ ที่คลุมเครือ เกี่ยวกับวิธีการเพิ่มความฉลาด

Peter Snyder นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Brown University Medical School ชี้ว่า มีผลการศึกษาจำนวนมากที่ทำอย่างรวดเร็วและไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เกี่ยวกับวิธีการที่อ้างว่าสามารถเพิ่มความฉลาดได้ และมักจะกลายเป็นข่าวฮือฮาที่คนสนใจ

แต่จริงๆ แล้ว การศึกษาวิจัยที่มีการออกแบบมาอย่างดีและ มีความถูกต้องแม่นยำสูง ซึ่งสามารถจะยืนหยัดผ่านการทดสอบของกาลเวลานั้น มีอยู่น้อยมาก

ผลการศึกษาล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (2010) โดยสถาบัน National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐฯ ได้ทำการประเมินวิธีการต่างๆ ที่อ้างว่า สามารถจะช่วยรักษาหรือเพิ่มความฉลาดให้แก่สมองของเราได้ ปรากฏว่า วิธีการต่างๆ ที่อ้างว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรับรู้และสติปัญญาได้นั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงผลการ ศึกษาเพียงหยาบๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินวิตามิน B6, B12 และ E เบต้าแคโรทีน กรดโฟลิค หรือสารต้านอนุมูลอิสระตัวดังๆ อย่างเช่น ฟลาโวนอยด์ ส่วนหลักฐานที่สนับสนุนว่าแอลกอฮอล์ โอเมก้า-3 หรือกรดไขมันในปลา หรือการมีเพื่อนมากๆ จะช่วยทำให้สมองดีขึ้นก็ยังอ่อนมาก

ส่วนผลการศึกษาเชิงสังเกตที่พบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอาจมีความเสี่ยงต่ำลงที่จะเป็นโรคความจำเสื่อมนั้น ก็ยังไม่ได้รับ การยืนยันความถูกต้องอีกชั้น ด้วยการศึกษาแบบควบคุม (controlled studies) ที่เป็นแบบสุ่มมากกว่า และมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่า

สรุปแล้วขณะนี้ยังคงไม่มีใครรู้ว่า การที่พบว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอาจมีผลดีต่อสมองนั้น เป็นเพราะส่วนประกอบใดในอาหารประเภทนี้กันแน่ น้ำมันมะกอก หรือปลา หรือผัก หรือว่าไวน์ หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะการที่อาหารเมดิเตอร์เรเนียนไม่นิยมรับประทานเนื้อแดง น้ำตาลฟอกสี หรือไขมันจากนมเนย ก็เป็นได้

ยาลดคอเลสเตอรอล Statin ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องสติปัญญาอย่าง ที่มีการกล่าวอ้าง เช่นเดียวกับเอสโตรเจนหรือยาแก้ปวดประเภทที่เรียกว่า NSAID (ได้แก่ ยาแอสไพริน และยา ibuprofen) ส่วนที่มีการอ้างว่า การเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมองจะทำฉลาด ขึ้นนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนในระดับคนทั่วไป

คุณอาจพบผลการศึกษาเดี่ยวๆ มากมาย ที่สรุปว่า การทำอย่างนั้นอย่างนี้จะช่วยให้สมองคุณดีขึ้น แต่การสรุปจากผลการ ศึกษาเดียวมักผิดพลาดมากกว่าถูกต้อง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์และสื่อยังมีแนวโน้มที่มักจะเปิดเผยเฉพาะผลการศึกษาที่ออกมาในทางบวก และเมินผลที่ออกมาในทางลบ จึงมีแต่เพียงการประเมินหลักฐานทั้งหมดที่ได้จากการศึกษาทั้งหมด อย่างที่สถาบัน NIH ของสหรัฐฯ ทำเท่านั้น จึงจะทำให้ได้ภาพที่แท้จริง

มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่าความพยายามของคนเราที่จะหาวิธีเพิ่มความสามารถของสมอง ค่อนข้างจะสิ้นหวัง อย่างไรก็ตาม การค้นพบในด้านประสาทวิทยากำลังค่อยๆ เผยให้ เห็นกลไกการทำงานของการรับรู้และสติปัญญาของเรา

James Bibb จากมหาวิทยาลัย University of Texas Southwestern Medical Center ยืนยันว่า ขณะนี้เราสะสมความรู้ได้มากพอเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสติปัญญาในระดับโมเลกุล และในระดับที่ลึกถึงช่องว่างหรือจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท (synapse) และวงจร (circuit level)

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้แล้วว่า มีกลไกหรือกระบวนการอะไรบ้าง ที่มีส่วนช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาของคนเราได้ Bibb เป็นผู้จัดการสัมมนาย่อยเรื่อง cognitive enhancement strategies เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้เมื่อปีที่แล้ว (2010) ในระหว่างการประชุมใหญ่ของสมาคมประสาทวิทยาในสหรัฐฯ

เราสามารถเพิ่มความสามารถของการรับรู้ได้ หากเรามีเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น หรือมี synapse เพิ่มขึ้น หรือมีระดับการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ (neurogenesis) เพิ่มขึ้น (neurogeneis คือการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ โดยเฉพาะในสมองส่วนที่เรียกว่า hippocampus ซึ่งเกี่ยวกับการจดจำ) หรือมีการสร้างสารประกอบ อย่างเช่น BDNF เพิ่มขึ้น (BDNF ย่อมาจาก brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่หรือ synapse ใหม่อีกต่อหนึ่ง

ทั้งการสร้างเซลล์ประสาทใหม่และ synapse ใหม่ ต่างช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ การจดจำ การใช้เหตุผล และการคิดสร้างสรรค์ ผลการศึกษายังพบว่า ในคนที่เก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะนั้น วงจรสมองของเขามักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า (การมีประสิทธิภาพมากกว่าหมายถึงใช้พลังงานน้อยกว่า แม้ว่างานนั้นจะเรียกร้องการใช้สติปัญญามากขึ้นก็ตาม) มีความสามารถสูงกว่า และยืดหยุ่นมากกว่าคนอื่นๆ

หนึ่งในการค้นพบที่ดีที่สุดในด้าน neuroplasticity ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการที่สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ จาก การตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา คือการค้นพบว่า ความตั้งใจ (attention) สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองและขยายวงจรการทำหน้าที่ของ สมองได้อย่างน่าอัศจรรย์

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในการทดลองให้ลิงฝึกการรับรู้จากการสัมผัสซ้ำๆ จะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยว ข้องขยายตัว ซึ่งเป็นความจริงในคนที่กำลังเรียนรู้อักษรเบรลหรือหัดเล่นไวโอลินด้วย ในทำนองเดียวกัน เปลือกสมองส่วนที่รับเสียง (region of the auditory cortex) ก็ ขยายตัวเช่นกัน เมื่อเราได้ยินเสียงนั้นซ้ำๆ แต่ถ้าให้ลิงสัมผัสสิ่งของไปพร้อมๆ กับการฟังเสียง จะมีเฉพาะส่วนของสมองที่ควบคุมการรับสิ่งเร้า ที่ลิงถูกฝึกให้ใส่ความตั้งใจซ้ำๆ เท่านั้น ที่จะขยายตัว

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งเร้าเดียวกัน เช่น การสัมผัสสิ่งของหรือการได้ยินเสียง อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน คืออาจทำให้ส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องขยายตัว หรือไม่ขยายตัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับ “ความตั้งใจ” ที่มีให้สิ่งเร้านั้นๆ

ความรู้นี้อาจเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมทักษะที่เราเก่งอยู่แล้ว จึงไม่สามารถทำให้เราฉลาดขึ้นได้ ก็เพราะเรามักไม่ได้ตั้งใจมากนักกับสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว ตรงกันข้าม ถ้าเราต้องทำสิ่งใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ ที่เรียกร้องการใช้สมองมากขึ้น เช่นหัดเต้นรำ หรือ เรียนภาษาใหม่ จะมีความเป็นไปได้มากกว่า ที่สิ่งใหม่ๆ ที่เราเพิ่งหัดทำนั้น จะช่วยเพิ่มความเร็วในการคิด เพิ่มความแข็งแรงให้ synapse และขยายหรือสร้างระบบการทำหน้าที่ในสมอง

การที่นักประสาทวิทยาค้นพบกลไกการทำงานของการรับรู้ ทำให้พวกเขาสามารถแยกสิ่งที่อาจช่วยให้เราฉลาดขึ้น ออกมาจากคำกล่าวอ้างที่คลุมเครือต่างๆ ได้ และหนึ่งในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ สามารถแยกออกมาได้ ซึ่งอาจสร้างความประหลาดใจให้กับเรา ก็คือนิโคติน

นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน National Institute on Drug Abuse ในสหรัฐฯ รายงานไว้ในบทวิเคราะห์เมื่อปีที่แล้ว (2010) ซึ่งวิเคราะห์ผลการศึกษาเกี่ยวกับนิโคตินทั้งหมด 41 ครั้งสรุปว่า นิโคตินช่วยเพิ่มความตั้งใจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้าน neuro-plasticity ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น นิโคตินยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วย

บทวิเคราะห์ดังกล่าว สรุปว่า นิโคติน “มีผลในทางบวกอย่างมาก” ต่อทักษะการรับรู้ขั้นพื้นฐานใน สมองของเรา ได้แก่ ทักษะทางร่างกายในด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัว (motor skills) ความแม่น ยำของความจำระยะสั้น ช่วยเพิ่มความตั้งใจในบางรูปแบบ และเพิ่มความจำชนิด working memory (เป็นความจำชั่วคราวหรือความจำระยะสั้นประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เราสามารถใช้สมองได้อย่างคล่องแคล่ว)

เหตุผลก็เพราะนิโคตินมีผลต่อตัวรับสาร acetylcholine ในสมอง ซึ่งเป็นสารที่รับส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท และมีบทบาทสำคัญในวงจรของเปลือกสมอง (คำเตือน: แต่การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) ดังนั้น คุณคงต้องเลือกระหว่างการที่บุหรี่อาจช่วยให้ความจำและความตั้งใจของคุณดีขึ้นใน “ระยะสั้น” แต่ต้องแลกด้วยผลเสียต่อสมองในระยะยาว)

การค้นพบทางประสาทวิทยายังพบว่าสารกระตุ้นอย่าง Adderall และ Ritalin มีประโยชน์ที่มีต่อการรับรู้ อย่างน้อยก็ในบางคนและบางเรื่อง ยาทั้งสองอย่างนี้ (รวมถึงกาเฟอีนด้วย) เพิ่ม ระดับของ dopamine ในสมอง dopamine คือสารที่สร้างแรงจูงใจและความรู้สึกได้รับรางวัล ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียกคืนความจำเกี่ยวกับคำและการใช้ working memory

อย่างไรก็ตาม สารกระตุ้นทั้งสองไม่ได้ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการใช้คำ ความสามารถในการใช้เหตุผล หรือการคิดในเชิงนามธรรมแต่อย่างใด ไม่มีประโยชน์ต่อคนที่มีระดับของสาร dopamine ในสมองสูงอยู่แล้ว หมายความว่า ในคนที่มีระดับ dopamine สูงโดยธรรมชาติ การเพิ่มระดับ dopamine ด้วยสารกระตุ้น ก็ไม่มีประโยชน์ อะไรเลย ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่พบความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพการรับรู้ ระหว่างอาสาสมัครเข้ารับการทดสอบที่ได้รับยา Adderall กับอาสา สมัครที่ได้รับยาหลอก แต่คิดว่าได้รับยาจริง

ผลการศึกษานี้มีความหมายว่า คุณสามารถจะได้รับประโยชน์ที่เกิดจากการมีระดับ dopamine ในสมองสูงได้ ไม่ต่างจากคนที่ได้รับสารกระตุ้น โดยเพียงแต่คุณ “เชื่อ” ว่า

คุณสามารถจะทำงานนั้นได้ดีเท่านั้น เพราะความเชื่อมั่นดังกล่าวจะช่วยปล่อยสาร dopamine เพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกินยาเลย นอกจากนี้ สารกระตุ้นยังใช้ได้ผลเฉพาะบางคนและบางโอกาสเท่านั้น ไม่ได้ผลกับทุกคน

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับจากความรู้ที่ว่า สารกระตุ้นอย่าง Adderall และ Ritalin ทำงานอย่างไร คือทำให้คุณรู้สึกเกิดแรงจูงใจและรู้สึกเหมือนได้รับรางวัล ซึ่งการแก้ปริศนาตัวเลข Sudoku ก็ทำได้เช่นกันนั้น ย่อมแสดงว่าวิธีการอื่นใดก็ตาม ที่สามารถจะทำให้เรารู้สึกเกิดแรงจูงใจหรือได้รับรางวัล ก็ย่อมสามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดของเราได้เช่นกัน และนี่ก็คือกลไกการทำงานของการเพิ่มความฉลาดนั่นเอง

บทความหนึ่งในวารสาร European Journal of Social Psychology กล่าวถึง ancestor effect หมายถึงการหวนคิดถึงสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้วในอดีต อย่างเช่น การได้รู้ว่า คุณทวดของเราสามารถเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำในอดีตมาได้ด้วยวิธีใด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดของเราได้ เพราะความรู้ที่ว่านั้น ช่วยให้เรารู้สึกมีความเชื่อมั่นและแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น เปรียบเหมือนกับการได้กินยา Adderall นั่นเอง

อารมณ์ทางบวกก็สามารถเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ ในกรณีนี้ การลดความ เครียดรวมทั้งฮอร์โมน cortisol ที่เกิดจากความเครียด (cortisol จะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท myelin ซึ่งเคลือบปิดเซลล์ประสาทอยู่ ส่งผลให้ การรับส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาททำงานไม่ดี) จะช่วยให้เราใช้ความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่จนเต็มศักยภาพ

ตัวอย่างสุดท้ายของวิธีอื่นๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มการรับรู้ของสมองได้ คือหากมีใครบอกเราว่า เราอยู่ในกลุ่มของคนเก่ง จะส่งผลให้เรามีแนวโน้มที่จะทำแบบทดสอบได้ดีกว่า ถ้าหากเราถูกบอกว่าเราอยู่ในกลุ่มของคนไม่เก่ง เพราะการที่คุณคิดว่าคุณอยู่ในกลุ่มที่ไม่เก่ง ทำให้เกิด cortisol สูง ซึ่งขัดขวางการคิดอย่าง มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การ “บรรลุ” ศักยภาพแท้จริงของเรา ด้วย การขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางออกไป อย่างเช่นความเครียด เป็นคนละเรื่องกับการ “เพิ่ม” ศักยภาพ กฎหรือทฤษฎีที่ว่า เซลล์ ประสาทมีการทำงานทื่เชื่อมโยงถึงกันหมด (neurons that fire together, wire together) ดูเหมือนจะชักจูงให้เราเข้าใจว่า หาก เราฝึกฝนเรื่องการรับรู้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เราเพิ่มความสามารถในการคิดได้ และมีผลการศึกษาหลายครั้งที่สนับสนุนความเป็นไปได้นี้

แต่มีคำเตือนมาจากผลการศึกษาชิ้นใหญ่ที่มีชื่อว่า Active ที่จัดทำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเตือนว่า การฝึกความจำ ฝึกการใช้เหตุผล หรือฝึกความเร็วในการคิดประมวลผล สามารถปรับปรุงทักษะนั้นๆ ได้เท่านั้น กล่าวคือ การมีความสามารถคิดประมวลผล ได้เร็วขึ้น ไม่สามารถส่งผลต่อเนื่องไปช่วยเพิ่มความสามารถในการ จดจำได้ และการสามารถฝึกเพิ่มความสามารถในการจดจำ ก็ไม่ สามารถจะส่งผลข้ามไปช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้เหตุผลได้

ดังนั้น การเล่นเกมปริศนา อักษรไขว้จึงเพียงช่วยให้คุณเล่นเกมนี้ เก่งขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Columbia ยืนยันว่า ผลการศึกษาวิจัยจนถึงปัจจุบันพบเพียงว่า การฝึกเรื่องการรับรู้ จะมีประโยชน์ก็แต่เฉพาะทักษะที่ต้องใช้ในการฝึกนั้นๆ เท่านั้น และไม่สามารถส่งข้ามไปช่วยให้ทักษะอื่นๆ ดีขึ้นโดยรวมได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีที่สามารถจะฝึกสมองโดยรวมได้ ซึ่งสามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพของทักษะหลายอย่างของสมองได้พร้อมๆ กัน และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการฝึกสมองโดยรวม ซึ่งเป็นวิธีที่คุณอาจนึกไม่ถึงและอยู่ใกล้ตัวอย่างมาก

อย่างแรกคือ การออกกำลังกาย ผลการศึกษาของ Art Kramer จากมหาวิทยาลัย University of Illinois พบว่า การออกกำลังกายง่ายๆ อย่างแอโรบิก เช่น การเดินวันละ 45 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยเพิ่มความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ (episodic memory) และการควบคุมสั่งการได้ประมาณ 20%

แต่ด้วยเหตุ Kramer ทำการศึกษาเฉพาะผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่า ผลดีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่โครงสร้างสมองเริ่มจะเสื่อมแล้วเท่านั้น การออกกำลังกายยังช่วยเร่งการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วน hippocampus ซึ่งทำหน้าที่จัดเก็บประสบการณ์และความรู้ใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

การออกกำลังกายยังกระตุ้นการสร้างสารที่เปรียบเสมือนปุ๋ยในการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ อย่างเช่นสาร BDNF และการสร้างสาร neurotransmitter ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์สมอง รวมถึงช่วยกระตุ้นส่วนเนื้อเยื่อสีเทา (gray matter) ที่อยู่ในเปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังกระตุ้นการผลิต synapse ใหม่ synapse ทำหน้าที่เชื่อมต่อวงจรการทำงานในสมอง และความสามารถและประสิทธิภาพของ synapse นี้เอง ที่เป็นพื้นฐานของการมีสติปัญญา ที่เหนือกว่า

ผลการศึกษาของ Kramer พบด้วยว่า การออกกำลังกายเป็นเวลา 1 ปี ทำให้คนอายุ 70 ปี มีการเชื่อมโยงการทำงานภายในสมองเท่าๆ กับคนอายุ 30 ปี มีความสามารถในการจดจำ การวางแผนเพิ่มขึ้น และสามารถจัดการกับความคลุมเครือ และทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้

เพราะการออกกำลังกายส่งผลเปลี่ยน แปลงโครงสร้างพื้นฐานถึงระดับโมเลกุลและเซลล์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ ทักษะในด้านการรับรู้หลายๆ อย่างของเรา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การออกกำลังกายเป็นประโยชน์โดยรวมต่อสมอง มากกว่าการฝึกเพิ่มความจำหรือฝึกการตัดสินใจแต่เพียงอย่างเดียว

วิธีการฝึกสมองโดยรวมที่ดีอีกอย่างคือ การฝึกสมาธิ ซึ่งจะ ช่วยเพิ่มความหนาของสมองส่วนที่ควบคุมความตั้งใจ และประมวล การรับสัญญาณความรู้สึกจากโลกภายนอก โครงการฝึกความเข้มแข็งของจิตโดยนักประสาทวิทยา Anishi Jha แห่งมหาวิทยาลัย University of Miami ซึ่งให้ผู้ฝึกสร้างสมาธิด้วยการเพ่งที่สิ่งเดียว อย่างเช่นความรู้สึกของร่างกายเพียงความรู้สึกเดียว

ผลที่ได้จากการฝึกนี้คือความคล่องแคล่วในการคิดและความ ตั้งใจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและหน้าที่ในสมอง ทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้มีสติปัญญาสูงขึ้น

วิดีโอเกมบางอย่างอาจช่วยฝึกความคล่องแคล่วในการคิดโดยรวมได้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Columbia ฝึกผู้สูงอายุให้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ประเภท action game ที่ยากและซับซ้อน ชื่อเกม Space Fortress ซึ่งผู้เล่นจะต้องยิงขีปนาวุธทำลายป้อมปราการของศัตรู ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องยานของตัวเองจากขีปนาวุธและกับระเบิดของศัตรูด้วย

ในการเล่นเกมนี้ผู้เล่นต้องใช้ทั้งทักษะการควบคุมการเคลื่อน ไหว การค้นหาด้วยสายตา ใช้ความจำทั้งแบบ working memory และความจำระยะยาว (long-term memory) รวมทั้งการตัดสินใจเกมนี้ยังต้องใช้ความตั้งใจในการเล่นด้วย เนื่องจากผู้เล่นต้องใช้ทักษะหลายอย่างในการเล่นเกมนี้ ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจในการควบคุมการเปลี่ยนสลับการใช้ทักษะที่ต่างๆ กัน

ผลที่ได้คือ ผู้เล่นสามารถทำคะแนนดีขึ้นในการทดสอบความจำ ความเร็วในการเคลื่อนไหว ทักษะในการมองและการบอกพิกัด และทักษะที่ต้องใช้ความยืดหยุ่นในการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังพบว่า วิดีโอเกมประเภทที่ต้องมีการวางแผนการเล่น อย่างเช่น เกม Rise of Nations ช่วยปรับปรุงความสามารถของผู้สูงอายุในการควบคุมสั่งการ อย่างเช่นการเปลี่ยนจากการใช้ทักษะหนึ่งไปอีกทักษะหนึ่ง การใช้ความจำแบบ working memory ความจำระยะสั้นที่เกี่ยวกับภาพ และการใช้เหตุผล

อย่างไรก็ตาม แทบไม่มีเกมหรือโปรแกรมฝึกสมองใดเลยที่สามารถผ่านการทดสอบประสิทธิภาพมาจนถึงขั้นนี้ได้ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า เกมหรือโปรแกรมฝึกสมองที่มีความยากและต้องใช้ความตั้งใจสูง ไม่ว่าจะใช้ทักษะเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่าง น่าจะมีประโยชน์มากกว่าที่จะทำให้เราฉลาดขึ้น

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.