บัญชา ล่ำซำ ผู้จัดการแห่งปี 2527


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

บัญชา ล่ำซำ เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2467 ปัจจุบันจึงมีอายุ 60 ปี บิดาชื่อ โชติ ล่ำซำ มารดาชื่อ น้อย สกุลเดิม อึ๊งภากรณ์ (เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์) ต้นตระกูลมีเชื้อสายจีนแคระ ซึ่งเข้ามาค้าขายครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

บัญชาในปฐมวัยเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญและต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดม

ปี 2490 ได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2493 ได้ปริญญาตรีสาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา

งานแรกในชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อปี 2488 ขณะเรียนอยู่ที่จุฬาฯ โดยเป็นเสมียนนับเงินที่ธนาคารกสิกรไทย

กสิกรไทย ก่อตั้งขึ้นวันที่ 8 มิถุนายน 2488 มี โชติ ล่ำซำ และน้องชายชื่อเกษม ล่ำซำ เป็นเจ้าของ เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท

งานชิ้นแรกของบัญชาจึงพอจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นการช่วยงานบิดาและอาโดยแท้

บัญชาเริ่มงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างแท้จริงเมื่อปี 2495 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งก็เป็นกิจการอีกแขนงหนึ่งของครอบครัว "ล่ำซำ" อีกเช่นกัน

จากปูมหลังนั้น พอจะมองกันออกว่า ครอบครัวต้องการให้บัญชาดูแลกิจการด้านประกันชีวิตเป็นหลัก ส่วนกิจการธนาคารให้อยู่ในความดูแลของอา (เกษม ล่ำซำ) หลังโชติ ล่ำซำ เสียชีวิต

บัญชาจึงเกิดขึ้นมาบนกองเงินกองทอง อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องค้าๆ ขายๆ ครอบครัวก็ไม่ขัดข้อง แต่เมื่อจะต้องหันเหวิถีชีวิตมาทำธุรกิจประกันชีวิต บัญชาก็เร่งรีบเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะด้านนี้อย่างหนักจนได้ประกาศนียบัตร Life Office Management Association New York และอนุปริญญา Life Insurance Agency Management Association Connecticut

นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า บัญชานั้นเป็นคนขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารงานของตนอย่างเอาจริงเอาจังคนหนึ่ง

เขาอาจจะเหมือนกับลูก "เจ้าสัว" อีกหลายๆ คน ตรงที่เขาพยายามช่วยตัวเขาเองด้วย

และนี่นับเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของบัญชา ล่ำซำ

อาจจะเป็นไปได้ที่หากว่าบัญชายังอยู่ในวงการประกันชีวิตสืบไปจนถึงปัจจุบัน เขาอาจจะถูกเลือกเป็น "ผู้จัดการแห่งปี" ด้านสาขานี้ แต่ก็เป็นเรื่องโชคชะตาจริงๆ ที่ทำให้บัญชาต้องสละงานด้านประกันชีวิตมากุมบังเหียนกิจการธนาคารของครอบครัว

เหตุทั้งนี้เนื่องจาก เกษม ล่ำซำ ถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่ไทเปเมื่อปี 2506

เกษมเข้าควบคุมกิจการธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ปี 2491 หลังพี่ชายของเขา คือ โชติ ล่ำซำ ถึงแก่กรรม หรือ 3 ปี ภายหลังจากร่วมกันก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ขึ้นมา

เกษม ถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้ควบคุมกสิกรไทยมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นครอบครัว "ล่ำซำ" จึงส่งเขาไปเรียนและฝึกงานด้านการธนาคารที่ประเทศอังกฤษ และเกษมก็สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารได้ยอดเยี่ยมไม่เป็นที่ผิดหวังของครอบครัวแม้แต่น้อย

เกษมบริหารงานมาได้ 15 ปีเต็ม ก่อนที่จะพบจุดจบร่วมกับผู้โดยสารนับร้อยชีวิตบนเครื่องบินของสายการบินอะลิตาเลีย

ขณะเข้ารับตำแห่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยในปี 2506 แทนอาเกษมนั้น บัญชามีอายุ 38 ปี มันเป็นหน้าที่ที่ยุ่งยากใจไม่น้อย เพราะเขาไม่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับงานของธนาคารมาก่อน อีกทั้งเป็นการเข้ามาอย่างฉุกละหุกไม่ได้มีโอกาสเตรียมเนื้อเตรียมตัวแต่อย่างใด

แต่สำหรับคนหนุ่มที่รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ธนาคารของครอบครัว ซึ่งมีสาขาเพียง 36 สาขา จัดอยู่ในอันดับ 9 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และพนักงานส่วนใหญ่มีพื้นความรู้ระดับกลาง คนจบปริญญาตรีขึ้นไปมีน้อยมาก ส่วนชื่อเสียงก็ไม่ได้เด่นดังนักหนา มันก็ออกจะเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นแล้ว บัญชา ล่ำซำก็เริ่มต้นในสิ่งที่ผู้บริหารในยุคนั้นไม่ค่อยจะคิดถึงกันกับธนาคารกสิกรไทย คือ การพัฒนา "ทรัพยากรคน" อย่างจริงจังต่อเนื่อง

อาจจะเป็นเพราะบัญชามีประสบการณ์ตรงกับตัวเองว่าเมื่อเขาเริ่มเข้าไปสู่ธุรกิจประกันชีวิตนั้น

เขาเริ่มต้นแบบคนตาบอดเนื่องจากไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา แต่เขาก็สามารถเข้าใจมันมากขึ้นเมื่อเริ่มพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน

การมองเห็นคุณค่าแห่งการพัฒนาคนจึงซึมซาบอยู่ในสายเลือดตั้งแต่ครั้งนั้นก็เป็นไปได้

กล่าวได้ว่า ตลอด 2 ทศวรรษของการกุมบังเหียนธนาคารกสิกรไทย บัญชา ล่ำซำ ได้สร้างเครื่องมือขึ้นหลายอย่างในการพัฒนาคนขึ้นมา

อย่างเช่นระบบการสรรหาพนักงาน บัญชาจะเน้นเรื่องระบบคุณธรรม (MERIT SYSTEM) อย่างเข้มงวดกวดขัน

เขาประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนว่า " ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ ห้ามนำระบบการเล่นพรรคเล่นพวกมาใช้เด็ดขาด..."

และเป็นการสรรหาโดยบุกไปเปิดรับและสัมภาษณ์ถึงสถาบันศึกษาโดยตรง ซึ่งข้อนี้ทำให้กสิกรไทยสามารถคว้าคนระดับหัวกะทิมาไว้เป็นฐานของตน

ต่อมาในเรื่องการให้ทุนการศึกษา การส่งไปดูงานและการฝึกอบรม

การให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานที่จบปริญญาตรีเพื่อไปต่อปริญญาโทยังต่างประเทศนั้น บัญชาเริ่มใช้เมื่อปี 2509 เป็นปีแรก ซึ่งรุ่นแรกที่ได้ทุนก็คือ สงบ พรรณรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ คนปัจจุบัน และเทพ รุ่งธนาภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสของกสิกรไทยในขณะนี้

ซึ่งถึงบัดนี้กสิกรไทยยังประกาศให้ทุนอย่างไม่จำกัดสำหรับพนักงานที่สามารถสอบเข้าเรียนต่อหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจทั้งสถาบันในประเทศไทยและสถาบันมีชื่อในต่างประเทศ

อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาพนักงาน ก็เห็นจะได้แก่รูปแบบการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำงานชิ้นหนึ่งๆ ร่วมกัน

คณะกรรมการหรือคณะทำงานนี้จะประกอบด้วยคนที่มีประสบการณ์สูงหรือผู้ใหญ่ผสมผสานไปกับพนักงานรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่มีแววว่าจะก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างคลื่นลูกเก่ากับคลื่นลูกใหม่นั่นเอง

นอกจากนี้ระบบการแต่งตั้งและให้ความดีความชอบโดยยึดถือผลงานยิ่งกว่าความ อาวุโส และการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น ก็เป็นอีก 2 เครื่องมือที่บัญชาได้สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนของกสิกรไทย

"โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างวินัยต้องถือว่าคุณบัญชาเก่งมาก กสิกรไทยอาจจะเป็นองค์กรที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปรายได้สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ แต่คนของเขาก็ดูจะภักดีอย่างมากๆ ส่วนใหญ่จะทำงานกันด้วยความซื่อสัตย์ เอาการเอางานและสมถะจริงๆ ..." แบงเกอร์ด้วยกันแสดงความคิดเห็น

แน่นอนว่าในการพัฒนาคนตั้งแต่ฐานของพีระมิดขึ้นไปจนถึงระดับบนๆ นั้น ผู้ที่อยู่ยอดสุดจะต้องวางตัวเป็นแบบอย่างด้วย เพราะมิฉะนั้นผลของการพัฒนาก็คงไม่อาจจะสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้เด็ดขาด

ประการนี้ก็คงจะต้องยอมรับกันว่า บัญชา ล่ำซำมีอยู่ค่อนข้างเพียบพร้อม

บัญชามีบุคลิกของผู้นำที่เข้มแข็ง คนในกสิกรไทยทั้งรักและเกรงและกลัว เขาเป็นคนเอาจริงกับงานและเป็น TYCOON ที่มีภาพลักษณ์สะอาดในสังคม

เขาเต็มเปี่ยมในเรื่องความเที่ยงธรรมด้านการให้คุณให้โทษแก่พนักงาน

เขาสร้างระเบียบแบบแผนที่ดีและเหมาะสมในการบริหารงาน

เขาจัดให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างพนักงานเพื่อสร้างความกลมเกลียว และไม่ละเลยโอกาสเข้าร่วม

จัดสวัสดิการให้พนักงานพอใจและให้ความสนใจเอาใจใส่พนักงานอย่างจริงจัง

จุดเด่นอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความพยายามทุ่มเทในเรื่องการพัฒนาคนและคุณสมบัติของผู้จัดการที่ดีที่บัญชามีอยู่ในตัวแล้ว ก็เห็นจะได้แก่การกำหนดจุดยืนและนโยบายที่เด่นชัดนับแต่เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2506

จุดเด่นประการนี้ พอจะแยกแยะให้เห็นได้เป็น 3 ด้านที่สำคัญคือ

ด้านแรก บัญชาได้วางนโยบายไว้อย่างแน่นอนว่า กสิกรไทยนั้นหากจะเติบโตยิ่งใหญ่ได้ในอนาคตก็จะต้องทำการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขารอบนอกตามต่างจังหวัดเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว นโยบายเช่นนี้ นอกจากกสิกรไทยก็คงมีธนาคารกรุงเทพเท่านั้น

บัญชาเมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งธนาคารกสิกรไทยมีสาขาอยู่ 36 สาขา แต่บัดนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น 249 สาขาทั่วราชอาณาจักร

ด้วยนโยบายที่บัญชาได้วางไว้เช่นนี้เอง ที่ทำให้กสิกรไทยก้าวจากอันดับ 9 ขึ้นมายืนอยู่ในอันดับ 2 ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนด้านการบุกเบิกเปิดสาขาในต่างประเทศเพื่อให้กสิกรไทยมีฐานในโลกกว้าง ก็เป็นนโยบายที่ทำกันมาต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กสิกรไทยมีสาขาในต่างประเทศทั้งหมด 3 สาขา และ 3 สำนักงานตัวแทน

ด้านที่สอง ในเรื่องนโยบายการให้บริการ กสิกรไทยภายใต้การนำของบัญชา ล่ำซำ เน้นว่า ธนาคารของตนจะต้องไม่มีระบบใต้โต๊ะหรือเงินปากถุง และจะต้องเป็นผู้นำในด้านการให้บริการใหม่ๆ แก่ลูกค้า

และด้านที่สาม เกี่ยวกับนโยบายการบริหาร บัญชาตั้งความหวังอย่างยิ่งที่จะให้กสิกรไทยมีความเป็นเลิศด้านบริหาร อันหมายถึงการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า เป็นกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งเสียกว่าที่จะไปหลงดีใจกับอัตราการเจริญเติบโตอย่างพรวดพราดของธนาคาร

จะเห็นได้ว่านโยบายทั้ง 3 ด้านที่บัญชาประกาศเป็นจุดยืนของกสิกรไทยนี้ จะต้องลงทุนลงแรงและระดมความคิดกันอย่างใหญ่หลวง และผลก็คงจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด

หากแต่เป็นการวางรากฐานวันนี้เพื่อไปรอเก็บเกี่ยวผลในอีกเป็นสิบปีข้างหน้า

ซึ่งถ้าเป็นบางคนที่พบว่า วันหนึ่งธนาคารของรัฐอย่างกรุงไทยจู่ๆ ก็แซงขึ้นหน้าไปเป็นอันดับสองแทน ทั้งที่เริ่มมา เป็นรุ่นหลังก็คงจะต้องคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองตั้งไว้เป็นนโยบายบ้างก็ได้

ความอดกลั้นและความเชื่อมั่นของบัญชาจึงจะต้องมีอยู่อย่างมากๆ

และความอดกลั้น, ความเชื่อมั่นก็ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วในรอบปี 2527 ว่าสิ่งที่บัญชาคิดและทำที่ผ่านๆมานั้น...ถูกต้องแล้ว

เหมือนกับที่กล่าวกันว่า "วีรชนกำเนิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต"

ปี 2527 เป็นปีที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต้องพกยาระงับประสาทกันคนละหลายๆ ขวด

เริ่มตั้งแต่บริษัทการเงินล้ม ประเทศไทยขาดดุลชำระเงินอย่างหนักหน่วง และมีการกำหนดมิให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเกิน 16 เปอร์เซ็นต์ และก็อีกหลายๆ ปัญหาที่ประดังเข้ามาราวกับนัดหมาย

เป็นครั้งแรกที่ธนาคารใหญ่ที่สุดอย่างธนาคารกรุงเทพเจอข่าวลือว่าจะล่มซึ่งกว่าจะประคองตัวรอดพ้นสถานการณ์มาได้ก็อยู่ในสภาพที่บอบช้ำอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

ท่ามกลางกระแสสับสนเหล่านี้ กสิกรไทยดูจะเป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่นอกจากจะไม่แสดงอาการว่ากระทบกระเทือนแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมในเชิงรุกสถานการณ์อีกด้วย

- กสิกรไทยประกาศติดตั้งระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์ระบบมหึมาเพื่อทำ "ออนไลน์" ฝากถอนต่างสาขาและติดตั้งเครื่องเอทีเอ็ม

- เปิดบริการบัตรฝากเงินชนิดโอนได้หรือที่เรียกกันว่า ทีซีดี

- ปรับปรุงบัตรวีซ่าให้สามารถถอนเงินสดได้ทั่วโลกภายใน 10 นาที

- เปิดให้บริการโครงการ "สินเพิ่มสุข" และ "เชิดชูชีพ" สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนความสุขความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต

- ให้บริการสินเชื่อสำหรับแท็กซี่

- ปรับปรุงบริการถอนเงินสดอัตโนมัติ ใช้ชื่อใหม่เป็น "บริการจ่ายเงิน 24 ชั่วโมง"

- ส่งเสริมการทำประมงบนฝั่งทุกประเภท

- ตั้งศูนย์ไมโครคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการฟรีแก่ผู้สนใจใฝ่รู้

เมื่อปี 2506 ปีแรกที่บัญชาเข้ารับตำแหน่งในกสิกรไทยนั้น ธนาคารแห่งนี้มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 757 ล้านบาท มีเงินฝาก 506 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้ยืมออกไป 469 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของระบบธนาคารพณิชย์ทั้งระบบ

แต่ ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน 2527 กสิกรไทยมีสินทรัพย์ 93,158.8 ล้านบาท เงินฝาก 74,821.8 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้ยืม 70,350 ล้านบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาจะเท่ากับร้อยละ 14.8,14.4 และ 14.0 ตามลำดับ

ซึ่งเป็นการก้าวขึ้นมายืนในอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงเทพ ไม่ว่าจะพิจารณาจากสินทรัพย์ ยอดเงินฝากหรือยอดเงินให้กู้ยืมก็ตาม

คงต้องนับเป็นความสำเร็จที่กสิกรไทยสามารถแย่งตำแหน่งเบอร์ 2 นี้มาได้จากธนาคารกรุงไทย หลังจากต้องขับเคี่ยวกันอยู่หลายปี

แต่นั่นก็จะยังไม่น่ายินดีเท่ากับท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในรอบปี 2527 นี้ ธนาคารกสิกรไทยกลับเป็นธนาคารที่มีภาพลักษณ์ดีที่สุดในสายตาประชาชน ซึ่งพอจะวัดกันได้จากการขายหุ้นที่ได้รับความสนใจอย่างสูง สามารถขายหุ้นได้หมดในเวลาอันรวดเร็ว และดำเนินการกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนได้สำเร็จเป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์

แน่นอนทีเดียวที่ความสำเร็จทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากองค์ประกอบหลายๆ ส่วนที่ บัญชา ล่ำซำ และพนักงานของกสิกรไทยร่วมกันสร้างขึ้นมา

และสิ่งหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" มองเห็นก็คือ กระบวนการพัฒนาจากระบบธนาคารของครอบครัวมาเป็นธนาคารที่มีมหาชนเป็นเจ้าของ และบริหารโดยนักการธนาคารมืออาชีพ

"ผู้จัดการ" เชื่อว่า ความเป็นเลิศของธนาคารกรุงเทพนั้น ประการหนึ่งจะต้องสลัดให้หลุดพ้นไปจากการตั้งข้อสังเกตของประชาชนว่า ธนาคารนี้เป็นของตระกูลโสภณพนิช เช่นเดียวกับที่ธนาคารเอเชียจะต้องหลุดพ้นจากคำว่า "ธนาคารของเอื้อชูเกียรติ" หรือธนาคารศรีนครของ "เตชะไพบูลย์"

ความเป็น "ล่ำซำ" ในธนาคารกสิกรไทยก็เช่นเดียวกัน

ซึ่งสิ่งนี้ "ผู้จัดการ" ยกย่องอย่างมากๆ สำหรับกสิกรไทยนั้น บัญชา ล่ำซำได้มีความพยายามที่จะแยกความเป็น "เจ้าของ" ออกจากการเป็น "ผู้จัดการมืออาชีพ" ของเขา

บัญชามีความกล้าหาญและใจกว้างพอที่จะกระจายหุ้นของกสิกรไทยออกไปสู่มือประชาชนหรือกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ "ล่ำซำ"

ในขณะที่ "เจ้าของ" ธนาคารบางแห่งไม่กล้าแม้แต่จะคิด

และความใจกว้างเช่นนี้เองที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในสายตาประชาชนให้กับกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม กสิกรไทยในวันนี้ก็ใช่จะลบภาพความเป็น "ล่ำซำ" ไปได้หมดสิ้นอย่างแท้จริง

หลายอย่างยังต้องการความใจกว้างและมองการณ์ไกลของบัญชา

โดยเฉพาะเมื่อหมดยุคของบัญชาและบรรยงค์ ล่ำซำ ซึ่งนั่นจะเป็นขั้วต่อในการพิสูจน์คุณค่าในฐานะ "ผู้จัดการประจำปี 2527" ของบัญชา ล่ำซำ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.