วิโรจน์ ภู่ตระกูล ผู้จัดการแห่งปี


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ความจริงถ้าจะวัดกันว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูล เป็น "ผู้จัดการ" ที่เก่งหรือไม่ก็ต้องบอกว่า เก่ง !

เพราะถ้าไม่เก่งก็คงจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทลีเวอร์บราเดอร์ส ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่เอาการบริษัทหนึ่ง

แต่ถ้าว่ากันไปแล้ว ก็ต้องให้เครดิตบริษัทยูนิลีเวอร์ ที่มีนโยบายส่งเสริมให้คนแต่ละชาตินั้น ได้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดเท่าที่ความสามารถเขาจะมีได้

ถ้าจะวัดกันว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูล เป็น "ผู้จัดการ" แห่งปีได้อย่างไร ก็เห็นจะต้องพิจารณาดูอะไรหลายๆ อย่างประกอบกัน

วิโรจน์เป็นผู้จัดการ เพราะความสามารถ

การเป็นผู้จัดการมืออาชีพจริงๆ นั้น จะสังเกตได้อย่างว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่ประสบความสำเร็จในการเป็น PROFESSIONAL MANAGER มักจะเป็นคนที่ไม่ได้มีชาติตระกูลเก่าแก่หรือมีครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการ

จากการที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพในบริษัทข้ามชาติ และได้ขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานกรรมการในปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้ตำแหน่งนี้มาด้วยฝีมือ หรือที่เรียกกันว่า "HE EARNS IT"หาใช่เพราะโชคช่วยหรือระบบ "เตี่ยอุปถัมป์"ไม่

วิโรจน์ ภู่ตระกูลเป็นคนลำปาง มีเชื้อสายไหหลำ บิดาเป็นเจ้าของโรงเลื่อย เกิดเมื่อ พ.ศ. 2478

เมื่อเด็กๆ ย้ายไปหลายจังหวัด เพราะอยู่ในช่วงสงคราม แต่มาลงเอยตรงจบมัธยม 6 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ในสมัยที่บราเดอร์เทโอฟาน เป็นอธิการบดีอยู่

คงจะเป็นเพราะเมื่อเด็กๆ ค่อนข้างจะเฮี้ยวเอาการอยู่ หลังจากจบมัธยม 6 แล้ว วิโรจน์จึงไปเรียนต่อที่อังกฤษในปี พ.ศ. 2496

ใช้เวลา 3-4 ปี สอบGCE ได้ แล้วก็เริ่มเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (SHEFFIELD) ในสาขาเศรษศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียน 3 ปี

พอจบปริญญาตรีใน พ.ศ. 2502 วิโรจน์ก็กลับมาบ้านทันที

ทางบ้านซึ่งฐานะดีก็อยากให้รับราชการ แต่สำหรับเด็กหนุ่มในวัยเพียง 24 ปี ขณะนั้นคิดว่าภาคเอกชนน่าจะดีกว่า อาจจะเป็นเพราะวิโรจน์ในขณะนั้นกำลังมีความรัก และอยากจะแต่งงาน ก็เลยคิดว่ารับราชการจะไม่พอกิน

วิโรจน์เข้าไปทำงานบริษัทลีเวอร์ในปี 2502 เป็น MANAGEMENT TRAINEEหลังจากจบจากอังกฤษโดยสมัครงามตามประกาศแจ้งความในหน้าหนังสือพิมพ์ ในช่วงนั้นคนรับวิโรจน์คือ เสนาะ นิลกำแหง ซึ่งเป็นกรรมการ และเลขาของ BOARD ลีเวอร์ ปัจจุบันเสนาะ นิลกำแหง เป็นกรรมการบริษัทเครือซิเมนต์ไทย จำกัด

หลังจากที่ต้องผ่านขั้นตอนของการเป็นเซลส์และการตลาด เป็นหนูทดลองในระบบของลีเวอร์เป็นเวลา 2 ปีแล้ว วิโรจน์ก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในเขตกรุงเทพฯ

ต่อมาในปี 2509 ก็ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปแทนฝรั่งชื่อ TED DAVIS และต่อมาก็เป็นผู้จัดการการตลาดของสินค้าสบู่และผงซักฟอก

ในช่วงอายุประมาณ 35-36 วิโรจน์ถูกเชิญเข้าเป็นกรรมการของ BOARD และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายในสมัยที่ JARLOV เป็นประธานบริษัท

ในปี 2517 อีกสามปีต่อมา หลังจากที่ได้เข้าเป็นกรรมการ วิโรจน์ก็ถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานดูแลการขายฝ่ายกฎหมายและ CORPORATE AFFATRS

เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมเนื้อเตรียมตัวกระโดดขึ้นไปเป็นประธานบริษัทนั่นแหละ!

เป็นรองประธานได้ 2 ปี ก็ถูกเรียกไปยังสำนักงานใหญ่ในอังกฤษ ให้ทำหน้าที่ OPERATIONS OFFICER ดูแลงานของเครือ UNI-LEVER ใน 10 ประเทศซึ่งมี นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, บังกลาเทศ, อินเดีย, ปากีสถาน, โรดีเซีย, มาลาวี, โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา

จากการที่ได้เห็นงานใน 10 ประเทศนี้เป็นเวลาถึง 4 ปี วิโรจน์สรุปได้ว่า "เป็นโชคและประสบการณ์อย่างมากๆ ที่ผมได้รับ เพราะผมได้มีโอกาสเห็นการประสบความสำเร็จในการทำงานที่เป็นแนวทางให้ผม และเมื่อมันเกิดขึ้นกับผมทีหลังก็ทำให้ผมรู้สึกเฉยๆ ไม่หลงระเริงไปกับมัน และผมได้เห็นความล้มเหลว ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับผมอีก ผมก็คงจะเตรียมตัวเตรียมใจรับกับมันได้ โดยไม่แตกตื่นหรือตกอกตกใจกับมันมากนัก และผมติดใจที่ได้เห็นประธานบริษัท 10 คนใน 10 ประเทศ ทำงานกัน ได้เห็นปัญหาการบริหารทั่วไป ได้เห็นปัญหาการตลาด ปัญหาการขาย ฯลฯ"

และ 4 ปีช่วงนั้นคือ โรงเรียนการบริหารที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้เรียนจากของจริง

ในที่สุดในปี 2522 วิโรจน์ ภู่ตระกูลก็ได้เป็นคนไทยคนแรกที่เป็นประธานกรรมการของบริษัทลีเวอร์ บราเดอร์ส (ประเทศไทย)

จะเห็นได้ว่าเส้นทางเดินของวิโรจน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ถึง 2522 หรือ 20 ปี นั้นเป็นเส้นทางที่วิโรจน์ต้องผ่านขวากหนามอุปสรรค ตลอดจนต้องพัฒนาตัวเองมาสู่จุดที่ตัวเองเป็นทุกวันนี้

และทุกตำแหน่งที่ต้องสู้มานั้น ก็มีคู่แข่งกันมาตลอดในการแข่งขันกันโดยไม่มีใครมาอุปถัมภ์ค้ำชู

และเราจะเห็นได้ว่าจากการที่บริษัทลีเวอร์ฯ มีปมเด่นอยู่ที่เป็นบริษัทที่เน้นการตลาดและการขาย ฉะนั้นสนามรบที่วิโรจน์ผ่านมาก็เป็นเรื่องของตลาดการขาย

คนที่รู้จักวิโรจน์ดีพูดว่า "คนนี้อย่านึกว่าเป็นประธานบริษัทลีเวอร์ มีเงินเดือนเป็นแสนๆ นั่งรถจากัวร์มีคนขับแล้ว เขาเท้าไม่ติดดิน วิโรจน์เป็นคนที่ลูกทุ่งที่สุด และลุกทุ่งจนนึกไม่ออกว่าเขาเป็นแชร์แมนของลีเวอร์สได้อย่างไร"

ถึงแม้องค์กรที่วิโรจน์ทำอยู่จะเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของอังกฤษอย่างสูง แต่พฤติกรรมของผู้จัดการที่สามารถจะประสานวัฒนธรรมองค์กรให้เข้ากับวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และคนท้องถิ่นนั้นคือความสำเร็จขององค์กร

และที่จริงก็คือความสามารถของวิโรจน์ ภู่ตระกูล นั่นเอง!

"ในความหมายของผู้จัดการแห่งปี"

ถ้าจะให้วิโรจน์ ภู่ตระกูล ได้เป็น “ผู้จัดการแห่งปี" เพียงเพราะเขาสามารถ และได้ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นประธานกรรมการนั้น ก็อาจจะมีผู้จัดการแห่งปีแบบวิโรจน์อีกไม่น้อย แต่ในความหมายของ "ผู้จัดการแห่งปี" นั้น ยังมีสิ่งอื่นที่เราใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดคนคน นี้ด้วย

แน่นอนที่สุดบรรทัดฐานแรกที่หลายๆ คนมักจะมองอยู่ตลอดเวลาคือความเจริญเติบโตขององค์กรที่คนคนนั้นเป็นผู้จัดการ ว่าเจริญเติบโตแค่ไหน อย่างไร?

แต่บางครั้งการที่องค์กรนั้นไม่ได้เจริญเติบโต ก็ไม่ได้หมายความว่า "ผู้จัดการ" คนนั้นจะไร้ความหมาย เพราะมีองค์กรอยู่หลายแห่งที่พร้อมจะหยุดความเจริญเติบโต เพราะตนเองต้องการจะปรับปรุงคุณภาพขององค์กรและจัดโครงสร้างเสียใหม่

เพียงแค่คิดทำเช่นนั้น ก็น่าจะได้คะแนนแล้ว!

สำหรับวิโรจน์ ภู่ตระกูลนั้น นอกจากการทำความเติบโตให้กับองค์กรในรูปแบบของยอดขายที่ขยายจาก 1,303 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2522 มาเป็นประมาณ 2,800 ล้านบาท ในปี 2527 โดยมีอัตราเฉลี่ยการเติบโตปีละประมาณ 23% แล้ว

ปัจจุบันลีเวอร์ กุมตลาดผงซักฟอกอยู่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตลาดสบู่กว่า 50 % และสินค้าประเภท PERSONAL PRODUCTS เช่น แชมพู ฯลฯ ลีเวอร์เป็นผู้ผลิตขายมากที่สุด

สิ่งหนึ่งที่เรามอบตำแหน่ง "ผู้จัดการแห่งปี" ให้แก่วิโรจน์ ด้วยความเต็มใจ คือ ความสามารถของวิโรจน์ที่

เป็นคนมองการณ์ไกล

ผู้จัดการที่แท้จริงควรจะเป็นคนที่มองอะไรไกลกว่าข้างหน้าตัวเองไปให้มากๆ และวิโรจน์ก็เป็นเช่นนั้น

สิ่งแรกทีเขาเริ่มทำคือ การปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อทำให้เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด (LOW COST PRODUCERS)

วิโรจน์คิดว่าผู้ผลิตสินค้าไม่ควรเอาความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองไปเป็นต้นทุนแล้วตั้งราคาให้ผู้บริโภคต้องรับภาระไป

ลีเวอร์ในยุควิโรจน์จึงเน้น

- เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยที่สุด

- การวางแบบโรงงานที่มีคุณภาพมากที่สุด และ

- การสร้างคุณภาพให้อยู่ใต้จิตสำนึกของพนักงานทุกคน

จากการที่ต้องเป็น LOW COST PRODUCERS วิโรจน์ตัดสินใจรวมโรงงานทั้งหมด ให้อยู่บนเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ที่อำเภอมีนบุรี ในราคาเกือบๆ พันห้าร้อยล้านบาท โดยมีโรงงานที่เริ่มดำเนินงานแล้ว เช่น :-

1. โรงงานผลิตสบู่แบบครบวงจร

2. โรงงานผลิตปัจจัยการผลิตเชื้อผงซักฟอก

3. โรงงานผลิตวัตถุดิบในการทำยาสีฟัน ยาสระผม และการทำเภสัชกรรม

4. โรงงานผลิตหลอดยาสีฟัน (นี่ก็เป็นตัวอย่างของการมองการณ์ไกลที่วิโรจน์คิดพัฒนาการทำหลอดยาสีฟันแบบ LAMINATED ซึ่งคิดและวางแผนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว และในที่สุดก็ออกมาเป็นเป๊ปโซเด้นท์ ซึ่งผลของการพัฒนาหีบห่อรูปร่างทำให้เป๊ปโซเด้นท์ได้ก้าวเข้ามาในวงการยาสีฟันอย่างที่เจ้าเก่าต้องมองด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะขั้นตอนการผลิตแบบ LAMINATED อยู่ในมือ LEVER แต่ผู้เดียว)

5. โรงงานการผลิตเนยขาวและเหลือง (INDUSTRIAL FAT)

6. โรงงานน้ำมันพืช ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว

จะเห็นได้ว่าในการที่จะสร้างโรงงานทั้งหมดให้อยู่ในที่เดียวกัน และต้องใช้เงินทุนพันกว่าล้านบาทนั้น มันเป็นการทำงานที่ต้องใช้การมองการณ์ไกล และการพิจารณาสิ่งแวดล้อมในสังคม และในที่สุดทำให้วิโรจน์ตัดสินใจดำเนินการไป

และการกระทำเช่นนั้นได้จริงๆ คือการต้องขายความคิดของตัวเองให้บริษัทแม่ยอมรับ ซึ่งนั่นหมายถึงต้องเป็นโครงการที่มีเหตุผลด้วยแผนงานที่รอบคอบ รัดกุมประสานกับความสามารถส่วนตัวของผู้จัดการด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อมองไปที่ประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิต LEVER ภายใต้การนำของวิโรจน์สามารถลดจำนวนคนทำงานลงจากประมาณ 2 พันกว่าคนในปีแรกที่วิโรจน์มาเป็นประธาน ลงเหลือเพียง 1,350 คนในปี 2527 หรือลดลงเกือบ 50 % นี่ย่อมแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของ LOW COST PRODUCERS ได้ชัด ว่าในขณะที่ยอดขายในปี 2522 มีเพียง 3,303 ล้านบาท LEVER ใช้คน 2 พันกว่าคน แต่มาในปี 2527 ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าปี 2522 ถึง 100 กว่า% เป็น 2,800 ล้านบาท แต่จำนวนคนที่ใช้กลับเหลือเพียง 1,350 คนเท่านั้นเอง

และการลดคนในจำนวนขนาดนั้น เป็นการลดอย่างสันติที่สุดที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างพอใจด้วยกัน

ในบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน มีสหพัฒนพิบูลอีกเจ้าหนึ่งที่ได้ย้ายตัวเองไปตั้งสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชาลักษณะเดียวกับ LEVER จะมีก็เพียงคอลเกตปาล์มโอลีฟเท่านั้นที่ออกเดินช้ากว่าทุกคน

และก็เผอิญคอลเกตเกิดเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมประเภทนี้บริษัทเดียวที่ใช้ฝรั่งเป็นผู้บริหาร

ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของคนไทยเชียวละ!

ความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปการสร้างสรรค์โดยใช้ธุรกิจเป็นสื่อ

บริษัทห้างร้านทุกวันนี้ ถ้าได้บริจาคการกุศลหรือแจกทุนการศึกษาก็มักจะอ้างว่าตัวเองรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งๆ ที่สิ่งที่ตัวเองทำคือปรัชญาของ "การให้ปลาคนกิน" แทนที่จะ "สอนคนให้รู้จักตกปลา"

วิโรจน์ ภู่ตระกูลได้ทำสิ่งหนึ่งลงไปที่ธุรกิจใหญ่ๆ หลายแห่งน่าที่จะทำตามดู นั่นคือการที่วิโรจน์เป็นหนึ่งในทีมงานที่สามารถจะชักชวนให้บริษัทแม่ยอมเปลี่ยนใจหันมาทำกิจการสวนปาล์ม

การทำเช่นนั้นนอกจากเป็นการนำธุรกิจสวนปาล์มมารู้จักกับการบริหารงานที่ทันสมัยแล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดการสร้างงานและรายได้ในย่านที่เรียกว่าดงผู้ก่อการร้าย

จริงอยู่ในที่สุดแล้วลีเวอร์ก็คงจะได้ประโยชน์จากการทำสวนปาล์ม

ถ้าลีเวอร์จะเอาแต่ประโยชน์ คงไม่ต้องลงทุนลงแรงเข้าไปบุกเบิกงานที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ลีเวอร์ก็คงจะทำประโยชน์ได้จากธุรกิจแขนงอื่นอีกมาก

แต่การที่ทำเช่นนี้ก็ส่อให้เห็นถึงการที่วิโรจน์ ภู่ตระกูลรู้จักใช้ธุรกิจเป็นสื่อสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและในขณะเดียวกันก็รับผิดชอบในการสรรค์สร้างสังคมด้วย โดย "สอนคนให้รู้จักตกปลา"

และในที่สุดลีเวอร์ก็เป็นผู้ผลิตสบู่เจ้าแรกที่เอาน้ำมันปาล์มมาทำแทนไขมันวัว

เป็น "ผู้จัดการ" ที่เปลี่ยนบทบาทตามสถานการณ์

เคยมีคนถามวิโรจน์ว่า เขาเป็นผู้จัดการประเภทไหน?

วิโรจน์ตอบว่า เขาสามารถจะเป็นผู้จัดการที่ให้ทีมงานได้ร่วมกันออกความคิดเห็นและรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันวิโรจน์จะเป็นเผด็จการทันทีที่มีเรื่องคุณภาพของสินค้า และความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเข้ามาเกี่ยวข้อง

วิโรจน์คิดว่าตัวเองเป็นผู้จัดการลักษณะ "WALKABOUT"

"ผมจะเดินคุยกับบรรดาผู้จัดการตามห้องทำงานทั้งหลายอยู่เสมอ แล้วผมพยายามจะ INITIATY ความคิดให้เขา บางครั้งเขาไม่เห็นด้วย เขาก็จะโต้แย้งออกมาถ้าเหตุผลเขาดี ผมก็จะยอมรับและเมื่อเรามาสู่โต๊ะประชุม เราก็จะไม่มีการโต้เถียงกันนอกจากตกลงจะดำเนินการตามแผนอย่างเป็นทางการ"

ในวัยเพียง 49 ปี วิโรจน์ ภู่ตระกูล จากคนที่ไม่มีชาติตระกูลผู้ดีเก่า หรือเตี่ยที่เป็นเจ้าสัว เขาได้เดินมาแล้ว 25 ปี กับบริษัทลีเวอร์ บราแดอร์ส และจากวันแรกในปี 2522 ที่เขาเริ่มเข้ามาเป็นประธาน เขาได้ก่อให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็เริ่มมาเห็นผลในปีสองปีนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของ "ผู้จัดการ" คนนี้ ซึ่งเขาเองก็ได้รับการยอมรับโดยจุฬาลงกรณ์ฯ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพณิชยศาสตร์ให้เขาเมื่อปี 2525 และในปี 2527 รัฐบาลอังกฤษก็ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น OBEW (OFFICER OF THE ORDER OF THE BRITISH EMPIRE)

ถ้าจะถามคนชื่อวิโรจน์ ภู่ตระกูล ว่าตอนนี้คิดจะทำอะไร เขาก็จะตอบอย่างจริงจังว่า "ตอนนี้ผมเจ็บใจที่สุดที่ยาสีฟันเป๊ปโซเด้นท์ผลิตไม่ทันขาย"

ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่ง "ผู้จัดการแห่งปี"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.