ทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ รอมา 16 เดือนเต็มๆ ด้วยความขมขื่นและเจ็บช้ำน้ำใจ
โดยธรรมชาติแล้วทัศนียาเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ใครคุยด้วยจะรู้สึกทันทีว่าเป็นคนไม่มีพิษภัย
เธอเคยเป็นเลขานุการผู้จัดการฝ่ายขายของสายการบิน SAS ซึ่งเธอฝากชีวิตการทำงานของเธอตั้งแต่สมัยยังอยู่กับการบินไทย
จนกระทั่ง SAS แยกออกมาเป็นเอกเทศ เธอก็ติดตามมาด้วย
ทัศนียาอยู่กับ SAS มา 9 ปี จนถึงปี 2526 เธอคิดว่าเธอคงจะทำงานที่นี่จนเธอแก่เฒ่า
ลูกสาว 2 คนเติบโตขึ้นไป เธอก็คงจะได้พักผ่อนอย่างสบายพอสมควร
จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2526 มีใบปลิวชุดหนึ่ง (2 หน้า)
พิมพ์แจกจ่ายพนักงาน SAS
เนื้อหาใบปลิวนั้นกล่าวหาว่าผู้จัดการ SAS กับเลขาของเขาในลักษณะที่เสียหายอย่างชนิดนักเขียนใบปลิวมืออาชีพที่รับจ้างนักการเมืองเขียนยังต้องอับอาย!
เธอคงจะไม่รู้ว่าใบปลิวใบนั้นเป็นสาเหตุให้เธอต้องลุกขึ้นกัดฟันสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของเธอเป็นเวลาถึง
16 เดือน
13 มิถุนายน 2526 คือวันสุดท้ายที่ทัศนียาถูกยื่นซองขาวให้โดยบริษัทมีเหตุผลว่าเธอทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
และบริษัทต้องการที่จะปรับปรุงมาตรฐานการทำงานในหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตลาด
นั่นคือใบเลิกจ้างและเหตุผลที่เธอได้รับอย่างเป็นทางการ
แต่เธอก็รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงอยู่ตรงใบปลิวชุดนั้นที่เธอถูกเลขาผู้จัดการใหญ่สงสัยว่าเธอเป็นคนเขียน
วันที่ 13 มิถุนายน 2526 เป็นวันพุธและเผอิญเป็นวันพระด้วย จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ที่เธอต้องได้รับซองขาวในวันเลขที่
13 ซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นเลขที่ไม่เป็นมงคล
เรื่องการตกงานสำหรับทัศนียาแล้วกลับไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะโดยฐานะทางครอบครัวแล้ว
เธอพอจะอยู่ได้อย่างสบายๆ โดยให้สามีนักธุรกิจเป็นผู้เลี้ยงดู
"แต่มันเป็นเรื่องความเป็นธรรมเพราะดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด งานการก็ทำอย่างเต็มที่ เรื่องใบปลิวนั้นดิฉันก็ได้รับ
แต่ก็ไม่ทราบจริงๆ ว่าใครเขียน" ทัศนียาพูดกับผู้จัดการ
2 เดือนเต็มๆ ที่ทัศนียาชั่งใจว่าจะทำอย่างไร?
มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีไปแล้ว เพราะทัศนียาถูก SAS กล่าวหาว่าเธอทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
และเธอรู้ว่าเธอถูก SAS ไล่ออกจากงาน!
เธอถูกไล่ออกโดยที่เธอรู้แน่ชัดว่าไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพของตัวเธอ!
มันเป็นเรื่องที่เธอจำเป็นต้องต่อสู้ และพิสูจน์ว่าไม่จริง
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วชีวิตนี้เธอคงจะนอนไม่หลับตลอดไปเป็นแน่!
สองเดือนกับอีกเก้าวันที่ทัศนียาถูกยื่นซองขาว วันนั้นวันที่ 22 สิงหาคม
2526 เธอเดินขึ้นศาลแรงงานกลาง ฟ้อง SAS เป็นจำเลยที่หนึ่ง และนายยอร์เกน
เมล์ เป็นจำเลยที่สอง ในข้อหาเลิกจ้างเธอโดยไม่เป็นธรรม
คดีที่ทัศนียาฟ้อง SAS เรียกร้องค่าเสียหายนั้นได้รับความสนใจจากบรรดาสายการบินทั้งหลายถึงกับติดตามข่าวกันอย่างใกล้ชิด
"ที่บรรดาสายการบินอยากรู้นั้นไม่ใช่เรื่องจะเห็นใจทัศนียาหรือไม่หรอก
เพราะถ้าทัศนียาแพ้พวกนี้ยังจะดีใจ แต่ถ้าทัศนียาชนะพวกนี้อยากจะรู้ประเด็นที่ว่า
ข้อเรียกร้องค่าเสียหายจากสิทธิพิเศษในการโดยสารสายการบินนั้นมากกว่า เพราะสายการบินนั้นให้ซองขาวพนักงานเป็นว่าเล่นเหมือนกัน"
คนในวงการสายการบินเล่าให้ “ผู้จัดการฟัง
SAS ก็สู้คดีตามคาดหมาย
คดีนี้ยืดเยื้อมากๆ เพราะจำเลยขอเลื่อนนัดอยู่เป็นประจำราวกับจะรู้ว่าเมื่อถึงเวลาถูกซักค้านแล้วก็คงจะตอบไม่ได้
ส่วนทัศนียานั้นก็ว่าไปตามเอกสาร ข้อเท็จจริงที่เธอได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นชัดทั้งสองเอกสารที่เป็นหลักฐานยืนยัน
แม้แต่จำเลยที่สองคือ ผู้จัดการ SAS เองก็ยังยอมรับว่าเธอทำงานดี
เหตุการณ์สืบพยานกันในศาลนั้นพอจะนำมาเขียนเป็นเรื่องละครทีวีที่สนุกสนานได้เรื่องหนึ่ง
ซึ่งเชื่อได้ว่าแม้แต่ SOAP OPERA เรื่องดังๆ ของเมืองนอกก็คงต้องชิดซ้าย
ชิดขวาไป
ในที่สุด พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วในประเด็นเลิกจ้างโจทก์นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
… จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 10 มิถุนายน ได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ระบุว่า
"ตามที่ท่านได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเลขานุการฝ่ายของบริษัทฯ อยู่ในขณะนี้นั้น
บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงมาตราฐานการทำงานในหน่วยงานนี้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
เพื่อสนองความต้องการของตลาดและนโยบายของบริษัท บริษัทมีความเสียใจที่จะเรียนให้ท่านทราบว่า
บริษัทจำต้องเลิกจ้างท่านโดยให้ท่านพ้นจากหน้าที่การงานในบริษัท ตั้งแต่วันที่
13 มิถุนายน 2526" ได้พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าจากปากคำของนายเปาวโรจน์
ผู้จัดการฝ่ายขาย ว่าระหว่างปี พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2526 การขายของจำเลยประสบความสำเร็จ
พนักงานรวมทั้งโจทก์ก็มีส่วนร่วมในความสำเร็จนี้ และนายยอร์เกน เมล์ ผู้จัดการทั่วไปเบิกความว่างานการขายของฝ่ายขายก่อนเลิกจ้างโจทก์นั้นยอดการขายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับรางวัลการขายของการทำงานภาคฤดูร้อน คือการทำงานระหว่างเมษายน
2525 ถึง กันยายน 2525 โดยนายเปาวโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายขายเป็นผู้เสนอแนะ และจำเลยที่
2 เป็นผู้ตัดสินใจให้รางวัล ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 น่าสังเกตว่าหนังสือสั่งจ่ายรางวัลการขายหมาย
จ.4 นั้น เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2526 ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อและระบุไว้ชัดเจนว่า
มีความยินดีจะแจ้งให้ทราบว่าผลการขายฝ่ายผู้โดยสารของภาคฤดูร้อน พ.ศ. 2525
และผลการขายฝ่ายขนส่งสินค้าของภาคฤดูร้อนดังกล่าวมีผลดีเยี่ยม และให้โจทก์ได้รับรางวัลการขาย
และลงท้ายหนังสือว่า ข้าพเจ้าขอขอบคุณอย่างสูงจากโจทก์ที่ได้ให้ความสนับสนุนด้านส่วนตัวเกี่ยวกับการบรรลุผลการขายที่ดีเยี่ยมนี้
อันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการงานของฝ่ายขายนั้นมีผลดีเยี่ยม ตลอดถึงการปฏิบัติงานของโจทก์ก็เป็นผลดี
จึงได้รับรางวัลการขายและการชมเชย ได้ความต่อมาว่าการทำงานของโจทก์นั้นโจทก์
ก็ยังมาทำงานกับจำเลยเป็นพิเศษในวันหยุด การทำงานของโจทก์ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าเดิมเมื่อเริ่มทำสัญญาใหม่เมื่อ 15 มกราคม 2524 โจทก์ได้รับค่าจ้างเพียง
13,900 บาทต่อเดือน ปี พ.ศ.2526 โจทก์ได้รับถึง 15,000 บาทต่อเดือน การทำงานไม่ปรากฏว่านายเปาวโรจน์ได้ทำหนังสือเตือนแต่อย่างใด
ที่จำเลยอ้างว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่มีสมรรถภาพในการทำงาน ขัดคำสั่งหรือต่อต้านผู้บังคับบัญชานั้น
จึงไม่อาจเชื่อถือได้ แม้การทำงานของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จัดตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทยขึ้น
ผู้บังคับบัญชาก็ยังออกหนังสือชมเชยไว้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5, จ.6 แสดงว่าการทำงานของโจทก์ดีมาตลอด
ทั้งการงานฝ่ายขายของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ดีขึ้นเรื่อยมา แม้ก่อนจะเลิกจ้างโจทก์ผลแห่งการขายของบริษัทจำเลยที่
1 ก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อที่จำเลยอ้างว่าจะต้องปรับปรุงการงานด้านการตลาดอีก
จึงเห็นว่าไม่น่าจะมีเหตุเช่นนั้น เพราะงานขายดีอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยที่สอง
ก็ยังเบิกความว่าการทำงานของผู้จัดการฝ่ายขายก็ดีเยี่ยมอยู่ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงงานฝ่ายขายก็ไม่มีสาเหตุอื่นใดที่จะต้องมาเลิกจ้างโจทก์
เพราะโจทก์ก็ไม่ได้บกพร่องเรื่องการทำงานดังกล่าวมาแล้ว
นอกจากนี้ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่สนองนโยบายของฝ่ายขายนั้นโดยไม่รับหน้าที่
ซึ่งจำเลยที่ 2 เสนอให้ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงกว่าตำแหน่งเลขานุการ อันนี้ความจริงจำเลยที่
2 เคยเสนอตำแหน่งดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อก่อนที่จะแต่งตั้งโจทก์ ก็มาทำหน้าที่เลขานุการผู้จัดการฝ่ายขายแล้ว
แต่โจทก์ไม่ถนัดงานดังกล่าว คงถนัดงานด้านเลขานุการ จึงไม่รับข้อเสนอของจำเลยที่
2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ถือสาอะไรในเรื่องนี้และจำเลยที่ 2 ยังแต่งตั้งให้โจทก์เป็นเลขานุการของนายเปาวโรจน์ผู้จัดการฝ่ายขายในเวลาต่อมา
เพราะถ้าจำเลยที่ 2 เห็นว่าโจทก์ไม่สนองนโยบายฝ่าย ก็ไม่น่าจะตั้งโจทก์เป็นเลขานุการผู้จัดการฝ่ายขายดังกล่าวแล้ว
สำหรับบันทึกเอกสารหมาย ล.9 ก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ขอร้องให้นายเปาวโรจน์ทำขึ้น
และบันทึกลงวันที่ 26 มิถุนายน 2525 ว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำในการทำงานตอนเช้าและหลังอาหารกลางวันพูดคุยมากในหน่วยงานอื่น
ทำให้เกิดผลเสียในหน่วยงานของตนเองและหน่วยงานอื่น ต้องมีการเตือนถึงงานที่คั่งค้าง
ไม่มีความกระตือรือร้นต่องาน ขัดขืนคำสั่งโดยเจตนา ทำงานล่าช้า เป็นต้น เห็นว่าพฤติการณ์ที่นายเปาวโรจน์
บันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเท่ากับเป็นพฤติการณ์รวมที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานของโจทก์ในภาคฤดูร้อนระหว่างเมษายน
2525 ถึง กันยายน 2525 ซึ่งโจทก์ได้รับคำชมเชยว่าทำงานดีและฝ่ายขายได้ผลดีเยี่ยม
บันทึกดังกล่าวจึงขัดต่อเหตุผล ฟังไม่ได้ตามที่บันทึกนั้น เพราะถ้าโจทก์ทำงานและประพฤติบกพร่องดังกล่าวมาแล้ว
ไฉนเลยนายเปาวโรจน์จะเสนอให้จ่ายรางวัลการขายให้ และจำเลยที่ 2 ก็จ่ายรางวัลการขายแก่โจทก์ดังวินิจฉัยมาแล้ว
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นจึงไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ
เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์…."
หลังจากถูกพิพากษาให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายแล้ว SAS ก็ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์
แต่ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบถึงถอนไปในที่สุดและยอมชดใช้ค่าเสียหาย
เป็นที่น่าสังเกตว่าพยานฝ่ายทัศนียานั้นมีอยู่ 2-3 คน เป็นพนักงานที่ปัจจุบันทำงานอยู่ใน
SAS การที่ต้องเสี่ยงออกมาเป็นพยานให้ทัศนียานั้นเจ้าตัวบอก “ผู้จัดการ” ว่าทำไปเพื่อความยุติธรรม
และล่าสุดพยานฝ่ายทัศนียาที่อยู่แผนกบัญชีกำลังเจอสงครามเย็นจากฝ่ายบริหาร
อย่างชนิดที่แปลออกว่า SAS ในกรุงเทพฯ คงไม่ต้องการให้พนักงานบัญชีคนนี้อยู่ต่อถ้าเป็นไปได้
หวังว่าคงจะทำอะไรรอบคอบกว่าเดิมนะ !
สำหรับทัศนียาแล้วมันเหมือนฝันร้ายที่เพิ่งผ่านไป
เธอเองก็ไม่คิดว่าจะต้องไปทำงานให้ใครอีกต่อไป เพราะเธอคิดว่าทุ่มเทให้มามากแล้ว
และเมื่อมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เธอหมดกำลังใจ
ในช่วงแห่งความขมขื่นก็มีแต่สามีและลูกสาวอีก 2 คน กับเพื่อนอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่คอยปลอบอกปลอบใจเธอ
ปี 1984 SAS ได้รับเลือกจาก AIR TRANSPORT WORLD ให้เป็น "สายการบินแห่งปี"
(AIRLINE OF THE YEAR)
จากกรณีของ ทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ "ผู้จัดการ" อยากจะให้ SAS กรุงเทพฯ เป็น
"EMPLOYER OF THE YEAR" ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปซะเลย!
จากการติดตามความขัดแย้งด้านแรงงานระหว่างทัศนียา ปริวุฒิพงษ์ กับบริษัทข้ามชาติ
เช่น SAS นั้น พอจะทำให้ "ผู้จัดการ" มีข้อคิดมาให้วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปได้พอสมควร
ธรรมดาแล้ว LABOUR CONFLICT ในระดับ WHITE COLLAR อย่างกรณีเช่นนี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นและก็มีน้อยมากๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างลูกจ้างระดับบริหารคนไทยกับนายจ้างที่เป็นบริษัทฝรั่งข้ามชาติ
เช่น SAS
กรณีของ SAS นั้นจากคำพิพากษาทำให้เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่า :-
1. ความมีมิจฉาทิฐิและใช้อารมณ์โมหะและโทสะ
การที่ผู้จัดการต่างชาติคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผู้จัดการมืออาชีพ แต่ตัดสินใจโดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
หากแต่ตั้งมั่นในความมีอคติ ย่อมจะไม่เกิดผลดีกับองค์กรและพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนเป็นผู้จัดการตัดสินใจอย่างมีโมหจริตและโทสจริต
และการตัดสินใจนั้นไปกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว
นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างบาปขึ้นมาให้กับคน
คนนั้นอย่างไม่จำเป็น
ผู้จัดการต่างชาติเป็นตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่มาทำมาหากินในประเทศไทย
ผิดถูกเช่นไรก็ต้องระลึกเสมอว่าบริษัทตัวเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และจะต้องปฏิบัติตนอย่างยุติธรรมที่สุดกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นก็จะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ผู้จัดการคนนั้นได้กระทำ
2. บทบาทของคนไทยที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของต่างชาติ
อาจจะเป็นเพราะโดยธรรมชาติแล้วคนไทยบางส่วนเมื่อเป็นขี้ข้าคนต่างชาติ และถึงเวลาทำงานด้วย
ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้มากกว่าการทำงานด้วยเหตุผลและบนพื้นฐานความถูกต้อง
ในกรณีของ SAS กับทัศนียานั้น เราพอจะมองเห็นสัจธรรมที่พูดไว้ในประโยคข้างต้นอย่างชัดเจน
จากคำพิพากษาของศาลก็สามารถจะเห็นได้ชัดว่า ผู้จัดการใหญ่ SAS สงสัยว่าทัศนียา
ปริวุฒิพงษ์ จะเป็นคนเขียนใบปลิวโจมตีว่า ผู้จัดการใหญ่กับเลขามีความสัมพันธ์ที่พิสดาร
ตัวผู้จัดการคงจะไม่ต้องการเห็นหน้าทัศนียาในสำนักงาน SAS อีก แต่การจะไล่เธอออกนั้นจำเป็นต้องมีคำกล่าวหาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเธอจากเจ้านายโดยตรงของเธอซึ่งเป็นคนไทย
คือ เปาวโรจน์ เปาวโรจน์กิจ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
เอกสารที่นำสืบในศาลก็บ่งชัดเจนว่า เปาวโรจน์ เพียงต้องการเอาใจเจ้านายฝรั่งก็ตกลงใจเขียนบันทึกในลักษณะที่กล่าวหาว่า
ทัศนียาเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นสาเหตุให้ผู้จัดการฝรั่งสามารถให้ซองขาวเธอได้
ตรงนี้แหละที่บทบาทของเปาวโรจน์ไม่ถูกต้อง!
ที่ถูกแล้ว เปาวโรจน์สมควรจะเป็นผู้เตือนสติผู้จัดการฝรั่งให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำนั้นผิด
และเปาวโรจน์เองในฐานะที่เป็นเจ้านายโดยตรงของทัศนียาก็สมควรที่จะเป็นผู้ปกป้องทัศนียา
เพราะทัศนียาเพียงถูกสงสัยว่าเป็นผู้เขียนใบปลิวเท่านั้นหาได้มีหลักฐานมายืนไม่
แต่เปาวโรจน์กลับทำในสิ่งที่สวนทางกับความถูกต้องและมโนธรรม
ผลคือ SAS นอกจากจะต้องเสียเงินแปดแสนกว่าบาทแล้ว ภาพลักษณ์ของ SAS ก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ
แต่ที่แน่ เปาวโรจน์ยังคงรักษาเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ได้เหมือนเดิม!
บทเรียนนี้เป็นบทเรียนให้บรรดาลูกจ้างคนไทยที่ทำงานกับฝรั่งน่าจะสังวรไว้ว่า
ไม่ว่าจะทำงานกับฝรั่ง เจ๊ก หรือแขกก็ตาม การทำงานนั้นถ้าทำงานโดยยืนอยู่บนความถูกต้องแล้วชีวิตนี้ก็คงจะนอนหลับสบายและสามารถจะมองตาผู้คนได้โดยไม่ต้องหลบและอับอายใคร
ถ้าเปาวโรจน์ปกป้องทัศนียาและตัวเองต้องถูกไล่ออกด้วย อย่างน้อยเปาวโรจน์ก็จะมีเพื่อนและลูกน้องเช่น
ทัศนียาที่จะจงรักภักดีต่อเขาตลอดไป
มันก็ยังดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มิใช่หรือ?!
3. เราน่าจะมีคนอย่างทัศนียามากขึ้น
ในสังคมของเลขานุการระดับสูง บางครั้งการได้ทำงานกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่
หรือทำในองค์กรที่มหึมากลับเป็นม่านบังตาให้คนพวกนี้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานและความถูกต้อง
มีอยู่มากที่กำลังกินน้ำใต้ศอกอยู่!
ไม่ว่าตัวเองจะได้รับความไม่ยุติธรรมอะไรก็จะเก็บกดเอาไว้ และคิดถึงศักดิ์ศรีและความเห็นแก่ตัวได้ในระยะสั้น
แทนที่จะนึกถึงและยึดถือหลักการที่ควรจะเป็น
ทัศนียาอาจจะโชคดีที่มีจิตใจกล้าต่อสู้โดยไม่เกรงในศักดิ์ศรีขององค์กรที่ตัวเองกำลังหาญเข้าไปห้ำหั่นด้วย
สมมุติถ้าเธอแพ้ขึ้นมา เราเชื่อว่าต้องมีคนอีกมากที่จะสมน้ำหน้าเธอ แล้วพูดว่า
"หาเรื่องไปเอง"
แต่เผอิญเธอชนะ และก็ชนะอย่างขาวสะอาดด้วย!
ชัยชนะของเธอมันไม่สำคัญที่จำนวนเงินที่เธอได้รับหรอก และมันสำคัญตรงที่
องค์กรไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน แต่ถ้าขาดซึ่งความยุติธรรมแล้ว การที่คนตัวเล็กๆ
จะทรงความยุติธรรมนั้น
ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้
แต่นั่นแหละ เหมือนกับที่เขาว่า "DON'T ROCK THE BOAT"
เพราะถึงทัศนียาจะชนะ แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทสายการบินทั้งหลายคงจะรู้จักชื่อเธอเป็นอย่างดี
และคงจะจำเธอได้แม่นยำ
แปลไทยเป็นไทยว่า "เธอคงจะไปหางานทำอีกไม่ได้แล้ว เพราะเธอดันไป ROCK
THE BOAT เข้า"
และนี่แหละคือความชั่วร้ายของวงการธุรกิจบ้านเรา !