MITI มันสมองที่แท้จริงของญี่ปุ่น


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วยระบบรวมศูนย์มากกว่า 100 ปี โดยกลุ่มสมาคมไซบัทสุ ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จวบจนกระทั่งสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยบริษัทธุรกิจที่ดำเนินกิจการค้าขายในรูปแบบปัจจุบัน

แม้แต่ราชสำนักแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของไซบัทสุ และมอบอำนาจตามกฎหมายให้แก่ไซบัทสุ ก็ยังถูกลิดรอนอำนาจในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้วย MITI (กระทรวงการค้าระหว่างชาติและการอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น) (THE JAPANESE MINISTRY OF INTERNATIONAL TRADE AND INDUSTRY)

MITI ได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 1949 อันเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสงคราม ซึ่งพ่ายแพ้อย่างยับเยิน และมาอยู่ภายใต้การยึดครองของอเมริกา

แน่นอนความจำเป็นในขณะนั้นก็คือ ระบบควบคุม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในทุกๆ ด้าน เนื่องจากญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติของตนเองที่จะนำมาเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับอุตสาหกรรมของตน ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเนื่องจากอุตสาหกรรมทั้งปวงของญี่ปุ่น ได้ถูกทำลายอย่างย่อยยับในช่วงสุดท้ายของมหาสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการขาดแคลนอย่างร้ายแรงของปัจจัยประเภททุน ในช่วงหลังสงครามอีกด้วยบรรดาหุ้นของบริษัทและพันธบัตรของรัฐบาลกลายเป็นเศษกระดาษที่ไร้ค่า และญี่ปุ่นขณะนั้นก็ไม่มีช่องทางที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านปัจจัยประเภททุนจากกลุ่มสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ

ซึ่งอาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากประสมประสานทรัพยากรอันมีจำกัดของตนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจัดมอบภาระการบริหารทรัพยากรจำนวนนี้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของนักวางแผนทางเศรษฐกิจของชาติเป็นผู้ดำเนินการ

ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ การดำเนินงานของ MITI จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศและ MITI ก็ได้รับการยอมรับนับถือจากบรรดานักธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจของตนอยู่ภายใต้อำนาจจากศูนย์กลางแห่งนี้

ความสำเร็จอันงดงามของ MITI ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้สามารถเปลี่ยนญี่ปุ่นจากความยากจนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยมหาศาลในขณะที่การแข่งขันทั้งในด้านการหาวัตถุดิบมาป้อนแก่โรงงาน อุตสาหกรรม และการตลาดสำหรับระบายสินค้าที่ผลิตได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในตลาดประเทศด้อยพัฒนา ทางราชการญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในด้านการวางแผนโดยละเอียด และการวิเคราะห์ทางธุรกิจ ซึ่งแทบจะไม่มีปรากฏในระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ซึ่งใช้ระบบทุนนิยมในการดำเนินธุรกิจ

การก่อตั้ง MITI ในปี 1949 เปรียบเสมือนสัญญาณบ่งถึงหลักเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจของชาติ สำหรับผู้นำญี่ปุ่นภายหลังสงคราม: นั่นคือการดำเนินการค้าระหว่างประเทศถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญอันหนึ่งของประเทศเพราะเป็นที่ตระหนักแล้วว่าความอยู่รอดของชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งย่อมหมายถึงการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศและทรัพยากรที่ญี่ปุ่น จะได้มาหล่อเลี้ยระบบเศรษฐกิจของตน ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีนานาชาติ

และวิเทโศบายเช่นนี้ยังความสำเร็จมาให้และเป็นผลทำให้ MITI ได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในฐานะสถาบันที่ควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสำเร็จนี่อาจกล่าวสรุปได้ 2 ประการคือ :-

" การขยายและควบคุมปกป้องตลาดของญี่ปุ่นในต่างประเทศ เป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาลญี่ปุ่น"

" ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่นอกม่านเหล็ก (คือประเทศนอกกลุ่มค่ายคอมมิวนิสต์) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบมีการควบคุมในการวางแผนการผลิตอย่างเข้มงวดที่สุด"

บรรดาประเทศต่างๆ ที่มีการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากศูนย์กลาง มักจะเข้าใจว่า MITI เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีอำนาจที่จะควบคุมการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นทุกประเภท หรืออาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยไม่ได้ใช้วิธีการของระบบการลงทุนโดยเสรี ซึ่งระบบการแบ่งชนชั้น และแบบธรรมเนียมในเรื่องความจงรักภักดีต่อศูนย์กลางแห่งอำนาจของชาติ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งทั้งภายในและระหว่างชั้นของสังคมต่างๆ ที่ยึดเหนี่ยวกันเป็นสังคมญี่ปุ่น และระบบธรรมเนียมเช่นนี้เอง ก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อยึดเหนี่ยวระหว่าง MITI และองค์กรทางเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ของญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น ความพากเพียรพยายามที่จะบรรลุถึงความตกลงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างความเสมอภาค ดูเหมือนจะใกล้ความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกรณีขัดแย้งกันขึ้น ตามปกติแล้วชายญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากที่จะเก็บข้อขัดแย้งอันเป็นส่วนตัวเอาไว้ ทั้งนี้รวมทั้งความขัดแย้งในกรณีการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงการมีอำนาจบังคับบัญชา หรือเพื่ออำนาจสูงสุด เพราะชาวญี่ปุ่นเองโดยสามัญสำนึกแล้ว ยอมรับในรูปแบบและระบบของเจ้านายและลูกน้อง

เนื่องจากความมั่นคงในแบบธรรมเนียมของการแบ่งระดับชนชั้นอย่างยิ่งของชาวญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงวางรูปแบบและพัฒนา MITI ให้เป็นสถาบันสูงสุดในระบบเศรษฐกิจ และสังคมของตน เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ผู้ทำหน้าที่บริหารใน MITI ก็ไม่อาจคาดหวังที่จะมีความสัมพันธ์ และความยินยอมพร้อมใจกับกลุ่มผู้นำทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้

ฝ่ายบริหารใน MITI ส่วนใหญ่ก็มีภูมิหลังคล้ายกันกับบรรดาผู้บริหารในวางการธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น บริษัท มิตสุบิชิ, มิตซุย, ซุมิโมโต, ฟูจิสี และอื่นๆ ซึ่งบรรดาผู้บริหารเหล่านี้ต่างก็ได้รับการศึกษาอบรมมาคล้ายคลึงกัน และความคิดอ่านตลอดจนอายุก็อยู่ในวัยเดียวกันอีกด้วย

การดำเนินงานของ MITI ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ "กลุ่มมิตรภาพ" ก็เพื่อที่จะก่อให้เกิดการประสานงานกันในระดับชาติ โดยเริ่มจากประสานงานกันในระดับท้องถิ่น อันเนื่องจากบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันเป็นอันดับแรก โดย MITI ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล จะเป็นตัวเชื่อมประสานกลุ่มธุรกิจเข้าจนเกิดเป้าหมายรวมระดับชาติ การประสานงานในระดับชาติเช่นนี้ จะประกอบด้วยการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอนคือ :-

ขั้นที่ 1 การกำหนดผลผลิตรวมของชาติจะต้องสอดคล้องกับความต้องการรวมของชาติ หรือจะต้องให้เหมาะสมเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ให้อยู่ในระดับที่มั่นคง เช่น สำหรับปี 1955 MITI ได้วางแผนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมทางปิโตรเคมิคัลของญี่ปุ่นและในปี 1971 MITI ได้วางแผนเพื่อนำคอมพิวเตอร์เข้าสู่ตลาดโลก ขั้นที่ 1 นี้ เรียกว่า ยุทธศาสตร์หรือขั้นนโยบาย

ขั้นที่ 2 MITI จะดำเนินการรวบรวมและประสานงานให้กับคณะทำงานที่มีชื่อว่า "สภาที่ปรึกษา" ซึ่งประกอบกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการ ซึ่งคณะทำงานนี้จะดำเนินการพัฒนาโครงการทางอุตสาหกรรม และในเวลาเดียวกันคณะทำงานนี้จะติดต่ออย่างใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญๆ ในวงการรัฐบาลและวงการวิชาการ แผนการทางอุตสาหกรรมนี้จะแสดงให้เห็นถึงปริมาณทรัพยากรที่ใช้, วิธีการผลิต, เป้าหมายทางการตลาด ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวงการอุตสาหกรรมแต่ละประเภทนอกจากนี้คณะทำงานยังมีภาระรับผิดชอบต่ออุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว ซึ่งอาจจะมีปัญหาอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากส่วนกลาง และ MITI ยอมให้มีการร้องทุกข์และเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมที่ได้รับความกระทบกระเทือนปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และขั้นนี้เรียกว่า เป็นขั้นยุทธวิธี

ขั้นที่ 3 MITI ทำหน้าที่สนับสนุนในด้านการเงินและแหล่งเงิน ให้อุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริม และจะให้การรับประกันว่าจะได้รับการส่งเสริมให้เข้าสู่ตลาดโลกในเงื่อนไขที่น่าพอใจ ทั้งนี้โดยอาศัยกลไกที่อยู่ในอำนาจของ MITI เช่น อำนาจงดเว้นภาษี การคิดคำนวณค่าเสื่อมราคา เร่ง การจัดหาเงินกู้ให้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และสิทธิพิเศษในการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่จากสถาบันเงินกู้ และขั้นนี้เรียกว่าขั้นดำเนินงาน

ขั้นตอนทั้ง 3 ประการที่กล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่จะใช้ปกป้องแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นในการอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันในทางธุรกิจกับนานาชาติได้ และเพื่อให้สามารถแข่งขันในทางธุรกิจกับนานาชาติได้ และเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ญี่ปุ่นจะต้องไม่มีการแข่งขันกันเองจากอุตสาหกรรมซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งย่อมมีความได้เปรียบกว่าอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ

ความสำเร็จของ MITI พร้อมกับหน้าที่ในการสนับสนุนทางด้านการเงิน และการค้ำประกัน MITI ยังดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับวงการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมทั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการ "วิเคราะห์สภาวะการลงทุน รวมทั้งสถานะด้านสังคมและเศรษฐกิจ" ในตลาดต่างประเทศถ้าจะกล่าวอย่างกว้างๆ ก็คือ MITI คือองค์การประมวลข่าวกลาง ซึ่งรัฐบาลและส่วนเอกชนของญี่ปุ่นร่วมมือกันในการรวบรวม และเผยแพร่ข่าวสาร และข้อมูลด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางธุรกิจของรัฐบาล, สังคมและตลาดต่างประเทศ

ในปี 1974 MITI ได้เข้าร่วมกับสหพันธ์องค์การเพื่อเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น เพื่อวางโครงร่างหน่วยงานกึ่งราชการที่เรียกว่า "สมาคมเพื่อการลงทุนของญี่ปุ่นในโพ้นทะเล" สมาคมนี้และหน่วยงานข่าวสารของสมาคม ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ทำหน้าที่เป็นหัวหาดให้กับบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.