|
ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่นิ่ง ส่อเค้าซัปพลายล้นตลาด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
สุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2553) มีจำนวน 14.03 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.63% ถือว่าเติบโตด้วยดีหลังจากจบวิกฤตการเมืองไทย ทั้งนี้ เมื่อจบปี 2553 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 15.7-15.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 11-12% สร้างรายได้ราว 5.8-6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 14-17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำหรับแผนในปี 2554 ททท.จะปรับเป้าหมายเพิ่มจากที่ตั้งไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15.5 ล้านคน มีรายได้ 6 แสนล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยว 16.4-16.35 ล้านคน มีรายได้ราว 6.2 แสนล้านบาท ในขณะที่เป้านักท่องเที่ยวในประเทศยังเหมือนเดิม คือ มีนักท่องเที่ยว 9.1 ล้านคน มีรายได้ราว 432,000 ล้านบาท
จากตัวเลขที่ ททท.วางไว้ สร้างความแคลงใจให้กับหลายฝ่ายว่าจะเป็นไปตามเป้าได้จริง หรือตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขหลอกๆ ที่ออกมาเท่านั้นเอง จนหลายฝ่ายมองว่าหากตัวเลขที่ออกมาไม่เป็นความจริงจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนักลงทุนที่เห็นตัวเลขว่ามหาศาลขนาดนี้อาจหันมาลงทุนในตลาดท่องเที่ยวมากขึ้นจนเกิดปัญหาโอเวอร์ซัปพลายก็เป็นได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ขณะนี้นักธุรกิจหน้าใหม่หันมาลงทุนเพิ่มขึ้น จนมองว่าจะเกิดปัญหาห้องพักล้นตลาดแล้ว ด้วยปัญหาดังกล่าว “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ได้สำรวจสมาคมต่างๆ ถึงตัวเลขที่ ททท.ประกาศออกมาว่าเป็นจริงหรือไม่
โดยมุมมองของ “ประกิจ ชินอมรพงษ์” นายกสมาคมโรงแรมไทย มองว่า “ผมไม่อยากพูดเรื่องตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ตั้งกันไว้ 16-17 ล้านคนอีกแล้ว แต่ผมขอพูดในส่วนตัวเลขที่สมาคมทำ ตัวเลขของสมาคมนักท่องเที่ยวหายไป 15% รายได้ก็หายไป 15% เมื่อเทียบกับปี 2552 เพราะการชุมนุม และค่าเงินบาทที่แข็งตัว บวกกับเศรษฐกิจของยุโรปที่ตกต่ำลง ผมไม่รู้ว่าเขาเอาตัวเลขที่ไหนมาวัด ที่บอกว่าเขามาทางหนองคาย 1 ล้านกว่าคนอันนี้ไม่ควรไปนับ เพราะกลุ่มนี้ข้ามมาเพื่อซื้อของเท่านั้น”
ดังนั้น หากจะวัดตัวเลขนักท่องเที่ยวจริงๆ แล้ว ในมุมมองของประกิจควรวัดจากนักท่องเที่ยวที่มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต ถึงจะได้ตัวเลขที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เขาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วนักท่องเที่ยวก็น่าจะเข้ามามากขึ้น เพราะตอนที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่เข้ามาเลย ญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึง จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้ามา แต่เชื่อว่าทิศทางปีนี้ก็น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ต้องให้การเมืองนิ่ง ถ้าไม่นิ่งก็กลับไปสภาพเดิม
นอกจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หายไปแล้ว รายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวก็สูญไปด้วย ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจากยุโรปเข้ามามาก แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีเขาก็ไม่เข้ามา คนกลุ่มนี้มาพักทีเขาพักยาวเป็น 10 วัน แต่คนจีนหรือคนทางเอเชียมาพักจะอยู่ 5 วัน ดังนั้น ถ้าอยากได้รายได้ตามที่ตั้ง จะต้องดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 3 คน ต่อนักท่องเที่ยวยุโรป 1 คน
ประกิจ มองว่า การประเมินตัวเลขที่มากเกินความเป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อปัญหาห้องพักล้นตลาด เนื่องจากนักธุรกิจมองเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นก็อยากจะลงทุน แต่พอตัวเลขไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ นักธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วเขาก็จะขาดทุน แต่ถ้าตัวเลขได้ตามที่บอกไว้จริง 18-20 ล้านคน ห้องพักในไทยไม่พอแน่นอน สำหรับปริมาณห้องพักในไทยทั้งหมดมี 500,000 ห้อง เป็นห้องพักในกรุงเทพฯ 68,000 ห้อง แต่หากรวมห้องพักที่ไม่ได้ทำแบบถูกกฎหมายจะมีห้องพักในกรุงเทพฯ เป็น 100,000 ห้องเลยทีเดียว
ด้าน “เจริญ วังอนานนท์” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ ททท.วางไว้ถือว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูที่ปัจจัยโดยเฉพาะการเมือง ถ้าการเมืองนิ่งหรือไปเรื่อยๆ ไม่มีความรุนแรง สังเกตจากปลายปีที่ผ่านมาคนมีชื่อเสียงเริ่มเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
“ถ้าการเมืองเรานิ่งคนก็กล้าทำตลาด ปีก่อนทุกคนไม่กล้าทำตลาด เพราะทำไปก็ไม่ได้อะไร แต่ปีนี้ทั้งเอกชน และรัฐกล้าที่จะทำตลาดมากขึ้น ผมเชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะได้ตามที่ ททท.บอก”
อย่างไรก็ดี แม้เจริญจะมั่นใจว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเป็นไปตามที่ ททท.วางไว้ แต่ก็อยากให้ตัวเลขที่วางไว้มีความแม่นยำกว่านี้ ไม่ใช่ตัวเลขที่ได้จาก ตม. (ด่านตรวจคนเข้าเมือง) แต่ควรเป็นตัวเลขที่ได้จากสำนักงานสถิติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ก็ยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลใดๆ เลย
“สำนักงานสถิติจะต้องดูทุกอย่าง ต้องดูทั้งการใช้เงิน ปริมาณที่เข้ามา แต่ขณะนี้ตัวเลขที่ออกมาจะรวมหมดทุกอย่าง เอกชนก็ใช้ตัวเลขตรงนี้เป็นตัวสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ถ้าตัวเลขที่ให้มาเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงจะทำให้เกิดปัญหาดีมานด์กับซัปพลายไม่สมดุลกัน เช่น บางคนเข้าใจว่าดีมานด์มีมากก็เข้ามาลงทุนเพิ่ม พอไม่ได้ตามเป้าก็มาแข่งขันกันด้วยการลดราคา”
สำหรับ เอนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า หากมองตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ ททท.แจ้งไว้ของปี 2553 ถือว่าไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ เพราะตัวเลขที่บอกเป็นตัวเลขที่รวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทางชายแดนด้วย แต่ผู้ประกอบการจะไม่รวมตัวเลขเหล่านั้น
“อย่างตลาดญี่ปุ่นปี 2553 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 ล้านคน ขณะที่ปี 2552 นักท่องเที่ยวเข้ามา 1.2 ล้านคน หายไปถึง 200,000 คน นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ และเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของตลาดมาตลอด 20-30 ปี หรือประมาณ 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด จะมีก็เพียงปี 2553 ที่ตกอันดับแพ้จีนไป นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นปริมาณลดลงตั้งแต่เกิดเหตุสึนามิแล้ว”
อย่างไรก็ดี เอนก มองว่า ททท.กับสมาคมฯ จะต้องร่วมมือกันประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย โดยสมาคมฯ ได้เสนอเรื่องให้กับ ททท.แล้ว ซึ่งจะทำการประชาสัมพันธ์ที่รถไฟรอบเมือง นอกจากนี้ จะเชิญผู้มีชื่อเสียงด้านกีฬา อย่าง เรียวอิจิ โอดะ นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา ซึ่งการเชิญผู้มีชื่อเสียงเข้ามาจะต้องมีผู้ติดตามและสื่อมวลชนเข้ามาด้วย ตรงนี้เท่ากับเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เห็น
ที่สำคัญ ททท.ควรมีการทำโรดโชว์ไปแนะนำประเทศที่ญี่ปุ่น และให้ผู้ว่าการ ททท.ได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เป็นที่สนในของสื่อ สำหรับเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2554 ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองไม่รุนแรง เชื่อว่าตัวเลขจะได้ตามเป้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดญี่ปุ่น จีน จะมีลดลงบ้างก็ยุโรปเนื่องจากเศรษฐกิจของเขา ทั้งนี้ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินน่าจะส่งผลดีกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าปีนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นอีก ตัวเลขนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคน
ด้าน สุพล ศรีพันธุ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ในฐานะผู้เก็บตัวเลข กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กรมเก็บรวบรวมมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายส่วน โดยมีคณะที่ปรึกษากำกับงาน คือ ททท. สำนักงานสถิติ สภาพัฒน์ มาร่วมกันพิจารณา ซึ่งตัวเลขของปี 2553 อยู่ที่ 15.84 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวภาคเอกชนอาจมองว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงนั้น ในฐานะของกรมฯ แล้วพร้อมที่จะรับฟัง แต่ทางกรมฯ เชื่อว่าข้อมูลที่เก็บมีการวิเคราะห์ พิจารณา รวมทั้งวิธีการจัดเก็บก็มีความเหมาะสมแล้ว และเชื่อว่ามีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง และได้มาตรฐานของการเก็บข้อมูลเป็นไปตาม WGO (World Gastroenterology Organization)
อย่างไรก็ดี มีการมองว่าตัวเลขที่สูงเกินความเป็นจริงนั้นจะส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในภาคท่องเที่ยวมากขึ้น ในมุมมองของสุรพลเห็นว่า ตัวเลขที่ถูกต้องย่อมเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมาจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุน ถ้ามองว่าประเมินตัวเลขออกมาน้อยแล้วคนจะลงทุนน้อยไปด้วยก็คงไม่ใช่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|