ไมโครคอมพิวเตอร์ปลอมโจรสลัดหรืออนาคตผู้ผลิตรายใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

บทประพันธ์ของเจมส์ คลาเวล เรื่องไทปันและโนเบิล เฮ้าส์ ได้พรรณนาว่า บริษัทที่มีอำนาจรุ่งเรืองหลายๆ แห่งของย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ล้วนเริ่มต้นมาจากการเป็นโจรสลัด หรือไม่อย่างนั้นก็ค้าของเถื่อน และจำนวนไม่น้อยที่ทำทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน

นับย้อนหลังไปถึงครั้งที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มการค้าขายกับต่างประเทศ ธนาคารใหญ่โต รวมทั้งบริษัทการค้าที่มีตึกรามสูงเสียดฟ้าอยู่ทั่วไปริมอ่าวฮ่องกงทุกวันนี้ ก็ล้วนเป็นผลพวงจากการค้าทองและฝิ่นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 ด้วยกันเกือบจะทั้งนั้น

ปัจจุบัน…ประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 20 กำลังจะเดินซ้ำรอยเดิมหรือไม่ นี่เป็นคำถามภายใต้สถานการณ์ที่กลุ่มโจรสลัดกำลังปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ไม่ใช่ทองหรือฝิ่นหากแต่เป็นเทคโนโลยีล้ำยุคที่เรียกกันว่า"ไมโครคอมพิวเตอร์"

โจรสลัดเหล่านี้หาได้ใช้ยุทธวิธีนำเรือสำเภาเข้าเทียบแล้วโยนตะขอเกาะเรือสินค้า ปีนกระไดเชือกปากคาบดาบโหนตัวเข้าช่วงชิงสินค้าดังเช่นอดีต แต่เขาเป็นโจรสลัดในรูปของนักอุตสาหกรรม นักวิชาการ หรือพ่อค้าท่าทางภูมิฐาน ผู้ซึ่งช่วยเพิ่มความหวาดกลัวให้กับหุบเขาซิลิกอนแหล่งผลิตไมโครชิปชนิดเข้ากระดูกดำทีเดียว

จากนี้ไปกลุ่มโจรสลัดพวกนี้จะทำอะไรกันอีก หรือพวกเขากำลังจะเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ด้วยการเสาะหาแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อจัดรูปธุรกิจให้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายเสียที

หลักฐานที่เห็นกันได้ชัดแจ้งของการกระทำตัวเป็นโจรสลัดในวงการไมโครคอมพิวเตอร์นั้น จะพบเห็นได้ทั่วไปในฮ่องกง โดยเฉพาะย่านโกลเด้นชอปปิ้งเซนเตอร์ริมฝั่งเกาลูน สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยร้านรวงขนาดกะทัดรัดจำนวนมากมายซึ่งจุดประกายสว่างไสวให้ย่านนี้ด้วยเครื่องแอปเปิ้ลปลอม ทีอาร์เอส 80 ปลอม หรือแม้แต่ไอบีเอ็ม พีซี ปลอม

ส่วนใหญ่ของสินค้าปลอมดังกล่าวมีแหล่งผลิตในไต้หวัน ดินแดนที่กฎหมายลิขสิทธิ์และการจดทะเบียนสากลยังไม่มีความหมายมาก แม้จะเป็นในปัจจุบันนี้ก็ตาม

ฮ่องกงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่ว่าเป็นเมืองปลอดภาษี ดังนั้นการไหลเวียนของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ถูกจำกัดจำนวนซื้อขายภายใต้กฎหมายฮ่องกง ตราบเท่าที่ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ ไม่ใช่ยี่ห้อที่ได้มีการจดทะเบียนไว้แล้วและเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกผลิตภัณฑ์นั้นๆ ย่อมสามารถขายได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าส่วนประกอบภายในจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาก็เถอะ

เพราะฉะนั้นโกลเด้นชอปปิ้งเซนเตอร์ก็ยังจะเป็นขุมทองของธุรกิจไมโครคอมพิวเตอร์แบบโจรสลัดต่อไปไร้อุปสรรค

เฉพาะเครื่องแอปเปิ้ลปลอมซึ่งส่วนใหญ่ส่งตรงมาจากไต้หวันนั้น อันที่จริงหลายๆ บริษัทในฮ่องกงก็พยายามจะผลิตเองบ้าง แต่คุณภาพดูเหมือนจะสู้ไต้หวันไม่ไหว ฮ่องกงจึงต้องกลับกลายเป็นตลาดจำหน่ายแทนและก็เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเครื่องแอปเปิ้ลปลอม

ที่โกลเด้นชอปปิ้งเซ็นเตอร์ผู้ซื้อสามารถสั่งประกอบไมโครคอมพิวเตอร์หรือสั่งทำระบบวงจรไฟฟ้าได้ตามความต้องการและภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงก็จะแล้วเสร็จเอาไปใช้งานได้ทันทีคือ เพียงแค่นักประกอบไมโครตัวน้อยๆ จะลงมือจับไขควงประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น จะเป็นไอบีเอ็ม พีซี ออสบอร์น หรือนอร์ทสตาร์ แอดเวนเจอร์ ล้วนไม่เป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในฮ่องกงก็มองกันว่า ตอนนี้มรสุมเริ่มตั้งเค้าให้เห็นบ้างแล้วในโกลเด้นชอปปิ้งเซ็นเตอร์ แหล่งไมโครคอมฯ ราคาถูก เพราะหน่วยงานของสหรัฐฯ เริ่มจะเข้ามามีกิจกรรมพิเศษบางอย่างในตลาดแห่งนี้

เมื่อสถานการณ์เริ่มส่อเค้าไม่ดี ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักท่องเที่ยวอเมริกันซึ่งไปเดินชอปปิ้งในย่านดังกล่าวจะต้องถูกเฝ้าสังเกตค่อนข้างจะละเอียดกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ แต่ถ้านักท่องเที่ยวคนนั้นจะมีไหวพริบสักหน่อยก็จะยังสามารถหาซื้อเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ปลอมได้ในราคาไม่เกิน

เหรียญ (สหรัฐฯ)

ลองหันมามองด้านการผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ปลอมบ้าง เราจะพบว่าเรื่องนี้ค่อนข้างจะทำได้ง่ายดายในย่านเอเชีย เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบต่างๆ นั้นหาซื้อได้ง่ายและราคายังถูกมาก ซึ่งก็คงเป็นเพราะไม่ต้องลงทุนด้านการควบคุมคุณภาพเหมือนแหล่งผลิตอื่นๆ เจ้าของร้านในโกลเด้นชอปปิ้งเซ็นเตอร์คนหนึ่งได้บอกว่าเขาสามารถจัดหาแพ็กเกจสำหรับเครื่องไมโครยี่ห้อต่างๆ อย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจึงอย่าได้ตกอกตกใจถ้าจะเห็นโปรแกรมสำเร็จรูปอย่างวิสซิแคลวางขายพร้อมคู่มือในราคา 20 เหรียญ…ถูกเหมือนกับได้เปล่าจริงๆ

พ่อค้าชาวฮ่องกงคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ฮ่องกงนั้นมีชื่อเสียงด้านนาฬิกาดิจิตอลและเครื่องคิดเลข แล้วไฉนการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์จะไปยุ่งยากวุ่นวายอะไร เฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมที่นี่ก็เก่งพอที่จะแยกแยะว่าไอซีตัวไหนทำงานอย่างไรเกี่ยวข้องกับตัวอื่นและประกอบกันอย่างไรเกือบทั้งนั้น

มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ปลอมทั้งหลายนั้น มักจะไม่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เดิมเสมอไป อันนี้ไม่เหมือนกับสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเช่นกระเป๋าถือหรือนาฬิกาซึ่งต้องติดยี่ห้อคาเทียร์หรือโรเล็กซ์ ลูกค้าที่ซื้อไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นคนฮ่องกง ซึ่งแน่นอนย่อมไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้อไมโครของจริงได้ พวกเขาเพียงพอใจของปลอมที่มีความสามารถใกล้เคียงของจริงแถมราคายังถูกกว่ากันเป็นครึ่ง

ไมโครปลอมมักจะใช้ยี่ห้อเป็นภาษาจีนหรืออาจจะไม่มียี่ห้อเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้ออยากให้ประทับใจเพื่อนฝูงก็สามารถซื้อตราแอปเปิ้ลหรือไอบีเอ็มด้วยราคาอันละเหรียญสองเหรียญติดเข้าไปก็ได้อีกเหมือนกัน

เมื่อกลุ่มโจรสลัดได้บุกวงการไมโครคอมพิวเตอร์นั้น แอปเปิ้ลเป็นเครื่องไมโครที่ถูกท้าทายเต็มที่ และแอปเปิ้ลเองก็ไม่มีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน จึงปล่อยให้ปัญหาการปลอมแปลงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในตลาดเป็นเวลานานพอสมควรแม้แต่ในครั้งที่แอปเปิ้ลเร่งการผลิตเครื่องแอปเปิ้ลทู (APPLE II) ก็ยังลืมจดทะเบียนสงวนลิขสิทธิ์การออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญในไต้หวันเข้าอีก สิ่งนี้ก็ทำให้ผู้ผลิตชาวไต้หวันที่หัวใสหาผลประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมายไต้หวันย่อมสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นในระยะเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมาเครื่องแอปเปิ้ลทูปลอมก็มีพบเห็นทั่วๆ ไปในย่านเอเชียแม้กระทั่งในประเทศไทยนี่ก็เถอะ

จนเมื่อแอปเปิ้ลตัวจริงเริ่มใช้มาตรการทางกฎหมายเล่นงานเข้าบ้างนั้นแหละ การขยายตัวจึงสะดุดลงบ้าง

แอปเปิ้ลปลอมเริ่มถูกค้นพบประมาณ 10 เครื่องจากจำนวนเป็น 1,000 เครื่องซึ่งตั้งแสดงตามงานนิทรรศการต่างๆ ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ แคนาดา ผู้ผลิตแอปเปิ้ลจริงพยายามที่จะหยุดการทะลักเข้ามาของสินค้าปลอมเหล่านั้น และเริ่มต้นใช้มาตรการด้านกฎหมายหลายรูปหลายแบบทันทีก่อนที่จะระบาดหนักเข้าไปอีก

โฆษกสาวของแอปเปิ้ล บาร์บารา คลอส แถลงว่า แอปเปิ้ลพยายามที่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างรุนแรงกับของปลอมและพร้อมที่จะสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยจะหาวิธีหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ให้เร็วที่สุด

ตั้งแต่ปี 2525 แอปเปิ้ลดำเนินการทางกฎหมายกับแอปเปิ้ลปลอม 50 คดีใน 16 ประเทศซึ่งยอมรับกฎหมายลิขสิทธิ์สากล และด้วยความร่วมมืออันดีจากศุลกากรของสหรัฐฯ แอปเปิ้ลสามารถตรวจจับของปลอมได้ 40 เครื่องในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน สถานที่ดักจับได้นั้นอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2526 ศาลสูงของฟิลาเดลเฟียได้ตัดสินคดีผู้ต้องหา 6 คนและบริษัทต่างๆ อีก 5 บริษัทในคดีอาญาข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันกระทำการลอกเลียนแบบ และลักลอบนำเข้าเครื่องแอปเปิ้ลปลอม คดีนี้เป็นคดีอาญาคดีแรกของการเป็นโจรสลัดในวงการคอมพิวเตอร์ แทนที่จะเป็นคดีแพ่งอย่างที่เคยตัดสินมา

ส่วนในตลาดคอมพิวเตอร์ต่างประเทศ แอปเปิ้ลประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีกับของปลอมต่างๆ กันออกไป อย่างเช่นในประเทศเนเธอร์แลนด์ศาลได้พิพากษาให้แอปเปิ้ลได้รับค่าเสียหายมูลค่า 300,000 เหรียญในคดีที่บริษัทการค้าแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ได้นำเข้าเครื่องแอปเปิ้ลปลอมจากไต้หวัน ในออสเตรเลียคดีที่แอปเปิ้ลกล่าวหาว่าเครื่องไมโครยี่ห้อวอมแบทของไต้หวัน (ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเครื่องแอปเปิ้ลแม้กระทั่งคู่มือการใช้ก็สามารถใช้กับเครื่องแอปเปิ้ลทูของจริงได้ทันที) ละเมิดลิขสิทธิ์ ปรากฏว่าคดีนี้ถูกศาลยกฟ้อง โดยผู้พิพากษาตัดสินว่าโปรแกรมของเครื่องวอมแบทนั้นไม่ได้ทำงานเหมือนกับเครื่องแอปเปิ้ลเสียทีเดียว ดังนั้นจึงยังไม่ขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ในออสเตรเลีย

คดีที่นับว่าดุเดือดและสำคัญที่สุดของแอปเปิ้ลเห็นจะเป็นคดีฟ้องร้องกันในไต้หวันดินแดนแห่งการปลอมแปลงเครื่องแอปเปิ้ลทั้งหลาย

รัฐบาลไต้หวันนั้นแม้ว่าด้านหนึ่งจะมองเห็นว่าหากปล่อยให้มีการฟ้องร้องกัน ผลเสียก็ย่อมเกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ปลอม และก็จะกระทบไปถึงรายได้จากการส่งออกและการจ้างงานอีกด้วย แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ค่อนข้างจะวิตกกับการหนีจากของนักลงทุนจากสหรัฐฯ และผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป เพราะความที่พวกนี้ไม่แน่ใจในนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะชื่อเสียงในเรื่องการขโมยเทคโนโลยีของไต้หวันย่อมไม่เป็นที่น่าพิสมัยเป็นทุนเดิมอยู่เช่นนี้

หลังจากนำปัญหาทั้งสองด้านมาใคร่ครวญอย่างพิเคราะห์แล้ว ในที่สุดรัฐบาลไต้หวันก็จำต้องยินยอมออกกฎหมายควบคุมการผลิตของปลอมเพื่อแสดงความตั้งใจจริงที่จะยอมรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้าสู่ไต้หวัน

ผลที่ติดตามมาก็คือ ในเดือนมกราคมปี 2526 บริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งของไต้หวันถูกตัดสินโดยศาลของประเทศนั้นให้จำคุก 8 เดือน สำหรับข้อหาการลักลอบก๊อบปี้ซอฟต์แวร์ของแอปเปิ้ล นับว่าเป็นการตัดสินจำคุกครั้งแรกในคดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้รัฐบาลไต้หวันยังได้วางแผนที่จะขจัดการขายแอปเปิ้ลทูของปลอมทั้งภายในและภายนอกประเทศไม่ว่าจะเป็นของปลอมทั้งดุ้นหรือของที่คอมแพททิเบิ้ลกัน และเมื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจของไต้หวันเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานของแอปเปิ้ลในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2526 โรงงานผลิตเครื่องแอปเปิ้ลปลอมของไต้หวันก็ถูกสั่งปิดไปหลายแห่งเมื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจเดินทางกลับ

แต่ก็นั่นแหละ การกระทำเช่นนี้แม้จะมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ลอกเลียนแบบทั้งหลายได้เข็ดหลาบกันบ้าง และแม้จะมีเจ้าหน้าที่หลายคนของไต้หวันต้องติดคุกติดตะรางด้วยข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับผู้ผลิต จนแล้วจนรอดเครื่องแอปเปิ้ลปลอมก็ยังมีวางขายอยู่ในตลาดอย่างไม่สะดุ้งสะเทือนเหมือนเดิม

และว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว การลงมือกวาดล้างแหล่งผลิตในไต้หวัน ก็หาได้ช่วยให้ผลประโยชน์ของแอปเปิ้ลงอกเงยเพิ่มขึ้นมากมายอะไร กลับยิ่งเป็นการทำให้พวกโจรสลัดทั้งหลายในสายตาของแอปเปิ้ลเริ่มไหวตัว หันไปปลอมแปลงไมโครยี่ห้ออื่นๆ เนื่องจากเครื่องแอปเปิ้ลเองก็ไม่ได้อยู่ในระดับของความนิยมสูงสุดอีกต่อไปด้วย นัยหนึ่งเมื่อส่วนแบ่งในตลาดของบริษัทผู้ผลิตแอปเปิ้ลแถบเอเชียค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ กลุ่มโจรสลัดในวงการไมโครคอมพิวเตอร์ก็เริ่มเบนสายตาไปที่ไอบีเอ็ม พีซี

การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็มในไต้หวันว่าไปแล้วก็ค่อนข้างจะทำยากกว่าการปลอมแปลงแอปเปิ้ล ทั้งนี้ เพราะไอบีเอ็มได้ระวังตัวในเรื่องนี้มาก่อนแล้วจึงได้จดทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไว้เกือบทุกประเทศ และยังส่ายตาสอดส่องผลประโยชน์ของตนอย่างใกล้ชิด

ไอบีเอ็มได้ลงประกาศแจ้งความเต็มหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับที่ออกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เตือนบรรดาผู้ที่คิดจะปลอมแปลงทั้งหลายว่า ไอบีเอ็มจะใช้มาตรการเด็ดขาดทันทีถ้าใครหาญมาแหยม พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ของไอบีเอ็มยังช่วยประกาศย้ำลงไปอีกแรงถึงนโยบายจัดการเหล่าโจรสลัดในงานแสดงสินค้าหรือในการประชุมสัมมนาต่างๆ ทุกครั้งที่มีโอกาสหรือแม้แต่การประชุมร่วมกับคนในภาครัฐบาลของประเทศต่างๆ ผู้แทนของไอบีเอ็มจะต้องรับทราบหรือมีส่วนรับรู้อยู่เสมอว่า รัฐบาลประเทศนั้นๆ จะไม่ยินยอมให้เกิดการกระทำล่วงละเมิดลิขสิทธิ์

จะเห็นได้ว่าการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ในวงการคอมพิวเตอร์นั้น ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งสำคัญ การดำเนินธุรกิจเช่นนี้แม้จะถูกมองกันว่าเป็นการทำผิดกฎหมายในทางสากล แต่มันก็ได้สร้างกระแสเงินตราให้ไหลเวียนได้ดี อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคให้สามารถประกอบเครื่องปลอมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้โจรสลัดหลายๆ บริษัทจึงกำลังจะกลายเป็นบริษัทที่ถูกฎหมายขึ้นมาแล้ว

มัลติเทค เป็นบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันรายงานว่า เขาสามารถทำเงินนับเป็นล้านๆ เหรียญจากการผลิตเครื่องแอปเปิ้ลปลอม และขณะนี้เขาผลิตเครื่องที่มีลักษณะการทำงานคล้ายไอบีเอ็ม พีซี ได้แล้ว และเป็นเครื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนๆ กับที่ผลิตในสหรัฐฯ

และก็ยังมีอีกหลายๆ บริษัทที่เคยมีชื่อว่าเป็นโจรสลัดมาก่อนกำลังเข้าคิวที่จะเป็นผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่คล้ายๆ กับไอบีเอ็ม เช่น มายคอมป์ และมิเทค เป็นต้น

นิตยสารรายเดือนคอมพิวเตอร์เอเชีย โดย เอิน บาร์ตี้ บรรณาธิการ กล่าวถึงโจรสลัดในวางการไมโครคอมพิวเตอร์อีกด้านหนึ่งว่า ของปลอมนั้นใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีในวงการอุตสาหกรรม ไม่มีใครได้รับอันตราย ผู้ซื้อเขาตระหนักดีว่าของที่เขาซื้อหาไปใช้นั้นเป็นของปลอม มันจึงมิใช่สิ่งที่จะไปล่อลวงให้ใครหลงผิด ผู้ซื้อไม่สามารถจะซื้อของแท้ได้ก็เพราะราคามันแพงกว่ากัน ของปลอมจึงไม่ได้แย่งตลาดของแท้แต่อย่างใด แต่ยังจะช่วยขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

บรรณาธิการคอมพิวเตอร์เอเชียเชื่ออย่างสนิทใจว่า พวกโจรสลัดนี่แหละที่ช่วยสร้างและบำรุงอตุสาหกรรมไมโครคอมพิวเตอร์ซึ่งนับวันจะยิ่งโตขึ้น...โตขึ้น และของปลอมทั้งหลายจะต้องกลายเป็นของถูกกฎหมายในที่สุด

อาจจะนับได้ว่ามันเป็นวิถีทางของผู้ผลิตในโลกที่สาม เป็นตัวสร้างให้เกิดนักอุตสาหกรรมเป็นตัวฝึกอบรมให้เกิดผู้ชำนาญการทางเทคนิคและสุดท้ายยังเป็นตัวช่วยในเรื่องการจัดระบบจำหน่าย

บาร์ตี้สรุปว่า การลักลอบปลอมแปลงเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยให้ผู้ผลิตที่แท้จริงทั่วโลกหันกลับมาเอาใจใส่ในการผลิตสินค้าราคาต่ำ และยังจะเป็นตัวช่วยขยายตลาดให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ๆ อย่างเช่น ไอบีเอ็ม แมคอินทอช หรือคอมพิวเตอร์สกุลอเมริกันรุ่นใหม่ๆ ที่ล้ำยุคทั้งหลายอีกด้วย เพราะคนเราเมื่อลองใช้ของปลอมราคาถูกจนเห็นประโยชน์แล้วก็คงต้องการขยับไปใช้ของแท้ราคาถูกบ้างหรอกน่า

ใครจะไปรู้ว่าเด็กวัยรุ่นทั้งหลายที่นั่งก้มหน้าก้มตาประกอบเครื่องไมโครแอปเปิ้ลอยู่หลังร้านแถวโกลเด้นชอปปิ้งเซ็นเตอร์ของฮ่องกง สักวันหนึ่งเขาจะไม่กลายเป็นผู้จัดการโรงงานประกอบเครื่องไอบีเอ็มที่ถูกกฎหมาย

แถวๆ ย่านคลองถมของประเทศไทยเรานี่ก็เถอะ อย่าได้ดูถูกเชียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.