พิกเซลวัน เอเยนซี่แดนอีสาน ชูรู้จริงทุกพื้นที่-บุกอีเว้นต์ทั่วปท.


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(16 มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เอเยนซี่อีสาน “ พิกเซลวัน”ขยายแนวรบเปิดเกมชิงพื้นที่อีเวนต์ทั่วประเทศ ดึงจุดแข็งเจาะตลาดภูธรในฐานะ รู้จริงในพื้นที่ และมีคอนซูเมอร์อินไซด์ พร้อมชูโมเดลงานเฉพาะกิจ จัดงานเฟสทีฟอีเวนต์ร่วมกับภาคจังหวัด

จตุพล สิทธิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทพิกเซล วัน จำกัด กล่าวกับ “ ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ว่าจากจุดเริ่มต้นครั้งแรกเปิดบริษัททำอีเวนต์ออร์แกไนเซอร์จับเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นท้องถิ่น จัดอีเวนต์ให้กับดีลเลอร์รถยนต์ ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ภาคอีสานมาก่อน หลังจากนั้นขยายไปจัดอีเวนต์โรดโชว์ ในทุกๆภาคทั่วประเทศ ภายใต้การวางโพซิชั่นนิ่งที่ผ่านสโลแกนว่า “สร้างสรรค์อีเว้นท์มาตรฐาน เชี่ยวชาญ รู้จริง ทุกพื้นที่”

“ ช่องว่างในการชิงเค้กการจัดอีเวนต์ในตลาดต่างจังหวัดหลายๆครั้งที่อีเวนต์จากส่วนกลางไปจัดโรดโชว์ต่างจังหวัด รูปแบบงานไม่สอดคล้องกับคนในพื้นที่ บางทีมาแบบอลังการมากเพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมงาน ตรงกันข้ามคนกับกลัว และไม่กล้าเข้า หรือมีวางรูปแบบอีเวนต์ที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนในพื้นที่ การยึดหลักการนี้ ทำให้บริษัทได้งานอีเวนต์โรดโชว์มาสด้า 2 และมาสด้า 3 ทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้จะขยายไปจัดงานมอเตอร์โชว์ให้กับค่ายรถมาสด้าอีกด้วย ”

สำหรับในปีนี้เมื่อบริษัทก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7จะมีการขยับขยายมาจัดงานอีเวนต์ในส่วนที่เป็นดาวรุ่งของ บริษัท คือ งานเฟสทีฟอีเวนต์ในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นงานเทศกาลรื่นเริ่งจากเมื่อก่อนเป็นงานเทศกาลงานวัด ที่เปลี่ยนรูปแบบเดิมมาเป็นงานเทศกาลที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับความร่วมสมัย ซึ่งเป็นอีกรูปแบบงานที่บริษัทตั้งเป้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะนอกจากจะสร้างเม็ดเงินภาพลักษณ์ให้กับภาคจังหวัดแล้ว ยังเป็นช่องทางที่สร้างให้โปรดักส์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ถอดรหัสเจาะตลาดภูธร

กรรมการผู้จัดการ บริษัทพิกเซล วัน จำกัด กล่าวอีกว่า “ในปัจจุบันนี้คิดว่าบริษัทน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ที่ได้ถูกพิจารณาให้รับผิดชอบงานในพื้นที่ต่างจังหวัด และสิ่งที่สำคัญสำหรับการแข่งขันกันของสินค้าในตลาด 76 จังหวัดนั้น อยู่ที่การเจาะคอนซูเมอร์อินไซด์ อย่างเวลาพิตชิ่งงานแข่งกับบริษัทใหญ่ บริษัทจะวางจุดเด่นวิเคราะห์เลยว่าพื้นที่ที่เราเข้าไปจัดกิจกรรม อะไรคือ พฤติกรรมผู้บริโภค มีเดียที่เข้าถึง อะไรที่จะเป็นตัวดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายให้มาร่วมงาน ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ”

สิ่งที่พิกเซล วันมองเห็นโอกาสและช่องว่าง คือ งานอีเวนต์โรดโชว์ส่วนใหญ่เป็นออร์แกไนเซอร์มาจากส่วนกลาง น้อยมากที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งมีข้อดีกว่าถ้าเป็นคนในพื้นที่เพราะจะสามารถเรียนรู้จับพฤติกรรมคนต่างจังหวัดได้ และจะวางรูปแบบอีเวนต์ได้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

“หลายๆครั้งที่อีเวนต์จากส่วนกลางไปจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดรูปแบบอีเวนต์ที่จัดขึ้นมาไม่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ การจัดงานบางครั้งมาแบบอลังการมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนทำให้คนกลัวไม่กล้าเข้างาน หรือวางรูปแบบงานอีเวนต์ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมเช่นจัดงานตั้งแต่ 10 โมงถึง 3 ทุ่ม

แต่สุดท้ายคนมาร่วมงานตอน 2 ทุ่ม และจากจุดเริ่มต้นในพื้นที่ บริษัทจัดอีเวนต์ทในภาคอีสาน ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมคนในภาคนี้ชอบความสนุกสนานมันไว้ก่อน และชอบเล่นเกมชิงรางวัล หลังจากนั้นพิกเซล วันเริ่มเรียนรู้ขยายไปภาคเหนือซึ่งเรียกว่ามีพฤติกรรมที่ตอบรับง่าย แต่การสร้างแรงดึงดูดให้มาร่วมงานไม่ง่าย ต้องมีวิธีการที่แข็งแร็งมากที่จะดึงให้มาร่วมงาน ส่วนคนใต้จะนิ่งๆ

“ พฤติกรรมของคนแต่ละภาคแตกต่างกันถือเป็นโอกาส ที่ทำให้บริษัทชูจุดเด่นตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งนักการตลาดจะมืดแปดด้านในเรื่องของคอนซูเมอร์อินไซด์ในต่างจังหวัด และมีคำถามตั้งแต่การออกบูธที่ไหน กิจกรรมจัดรูปแบบไหน โดยการเข้าไปทำคอนซูเมอร์อินไซด์ในพื้นที่ภาคต่างๆทั่วประเทศ บริษัทมีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มของผู้นำชุมชนเป็นอีกกลุ่มที่สำคัญ เมื่อต้องการจับตลาดกลุ่มรากหญ้า หรือการจัดกิจกรรมกับกลุ่มวัยรุ่นจะมีการทำรีเสิร์ชกลุ่มย่อยๆเข้าไปคุยกัน เหล่านี้เป็นวิธีการหาข้อมูลสำหรับตลาดต่างจังหวัด”

ปัจจุบันพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในตลาดหัวเมืองแต่ละภาคมีความคล้ายกันกับพฤติกรรมคนในกรุงเทพฯอย่างหัวเมือง ขอนแก่น มีไลฟ์สไตล์คล้ายกับคนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรวดเร็วของสื่อ อย่าง เฟสบ๊ค หรือภาคเหนือ ภาคใต ที่เข้าไปจัดอีเวนต์ ถือเป็นหัวเมืองใหญ่ไลฟ์สไตล์จะคล้ายๆกับคนกรุงเทพฯ แต่อาจจะมีวิธีการเข้าถึงด้วยรูปแบบที่ไม่ต้องไม่โมเดิร์นมากนัก ส่วนกิจกรรมที่ออกไปนอกหัวเมืองนั้นเป็นแบบคัลเจอร์ท้องถิ่นเท่านั้น”

โมเดลเฉพาะกิจ

สำหรับงานเฟสทีฟอีเวนต์ในต่างจังหวัด เป็นการวางกลยุทธ์ที่สามารถดึงดูดคนมาร่วมงานได้มาก โดยที่ผ่านมาบริษัทเริ่มมองเห็นโอกาส จากที่จัดงานเฟสทีฟอีเวนต์ร่วมกับภาคจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นรูปแบบงานเฟสติวัลที่จัดขึ้นมาตามธีมแล้วดึงให้แบรนด์จากส่วนกลางต่างๆเข้ามาเป็นสปอนเซอร์

ล่าสุดขอนแก่นเคานต์ดาวน์ ได้รับความสำเร็จเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในเรื่องของผู้เข้ามาร่วมงานประมาณ 3 แสนคน โดยมียามาฮ่า เบียร์ช้าง และระดับท้องถิ่น โตโยต้าแก่นนครขอนแก่น ปตท. เซ็นทรัลขอนแก่น เข้ามาป็นสปอนเซอร์ ซึ่งรูปแบบงานร่วมกับภาคจังหวัดที่มีงบประมาณไม่สูงมากนัก บริษัทต้องใส่ความครีเอทีฟเข้าไปในงาน เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเห็นว่างานนี้จะสามารถดึงคนให้เข้ามาร่วมงานได้ เป็นโมเดลที่บริษัทใช้ โดยในครึ่งปีนี้จะมีจัดงานที่จังหวัดอุดรธานี ในรูปแบบมิวสิกเฟสติวัล หรืองานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน จากที่ส่วนใหญ่งานรูปแบบนี้นิยมจัดขึ้นที่เขาใหญ่ หัวเมืองชายทะเล ไม่มีในโซนภาคอีสานตอนบน

ทั้งนี้ตัวเลขผลประกอบการปิดใกล้ 100 ล้านบาทในปีที่ผ่าน เป็นการมาเติบโตจากการขยายงานมาเน้นงานเฟสทีฟอีเวนต์ในต่างจังหวัด และถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จสวนกระแสเศรษฐกิจ และสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่จากส่วนกลาง 80% อีก 20% เป็นสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัด





ด่านหินเจ้าถิ่นคุมพื้นที่

การแข่งขันของเอเยนซี่ภูธร ในปัจจุบันนั้นมีช่องว่างอยู่มากยังไม่มีรายไหนเข้ามาชัดเจนในงานอีเวนต์มากนัก ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็น ร้านป้าย วิทยุ สื่อท้องถิ่นจ ะผันตัวเองมาเป็นออร์แกไนเซอร์ ซึ่งรูปแบบงานจะไม่แตกต่าง แต่ถ้าเป็นงานสเกลใหญ่ยักษ์ส่วนใหญ่เป็นเอเยนซี่จากรุงเทพฯเข้ามาเป็นผู้จัดงาน อีกทั้งต้องยอมรับว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจากส่วนกลาง ดังนั้นออร์แกไนเซอร์ท้องถิ่นที่มีสายป่านที่เข้าหาส่วนกลางได้นั้นยังมีไม่มากนัก

แหล่งข่าวในวงการเอเยนซี่ต่างจังหวัด ให้ความเห็นกับว่า “ ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ว่า การแทรกตัวเข้าไปรับงานในพื้นที่เป็นเรื่องง่าย เพราะไม่มีรายไหนสยายปีกเข้าไปปักธงอย่างจริงจัง ทว่าในอีกมุมหนึ่ง เรียกว่าเป็นเรื่องยากมาก นั่นเพราะแต่ละพื้นที่มักจะมีเจ้าถิ่นในพื้นที่คุมพื้นที่อยู่แล้ว คือจะเข้าไปต้องระมัดระวัง ซึ่งมีเจ้าประจำที่ทำอยู่แล้ว การจะเข้าไปในพื้นที่มักมีคำถามว่าทำไมต้องให้ “ออร์แกไนซ์เซอร์” จากนอกพื้นที่อื่นเข้ามารับงาน ดังนั้นเมื่อมีรายเดิมๆที่รับงานกันอยู่แล้ว ทำให้การเข้าไปแข่งขันรับงานในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น เป็นเรื่องที่ลึกมาก ต้องมีวิธีการบริหารการจัดการเพื่อให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.