|
ข้าวเวียดนามใกล้ครองตลาดโลก สถิติใหม่ส่งออกปี 2553 เกือบ 7 ล้านตัน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 มกราคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้บางฝ่ายจะกล่าวว่าเวียดนามขายข้าวตัดราคา ขายข้าวคุณภาพต่ำหรือค้าขายแบบ "ไม่แฟร์" ก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็คือ ปี 2553 ประเทศที่มีประชากรต้องเลี้ยงดูเกือบ 80 ล้านคนแห่งนี้ มีข้าวเหลือบริโภคและส่งออกได้ถึง 6.88 ล้านตัน ซึ่งเป็นสถิติใหม่
ตัวเลขนี้ใหม่ทำให้เวียดนามขยับเข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก และหากไม่มีอุปสรรคสำคัญ คืออุทกภัยใหญ่ที่เกิดซ้ำซ้อนใน 7 จังหวัดภาคกลาง เวียดนามก็อาจจะทำได้ตามความคาดหวังอันทะเยอทะยาน 7.5 ล้านตัน เทียบกับปริมาณ 9.5 ล้านตัน ตัวเลขส่งออกข้าวไทย
โชคดีอู่ข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศคือ เขตที่ราบปากแม่น้ำโขงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากภัยธรรมชาติ เช่นเดียวกับนาข้าวในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางเหนือ แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติใหญ่ ก็ทำให้ต้องโยกย้ายข้าวอยู่ไปเลี้ยงดูผู้ประสบเคราะห์ ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออก
ปริมาณส่งออกเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 15.4% จากปี 2552 ทำรายได้เข้าประเทศ 3,230 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 21.2% หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) รายงานโดยอ้างตัวเลขกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท
ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซียที่เคยเป็นตลาดของไทยเมื่อก่อน ได้กลายเป็นตลาดข้าวเวียดนามมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซื้อจากเวียดนามมากที่สุดในช่วง 3-4 ปีมานี้
ความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในหลายท้องถิ่น ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่รวมทั้งจีนอินเดีย ปากีสถานล้วนผลิตข้าวได้น้อยลง ซึ่งจะทำให้ราคาในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เปิดโอกาสให้แก่ข้าวเวียดนามที่มีขายราคาต่ำกว่าข้าวไทย 30-50 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบชนิดต่อชนิด
บริษัทดุ๊กซ์ตันในสิงคโปร์พยากรณ์ว่า ราคาข้าวในตลาดจะพุ่งขึ้น 3 เท่าตัวในช่วง 18 เดือนข้างหน้าด้วยปัจจัยหลากหลาย
นายฝั่มวันเบ่ย (Pham Van Bay) ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood กล่าวว่า ยังไม่มีปัจจัยอื่นใดที่บ่งชี้ว่าราคาข้าวจะตกลงในช่วงต้นปี 2554 นี้ มีแต่แนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนจากราคาธัญญาหารอื่นๆ รวมทั้งข้าวโพด ถั่ว และข้าวสาลี ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2553
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO พยากรณ์ในรายงานที่ออกช่วงปลายเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่า ปี 2554 ปริมาณข้าวในตลาดโลกอาจจะลดลงราว 2% เหลือเพียง 30.5 ล้านตัน เนื่องจากทุกแห่งผลิตได้น้อยลง รวมทั้งในเวียดนามด้วย
เจ้าหน้าที่ VietFood กล่าวว่า เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2 เวียดนามจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาระบบสตอก และก่อสร้างยุ้งฉางสำหรับจัดเก็บเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถควบคุมตลาดได้ ปัจจุบันเวียดนามยังขาดยุ้งสำหรับเก็บข้าวสารอีกมาก ทำให้ต้องเร่งระบายข้าวออก แม้กระทั่งในช่วงที่ราคาตกต่ำ
หลายฝ่ายกล่าวว่าอนาคตข้าวเวียดนามแจ่มใสมากในปีกระต่าย และ VietFood ได้ตั้งเป้าส่งออกต้นปีเอาไว้ที่ 1.3 ล้านตันโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอินโดนีเซียซึ่งแสดงความประสงค์จะซื้อข้าว 1.5 ล้านตัน
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟอง (Saigon Giai Phong) ต้นเดือน ม.ค. เวียดนามได้เซ็นสัญญาขายข้าวประเดิม 250,000 ตันให้บังกลาเทศ โดยส่งมอบทันที่ในเดือน ม.ค. กับ ก.พ. ปีที่แล้วบังกลาเทศซื้อจากเวียดนาม 400,000 ตัน
สำหรับฟิลิปปินส์ลูกค้ารายใหญ่เจ้าเก่า ปีนี้แสดงความประสงค์จะนำเข้าข้าว 1.5-2 ล้านตัน เวียดนามอาจจะขายให้ได้ราว 1 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่มาเลเซียแสดงความประสงค์จะนำเข้าทั้งหมด 800,000 ตัน ซึ่งเวียดนามอาจมีขายให้ได้เพียง 400,000-500,000 ตัน
ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีถ้าหากผลิตข้าวได้เพียงพอ ก็เชื่อว่าเวียดนามจะกวาดตลาดในภูมิภาคนี้เกือบทั้งหมด ซึ่งตลาดใกล้ตัวหมายถึงการซื้่อง่ายขายคล่อง ต้นทุนการขนส่งต่ำลงและทุกฝ่ายพึงพอใจ
เวียดนามผลิตข้าวได้มากขึ้นทุกปี แต่ประชากรก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน นอกจากนั้นกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงานวัยแห่งการบริโภค ทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ต้องมีหลักประกันด้านเกี่ยวกับความมั่นคงด้านเสบียงอาหาร
การส่งออกข้าวของเวียดนามยังผูกติดกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับการผลิต ประเทศนี้มีพายุจากทะเลตะวันออกพัดเข้ากระหน่ำปีละ 8-10 ลูก ไม่เช่นนั้น การก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกก็อาจจะง่ายกว่านี้.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|