ข้อเสนอของสำนักบัวหลวง


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เกี่ยวกับนโยบายบุกเบิกตลาดต่างประเทศ ซึ่งธนาคารกรุงเทพพยายามเข้าไปผลักดันอย่างแข็งขันอยู่นี้ ธนาคารก็มีข้อเสนอหลายประการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันนำไปพิจารณา โดยข้อเสนอที่ว่านี้คือ

ธนาคารมองว่าอันความสามารถในการขยายการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรของบ้านเรานั้น นับวันจะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากการหักร้างถางพงเพื่อเพิ่มจำนวนเนื้อที่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ทำไม่ได้อีกต่อไป ส่วนการจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยการใช้ปุ๋ยและปรับปรุงพันธุ์ก็ยังมีข้อจำกัดด้านราคาอยู่มาก

ด้วยเหตุนี้การส่งออกจะขยายตัวในอัตราสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรมด้วยอีกแรงหนึ่ง

ในความเห็นของธนาคารกรุงเทพซึ่งกรรมการบริหาร- ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นผู้แถลงด้วยตัวเองนั้นระบุว่า การพัฒนาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสนใจที่จะปรับปรุงปัจจัยเพื่อการส่งออกดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยมีจิตสำนึกด้านการส่งออก (EXPORT CONSCIOUSNESS)

ประการนี้รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลู่ทางที่จะช่วยขยายผลผลิตไปยังต่าง

ประเทศและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสประกอบธุรกิจในต่างประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ธนาคารกรุงเทพเชื่อว่า ถ้าตราบใดที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้าง

ทัศนคติแบบมองออกไปข้างนอก (OUTWARD LOOKING) ให้เกิดในหมู่นักธุรกิจไทยแล้ว โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรมก็ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะขนาดของตลาดภายในประเทศ ซึ่งมีประชากรอยู่ประมาณ50ล้านคนนั้น ไม่พอเพียงที่จะสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าออกขายในราคาต่ำพอที่จะเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ

2. การพัฒนาด้านเทคโนโลยี

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะของประเทศ นับเป็นปัจจัยสำคัญระยะยาวที่ควรศึกษา ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยมิได้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาวะของประเทศ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในแบบการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศไม่ได้ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริงหรือมากพอ รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้สถาบันที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาค้นคว้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังเช่นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ๆ เคยค้นคว้าและได้รับผลสำเร็จมาแล้ว

3. เพิ่มการสนับสนุนบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

รัฐบาลควรทำการศึกษารูปแบบการพัฒนาบริษัทการค้าของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนารูปแบบบริษัทการค้าของไทย ให้สามารถทำหน้าที่เป็นตัวจักรในการเจาะตลาดสินค้าในต่างประเทศ และเป็นตัวกลางในการประสานประโยชน์ระหว่างผู้นำเข้าในต่างประเทศและผู้ผลิตในประเทศอย่างแท้จริง

สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษี ด้านการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนขอบเขตของการขนถ่ายสินค้าและค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีที่บริษัทการค้าระหว่างประเทศได้รับควรจะมากกว่า หรืออย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่าบริษัทการค้าระหว่างประเทศในญี่ปุ่นและเกาหลีได้รับ

4. การให้ความสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตเพื่อการส่งออก

ในปัจจุบันยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด สินค้าขาออกของไทยส่วนใหญ่แล้วขายในรูปเงินสด การให้สินเชื่อแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศเป็นสินเชื่อระยะสั้น ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการขายในตลาดที่ผู้ซื้อมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อระยะยาวให้แก่คู่แข่งสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ไปไม่น้อย แม้กระทั่งสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้แก่ผู้ส่งออกผ่านทางธนาคารพาณิชย์ ในรูปการรับช่วงซื้อลดตั๋วก็ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของพ่อค้าและผู้ส่งออก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้เพิ่มวงเงินรับช่วงซื้อลดตั๋วส่งออกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงน่าจะได้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเพิ่มวงเงินรับช่วงซื้อลดตั๋วสินค้าขาออกตามการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกทุกปี และควรจะได้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในรูปของการรับช่วงซื้อลดแก่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกภาคเกษตรด้วย นอกจากนี้พิจารณาจากการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที การให้สินเชื่อระยะยาวแก่ผู้นำเข้าในต่างประเทศอาจจะมีความจำเป็นในการเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รัฐบาลจึงควรจะได้พิจารณาหาทางช่วยเหลือผู้ส่งออกให้สามารถหาแหล่งเงินทุนระยะยาวมาใช้ในทางการค้าได้อย่างเพียงพอ

ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ เมื่อใครได้รับฟังแล้วก็คงจะมีที่อยากย้อนถามว่า แล้วสำหรับตัวผู้เสนอซึ่งก็เป็นสถาบันสำคัญแห่งหนึ่งของวงการส่งออกล่ะ จะเสนออย่างเดียวไม่ทำอะไรบ้างเชียวหรือ

ดูเหมือนธนาคารกรุงเทพก็ได้คาดหมายสิ่งนี้ไว้ล่วงหน้าด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงตบท้ายตอบปัญหานี้ไว้เสร็จโดยกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงเทพก็ได้ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเล็งเห็นความสำคัญของการส่งออก ซึ่งเปรียบเสมือนชีพจรของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ธนาคารจึงได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนผู้ส่งออกมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าธนาคารได้อำนวยสินเชื่อเพื่อการส่งออกประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของยอดสินเชื่อเพื่อการส่งออกทั้งระบบ และพยายามจะสรรหาบริการอื่นๆ ในอันที่จะพัฒนาธุรกิจการส่งออกของไทยให้กว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลธนาคารจึงมีนโยบายและแผนงานที่จะขยายบริการให้แก่ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตเพื่อส่งออกอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จากองค์กรของธนาคารทุกด้าน ทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสินเชื่อหรือการเงิน บริการด้านวิชาการ หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมหาตลาดตามแนวทางที่ได้แสดงไว้ในรายงานผลประกอบการของธนาคาร ซึ่งการขยายบริการไปในทิศทางนี้ย่อมจะเป็นมาตรการสนับสนุนนโยบายหลักของรัฐบาล และเป้าหมายทางธุรกิจของเอกชนในด้านการส่งเสริมการส่งออกให้ได้ผล

ปรากฏการณ์ในปี 2526 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทบทวนและแก้ไขนโยบายและมาตรการการส่งออก เท่าที่ผ่านมาภายใต้มรสุมของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก การส่งออกของประเทศนับว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อมูลค่าการส่งออกในปี 2526 ลดลงจากปีก่อนถึง 7.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 21.6 เปอร์เซ็นต์ ยังผลให้ประเทศไทยต้องขาดดุลการค้าเป็นประวัติการณ์ถึง 89,000 ล้านบาท

ในช่วง 20 ปีที่แล้ว การส่งออกของประเทศไทยได้ก้าวมาไกลด้วยตัวของตัวเอง ในยุคสมัยที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกแจ่มใสและเอื้ออำนวย ปัญหาต่างๆ ที่ฝังลึกและเป็นปัญหาเรื้อรังดูเหมือนจะถูกลืมเลือน บัดนี้ภาวะแวดล้อมต่างๆ ได้แปรเปลี่ยนไป ทั่วทุกมุมโลกเต็มไปด้วยการแข่งขันและกีดกันเพื่อความอยู่รอด ในอดีตเราเคยพึ่งพาอาศัยตลาดภายในบ้านของเราเอง แต่เรากำลังจะต้องก้าวออกไปเผชิญกับโลกภายนอกที่มีอุปสรรคต่างๆ นานัปการอย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงหากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจที่จะวางแนวทางและแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง อนาคตของการส่งออกยังไม่มืดมน ประเทศไทยมีทั้งทรัพยากรและบุคลากร ที่จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้การส่งออกเป็นตัวนำไปสู่ความเจริญเติบโต และเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภายภาคหน้าสืบไป

ก็จบลงอย่างให้ความหวังซึ่งกันและกันอย่างนี้แหละ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.