คงไม่ต้องตอกย้ำกันให้มากความก็ได้กระมังว่าการส่งออกนั้นมีความสำคัญมากมายเพียงไรสำหรับลมหายใจทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้าด้วย
ขอย้ำเฉพาะที่หลายๆ ภาคส่วนได้ย้ำกันตรงประเด็นว่า ปัญหาการส่งออกนี้เป็นปัญหาระดับชาติ
จะต้องระดมทั้งทุนทั้งบุคลากรและความรู้ความชำนาญทุกส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งก็เกินความสามารถที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำได้เพียงลำพัง
เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ว่าไปแล้วหลักการที่จะให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมสังฆกรรมกันนั้น เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างที่สุดแต่เมื่อต้องคำนึงถึงกระบวนการส่งออกซึ่งเกี่ยวข้องไปหมดตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง จนถึงผู้ผลิต ผู้ส่งออก
หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายแล้ว ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันที่จะทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
หรือถ้าจะบอกว่า มันเป็นงานที่เสี่ยงต่อความล้มเหลวของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานทุกส่วนก็คงจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำทีเดียว
แต่จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็มีผู้พร้อมที่จะเสี่ยง โดยผู้นั้นก็คือธนาคารกรุงเทพ
จำกัด
ธนาคารกรุงเทพประกาศตัวมานานหลายเดือนก่อนหน้านี้ว่า นโยบายใหญ่อันหนึ่งที่จะขอผลักดันอย่างสุดใจขาดดิ้นก็ได้แก่
นโยบายบุกเบิกตลาดต่างประเทศเพื่อให้การส่งออกของบ้านเราก้าวสู่หนทางที่สดใสเสียที
และก็ได้ลงมือจัดชุมนุมเจ้ายุทธจักรวงการส่งออกไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่
20 กรกฎาคมที่ผ่านมา
การชุมนุมครั้งนี้จะเป็นด้วย "บารมี" หรืออะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่าห้องประชุมบนชั้นที่
29 ของสำนักงานใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 500 คน นั้นต้องเสริมเก้าอี้อีกไม่น้อยกว่า
150 ตัว พร้อมกันนั้นก็ยังสามารถนำคนระดับปลัดกระทรวงอย่าง วิจารณ์ นิวาตวงศ์
แห่งกระทรวงพาณิชย์ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ แห่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.พนัส สิมะเสถียร แห่งกระทรวงการคลัง วิสิทธิ์ น้อยพันธ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
และประมนต์ สุธีวงศ์ อุปนายกสมาคมการค้าระหว่างประเทศ มาทำหน้าที่เป็นผู้อภิปรายอีกด้วย
"ดร.อำนวย วีรวรรณ ท่านบอกผมว่าอยากจะเชิญให้มาคุยกับพวกผู้ส่งออกระดับกลางกับระดับเล็กฟัง
แต่ผมมองๆ แล้ว คงไม่ใช่ระดับกลางกับเล็กอย่างเดียวมังครับ เพราะระดับใหญ่ผมก็เห็นมากมายไปหมด
คุณสุกิจ หวั่งหลี ก็มา…" ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปรยระหว่างอภิปรายซึ่งก็คงไม่มีใครในที่นั้นกล้าปฎิเสธ
ทางฝ่ายผู้จัดการอย่างธนาคารกรุงเทพก็ดูเหมือนจะให้ความสำคัญต่องานนี้เป็นพิเศษ
เพราะฉะนั้นการเตรียมการณ์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของบทกล่าวนำการอภิปรายของ
ดร.อำนวย วีรวรรณ ไปจนถึงระบบแสงเสียงและภาพประกอบจึงดูสมบูรณ์และ"คลาสสิก"ไปหมด
"ทีแรกผมคิดว่าเป็นรายการอภิปรายเซ็งๆ พูดกันแต่เรื่องหนักๆ ซึ่งสรุปแล้วก็คือไม่มีใครแก้ได้
แต่พอดูๆ ไปแล้วเข้าท่าครับ การเอาเทคโนโลยีด้านแสงเสียงเข้าช่วยสามารถสร้างบรรยากาศได้ดี
ผมฟังไม่ได้หลับสักงีบเลย"ผู้ส่งออกขนาดกลางคนหนึ่งบอกกับ"ผู้จัดการ"
นอกจากนี้บรรดาทอปเอ็กเซ็คคิวทีฟทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชาตรี โสภณพนิช ดำรง
กฤษณะมระ วีระ รมยรูป ตลอดจนไวซ์เพรซิเด้นท์อีกหลายคนของแบงก์ ก็อยู่ครบหน้าครบตาตั้งแต่ต้นจนจบ
โดยเฉพาะสรดิษ วิญญรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งรับผิดชอบงานด้านส่งออกโดยตรง
ด้านผู้เข้าร่วมซึ่งได้รับเชิญมานอกจากบรรดาผู้ส่งออกทั้งเล็กกลางและระดับเจ้าพ่อแล้วก็ยังมีแขกสำคัญอีกหลายสิบคน
อย่างเช่น อดีตรองนายกฯ ประมาณ อดิเรกสาร อานันท์ ปันยารชุน เดชา บุญชูช่วย
เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเกี่ยวก้อยมากับรองเลขาคนใหม่ที่ชื่อ
สถาพร กวิตานนท์ หรือแม้แต่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ อย่าง ดร.เสนาะ
อูนากูล ก็ยังไม่ยอมพลาดงานนี้ด้วยคนหนึ่ง
ว่าไปแล้วเนื้อหาของการอภิปรายก็คงจะไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าการเท้าความถึงภาระหน้าที่ของหน่วยราชการต่างๆ
ทั้งด้านกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้หาตลาด กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะผู้ดูแลเรื่องการผลิต
และกระทรวงการคลังผู้ให้การส่งเสริมด้านมาตรการภาษีสำหรับผู้ผลิตเพื่อการส่งออก
พร้อมกับคำตอกย้ำว่าจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งก็เป็นเนื้อหาที่พอจะคาดเดากันได้ล่วงหน้าว่าปลัดกระทรวงแต่ละท่านจะต้องพูดว่าอย่างไร
แต่ถ้าจะประเมินค่าการจัดอภิปรายครั้งนี้ว่าเป็นการชุมนุมผู้เกี่ยวข้องกับวงการส่งออกทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลและภาคเอกชนแล้ว
ก็คงต้องยอมรับว่าประสบผลเป็นที่น่าพอใจขนาดน่าจะหายเหนื่อยทีเดียวเชียว