ซอฟท์แวร์เกม

โดย วรสิทธิ ใจงาม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ตลาดซอฟต์แวร์กำลังสนใจไปที่ซอฟต์แวร์เพื่อการทำงาน กรือกรณีมัลติมีเดียก็มักจะนึกถึงซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา แต่ซอฟต์แวร์ที่ยิ่งใหญ่แท้จริงและเป็นอนาคตของโลกวิทยาการ อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากนั้น คือ ตลาดซอฟต์แวร์ "เกม" ซึ่งในไทยก็เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ดูเหมือนว่ายักษ์ใหญ่ยังให้ความสนใจน้อยมาก เพราะคู่ต่อกรมีเยอะเหลือเกิน!

ว่ากันว่า ในปีหนึ่งๆ ตลาดวิดีโอเกมที่เล่นกับทีวีในอเมริกาสามารถทำเงินได้มากกว่ายอดขายตั๋วของหนังฮอลลีวู้ดทุกเรื่องรวมกันเสียอีก ซึ่งจากยอดขายทั่วโลกในปีที่ผ่านมานับคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์

ภาพยนตร์ทุกเรื่องของฮอลลีวู้ด หลังจากที่ฉายผ่านโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว จะแปรรูปออกมาเป็นเกมมากมายเกือบทุกเรื่องที่ทำเงินและทำรายได้ต่อเนื่องระยะยาว

เกมวิดีโอเกือบทั้งหมดเป็นเกมออริจินัลหรือเรียกกันว่าเกมของแท้ๆ กันเลย จะหาเกมก๊อบปี้เช่นที่เมืองไทยที่มีอยู่ดาษดื่นนั้นยากมาก

ตลาดเกมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือซอฟต์แวร์เกมที่เล่นสำหรับคอมพิวเตอร์และสำหรับเล่นกับทีวี

แน่นอนที่ซอฟต์แวร์เกมสำหรับทีวีหรือวิดีโอเกมนั้นมีตลาดที่ใหญ่มหาศาลเพราะเป็นสินค้าประจำครัวเรือน เพียงซื้อเครื่องเล่นมาติดตั้งเพิ่มเข้าไปก็เล่นได้ขณะที่ซอฟต์แวร์เกมก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะความตื่นตัวในเรื่องมัลติมีเดียที่ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่สามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งเพื่อการศึกษาการทำงานและเพื่อความบันเทิงคือเล่นเกม

ฮาร์ดแวร์สำหรับเล่นวิดีโอเกมพัฒนาไปมาก และแตกต่างกันตามผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตทีวีรายใหญ่ ทั้งโซนี่ พานาโซนิค ฟิลิปส์ และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ดั้งเดิม เช่น เซก้า นินเทนโด้ และอาตาริ

การประเมินตัวเลขของวิดีโอเกมในไทยทำได้ลำบากค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าหนีภาษี ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้นำเข้าที่หลากหลายไม่ปรากฏตัวชัดเจนและยังไม่มีผู้ค้ารายใหญ่แท้จริง

โดยเฉพาะยังไม่มีผู้นำเข้าที่ได้รับลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเลย หรือหากจะมีก็ยังครองตลาดได้เล็กมากเพราะได้รับผลกระทบจากซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

ย่านแรกที่เปิดตลาดเกมอยู่ที่สะพานเหล็ก ต่อมาคอมพิวเตอร์อาตาริเริ่มเข้ามาทำตลาด ซึ่งในขณะนั้นฮาร์ดแวร์ราคาประมาณ 7,000 กว่าบาทพร้อมๆ กับเกมที่มีราคาตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงสำหรับการเล่นเกมตลาดจึงยังไม่แพร่หลายมากนัก

จากนั้นมาไม่กี่ปีก็มียี่ห้ออื่นๆ ตามมาอีกมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ โดยเป็นการลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมายเกือบทั้งสิ้น

ในปี 2530 เริ่มมีการนำเข้าเกมของนินเทนโด้และเซก้า เข้ามาในประเทศไทย ขายเกมในราคาประมาณ 4,200 บาท ตลาดเริ่มฮิตมากขึ้น จากนั้นปี 2532 บริษัทแฟมิลี่เริ่มผลิตวิดีโอเกม และตั้งราคาต่ำกว่านินเทนโด้ประมาณ 1,000 กว่าบาท แต่ความนิยมสูงสุดก็ยังอยู่ที่นินเทนโด้และเซก้า เนื่องจากมีเกมที่น่าสนใจกว่าค่ายอื่น

เครื่องเล่นเกมที่ราคาลดต่ำลงมากมีส่วนสำคัญทำให้ตลาดเกมเติบโตอย่างรวดเร็ว ราคาเครื่องเล่นเกมแบบธรรมดาที่สุดที่เคยตั้งราคาที่ 3,000-4,000 บาท หาซื้อได้ในราคาเพียง 900-1,000 บาทราคาตลับเกมตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไปแล้วแต่ความนิยม

ตลาดเกมพลิกโฉมครั้งใหญ่เมื่อ 5 ปีที่แล้วเมื่อซอฟต์แวร์เกมแปรรูปออกมาเป็นแผ่นดิสเกตต์ จากที่เคยขายเป็นตลับ บางตลับที่มีความจุเมกะไบต์มากราคาอาจสูงถึง 2,000 บาท

แต่เมื่อกลับกลายเป็นแผ่นดิสก์ซึ่งเป็นก๊อบปี้ละเมิดลิขสิทธิ์ราคาขายเพียง 40-70 บาท เพียงแต่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเล่นเกม ซึ่งราคาประมาณ 10,000-12,000 บาท อันเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่คุ้มค่าเพราะเล่นเกมได้ไม่สิ้นสุด

เครื่องที่ใช้เล่นกับแผ่นดิสเกตต์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ FR 420 ของบริษัทแฟมิลี่ บริษัทคนไทย แต่ผลิตเพียงฮาร์ดแวร์ ตัวซอฟต์แวร์ยังไม่ได้เป็นผู้นำเข้าลิขสิทธิ์ เครื่องรุ่นซูเปอร์นินเทนโด้ และของเซก้าบางรุ่นซึ่งมีทั้งรุ่นนำเข้าและประกอบในไทยซึ่งไม่เคยปรากฏแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ผลิต

มีแต่การบอกว่ามาจากคลองถม รวมทั้งตัวซอฟต์แวร์ที่ร้านค้าส่วนใหญ่ก็บอกว่ามาจากคลองถมเช่นกัน

เกมพัฒนาออกไปมากขึ้น ปี พ.ศ.2538 พานาโซนิคเริ่มนำเข้า 3DO เข้าสู่ตลาดราคาเครื่องประมาณ 10,000 ขึ้นไป แต่เกมซึ่งเป็นแผ่นซีดีรอมยังมีราคาสูงประมาณ 1,000-2,000 บาท และเกมยังมีให้เลือกน้อย ส่วนที่ดีที่สุดคือ ลักษณะเกมเหมือนจริงและเร้าใจผู้เล่นมาก จนอาจจะเป็นความนิยมในอนาคต

แหล่งจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ย่านคลองถม มาบุญครอง และศูนย์การค้าต่างๆ ร้านแห่งหนึ่งในมาบุญครอง ขายเครื่องเล่นเกมซูเปอร์ 32 บิต ซึ่งเป็นเครื่องที่ดีที่สุดรุ่นหนึ่งสำหรับเล่นเกมแผ่นดิสก์ราคาเครื่องละ 12,000 บาทได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 5-7 เครื่องส่วนแผ่นเกมขายได้แบบสบายๆ

วงจรสินค้าซอฟต์แวร์เกมหนึ่งๆ จะอยู่ระยะไม่เกิน 6 เดือน กลยุทธ์การขายคือออกเกมให้ทันและเร็วก่อนคนอื่นเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงตลาด

เมื่อพูดถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ ผู้ขายวิดีโอเกมรายหนึ่งย่านสะพานเหล็กกล่าวว่า "จับก็จับไป ไม่เห็นกลัวเลย ก็อยากรู้เหมือนกันว่าหลัง 21 มีนาคม นั้นจะเป็นยังไง"

ไม่เพียงเธอเท่านั้น อีกกว่า 40 ร้านในย่านดังกล่าว กับอีก 4 ร้านที่ย่านคลองถม รวมทั้งอีก 12 ร้านที่ตึกมาบุญครอง ก็กล่าวเช่นเดียวกันกับเธอ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาบ้านเรายังไม่มีบริษัทใดเป็นตัวแทนจำหน่ายเกมวิดีโออย่างถูกต้องเลย ฉะนั้นจึงไม่มีผู้เสียหายที่จะมาร้องทุกข์และก็ยังไม่มีผู้ค้ารายใดสนใจที่จะขายเกมวิดีโอชนิดที่เป็นลิขสิทธิ์เพียวๆ กันแต่กต่างจากกรณีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีกลุ่มบีเอสเอเป็นผู้ติดตามเรื่องลิขสิทธิ์

ตลาดวิดีโอเกมที่ผ่านมาจึงเป็นตลาดก๊อบปี้ทั้งหมด และเป็นตลาดที่กอบโกยเงินได้ง่ายเสียเหลือเกินเพียงแค่ซื้อเกมลิขสิทธิ์มา 1 เกม ประมาณ 1,000 บาทก็สามารถก๊อบปี้ขายได้เป็นหมื่น

ขณะที่ในสหรัฐฯ จะทำได้ลำบาก เพราะห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายเครื่องแปลงที่สามารถที่สามารถก๊อบปี้เกมส์ชนิดไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตลับหรือเป็นแผ่นซีดีแต่เมืองไทยไม่ห้าม

จากกรณีที่ตลาดเกมเป็นตลาดที่มีการก๊อบปี้กันเกือบทั้งหมดนั้น ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าวว่า ทางทรมทรัพย์สินและตำรวจเศรษฐกิจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะว่าที่ผ่านมาไม่มีผู้มาร้องทุกข์ว่าเป็นผู้เสียหาย

"เราก็หนักใจเหมือนกัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ หากฟ้องก็เป็นในลักษณะฟ้องคนเดียวคือเราแล้วหากไม่มีเจ้าทุกข์มาช่วยฟ้องด้วยเพื่อพิสูจน์ว่า สินค้านี้เป็นสินค้าเลียนแบบเหล่านี้เป็นเรื่องปวดหัว พลาดพลั้งไปก็มีสิทธิ์โดนฟ้องกลับได้ยุ่งเหมือนกัน" รอ.สุชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ร.อ.สุชาติเชื่อว่าระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จะทำให้เกิดการกระตุ้นให้คนสร้างงานมากขึ้น เช่นที่ฮ่องกงก่อนที่จะมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์กว่า 70% จะเป็นการส่งเงินเป็นค่าลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศทั้งหมด แต่เมื่อมีกฎหมายลิขสิทธิ์บังคับใช้ปรากฏว่าการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในฮ่องกง กลับมีมากกว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้ต่างประเทศเสียอีกนี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดว่า กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นตัวส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานมากขึ้น

แต่แม้ว่ากฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับแล้ว ในเรื่องเกมก็ยังดูเป็นเรื่องที่คาดการณ์กันยากว่าจะออกมาในรูปแบบใด

นอกเหนือจากการดำเนินการทางด้านกฎหมายหนทางหนึ่งในเรื่องเกมคือต้องระบุโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าเครื่องแปลงที่สามารถก๊อบปี้เกมจากตลับ จากซีดีหรือจากที่ใดก็แล้วแต่ลงสู่แผ่นดิสเกตต์ 3 นิ้วให้รุนแรงหรือห้ามนำเข้า

แต่บทบาทที่แท้จริงอยู่ที่บริษัทเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์เองที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติเหล่านี้มองตลาดไทยเป็นตลาดที่เล็กมาก จึงไม่ให้ความสำคัญนัก

แต่นับจากนี้อาจจะมีความเคลื่อนไหวที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง

มีกระแสข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตอย่าง โซนี่ พานาโซนิค และอีกหลายเจ้าเริ่มสนใจที่จะทำการจัดจำหน่ายและหาตัวแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

กรณีที่อาจไม่แตกต่างจากการ์ตูนญี่ปุ่นคือบริษัทคนไทยเองที่กำลังแสวงหาลิขสิทธิ์เพื่อเข้าสู่ตลาดแห่งนี้

บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เริ่มออกข่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการขอลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายเกมที่ขายดีเป็นอันดับสองในสหรัฐฯ คือ "เซก้า" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังเจรจาขอเป็นตัวแทนเกมค่ายนินเทนโด้ที่ขายดีที่สุดในโลกอีกด้วย"

ซึ่งหากเป็นจริง ภารกิจของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ที่เหนื่อยยิ่งกว่าการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์คือการออกสงครามสู้กับผู้ละเมิดทั้งหลาย

"ผมคงไม่ใจร้ายฟ้องร้องเขาทันทีหรอก เพราะอย่างไรก็คนไทยด้วยกัน เราคงต้องเรียกมาเจรจาว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายเราก็ต้องเลิกขายเกมเซก้าและนินเทนโด้ที่เรากำลังเจรจาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ ส่วนค่ายอื่นๆ ก็ดูว่าจะเริ่มเหมือนกับเรา ฉะนั้นผู้ค้าที่แต่เดิมขายเกมก๊อบปี้นั้นจะทำไม่ได้แล้ว ต้องหันมาขายเกมลิขสิทธิ์อย่างเดียว ไม่เช่นนั้นหากดื้อขายและทำการก๊อบปี้อยู่อีกละก็ คงต้องดำเนินคดีทางกฎหมายกันซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย" ไพรัตน์ เสนาจักร์ ผู้บริหารคนหนึ่งของ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ กล่าว

คำขู่ของไพรัตน์จะได้รับความสนใจมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ว่า มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ได้รับลิขสิทธิ์มาจริงหรือไม่และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

การช่วงชิงโอกาสที่ดีที่สุดครั้งนี้ของ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ คือออกข่าวก่อนคู่แข่งรายอื่นๆ ที่อาจจะตามมา

ซึ่งหากเป็นจริงนักเล่นเกมคงหมดยุคซื้อเกมแผ่นละ 40 บาทต่อไปได้อีกแล้ว !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.