|
LVMH คิดจะฮุบ Hermes
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจสินค้าหรูสามารถยืนหยัดท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ เพราะมีประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล ประชาชนของประเทศเหล่านี้กลุ่มหนึ่งจึงหันมาบริโภคสินค้าหรูอย่างไม่ลืมหูลืมตา
นักท่องเที่ยวจีนที่ดูภายนอกโทรมๆ กลับวิ่งหาสินค้าแบรนด์เนมยามไปท่องเที่ยวเมืองแฟชั่นอย่างปารีส ห้างสรรพสินค้าคับคั่งด้วยนักท่องเที่ยวหน้าเหลืองๆ พนักงานขายร้านปลอดภาษีเหน็ดเหนื่อยกับการขายของ แม้ใกล้เวลาปิดร้านแล้ว ทัวร์จีนยังมาลง แบรนด์เนมอย่างหลุยส์ วุตตง (Louis Vuitton) ปิดร้านภายในห้างสรรพสินค้าเร็วกว่าเวลาปิดห้าง เพียงเพราะสินค้าขายดีมากจนกลุ่ม LVMH เกรงว่าสินค้าจะขาดตลาดเมื่อเทศกาลคริสต์มาสมาถึง ด้วยว่าสินค้าในสต็อกร่อยหรอลงไปมากสืบเนื่องจากการ “ขายดีเกินไป” และโรงงานผลิตไม่ทัน
แอร์แมส (Hermes) เป็นยี่ห้อที่วางตัวในระดับสูงมาก จากจุดเริ่มต้นที่ผลิตอุปกรณ์ในการขี่ม้า นำภูมิปัญญาและฝีมือช่างที่เลอเลิศมาผลิตกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือสำหรับสตรี กระเป๋า เดินทาง กระเป๋าเล็กกระเป๋าน้อย และเครื่องหนังอื่นๆ ไปจนถึงการผลิตผ้าพันคอ ไหมและเสื้อสำเร็จรูป หรือเครื่องประดับที่ไม่ดูวูบวาบ แต่โก้หรู โดยเน้นเครื่องประดับเงินเป็นหลัก
กระเป๋าของแอร์แมสเป็นที่ต้องการของสาวทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่น Kelly และ Birkin ซึ่งใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ งานฝีมือที่เน้นคุณภาพทำให้ผลิตไม่ทันขาย จึงต้องสั่งทำและรอคอยเป็นนานกว่าจะได้กระเป๋ามาถือ
แอร์แมสเป็นธุรกิจครอบครัวที่ไม่เคยเปลี่ยนมือ ความสำเร็จของแอร์แมสคงทำให้แบร์นารด์ อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) เจ้าของ LVMH อันเป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพียงเวลาไม่กี่สิบปี แบร์นารด์ อาร์โนลต์กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของฝรั่งเศส และยังคงสนุกกับการกวาดต้อนยี่ห้อที่มีทีท่าจะไปได้ดีเข้าสู่อาณาจักร LVMH ดังในกรณีของเสื้อยี่ห้อระดับกลางที่มาแรงอย่าง Sandro และ Maje ของฝรั่งเศส
กุชชี (Gucci) ในยุคทอม ฟอร์ด (Tom Ford) ร้อนแรง สินค้าทุกประเภทดูดีไปหมด ปลุกให้เครื่องหนังยี่ห้อเก่าแก่ของอิตาลีกลับมาผงาดในยุทธจักรแฟชั่น แบร์นารด์ อาร์โนลต์เฝ้าจับตาด้วยความมาดหมายจะต้อนกุชชีเข้าสู่อาณาจักร LVMH สร้างความประหวั่นแก่ผู้บริหารของกุชชีและทอม ฟอร์ด ซึ่งแอบไปติดต่อ กับฟรองซัวส์ ปิโนลต์ (Franois Pinault) เจ้าของกลุ่ม PPR ซึ่งทำธุรกิจสินค้าหรูเช่นกัน ในที่สุดกลุ่ม PPR สามารถกวาดซื้อหุ้นได้มากกว่ากลุ่ม LVMH จึงได้เข้าบริหารกุชชี กลายเป็นแค้นที่ต้องชำระระหว่างแบร์นารด์ อาร์โนลต์และฟรองซัวส์ ปิโนลต์
จู่ๆ ปลายเดือนตุลาคม 2010 สื่อพากันออกข่าวว่ากลุ่ม LVMH ถือหุ้นของแอร์แมสถึง 17.1% เป็นการรุกคืบอย่างเงียบๆ และแน่นอนย่อมมีประสงค์ร้ายอยู่ด้วย เนื่องจากแอร์แมสเป็นธุรกิจครอบครัวที่ยังเหนียวแน่นและมั่นคง เป็นยี่ห้อที่ผู้บริโภคผู้มีอันจะกินหมายปอง หากสามารถ “ฮุบ” กิจการของแอร์แมส ถือได้ว่าแบร์นารด์ อาร์โนลต์สามารถผงาด ในธุรกิจสินค้าหรูเหนือกว่ากลุ่ม PPR และกลุ่ม Richemont อันเป็นคู่แข่ง
ในวันที่ 25 ตุลาคม 2010 กลุ่ม LVMH ถือหุ้นใน Hermes 14.2% และประกาศว่าจะกวาดซื้อหุ้นให้ได้ถึง 17.1% ภายในเร็ววัน แม้ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับหุ้นที่ครอบครัวทายาทของแอร์แมส อันประกอบด้วยครอบครัว ปูเอช (Puech) ดูมาส์ (Dumas) และแกรองด์ (Guerrand) เดอ แซนส์ (de Seynes) มอมเมจา (Mommeja) ถืออยู่ 73% ส่วนที่เหลือซื้อขายในตลาดหุ้น แต่กลุ่ม LVMH ของแบร์นารด์ อาร์โนลต์กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองของแอร์แมส เมื่อได้หุ้นตามความต้องการแล้ว แบร์นารด์ อาร์โนลต์จึงแจ้งแก่ ครอบครัวแอร์แมสก่อนที่จะออกแถลงการณ์ ผู้บริหารของ กลุ่ม LVMH กล่าวว่าแบร์นารด์ อาร์โนลต์ มาอย่างมิตรและมิได้มุ่งหมายที่จะยึดอำนาจบริหารในแอร์แมสหรือเรียกร้องตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารแต่อย่างใด การที่เข้าซื้อหุ้นแอร์แมสเพราะต้องการให้แอร์แมสยังคงเป็นยี่ห้อของฝรั่งเศส รอดพ้นจากความพยายามซื้อหุ้นของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศอย่าง Prada หรือ Richemont หรือ Coach
หลังจากงุนงงอยู่พักใหญ่ แบร์ทรองด์ ปูเอช (Bertrand Puech) ประธาน กลุ่มแอร์แมส และปาทริก โตมาส์ (Patrick Thomas) ผู้บริหารของแอร์แมสสงสัยในความเป็นมิตรของแบร์นารด์ อาร์โนลต์ที่แอบซื้อหุ้นทีเดียว 17.1% ทั้งสองยืนยันว่า ไม่มีกองทุนหรือนักลงทุนต่างชาติใดๆพยายามซื้อหุ้นแอร์แมสตามที่แบร์นารด์ อาร์โนลต์กล่าวอ้าง และแอร์แมสเองก็ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากกลุ่มทุนใดๆเพราะแอร์แมสเติบโตดีกว่ากลุ่มธุรกิจสินค้าหรูอย่าง LVMH เสียอีก พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า LVMH ทำอย่างไรในการซื้อหุ้นถึง 17.1% และการซื้อนี้ขัดต่อกฎของตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ แบร์ทรองด์ ปูเอชเน้นว่าสมาชิกในครอบครัวไม่มีใครขายหุ้นให้แบร์นารด์ อาร์โนลต์โดยตรง หากยอมรับว่ามีการซื้อขายหุ้นในตลาด หลักทรัพย์ พร้อมกับขอให้แบร์นารด์ อาร์โนลต์ถอนตัวจากแอร์แมส
อันที่จริงในช่วงทศวรรษ 1980 แอร์แมสได้ขายหุ้นให้กลุ่ม LVMH 10% เพราะต้องการเงินไปช่วยสภาพคล่องของธุรกิจ ต่อมาในต้นทศวรรษ 1990 ฌอง-หลุยส์ ดูมาส์ (Jean-Louis Dumas) ซึ่งเป็นประธานแอร์แมสในขณะนั้นขอให้ LVMH ขายหุ้นคืน แบร์นารด์ อาร์โนลต์จึงมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่ม LVMH จะคุกคามแอร์แมสได้ในขณะนี้เพราะในอดีต LVMH ก็ไม่เคยเป็นปัญหาต่อแอร์แมส
แม้ครอบครัวที่เป็นเจ้าของแอร์แมสจะยืนยันถึงความสมัครสมานและความมั่นคงในการสานต่อกิจการที่บรรพบุรุษก่อตั้งมา ทว่าอดสงสัยกันไม่ได้ความเป็นหนึ่งเดียวของครอบครัวแอร์แมส หลอกตาหรือไม่ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าสมาชิกในครอบครัวบางคนอาจต้องการใช้ เงิน ดังกรณีของเจโรม แกรองด์ (Jerome Guerrand) ซึ่งขายหุ้นจำนวน 24,257 หุ้น เป็นเงิน 4.14 ล้านยูโร ก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม เขาก็ขายหุ้นไปจำนวนหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุนี้ครอบครัวแอร์แมสจึงตื่นกลัว เกรงว่าอาจมีผู้แอบขายหุ้นอีก อัน จะทำให้ธุรกิจของครอบครัวอาจต้องแปรเปลี่ยนไป ประกอบกับรู้กันดีว่าแบร์นารด์ อาร์โนลต์หมายปองแอร์แมสมานาน
แบร์นารด์ อาร์โนลต์ยอมร้องเพลง รอไปพลางๆ ก่อน รอวันเกษียณของปาทริค โตมาส์ ผู้บริหารของแอร์แมส แล้ววันนั้นครอบครัวของแอร์แมสอาจจะแตกแยก เพราะแย่งตำแหน่งบริหาร สมาชิก ครอบครัวของแอร์แมสจำนวนไม่น้อยพำนักในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี ที่ทำงานให้แอร์แมสมีปิแอร์-อเลกซิส ดูมาส์ (Pierre Alexis Dumas) ลูกชายของฌอง-หลุยส์ ดูมาส์ (Jean-Louis Dumas) ประธานกลุ่มแอร์แมสซึ่งถึงแก่กรรมในปี 2010 ปิแอร์-อเลกซิส ดูมาส์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และมีกีโยม เดอ แซนส์ (Guillaume de Seynes) เป็นผู้ช่วย ส่วน อาเซล ดูมาส์ (Axel Dumas) เป็นผู้อำนวยการแผนกเครื่องหนัง ทั้งนี้แบร์นารด์ อาร์โนลต์พร้อมที่จะส่งคนของตนเข้าไปในแอร์แมสหากจำเป็น
แบร์นารด์ อาร์โนลต์ รู้จักธุรกิจสินค้าหรูเป็นอย่างดี เมื่อเขาเข้าซื้อหุ้นแอร์แมสเป็นจำนวนมากเพื่อ “ช่วยเหลือให้แอร์แมสรอดพ้นจากการไล่ล่า” ของกลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งแอร์แมสไม่เคยเรียกร้องความช่วยเหลือ เขามีความคิดที่จะพัฒนา ยี่ห้อแอร์แมสอยู่แล้วหลังจากให้มีการศึกษาเกี่ยวกับแอร์แมสเป็นอย่างดี เช่น ยกเลิกการผลิตสินค้าบางชนิด เลิกร้านแอร์แมสตามสนามบินที่ขายผ้าพันคอและเนกไท ตกแต่งบูติกแอร์แมสเสียใหม่ พัฒนาเสื้อสำเร็จรูปให้โก้หรูยิ่งขึ้น และทำให้แอร์แมสเป็นสินค้าระดับสูงมากจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จะทำการสอบสวนถึงกรรมวิธีที่ได้มาซึ่งหุ้น 17.1% ในแอร์แมสของกลุ่ม LVMH ดูเหมือนว่าแบร์นารด์ อาร์โนลต์จะไม่วิตก เพราะมั่นใจว่ามิได้ทำผิดกฎเกณฑ์ใดๆ หลังจากไปกวาดซื้อหุ้นของแอร์แมสในต่างประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|