สงครามยกที่หนึ่ง Facebook vs. Google

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกครั้งที่มาร์ค ซัคเคอร์ เบิร์ค เจ้าของเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง Social Network และบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ มักจะพูดเสมอเวลาไปปาฐกถาหรือไปแถลงข่าวต่างๆ ต่อสาธารณชนคือ คำว่า Social graph เขามักจะแนะนำ Facebook ต่อหน้าธารกำนัลว่า Facebook ก็เปรียบเสมือนแผนที่ชนิดหนึ่ง แต่เป็นแผนที่ของมวลมนุษยชาติที่มีเป้าหมายที่ไม่สิ้นสุดที่จะเป็นแผนที่ที่ใหญ่ที่สุด ละเอียดที่สุด เข้าใจได้ง่ายมากที่สุด และมีความเที่ยงตรงสูงสุด

Social graph เป็นแผนที่ดิจิตอลที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง ความสัมพันธ์นั้นเชื่อมโยงคุณไปยังเพื่อนของคุณ, เพื่อนของคุณไปยังเพื่อนของพวกเขา และเชื่อมโยงต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเราทั้งหมดก็จะเชื่อมโยงไปสู่พี่เบิร์ด, อั้ม พัชราภา ไปจนถึงจูเลีย โรเบิร์ต และเอมม่า วัตสัน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีบริษัทหรือหน่วยงานองค์กรไหนในโลกที่สามารถสร้างกราฟความสัมพันธ์ที่เข้าใจได้ง่ายเท่าที่ Facebook กำลังทำอยู่ ซึ่งกราฟความสัมพันธ์ที่ว่านี้กำลังสั่นสะเทือนโลกและสร้างรายได้มหาศาลให้กับ Facebook

ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะสร้างหนทางที่จะทำให้คนทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าหากันได้ หนึ่งในวิธีนั้นคือ อีเมล ซึ่งปัจจุบันอีเมลก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Accessories ในการใช้ชีวิตของเราไปแล้ว

แต่การก้าวเข้ามาของ Facebook ก็ทำให้บทบาทของอีเมลอาจจะเริ่มลดลงไป ทุกวันนี้ คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกเป็นสมาชิก Facebook นั่นให้ Facebook เริ่มหาหนทางที่จะเข้าถึงข้อมูล ในอีเมลของสมาชิกแต่ละคน และเมื่อสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล ในอีเมลถูกยกเลิก ทำให้หลาย คนตัดสินใจยกเลิกอีเมลที่ใช้อยู่ไปด้วย

หลายๆ คนไม่รู้ว่าการเข้าถึงข้อมูลในอีเมลของเรานั้น เป็นช่องทางทำมาหากินช่องทางใหญ่ของ Facebook เลยทีเดียว การเข้าถึงอีเมลมีความสำคัญกับ Facebook อย่างมาก เพราะทำให้ Facebook สามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้กับสมาชิกแต่ละคน

โดย Facebook จะวิเคราะห์อีเมลทั้งหมดของเราเพื่อมองว่ายังมีใครอีกบ้างในโลกนี้ที่เราน่าจะรู้จักและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึง หลายๆ คนก็ยอมจำนนกับความพยายามของ Facebook และรับทุกคนเข้ามาสู่โลกแห่งความสัมพันธ์ของเขา นั่นนำไป สู่สมาชิกใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง, อีเมลแอดเดรสใหม่ๆ ที่ Facebook จะไปวิเคราะห์ต่อ ซึ่งนำไป สู่สมาชิกใหม่อีกไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งทุกคน ในโลกหรือแม้แต่จักรวาลจะสมัครเป็นสมาชิก Facebook

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ Facebook ทำคือ การดูว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ของเราในเครือข่ายหนึ่งเป็นอย่างไร จากนั้นก็เอารวมไว้ใน Facebook เท่านั้น สมมุติว่าเรา มีกลุ่มความสัมพันธ์ใน Gmail อยู่ Facebook ก็จะสร้างความสัมพันธ์แบบเดียวกันนั้นขึ้นมาใน Facebook

มองอีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เราสามารถเชื่อมสัมพันธ์กับคนในกลุ่มของเราได้หลาก หลายหนทางมากขึ้น นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ Facebook ใช้อ้างในการบีบให้เว็บไซต์ต่างๆ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์เหล่านั้นสามารถส่งข้อมูลของพวกเขาไปยังข้อมูลส่วนตัว หรือ Profile ใน Facebook หรือในเครือข่ายสังคมอื่นๆ ได้

แต่ Facebook ก็ไม่ใจใหญ่พอในการที่จะสร้างสมดุลของการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ โดยพวกเขาใช้ทั้งวิธีการทางด้านเทคนิคและกฎหมายในการเป็นผู้ตัดสินใจเพียงข้างเดียวว่าข้อมูลใดบ้างที่พวกเขาจะสามารถเอาออกมาได้ และที่ใดที่จะอนุญาตให้พวกเขาเข้าไปเอามาบ้าง

กล่าวคือ Facebook ทำตัวเป็นที่เก็บ social graph โดยข้อมูลของเราจะถูกรีจิสเตอร์เข้าไป แต่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค จะเป็นคนอนุมัติว่าจะสามารถออกได้หรือไม่

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทฤษฎีเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวของ Facebook ก็ได้ทำให้เกิดกรณีปัญหากับเพื่อนรักเพื่อน แค้นอย่างกูเกิ้ลขึ้นมา ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาเมื่อกูเกิ้ลเพิ่มข้อความในข้อตกลงการให้บริการของพวกเขาในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล address book ของ Gmail เพื่อป้องกันการนำข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อของผู้ใช้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นข้อความที่เรียกได้ว่าเป็นการบีบให้ Facebook โดยเฉพาะว่าให้รู้จักสร้างข้อมูลของตัวเองขึ้นมาบ้าง

ซึ่ง Facebook ก็เห็นว่า พวกเขาไม่อยากจะทำสิ่งเหล่านั้น พวกเขาจึงมองหาหนทางที่จะหลีกหนีข้อตกลงการให้บริการเหล่านั้นของกูเกิ้ลโดยการสร้างเครื่องมือที่สามารถดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ใน Gmail ผ่านฟีเจอร์ในกูเกิ้ลเองที่ให้ผู้ใช้ สามารถดาวน์โหลดรายชื่อคนติดต่อของพวกเขาเพื่อใช้งานส่วนตัว

กระบวนการเหล่านี้อาจจะดูค่อนข้างยุ่งยาก ยุ่งเหยิงสำหรับ Facebook แต่มันก็เป็นช่องทางที่จะทำให้ Facebook ยังสามารถเข้าถึงขุมทรัพย์ของข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องทำตามข้อกำหนดใหม่ๆ ของกูเกิ้ลโดยตรง

แม้กูเกิ้ลอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่อง ฉลาดนักที่จะไปบล็อกฟีเจอร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลของพวกเขาสำหรับใช้งานส่วนตัว แต่กูเกิ้ลก็ได้ดำเนินมาตรการชกหมัดเข้าตรงแสกหน้า Facebook โดยพวกเขาได้เพิ่มหน้าที่เตือนผู้ใช้ งาน Gmail ที่จะดาวน์โหลดข้อมูลของพวก เขาไปยัง Facebook ว่าพวกเขาอาจจะกำลังทำสิ่งที่จะต้องเสียใจไปตลอดชีวิต โดยเตือนทำนองว่า พวกเขาแน่ใจหรือว่าต้องการจะเอาข้อมูลเพื่อนๆ ของตัวเองไปใส่ในระบบที่ไม่ยอมให้ข้อมูลที่ส่งเข้าไปแล้วกลับออกมาได้ และถ้าผู้ใช้ยังคงยืนยัน จะทำสิ่งนี้ กูเกิ้ลก็จะให้พวกเขาย้ำความประสงค์ว่าจะไม่สามารถเอาข้อมูลกลับออกมาได้อีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นหลักตรงนี้ก็คือ กูเกิ้ลทำถูกหรือเปล่า

ที่ผ่านมากูเกิ้ลอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเอาข้อมูลส่วนตัวของตัวเองออกไปใช้ที่ไหนก็ได้ พวกเขามีแม้กระทั่งศูนย์กลางในการช่วยผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของกูเกิ้ลในการเอาข้อมูลเข้าหรือออกได้ที่เรียกว่า Data Liberation Front ซึ่งเว็บไซต์นี้ทำให้ผู้ใช้งานบริการของกูเกิ้ล ไม่ว่าจะเป็น Gmail, Google Calendar, Google Docs, Google Maps, Google Health, Google Reader, Orkut, Blogger รวมถึงอีกหลาก หลายบริการของกูเกิ้ลสามารถเอาข้อมูลเข้าออกได้อย่างง่ายๆ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงข้อความข้อตกลงการให้บริการที่ห้ามการเอาข้อมูลไปใส่ใน Facebook จึงเป็นเรื่อง ที่น่าคิดว่าเหมาะสมหรือไม่

เพราะถ้ากูเกิ้ลมองว่าผู้ใช้งานควรจะมีสิทธิ์ในการเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้อะไรก็ได้ ก็ควรที่จะเคารพสิทธิ์ของพวกเขาที่จะเอาไปใส่ในที่ที่ไม่ยอมให้เอาข้อมูลออกมาได้ด้วย นี่ยังต้องรวมถึงว่า ทำไมกูเกิ้ลต้องมาห้ามเอาป่านนี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา หลายปีพวกเขาก็ไม่เคยห้ามการเอาข้อมูลไปใส่ใน Facebook

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนก็มองว่า นี่อาจจะเป็นการสกัดไม่ให้ Facebook ก้าวหน้าไปเกินผลิตภัณฑ์ใหม่ทางด้าน social network ของกูเกิ้ลที่จะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Facebook

ที่สำคัญ Facebook ก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าที่กูเกิ้ลจะตามทันได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม Mike Vernal วิศวกรของ Facebook มองว่า ประเด็นถกเถียงเรื่องการเอาข้อมูลออกไปใช้ของโปรแกรม social network และอีเมลนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ใน Gmail อีเมลแอดเดรสของเพื่อนของเราเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา เป็นส่วนหนึ่งของแอคเคาน์ของเรา แต่บน Facebook อีเมลแอดเดรสของเพื่อนของเราเป็นของเพื่อนของเรา หมายความว่า แต่ละคนจะมี แต่ลิสต์รายชื่อเพื่อน แต่ไม่ใช่มีข้อมูลของเพื่อน

แต่นี่ก็เป็นเพียงประเด็นที่ Facebook พยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองเท่านั้น เพราะถ้ามองจริงๆ แล้ว ข้อมูล อีเมลแอดเดรสบนโปรแกรมอีเมลหรือ social network ก็ล้วนเป็นข้อมูลเดียวกัน Facebook เอาอะไรมาตัดสินว่าใครจะมีสิทธิ์ให้ข้อมูลอะไร เพราะถ้า Facebook เชื่อว่าพวกเขามีสิทธิ์จะเอาข้อมูลจาก Gmail ทำไมเราถึงเอาข้อมูลใดๆ จาก Facebook ไม่ได้บ้าง

และที่ต้องไม่ลืมก็คือ Facebook ยอมให้ผู้ใช้บน Yahoo Mail และ Hotmail สามารถดึงข้อมูลอีเมลแอดเดรสจาก Facebook ไปใช้งานได้ หรือกล่าวได้ว่า Facebook ยอมให้ใครก็ได้ดึงข้อมูลไปใช้งานตราบใดที่คนคนนั้นไม่ดึงไปให้ Gmail

นอกจากนี้ แม้ Facebook จะยอม ให้ผู้ใช้งานสามารถเอาลิสต์รายชื่อเพื่อนออกไปได้ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่พวกเขาเพิ่งใส่เข้าไปในเดือนตุลาคมปีกลายที่ทำให้เราสามารถเก็บสำรองข้อมูลที่เราโพสต์เข้าไป รูปภาพ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ใน Facebook ในกรณีที่เราต้องการจะลบข้อมูลจากเว็บ ทิ้งไป แต่ฟีเจอร์นี้ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการนำเอาข้อมูลออกมาอย่างแท้จริง เพราะข้อมูลที่ดาวน์โหลดมาจาก Facebook นั้นเป็นเพียงข้อความเปล่าๆ โดยไม่มีข้อมูลอีเมลแอดเดรส รวมถึงไม่สามารถลิงค์ไปหา profile ของพวกเขาบน Facebook ได้ด้วย นั่นหมายถึงเป็นการป้องกันการนำเอาข้อมูลของ Facebook ไปใช้ในการสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้นมาบนโปรแกรม social network อื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าวันหนึ่ง Facebook มีสมาชิกที่ยังคงใช้งานอยู่มากมายเป็นพันๆ ล้านคนทั่วโลก พวกเขาอาจจะขี้เกียจที่จะไปกันโน่นกันนี่

แต่เราจะรอให้ถึงวันนั้นจริงๆ หรือ

หรือเราควรจะออกมาปกป้องสิทธิของพวกเราบนอินเทอร์เน็ตกันบ้าง

ลองคิดดูนะครับ

อ่านเพิ่มเติม:
1. Data Liberation Front, http://www.dataliberation.org/

2. Manjoo, F. (2010), ‘What’s Mine Isn’t Yours: The Facebook-Google spat over who controls your data,’ http://www.slate.com/id/2274583/

3. Manjoo, F. (2009), ‘You have no friends: Everyone else is on Facebook. Why aren’t you?,’ http://www.slate.com/id/2208678/

4. Kincaid, J. (2010), ‘Google to Facebook: You can’t import our user data without Reciprocity,’ http://techcrunch.com/2010/11/04/facebook-google-contacts/

5. Arrington, M. (2010), ‘Facebook finds a new way to liberate your Gmail contact data,’ http://techcrunch.com/2010/11/08/facebook-finds-a-new-way-to-liberate-your-gmail-contact-data/

6. Arrington, M. (2010), ‘Facebook/Google slap flight: Openness doesn’t men being open when it’s convenient,’ http://techcrunch.com/2010/11/09/facebook-slaps-google-openness-doesnt-mean-being-open-when-its-convenient/

7. Sullivan, D. (2010), ‘Facebook: You’ve no right to export email addresses (unless it’s to Yahoo & Microsoft),’ http://searchengine-land.com/facebook-you-have-no-right-to-export-email-addresses-55247


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.