จาก 'License to operate' สู่ 'องค์ความรู้สีเขียว'

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ความรู้สึกและความรู้ที่เกิดกับตัวเอง มักจะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับคนหลายคนเปิดทางเลือกใหม่ให้กับตัวเองว่าเขาควรจะเริ่มต้นทำอะไรกับตัวเองหรือสิ่งรอบตัว แต่การจะขยายประสบการณ์เหล่านี้ออกไป ผู้ริเริ่มส่วนใหญ่ต้องเหนื่อยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเสียก่อน กว่าจะเกิดเป็นองค์ความรู้ให้คนกาวเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้และทำตาม

ดังเช่นการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเครือข่ายจากที่ต่างๆ กว่า 500 คน ที่มาชุมนุมกันที่ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ภายใต้งาน “ฝายชะลอน้ำ Expo...สร้างฝายในใจคน...สู่ชุมชนยั่งยืน” ซึ่งกลายเป็นงานประจำปีของคนทำฝายในเขตพื้นที่ จังหวัดลำปางและเครือข่ายไปแล้วโดยปริยาย นับตั้งแต่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) เริ่มยึดการสร้างฝายตามแนวพระราชดำริเป็นแนวทางหลักเพื่อการอนุรักษ์น้ำ สำหรับโครงการ SCG รักษ์น้ำ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

เริ่มจาก 10,000 ฝาย เพิ่มเป็น 20,000 ฝายภายในปี 2553 และตั้งเป้า ต่อไปเพื่อให้ครบ 50,000 ฝาย ภายในปี 2556 ปีที่บริษัทจะมีอายุครบ 100 ปี

ผลลัพธ์ตามรอยฝายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่แค่น้ำ ป่า หรือจำนวนฝายเป้าหมาย แต่ก่อเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ เกิดกับตัวองค์กร ชุมชนและอาสาสมัคร

บุญส่ง บุญเจริญ ชาวนาจากบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง วัย 61 ปี เป็น 1 ใน 500 คนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ เขาคือภาพของตัวแทนที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฝาย สู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี

หลายปีก่อนหน้านี้เขายังเป็นชาวนาที่จมอยู่กับหนี้สิน กินเหล้าเป็นงานประจำ และฝากความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นถ้าถูกหวย พื้นนาผืนป่าหน้าบ้านก็แห้งแล้งไม่มีน้ำจะทำนา แต่ละปี ปลูกข้าวแล้วจะได้ผลผลิตหรือไม่ ฝาก ไว้กับเทวดา

เมื่อพื้นที่บ้านสามขากลายเป็นเครือข่ายของชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำของเอสซีจี จนทำให้พื้นที่ป่าที่เคยแห้งแล้งกลับมามีความชุ่มชื้น ร่มเย็นเข้ามาแทนที่ จึงเป็นเหมือนแสงสว่างแห่งปัญญาที่ทำให้บุญส่งฉุกคิดและเริ่มตัดสินใจได้ว่าชีวิตต่อจากนี้ควรดำเนินไปอย่างไร

“เมื่อก่อนเราพึ่งแต่ปัจจัยภายนอก คิดว่าการศึกษาเราไม่มี จบแค่ ป.4 หวังแต่ต้องส่งลูกเรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ทำนาก็ต้องทำตามตลาด ใช้ปุ๋ย ใช้ยาหวังจะได้ผลผลิตเยอะ แต่กลายเป็นหนี้เป็นสินเพราะ ต้นทุนสูง กว่าจะคิดได้ว่าเรา นี่แหละเจ้าคนนายคน ตลาด อยู่ในมือเราต่างหากเพราะเราเป็นคนทำ ถึงได้เปลี่ยนมา ทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว”

บุญส่งยอมรับว่า การปรับตัวเข้าสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์นั้น หากไม่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์เป็นฐานโอกาสก็แทบเป็นศูนย์ โชคดีที่บ้านสามขาเป็นเครือข่ายแรกๆ ของเอสซีจี ที่พาไปศึกษาดูงานเรื่องฝายชะลอน้ำจากโครงการพระราชดำริที่ห้วยฮ่องไคร้ นำมาทดลองปฏิบัติตามและทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับสู่สมดุล เป็น แหล่งดินดำน้ำชุ่ม เขาเชื่อว่า ถ้าเขายังอยู่ท่ามกลางผืนดินที่แห้งแล้ง เขาคงจินตนาการไม่ออกว่าจะพึ่งพาธรรมชาติได้อย่างไร เพราะแม้แต่ธรรมชาติเองก็แย่ไปแล้ว แต่แค่มีน้ำ แม้แต่จุลินทรีย์ที่ตามมาก็ยังมองได้ออกว่ามีประโยชน์ต่อพื้นดินอย่างไร

ก่อนหน้าที่โครงการฝายจะเข้ามาในหมู่บ้าน บุญส่งก็ไม่ค่อยศรัทธาว่า โครงการนี้จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในหมู่บ้านเขาได้ แถมยังคิดด้วยว่าหน่วยงานอย่างเอสซีจีที่เข้ามานั้น เพียงเพื่อต้องการพื้นที่สำหรับสร้างผลงานอะไรสักอย่างเท่านั้น

“ผมก็ไม่ใช่กลุ่มแรกๆ ที่ปรับ ตัวมาเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ได้อาศัยผลจากพื้นที่ที่เปลี่ยนไปเมื่อมีฝาย ฟังปราชญ์ที่มาให้ความรู้ มีโอกาสตามเขา ไปดูโครงการพระราชดำริ ดูตามผู้นำชุมชน บางคนรับราชการลาออกมาทำ เกษตร ก็คิดว่าทำไมเขายอมเปลี่ยน แล้วเราไม่มีอะไรต้องเสี่ยงทำไมไม่ลอง ตัดสินใจนับหนึ่งใหม่ ต้องยอมรับสภาพ ว่าปีแรกถ้าจะเปลี่ยนมาทำข้าวอินทรีย์คงต้องขาดทุน แต่ก็เชื่อมั่นว่าวันหนึ่งผมจะปลดหนี้ได้ในฐานะคนกำหนดตลาด เพราะถ้าทำแบบเดิมผมก็เป็นหนี้ อยู่ดี”

“คนกำหนดตลาด” ในความหมายของบุญส่ง ก็คือหากเขาเป็นผู้ผลิต สินค้าที่ตลาดต้องการจะทำให้เขาไม่ต้องวิ่งตามตลาดเหมือนสมัยก่อน ยิ่งในยุค ที่สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดและสภาพพื้นที่นาก็เอื้อให้ทำได้ แล้ว ทำไมเขาจะต้องทนอยู่กับการใช้ต้นทุนทางเคมีเพื่อกระตุ้นผลผลิตในนาข้าวแบบเดิมๆ

สภาพแวดล้อมที่ดีสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ เมื่อไม่ต้องกังวลว่าฝนแล้งจะส่งผลต่อนาอย่างไร เพราะมีต้นทุนน้ำในหมู่บ้านจากฝายชะลอน้ำ ไม่ต้องวิ่งหาทุนเพื่อซื้อสารเคมี แถมยังมีผู้รู้เข้ามาแนะนำ เรื่องการทำบัญชี การคำนวณต้นทุน การหารายได้เสริมจากการปลูกพืชผัก นอกเหนือจากริเริ่มให้คนในหมู่บ้านสร้างฝาย ปัญญาก็เกิดตามมาเหมือนกับไม้ในป่าที่ค่อยๆ เติบโตได้เองเมื่อมีน้ำ

ปีแรกผลผลิตของเขาลดลงไป 30% จากข้าวที่เคยเก็บเกี่ยวได้ราวไร่ละ 700 กิโลกรัม ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มผลผลิตกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดิม แต่เขาสามารถปรับราคาขายข้าวจากกิโลกรัมละ 12 บาท ขึ้น มาเป็นกิโลละ 50 บาท ซึ่งสูงกว่าผลผลิตที่ลดลงไปเพราะเป็นราคาที่ขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า แถมขายได้แบบไม่ต้องง้อ คนซื้อ เพราะมั่นใจได้ว่าเป็นผลผลิตภายใต้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ 100%

ปีที่ 2 ปีที่ 3 จนเข้าปีที่ 4 เมื่อปี 2553 เขาก็เริ่มทำกำไรจากที่นาที่มีอยู่เพียง 5 ไร่ได้สบายๆ และลดจำนวน หนี้สินจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่มีอยู่มากกว่า 1.9 แสนบาท ลงมาเหลือเพียง 4.9 หมื่นบาทในตอนนี้ ซึ่งเขาตั้งเป้าไว้ว่าหนี้ก้อนนี้จะหมดใน 6 ปีนับจากวันที่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง

“ไม่มีใครนึกหรอกครับว่าคนกินเหล้า เล่นหวยอย่างผม จะเปลี่ยน แปลงมาได้แบบวันนี้”

ย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน หากใคร ได้เห็นพื้นที่ป่าบริเวณรอบโรงปูนลำปาง ก็คงจะใช้คำพูดแบบเดียวกับที่บุญส่งพูดกับตัวเอง เพราะผืนป่าอนุรักษ์ที่มีสภาพเป็นฝุ่นสีเหลืองแดง ต้นไม้ที่เหลือ อยู่ก็มีแต่พวกแห้งแกร็นไม่มีค่าพอจะเอาไปแปรรูป เหลือไว้เหมือนจุดสีเขียว ห่างๆ กรมป่าไม้ให้นิยามพื้นที่ป่าห้วยทรายคำแห่งนี้ว่า “ป่าเสื่อมโทรม” และให้สัมปทานบัตรเพื่อใช้ประกอบกิจการโรงปูนกับเอสซีจี ภายใต้เงื่อนไขว่า บริษัทจะต้องฟื้นฟูป่าไปพร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์จากหินปูนในพื้นที่

“ทุกอย่างเป็นไปได้หมด ถ้าเรา ตั้งใจทำจริง 16 ปีก่อนตอนตั้งโรงงาน เรามาพร้อมกับคำขวัญของปูนลำปางว่า สร้างคน สร้างความเจริญ รักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นพลเมืองดีของลำปาง” ศาณิต เกษสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าว

สัมปทานโรงปูนในพื้นที่ป่า ฟังแล้วไปกันไม่ได้เลย แต่ด้วยคำขวัญที่กำหนดไว้ และกระแสความกังวลจากโรงงานอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งช่วงที่เอสซีจีได้สัมปทานบัตร คนไทยเพิ่งจะมีบทเรียน จากกรณีผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแม่เมาะในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน ยิ่งทำให้การเริ่มต้นของปูนลำปาง ไม่ใช่ เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ หากจะใช้รูปแบบการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การจะเปิดดำเนินโรงงาน ให้ได้โดยไม่ถูกชุมชนต่อต้าน เอสซีจีตั้งเป้าหมายภารกิจครั้งนั้นว่าทำอย่างไร ก็ได้เพื่อที่จะได้ “License to operate” ไม่ใช่ใบอนุญาตจากทางการ แต่หมายถึงการที่ชุมชนในพื้นที่ยินดีต้อนรับที่จะให้บริษัทเข้ามาดำเนินกิจการโดยไม่คัดค้าน

นอกจากการดำเนินงานโรงปูนด้วยระบบ Semi Open Cut เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในตอนนั้น ที่ใช้วิธีระเบิดภูเขาจากด้านใน เหลือโครงด้านนอกไว้ให้มีรูปทรงเดิม และป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นด้วยในตัว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่เอสซีจีเริ่มใช้ครั้งแรกที่ปูนลำปางก่อนจะนำไปปรับปรุงใช้ในที่อื่นๆ ด้วย สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปจนเป็นเรื่องเด่นล้ำหน้าการผลิตปูนซีเมนต์ก็คือการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

“ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องกรีน เราเรียกว่า License to operate เป็นวิชั่นที่ผู้ใหญ่ ให้มา 10-20 ปีก่อน ผมใช้งบมากกว่า 200 ล้าน ปรับปรุงเครื่องจักร ปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานญี่ปุ่น ทั้งโรงงานเก่าและใหม่ เพราะต้องคิดถึงผลกระทบต่อชุมชนก่อน ถ้าไม่ทำป่านนี้เราคงถูกปิดไปแล้วเพราะยุคนี้โรงงานปล่อยฝุ่นไม่ได้ แต่ถ้าเราทำให้ ชุมชนยอมรับได้ ทำให้เขารักเรา แล้วเราจะได้เอง อยู่ร่วมกันก็ได้ ขายของก็ได้ และตอนนี้เราพัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงขั้นที่เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนแล้ว”

สิ่งที่ศาณิตเล่ามานั้นเป็นการดำเนิน งานที่สอดคล้องกับคำขวัญของปูนลำปาง เพราะการที่เอสซีจีขยายโรงงานมาในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีเป้าหมายว่าพนักงาน 80% จะเป็นคนท้องถิ่น นั่นเท่ากับได้ ‘สร้างคน’ ขณะที่กิจการที่ดำเนินในพื้นที่ก็ ‘สร้างความเจริญ’ ให้กับท้องถิ่น และหากสร้างโรงงานสีเขียวตามเป้าหมายได้แล้ว ผลที่ตามมาก็เท่ากับได้ ‘สร้างพลเมืองดี’ ให้กับลำปางทั้งทางตรงและทางอ้อม

แต่กว่าพื้นที่ป่าห้วยทรายคำจะเขียวได้เหมือนที่เห็นในวันนี้ ไม่ได้มีแค่ วิชั่นสีเขียวและเงินทุนแล้วทุกอย่างจะราบรื่น

เริ่มต้นสร้างโรงงานจนกระทั่งปูนลำปางกลายเป็นต้นแบบของโรงงาน ที่อยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนนั้น เกิดขึ้นด้วยองค์ประกอบหลายส่วนค่อยๆ สะสมการเรียนรู้ เริ่มจากทำงาน องค์กรเดียวจนมีเครือข่ายครอบคลุมทั้งจังหวัดและขยายข้ามจังหวัดไปยังพื้นที่อื่นๆ

วิธีง่ายๆ ที่ปูนลำปางเลือกใช้ในช่วงต้นคือ ทำอย่างไรให้มีต้นไม้มากที่สุด ย้ายต้นไม้จากจุดก่อสร้างไปปลูกในพื้นที่อื่น ปลูกเพิ่ม และทำแนวป้องกันไฟป่า ทำอยู่หลายปี แต่ภารกิจ หลักในพื้นที่ก็ยังอยู่กับการต่อสู้กับไฟป่าซึ่งเกิดขึ้นปีละ 100-200 ครั้ง และเคยเกิดถี่มากขนาด 200-300 ครั้งต่อปี เรียกว่ามีไฟป่าให้ดับแทบทุกวัน

“ปลูกต้นไม้เพิ่มก็แล้ว แต่พื้นที่ยังแห้งก็เกิดไฟป่าอยู่บ่อยๆ กว่าจะเข้าใจว่า ต้นไม้และป่าเกิดเองได้ เราไม่ต้องปลูก เพียงแค่ทำให้มีน้ำมีความชุ่มชื้น เราจึงเริ่มหันมาสร้างฝายเป็นหลัก ปัจจุบันมีจำนวนไฟป่าเหลือปีละไม่เกิน 4-6 ครั้ง” ศาณิตเล่าถึงการเรียนรู้ของปูนลำปาง

แนวคิดเรื่องต้นไม้และป่าเกิดเองได้ โดยไม่ต้องปลูกป่านี้เป็นแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ หากแต่หลาย คนก็ยังไม่ตระหนักและไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่การได้ลงมือทำฝายนี่เองที่ทำให้หลายคนได้เรียนรู้และเชื่อเต็มหัวใจเมื่อได้เห็นด้วยตาและทำด้วยมือ

“เราสร้างฝาย บางทีมันอาจจะไม่มีน้ำ แต่สังเกตได้เลยว่าดินบริเวณนั้นจะชุ่มฉ่ำขึ้น เพราะน้ำถูกชะลอแล้วซึมอยู่ในดิน ก็ค่อยๆ มีต้นไม้เกิดตามมา ไฟป่าก็ลดลง แถมเรายังได้สัตว์ป่ากลับมาด้วย”

สัตว์ป่าที่ว่า มีทั้งนก หนู หมู งู แมลง โดยเฉพาะนก ทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ จากเดิมที่แทบจะสูญหายไป จากพื้นที่ ก็กลับมาอยู่อาศัยจนทำให้พื้นที่ป่ารอบโรงปูนกลายเป็นแหล่งชุมนุมของนักดูนก

“ปี 2535 เราสำรวจพบนกในป่าห้วยทรายคำ 78 ชนิด ล่าสุดปี 2553 สำรวจอีกครั้งพบนกเพิ่มขึ้นเป็น 157 ชนิด คิดเป็น 15% ของพันธุ์นกที่พบได้ในประเทศ ไทย” บวร วรรณศรี วิศวกรที่กลายเป็น “หมอดูนก” พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ซึ่งนอกจากชนิดของนก ยังพบความหลาก หลายของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ที่เพิ่มขึ้นเมื่อระบบนิเวศของป่าสมบูรณ์ขึ้น

บวรเป็นคนลำปางโดยกำเนิด นอกจากเป็นวิศวกรในโรงปูน ปัจจุบันยังรับ หน้าที่ประสานงานกับชุมชนเครือข่าย โดยมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด รวมทั้งเป็นประธานชมรมดูนกและอนุรักษ์ธรรมชาติ ปูนลำปางด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง มีความสามารถทั้งการดู สำรวจ และถ่ายภาพนกได้สวยงาม จนมีผลงานคู่มือดูนกในปูนลำปางออกมา แล้ว 2 เล่ม ซึ่งจะว่าไปแล้วถือได้ว่าก็เป็นผลผลิตอีกด้านของฝายเช่นกัน

ปัจจุบันมีฝายซึ่งเป็นฝีมือของพนักงานปูนและอาสาสมัครที่เข้ามาดูงานในปูนลำปางจำนวนไม่ต่ำกว่า 2,000 ฝาย จากทั้งหมด 20,000 กว่าฝายที่ทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2546-2553 ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ตามเครือข่ายมากกว่า 28 หมู่บ้านใน 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน สระบุรี ระยอง นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี และขอนแก่น โดย 80% ของฝายที่สร้างมาอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานในเครือเอสซีจีตั้งอยู่ประมาณ 20%

“ส่วนเป้าหมายต่อไปที่ตั้งไว้ 50,000 ฝาย ก็คงทำได้ตามเป้า เพราะ ตอนนี้นอกจากเครือข่ายของเรา ยังมีเครือข่ายของเครือข่ายที่ขยายออกไปอีก” ศาณิตกล่าว

กระบวนการสร้างฝายให้ได้จำนวนมากขนาดนี้ ศาณิตเล่าว่าก็ต้อง หาวิธีตั้งแต่เริ่มต้นอย่างรอบคอบเช่นกัน จากที่คิดจะใช้ระบบแบ่งโควตาแล้วแบ่งจำนวนไปทำตามหมู่บ้านต่างๆ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีลงพื้นที่เรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชน

“เราเริ่มพร้อมบ้านสามขา เข้า ไปคุย พากันไปดูโครงการพระราชดำริ ดูทีแรกก็ยังไม่เข้าใจ เริ่มต้นทำฝายปีแรกๆ พังเยอะ ทำผิดทำถูก เอาปูนทำ ทำกลางน้ำ เลือกไม่ถูกจุด น้ำมาทีต้าน ไม่อยู่ก็พัง พังก็เอาปูนทำ ก็พังอีก เรียนรู้ใหม่กว่าจะรู้ว่าทำแบบโครงการพระราช ดำริต้องค่อยๆ ทยอยทำ”

ตอนนี้แม้แต่ช่วงเดือนเมษายน ที่บ้านสามขาก็ยังมีน้ำไม่เคยขาด รวมทั้ง หมู่บ้านอื่นก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในบ้านสามขา ที่เห็นชัดที่สุดจากวิกฤติน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าหลายพื้นที่ ที่มีฝายนอกจากไม่ต้องเจอกับปัญหาน้ำไหลหลากเพราะมีฝายช่วยชะลอน้ำแล้ว น้ำที่ไหลมายังใสขึ้นเพราะฝายช่วย กรองตะกอนดินจากภูเขาไว้ด้วย

“ครั้งแรกที่เราประกาศจะทำหมื่นฝายเรามั่นใจแล้วว่าชาวบ้านเอาด้วย ช่วงแรกชาวบ้านก็เรียนรู้เหมือนเราเขาไม่ได้อยากได้เงินแล้วเอาไปทำ แต่ถ้าจะทำแล้วต้องได้ประโยชน์กับชุมชนเขาจริงๆ และเขาพร้อมที่จะทำด้วยตัวของเขาเอง ผมจำได้เลยปีแรกๆ คุยกับผู้นำ ชุมชนเขาคุยกับเรานับประโยคได้เลย เขาดูใจเราอยู่ไม่ใช่เราดูเขาอย่างเดียว จนผมเกร็งว่าคุยคำตอบคำ อาศัยไปบ่อยๆ ทำให้เขาเห็น ตอนนี้คุยกันได้ตลอด”

ไม่ใช่ศาณิตคนเดียวที่พัฒนาการทำงานกับคนในพื้นที่ แบบนี้ แต่ความคิดและการกระทำเหล่านี้ เขาถือว่าต้องเกิดกับพนักงานในปูนลำปางทุกคน ดังนั้น 6 เดือนแรกของพนักงาน ใหม่ที่นี่จะได้รับการสื่อสารเรื่องฝาย เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญและเหตุผลที่ต้องทำ ทำแล้วเกิดอะไร มีโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำฝายด้วยความสมัครใจ

“ฝายถือเป็นการเคลียร์หลังบ้าน เราให้เขียว ถ้าเราบาลานซ์สิ่งแวดล้อมกับโรงงานให้อยู่ร่วมกันไม่ได้ เราเจ๊งแน่ การสร้างฝายจึงเป็นกระบวนหนึ่งของการสร้างคนที่นี่ และเป็นการปฏิบัติงาน ร่วมกันเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับรู้วิชั่นที่องค์กรกำหนดไว้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ศาณิตกล่าวทิ้งท้าย

จากความเสี่ยงในเบื้องต้นของพื้นที่โรงงานในผืนป่า ทำให้ปูนลำปางแตกต่างและต้องเริ่มต้นดำเนินงานด้วยเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนกว่าโรงงานในที่อื่นๆ แต่วันนี้ต้องถือว่าลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ได้กลายเป็นโอกาสของการแสดงศักยภาพและความจริงใจที่ทำให้ปูนลำปางแสดงออกให้ชุมชนและคนภายนอกได้เห็นว่า อุตสาหกรรม ธรรมชาติ และชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งสามารถประสานรวมเป็นเครือข่ายเดียวกัน ร่วมกันสร้างกระบวนการและองค์ความรู้ร่วมกันได้อย่างลงตัว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.